โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พอสักที! “ข่มขืนซ้ำ” ความเลวร้ายจากสังคมที่ “ผู้ถูกข่มขืน” ต้องเผชิญ! 

Another View

เผยแพร่ 25 ธ.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

พอสักที! ข่มขืนซ้ำความเลวร้ายจากสังคมที่ ผู้ถูกข่มขืน ต้องเผชิญ

จากข่าวสุดสลด ที่มีเด็กวัยรุ่นรุมข่มขืนเด็กอายุ 12 ปี เมื่ออาทิตย์ก่อน ภาพความเจ็บปวดของคนเป็นพ่อ ที่ทราบข่าวร้าย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปว่าการระบายความโกรธทั้งหมดลงไปที่ตัวคนร้าย ส่วนหนึ่งเพราะเขารู้ดีว่า บางครั้งกระบวนการ ‘ยุติธรรม’ ในประเทศนี้ อาจทำงานได้ไม่ดีเท่ากับความรู้สึกที่อยู่ข้างใน 

สิ่งที่น่าเศร้าไปกว่านั้น หากเรื่องดังกล่าวไม่ถูกพูดถึงในโลกโซเชียลมีเดีย เหตุการณ์นี้จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่มีคนสนใจ หรือทางครอบครัวผู้เสียหายอาจถูกบังคับให้รับเงินชดเชยจำนวนเล็กน้อย ที่ไม่อาจเทียบเคียงได้กับความรู้สึกของเด็กสาวและคนในครอบครัวที่สูญเสียไป และสุดท้ายเรื่องนี้ก็ถูกหลงลืมไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

ดังเช่น รายงานของ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม(OSCC) ในปี 2559 ว่ามีผู้หญิงมากกว่า 17,000 คนถูกกระทำความรุนแรง แต่จะมีเพียง 749 รายเท่านั้นที่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ และในจำนวนทั้งหมดมีมากถึง 91% ที่ผู้เคราะห์ร้ายถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนรู้จัก

เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะว่า ความสูญเสียและความเจ็บปวด ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ผู้เคราะห์ร้ายได้รับ นั้นรุนแรงและอาจถูกตอกย้ำความเจ็บนั้นจากทุกกระบวนการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีคำกล่าวทำนองที่ว่า เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งถูกข่มขืนจากคนร้าย เธอจะต้องถูกสังคมโดยรอบ ข่มขืนซ้ำๆ อีกอย่างน้อย 4 ครั้งด้วยกัน 

1. บาดแผลทางใจที่ถูกคนร้ายฝังไว้ชั่วชีวิต 

แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้น หญิงสาวผู้ถูกล่วงละเมิด จะถูกทำร้ายทางร่างกายโดยตรงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ถึงแม้บาดแผลดังกล่าวจะสามารถรักษาให้หายดีเมื่อเวลาผ่านไป แต่บาดแผลใน จิตใจบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตก็ยังไม่สามารถลบเลือนไปได้ 

หญิงสาวบางคนถึงขั้นกลายเป็นโรคหวาดระแวงผู้ชาย ไม่สามารถไว้ใจใครได้อีก ยิ่งคนร้ายเป็นคนรู้จัก หรือคนใกล้ตัว ก็ยิ่งทำให้บางคนไม่กล้านำเรื่องนี้ไปบอกคนอื่น หรือแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ทำได้เพียงแค่เก็บบาดแผลนั้นไว้ใจไม่ให้ใครรู้ บางคนถึงขั้นเป็นโรคหวาดระแวงเมื่อต้องอยู่ในที่มืดและเปลี่ยวเพียงคนเดียว หรือจะรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นตัวกระตุ้นเร้าความทรงจำบางอย่างที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมา 

2. คำถามจาบจ้วงของเจ้าหน้าที่ผู้เต็มไปด้วยอคติ 

หากหญิงสาวคนไหนสามารถก้าวข้ามกำแพงความเจ็บปวด และนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หากมองเผิน ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับเธอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมนี่ล่ะ ที่เริ่มข่มขืนตอกย้ำซ้ำ ๆ จนบางคนท้อแท้และเลิกหวังในการดำเนินคดีกับคนร้ายไปเลย

ตั้งแต่ขั้นตอนการดำเนินคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ลองคิดภาพคนที่เจ็บปวดจากการถูกทำร้าย แต่ต้องมานั่งเล่าเรื่องสิ่งที่เธอเพิ่งเจอมาซ้ำ ๆ วนไปวนมา ตั้งแต่ผู้เสียหายแจ้งความตำรวจ ติดต่อครั้งแรก ขั้นการสอบสวน ขั้นตอนก่อนฟ้องร้องหรือก่อนพิจารณาคดี ไปจนถึงขั้นการพิจารณาคดี

หากเป็นเพียงการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเดียวคงไม่เท่าไหร่ เพราะสิ่งที่เลวร้ายที่สุดในกระบวนการนี้คือบรรดาคำถามที่เต็มไปด้วยอคติจากพนักงานสอบสวนที่ขาดความเข้าใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างไม่น่าอภัย ที่ปล่อยให้มีคำถามทำนองว่า

แต่งตัวโป๊หรือเปล่า, ดื่มมาใช่ไหม, ทำไมถึงยอมออกไปกับเขาสองต่อสอง, ทำไมถึงออกไปในที่เปลี่ยวตอนกลางคืนแบบนั้น, ได้พยายามขัดขืนหรือตะโกนให้คนมาช่วยหรือไม่ รวมทั้งคำถามที่ไม่น่าให้อภัยที่สุด ว่ามนุษย์ด้วยกันจะสามารถถามคนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ว่า มีน้ำหล่อลื่นออกมาหรือเปล่า” 

อคติที่เต็มไปด้วยความหน้ามืดตามัวเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อการดำเนินคดีอย่างจริงจัง ยังมีแต่จะส่งผลให้ผู้เคราะห์ร้ายเจ็บปวด สิ้นหวังและเหนื่อยหน่ายและคิดว่า หรือจริง ๆ แล้วหากเธอยอมอยู่เฉย ๆ จะดีกว่าการที่ต้องมาตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำ ๆ หรือไม่ 

3. ถูกตอกย้ำอย่างสนุกปากจากกระแสสังคม

เมื่อมีเหตุการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา แทนที่เราจะใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในมือเพื่อทำความเข้าใจและช่วยกันปลอบประโลมเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกระทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าบางคนกลับใช้เครื่องมือตรงนี้ในการตอกย้ำ เหยียดหยัน ตัดสินกันด้วยความแสนตื้นเขินและไร้ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทำนองว่า แต่งตัวโป๊ก็สมควรโดนข่มขืน หรือ ต้องไปยั่วเขาก่อนแน่ๆ” 

ถึงแม้จะเป็นคำพูดเพียงสั้น ๆ แต่ลองคิดกลับกันหากเราเป็นผู้เสียหาย ที่ต้องมาเห็นข้อความดังกล่าวตอกย้ำซ้ำไปซ้ำมา หรืออาจจะไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในตอนนั้นก็ได้ แต่เป็นคนที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน แล้วกำลังจะผ่านพ้นเรื่องนั้นไปได้ แต่ก็ยังต้องมาถูกความเห็นที่โพล่งออกมาแบบไร้ความรับผิดชอบกระตุ้นเตือนให้คิดถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ขึ้นมา 

รวมทั้งกรณีที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็ก เช่น เวลาเห็นคนร้ายหล่อล่ำ หน้าตาดี จากในภาพยนตร์หรือละครต่าง ๆ แล้วมักจะมีความคิดเห็นทำนองว่า อยากโดนคนนี้ข่มขืน หรือ เชิญมาข่มขืนฉันได้เลย ก็ไม่ผิดหากคนท่ีคอมเม้นต์แบบนั้นจะคิดว่า เป็นเพียงคำพูดสนุก ๆ จะไปถือจริงจังอะไรมาก แต่ลองคิดกลับกันว่า แล้วคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นล่ะ จะรู้สึกดีไปกับคำพูดสนุกปากเหล่านั้นได้จริงหรือเปล่า

4. สายตาที่ไม่เหมือนเดิมของคนรอบข้างที่อยู่ด้วยกัน 

ในบรรดาการถูกข่มขืนซ้ำ ทั้งหมด ข้อนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เสียหายเจ็บปวดได้มากที่สุด สาเหตุสำคัญมาจาก มายาคติ ที่เชื่อว่า “ผู้หญิงคนนั้นจะไม่เหมือนเดิมหากถูกข่มขืนมาก่อน” เป็นความคิดที่ไร้เหตุผลมากที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีหลายคนที่รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ถึงแม้บางคนจะเข้าใจว่าไม่ใช่ความผิดใด ๆ ของผู้เคราะห์ร้าย เธอคือคนที่น่าเห็นใจมากที่สุด แต่ในใจลึก ๆ ของ ‘คนรัก’ โดยเฉพาะคนรักแบบแฟนหรือสามีภรรยา ที่จะมีสายตาบางอย่างที่บอกให้รู้ถึงความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิมออกมาโดยไม่รู้ตัว 

หลายคนถึงขนาดรับไม่ได้ และตัดสินใจเดินออกจากชีวิตของคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เพียงเพราะความคิดที่ว่าเธอ ‘แปดเปื้อน’ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้ว เธอไม่ได้ทำอะไรผิด พวกคนร้ายที่กระทำการต่างหากที่ต้องถูกลงโทษ แต่ที่น่าเศร้าคือสุดท้ายคนเหล่านั้นก็มักจะลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมต่อไปโดยไม่เป็นเดือดเป็นร้อน 

มีเพียงแค่ ‘คนรัก’ ที่อยู่ใกล้ชิดกันเท่านั้น ที่ต้องช่วยกันปลอบประโลม เยียวยารักษาแผลใจให้กันและกันทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนผิดและต้องรับผิดชอบใด ๆ กับเรื่องนี้แม้แต่นิดเดียว 

อ้างอิง

https://www.the101.world/violence-against-women/

https://www.bbc.com/thai/thailand-42170733

https://www.sanook.com/news/7615686/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0