“โรงเรียนกดเกรด-ปล่อยเกรด” เกลื่อนประเทศ! แล้วคุณภาพ“การศึกษาไทย” อยู่ที่ไหน?
หลังจากระบบ Entrance ในรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยอาศัยการสอบวัดความรู้จากข้อสอบกลางปีละสองครั้ง ได้ยกเลิกไปในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ปีการศึกษา 2549 “เกรดเฉลี่ย” หรือคะแนน GPA (Grade Point Average) ของแต่ละโรงเรียนก็ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กไทย ได้ – ไม่ได้ เรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนเองตั้งใจไว้ตลอดมาจนปัจจุบัน
และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็น TCAS - Thai University Central Admission System อย่างในปัจจุบันแล้ว GPA หรือ “เกรด” ก็ยังคงตามมามีบทบาทสำคัญในระบบการคัดเลือก ไม่มากก็น้อย นั่นทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ระบบการประเมินผลของแต่ละโรงเรียนนั้นเริ่มเกิด (หรือตั้งใจให้เกิด ?) ปัญหา ในลักษณะ ปล่อยเกรด – กดเกรด แม้จะไม่เป็นที่ฮือฮา เพราะถูกปิดปากเงียบไปด้วยคำว่า “ได้ประโยชน์กันทุกคน” นักเรียนได้เข้าศึกษาต่อในคณะและสถาบันที่ตั้งใจโรงเรียนได้มีขื่อว่าส่งนักเรียนให้ถึงฝั่งมากมายแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า“ปัญหาก็คือปัญหา”
แม้จะไม่ส่งผลระยะสั้น แต่ก็ส่งผลถึง “คุณภาพของประชากร” ในระยะยาวแน่นอน ?
ส่องปัญหามาตรฐานการศึกษาไทยอยู่อันดับไหนในโลก
เราทุกคนคงเคยได้ยินข่าวคราว (หรือเคยได้สัมผัส) ถึงคุณภาพการศึกษาไทย ว่าอยู่ในระดับที่ไม่พัฒนาสักเท่าไหร่ ซ้ำร้ายยังอาจจะแย่ลงด้วยมาตรฐานการจัดการศึกษาที่ต่ำลง ข่าวคราวของครูผู้สอนที่ออกมามีประเด็นด้านจรรยาบรรณ ศีลธรรมและคุณภาพกันอย่างต่อเนื่อง ชวนให้สงสัยกันเหลือเกินว่า มาตรฐานการศึกษาไทยในเวลานี้มันอยู่ตรงไหนของโลกกันไปแล้ว ?
ล่าสุดโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment – PISA) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) ซึ่งเป็นการวัดผลคุณภาพการศึกษาจากนักเรียนในประเทศที่เข้าร่วมโครงการทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การประเมินศักยภาพและความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ ทุกๆ 3 ปี ได้ชี้ชัดออกมาว่า “เด็กไทยสอบตกทุกด้าน” และซ้ำร้ายผลการประเมินนั้นยังน้อยกว่าผลการประเมินรอบที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำโดยทักษะการอ่านลดลง32 คะแนนวิทยาศาสตร์ลดลง23 คะแนนคณิตศาสตร์ลดลง11 คะแนนถูกประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่างไปหลายขุมทั้งเวียดนามและสิงคโปร์
ปล่อยเกรด – กดเกรดคือทางออกหรือปัญหาของเด็กไทย
เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ จึงสะท้อนออกมาว่า ระบบการศึกษาของไทยนั้นมีปัญหาใช่ไหรือไม่ ? คำตอบก็คือใช่ แต่ถามว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการปล่อยเกรดของโรงเรียนต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดโอกาสสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียน นำมาซึ่งชื่อเสียงของโรงเรียนทั้งหมด ใช่หรือไม่ คำตอบก็น่าจะไม่ใช่
เพราะผลการประเมินของศูนย์ทดสอบและประเมินเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและวิชาชีพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้นำคะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test - O-NET) ที่ผ่านมาของเด็ก ม. 6 แต่ละโรงเรียน ที่เป็นคะแนนจากการประเมินจากข้อสอบกลางเดียวกันทั่วประเทศไปเปรียบเทียบกับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (GPAX) พบว่า จากโรงเรียน2,583 โรงเรียนมีการปล่อยเกรดสูงถึง1,224 โรงเรียนแต่ในขณะเดียวกันก็กลับพบว่ามีโรงเรียนที่กดเกรดเกินไปถึง1,238 โรงเรียน!
ดังนั้นคำถามที่ต้องถามต่อไปก็คือ ในเมื่อมีอัตราของโรงเรียนที่ปล่อยเกรด และกดเกรดมากแทบจะพอๆ กันขนาดนี้ ทำไมค่ามาตรฐานการศึกษาของไทย ยังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ผลสรุปง่ายๆที่ชัดเจนที่สุดก็คือทั้งการปล่อยเกรดและกดเกรดนั้นไม่ใช่ทางออกแต่เป็นปัญหาของเด็กไทยทั้งคู่!
เปิดโมเดลประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาการศึกษาอาจจะพบปัญหาที่แท้จริงของไทย
การศึกษาของสภาพเศรษฐกิจโลก - World Economic Forum ซึ่งได้จัดอันดับให้ “ประเทศฟินแลนด์” มีการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกนั้น อาจจะทำให้เราได้คำตอบที่แท้จริงว่า อะไรคือปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยกันแน่ และในเมื่อการปล่อยเกรด – กดเกรด ไม่ใช่ทางออกแต่เป็นปัญหาของเด็กไทยเสียด้วยซ้ำ แล้วอะไรเล่าจะเป็นจะเป็นทางออกของเด็กไทยที่แท้จริง ? คำตอบเหล่านี้อาจจะอยู่ใน 7 เหตุผลที่ World Economic Forum จัดให้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดดังต่อไปนี้
ประการแรก โรงเรียนในฟินแลนด์ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันสร้างชื่อเสียงเพื่อแย่งนักเรียน เพราะไม่มีโรงเรียนเอกชนในประเทศเลย ทุกสถาบันการศึกษาดำเนินการโดยงบประมาณจากภาครัฐ การร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ประการที่สอง อาชีพครูในฟินแลนด์นั้น เป็นอาชีพที่ได้รับความเคารพ และเงินเดือนสูง ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ประการที่สาม การทำงานวิจัยทางด้านการศึกษามาปรับใช้อย่างจริงจังให้รู้ดำรู้แดงไปเลยว่า งานวิจัยชิ้นไหนได้ผลดี หรือไม่ดีอย่างไร ประการที่สี่ ครูฟินแลนด์ได้รับการสนับสนุนให้ถือห้องเรียนเป็นห้องทดลอง ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือกิจกรรมแบบไหน ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในห้องเรียน ประการที่ห้า การเล่นต้องสำคัญเท่ากับการเรียน ครูฟินแลนด์ทุกคนต้องทำตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ที่ระบุว่าใน 1 ชั่วโมงเรียน ต้องแบ่งเป็นการสอนจากครู 45 นาที และการเล่น 15 นาที ประการที่หก การบ้านที่น้อยด้วยความเชื่อมั่นว่าครูได้ใช้เวลาในห้องเรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพเพียงพอแล้วในการสั่งสอนความรู้ การทำการบ้านนอกเวลาเรียนจึงถูกมองว่าไม่จำเป็น และเวลาที่เด็กอยู่บ้าน ควรมีไว้เพื่อการเรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตและอยู่กับครอบครัว ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียน และประการสุดท้าย ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการศึกษาฟรีที่ได้มาตรฐานสูงตั้งแต่ระดับเดย์แคร์ เนิร์สเซอรี และอนุบาล
ดังนั้นสุดท้ายแล้วการมานั่งถามกันว่า “กดเกรด” หรือ “ปล่อยเกรด” คือทางออกของเด็กไทย คงเป็นคำถามที่ผิดมาตั้งแต่การตั้งคำถามแล้ว เพราะคำถามที่สำคัญที่สุดคือ “เราต้องการอะไรจากระบบการศึกษา” ถ้าคำตอบที่ต้องการนั้นคือ “ประชากรที่มีคุณภาพ” เราก็คงต้องเริ่มตีความคำว่า “ประชากรที่มีคุณภาพ” กันเสียใหม่ ในมุมมองที่เห็นค่าของประชากรทุกคนในแบบของเขาเอง พัฒนาระบบวิธีการวัดผล ด้วยการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน ดูว่าก่อนได้รับการศึกษาพวกเขามีความเข้าใจอยู่ตรงจุดไหน แล้วเขาไปได้ไกลเมื่อเสร็จสิ้นหลักสูตรมากเพียงไรเสียมากกว่า การสร้างเกณฑ์ขึ้นมาโดยใครก็ไม่รู้ แล้วให้พวกเขาปีนกันขึ้นไป จนเราสร้างเด็กที่ทำทุกอย่างเพื่อคะแนน โรงเรียนที่ทำทุกอย่างเพื่อชื่อเสียง
เลิกวัดผลลิง ด้วยการให้ว่ายน้ำ วัดผลปลาด้วยการให้ปีนต้นไม้ อย่างที่เป็นอยู่กันทุกวันนี้กันจะดีกว่าไหม ?
*******************
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :
https://www.weforum.org/agenda/2017/05/why-finlands-education-system-puts-others-to-shame?utm_content=buffera76ae&utm_medium=social&utm_source=twitter.com&utm_campaign=buffer
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/76338
ภาพประกอบจาก
https://f656.wordpress.com/ความสำคัญของพระพุทธศาส/ความสำคัญของพุทธศาสนาก/
ความเห็น 51
Ti.
ก็ประเทศไทยมึงวัดคนที่เกรด กำหนดเกรดทำไมละ ความจริงคนเก่ง ฉลาด มี DNA การคิดทำงานเก่ง มีไอเดีย เกรดกำหนดไม่ได้หรอก แต่ค่านิยมคนไทยไปกำหนดที่เกรดไง
27 พ.ย. 2561 เวลา 00.12 น.
varavuth
ถ้าเด็กดูว่าเกรดสำคัญแค่ไหน แต่ถ้าถามพ่อเเม่ รับรองได้ว่ามันมีความหมายมากในการพูดคุยกับคนอื่น
27 พ.ย. 2561 เวลา 00.33 น.
ShelL
อยากได้เกรดดีๆ
จ่ายเงินค่าเรียนพิเศษให้อาจารย์
ตรงเวลากันด้วยนะเด็กๆ
27 พ.ย. 2561 เวลา 00.10 น.
June
เพิ่งตื่นเหรอ
27 พ.ย. 2561 เวลา 00.05 น.
ต้องกระจายบทความชิ้นนี้ให้มากครับ
27 พ.ย. 2561 เวลา 00.34 น.
ดูทั้งหมด