เข้าสู่เดือนที่ 5 ของปีกันแล้ว ใครที่เคยตั้งใจจะเก็บเงินแล้วยังไปไม่ถึงไหน เปิดบัญชีเอาไว้แล้วปล่อยให้เงินนอนนิ่งไม่มีความเคลื่อนไหว… เรามี ‘วิธีเก็บเงิน’ แบบสนุกๆ ไม่ยากเกินไป มาให้ได้ลองเริ่มทำกันเล่นแต่เก็บเงินได้จริงๆ ถูกใจสไตล์ไหนก็เริ่มได้เลย
เก็บแบงค์ 50 ตลอดทั้งปี
เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ สาเหตุที่ส่วนใหญ่นิยมเลือกเก็บธนบัตรสีฟ้าใบละ 50 บาทนั้นก็เป็นเพราะจากสถิติการใช้เงินสด เรามักได้แบงค์ 50 ได้ยากที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ได้มานั่นอาจหมายความว่าต้องรักษาไว้ให้ดีก็เป็นได้.. วิธีนี้จะช่วยให้เพิ่มความช่างสังเกตให้กับตัวเอง วันไหนที่ซื้อของแล้วได้เงินทอนมาเป็นแบงค์ 50 ก็เก็บแยกเอาไว้ หาซองใส่รวมๆ กัน ถึงสิ้นปีกลับมานับอีกทีอาจมีเงินพันเงินหมื่นอยู่ในซองก็เป็นได้
เก็บเศษเหรียญที่ได้ในแต่ละวัน
วิธีนี้น่าจะถูกใจคนที่ไม่ชอบพกเศษเหรียญ ตกเย็นกลับถึงบ้านเคลียร์กระเป๋าเอาเหรียญออกมาเก็บรวมๆ กันไว้ จะหยอดใส่กระปุกหรือใส่กล่องใส่โหลก็ได้ แค่รวบรวมไว้ในที่เดียวกัน วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักกระเป๋าสตางค์/กระเป๋าถือ ยังช่วยปรับพฤติกรรมการเก็บให้มีระเบียบ ไม่วางเหรียญทิ้งไว้มุมนั้นมุมนี้ในบ้าน ลองหากระปุกใหญ่ๆ ตั้งไว้สักมุมหนึ่งในบ้านที่จะเห็นได้ชัด .. ยิ่งใหญ่ยิ่งจุเหรียญได้หลายบาทเลยนะ
ใช้เท่าไหร่เก็บเท่านั้น
หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว สิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น หรือมีความสำคัญรองลงมาเช่นบรรดา ลูกอม น้ำหวาน ชานม ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่เรามักเสียเงินซื้อมาในราคาเล็กน้อย จึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ลองตั้งใจเก็บเงินให้เท่ากับเงินที่จ่ายไป เช่นสมมุติว่าวันนี้นึกครึ้มใจอยากกินชานมไข่มุกสักแก้ว (ราคา 50-100บาท) ก็เก็บเงินเท่ากับราคาของชานมที่ซื้อไป รวมสิ้นเดือนหรือสิ้นปีจะได้รู้สักทีว่าเป็นเงินนิดหน่อยจริงหรือเปล่า วิธีนี้ประยุกต์เอาไปใช้กับการซื้อล็อตเตอรี่เสี่ยงโชคก็ไม่เลวนะ
หักเงินเข้าอีกบัญชีทันทีที่เงินเดือนออก
น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดของมนุษย์เงินเดือนในตอนนี้ คือการเปิดบัญชีแยกเอาไว้อีกบัญชีหนึ่ง (อาจเป็นบัญชีฝากประจำที่ผูกกับบัญชีเงินเดือนก็สะดวกดี) กำหนดยอดเงินที่จะฝากในแต่ละเดือนซึ่งควรเป็นยอดที่เท่ากันเพื่อความมีวินัยในการเก็บออม และเมื่อถึงวันที่มีเงินเข้าบัญชีหลักเมื่อไหร่ให้โอนย้ายเงินจำนวนที่ตั้งใจเอาไว้ไปังบัญชีเสริมเพื่อทำการ ‘เก็บ’ เท่านั้น ยอดเงินที่จะเก็บอาจตั้งเป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อให้จำง่าย เช่น 500บาท หรือ 1,000บาท วิธีนี้เหมาะมากสำหรับคนที่ใช้เงินไม่เหลือเก็บ เมื่อไม่มีเหลือให้เก็บก็ลองแยกเก็บไว้แล้วที่เหลือจากเก็บค่อยใช้ตามไลฟ์สไตล์ที่สะดวก
ตั้งเป้าแล้วหยอดกระปุก
วิธีนี้เหมาะกับสายที่ต้องใช้ไอเท็มเข้าล่อ ต้องตั้งเป้าหมายไว้พุ่งชนเช่น โทรศัพท์ใหม่ ทริปใหม่(ถ้ามี) หากระปุกสักอันแล้วเขียนแปะเอาไว้ว่าเงินในกระปุกนั้นตั้งใจจะเอาไปใช้สำหรับทำอะไร แล้วค่อยๆ เก็บเงินใส่กระปุกนั้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเห็นเงินจำนวนนั้นขึ้นมาอาจจะเปลี่ยนใจอยากเก็บเอาไว้เพราะกว่าจะได้มานั้นมันช่างยากเหลือเกิน หรือถ้าใจมันมุ่งมั่นก็มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อของใหญ่ตามที่ตั้งใจแล้วล่ะ
ตั้งยอดการ 'ใช้'
วิธีนี้คล้ายกับวิธีเก็บเศษเหรียญ แต่เปลี่ยนมาเป็นการเก็บ ‘ทั้งหมด’ ที่เหลือจากการใช้ในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่นกำหนดว่าแต่ละวันจะมีเงินสดติดตัวออกจากบ้าน 500บาท กลับมาบ้านเหลือกี่บาทก็เก็บใส่กล่องไว้ เช้าวันใหม่ก็เริ่มต้นกับแบงค์ 500ใบใหม่ ยอดที่เหลือจากเมื่อวานเก็บไว้นิ่งๆ สิ้นปีค่อยมาเปิดนับว่ามีเท่าไหร่
ตั้งยอดการ 'เก็บ'
จากการเก็บจากที่เหลือใช้ เปลี่ยนมาเป็นตั้งใจว่าสิ้นปีนี้จะมีเงินเก็บเท่าไหร่ คล้ายๆ การทำมิชชั่นในเกมแล้วมุ่งหน้าทำให้สำเร็จโดยไวที่สุด วิธีนี้อาจจะโหดไปสักหน่อย แต่หากทำได้ไวก็สบายไว เริ่มจากอาจจะตั้งยอดที่ไม่ใหญ่เกินกำลัง เช่น2เท่าของเงินเดือน มาดูว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่กันเชียว
ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ‘เงิน’ ก็มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ในแต่ละวันต้องใช้เงินด้วยกันทั้งนั้น อย่าได้ดูถูกเงินเล็กน้อย สิบบาท-ยี่สิบบาทเชียวนะ เพราะถ้ารวมกันมากๆ ก็เป็นเงินหลักพัน หลักหมื่นได้เหมือนกัน ลองเริ่มเก็บเงินกันตั้งแต่วันนี้ สิ้นปีมีเท่าไหร่มาลองนับให้ชื่นใจกัน
ความเห็น 32
Papada
กำลังทำอยู่ค่ะ
07 พ.ค. 2564 เวลา 15.05 น.
ปู.ตากลม
ถามผิดเวลาแล้วม้างง..
07 พ.ค. 2564 เวลา 14.35 น.
Yui
ตอนนี้คิดว่า แค่ตัวเองเลิกใช้เงินแบบนี้ได้ก็เงินเหลือบานแล้ว แต่มันห้ามใจไม่ใช้ไม่ด๊ายยย ฮือออ!!
05 พ.ค. 2564 เวลา 15.44 น.
Serina
มันจะเก็บไปได้ยังไงของทุกอย่างมันขึ้นราคาหมดในณะที่เงินเดือนที่ได้รับยังเท่าเดิม
05 พ.ค. 2564 เวลา 10.04 น.
ปูนิ่ม
เสนอตำนานชิฟฟอนเค้กเทเวศน์ อิ่มอร่อยดังเมนูนี้นศ.ชอบทุกคนที่เคยมาอุดหนุนเสน่ห์
04 พ.ค. 2564 เวลา 23.42 น.
ดูทั้งหมด