โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชีวิตที่สองของโพเอเทรีย ร้านหนังสือเฉพาะทางกลางเมืองมรดกโลก - ปราบดา หยุ่น

THINK TODAY

เผยแพร่ 05 ก.ค. 2561 เวลา 11.55 น. • ปราบดา หยุ่น

คอลัมน์ สัญญาณรบกวน

“ผมแปลกใจและประทับใจมากที่มีคนเข้ามาขอบคุณพวกเราบ่อยๆ” ฟรานซิสโก เฆช (Francisco Reis) หุ้นส่วนของร้านหนังสือโพเอเทรีย (Poetria) แห่งเมืองปอร์โต บอกด้วยรอยยิ้ม เขาหมายถึงชาวเมืองปอร์โตที่ได้รับรู้จากสื่อว่าเขากับเพื่อนชื่อนูนู่ เปเรร่า (Nuno Pereira) ตัดสินใจลงขันกันซื้อกิจการร้านหนังสืออิสระเล็กๆนี้ต่อจากดีน่า เฟเฮร่า (Dina Ferreira) คุณป้าเจ้าของเดิม

หน้าตาด้านนอกของร้านหนังสือ Poetria
หน้าตาด้านนอกของร้านหนังสือ Poetria

คุณป้าดีน่าเริ่มกิจการของเธอเมื่อ 15 ปีก่อน ในวัย 75 ปี นอกจากความชราภาพ เธอยังประสบปัญหาเดียวกับร้านหนังสืออิสระหลายแห่งทั่วโลก นั่นคือไม่อาจสู้ค่าเช่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถแบกรับสภาพขาดทุนของธุรกิจอีกต่อไป “ผมเป็นลูกค้าประจำของร้านนี้” ฟรานซิสโกรำลึกความหลัง “พอคุณป้าดีน่าบอกว่าจะเลิกกิจการ ผมกับเพื่อนรู้สึกอย่างรุนแรงว่าจะยอมให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ เราปรึกษากันอยู่คืนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นก็ไปบอกเธอว่าร้านของป้าจะไม่ปิด” แล้วในเดือนสิงหาคม 2017 ฟรานซิสโกกับนูนู่ก็กลายเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระโดยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเลย

โพเอเทรียเป็นร้านหนังสือหนึ่งเดียวในโปรตุเกสขณะนี้ที่เน้นขายเฉพาะกวีนิพนธ์และบทละครเวที เคยมีขนาดใหญ่ถึงสามคูหา แต่คุณป้าดีน่าจำเป็นต้องย่อส่วนมันลงเหลือเพียงห้องเล็กๆตามสภาพการเงิน รองรับลูกค้าได้เพียงครั้งละไม่เกินห้าชีวิต (สี่คนก็อบอุ่นมากแล้ว) ปัจจุบันมีหนังสืออัดแน่นเต็มชั้นทุกด้าน ส่วนใหญ่เป็นภาษาโปรตุเกส แต่ก็มีภาษาอังกฤษแทรกแซมอยู่ด้วยเป็นหย่อมๆ โดยเฉพาะผลงานของนักเขียนชื่อดังของโปรตุเกสที่ได้รับการแปลอย่างกว้างขวาง เช่นเฟอร์นันโด เปสโซอา (Fernando Pessoa) และโจเซ ซารามาโก (José Saramago) ฟรานซิสโกบอกว่าร้านเล็กๆของเขารับหนังสือจากสำนักพิมพ์กว่า 65 แห่ง จัดกิจกรรมอ่านบทกวีตามจุดต่างๆของเมืองปอร์โตเป็นประจำ และกำลังเตรียมงานพิมพ์วารสารภายในปีหน้า

ปอร์โตเป็นเมืองติดทะเลทางตอนเหนือฝั่งตะวันตกของโปรตุเกส ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเมืองหลวงลิสบอน และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป (บริเวณย่านเก่าของปอร์โตเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก) ฟรานซิสโกบอกว่าเมืองทั้งสองเป็น “คู่แข่งที่เป็นมิตร” ต่อกัน แต่ดูเหมือนว่าแม้แต่คนโปรตุเกสเองก็ชื่นชมปอร์โตในฐานะเมืองที่มีทัศนียภาพงดงาม บรรยากาศรื่นรมย์ โดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม อาหารและไวน์ ผู้คนมีวิถีชีวิตผ่อนคลาย ไม่วุ่นวายเท่าลิสบอน

เมืองปอร์โต
เมืองปอร์โต
เมืองปอร์โต
เมืองปอร์โต

การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและปรากฏการณ์บูมทางการท่องเที่ยวในโปรตุเกสช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ปอร์โตเนื้อหอมอย่างรวดเร็วและรุนแรง อาคารบ้านเรือนร้านค้าเก่าแก่ถูกกว้านซื้อโดยนายทุน ทั้งที่เป็นชาวโปรตุเกสและนักลงทุนจากต่างชาติ เพื่อปรับเป็นโรงแรมและธุรกิจรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ชาวท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ยากจนต้องถูกไล่ที่ออกไปอยู่ชานเมือง “สถานการณ์นี้แย่ขึ้นเรื่อยๆ ตึกบนถนนเก่าบางเส้นตอนนี้กลายเป็นแอร์บีแอนด์บีเกือบหมด ค่าเช่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว และภาครัฐยังไม่มีนโยบายในการควบคุมหรือคุ้มครองชาวบ้านอย่างเป็นธรรมที่ชัดเจน” ฟรานซิสโกกล่าว แม้ไม่ใช่ชาวปอร์โตแต่กำเนิด เขาก็ร่ำเรียนและเติบโตที่นี่ตั้งแต่อายุสิบหก ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากับตา และเคยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปของปี 2009 ด้วยตัวเอง “ตอนนี้หลายๆอย่างดีขึ้นมาก การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการรับนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดีกับเมืองเพราะช่วยให้คนมีงานทำ สร้างรายได้ให้ชาวท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันมันก็นำปัญหาใหม่ๆมาให้ด้วยเช่นกัน ผมเริ่มเห็นคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมีทัศนคติต่อต้านนักท่องเที่ยว เห็นข้อความ ‘ทัวริสต์กลับบ้านไปซะ’ ปรากฏตามกำแพง มีคนจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมไม่คิดว่าเราควรต่อต้านนักท่องเที่ยว แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือและคุ้มครองชาวเมืองที่ดีกว่านี้”

ปอร์โตมีร้านหนังสือชื่อดังก้องโลกอยู่ร้านหนึ่ง แน่นอนว่า(ยัง)ไม่ใช่โพเอเทรีย แต่เป็น Livraria Lello (ลิวราเรีย เลลโล แปลว่า “ร้านหนังสือเลลโล”) ซึ่งเก่าแก่ สถาปัตยกรรมงดงาม และได้ชื่อว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง (โรว์ลิ่งเคยทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ในปอร์โต) นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศยอมจ่ายค่าตั๋วคนละ 5 ยูโร และยืนเข้าแถวรอเข้าร้านนานเป็นชั่วโมงเพื่อได้เข้าไปเหยียบ ยล และเก็บภาพเป็นที่ระลึก ในแง่นี้เลลโลไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นร้านหนังสือ หากได้กลายเป็นสถานที่ประเภท “ต้องไปก่อนตาย” ในระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่อาจเรียกได้ว่ามีสถานะเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของเมือง แต่กลายเป็น “จุดขาย” ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมเกี่ยวกับ “วรรณกรรม” หรือ “นักอ่าน” ที่แท้จริงอีกต่อไป

ร้านหนังสืออิสระอื่นๆในปอร์โตไม่โชคดีมีพ่อมดหนุนหลังเหมือนเลลโล ฟรานซิสโกบอกว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาร้านหนังสืออิสระจำนวนมากเลิกกิจการไปด้วยเหตุผลเดียวกับที่ทำให้คุณป้าดีน่าคิดปิดตัวโพเอเทรีย “ธุรกิจร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อย เมื่อต้องจ่ายค่าเช่าสูงก็อยู่ไม่ได้ ตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรปทุกอย่างตกต่ำไปหมด หนังสือเป็นของฟุ่มเฟือย ดังนั้นผู้คนก็เลือกซื้อสิ่งจำเป็นต่อชีวิตก่อน แต่ตอนนี้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาก มีคนรุ่นใหม่เข้ามา และคนรุ่นเก่าก็เป็นลูกค้าประจำที่ให้การสนับสนุนสม่ำเสมอ พวกเขาจะเขามาซื้อหนังสือเกือบทุกอาทิตย์ ซื้อครั้งละหลายเล่ม คนหนุ่มสาวมีกำลังซื้อน้อยกว่า แต่ก็มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งคนต่างชาติที่ทำให้เราเชื่อมต่อกับโลก”

ฟรานซิสโก เฆช
ฟรานซิสโก เฆช

ประสบการณ์ทำร้านหนังสือมาใกล้ครบหนึ่งปีทำให้ฟรานซิสโกเรียนรู้ว่าปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของยุคสมัยคือต้องมีเอกลักษณ์และเน้นความเฉพาะทาง “ถ้าคุณเข้าไปหากวีนิพนธ์หรือบทละครเวทีในร้านหนังสือทั่วไป คุณจะเจอแค่ชั้นเล็กๆที่มีหนังสือไม่กี่เล่ม ร้านของเราให้ความสำคัญและทุ่มเทกับการค้นหาหนังสือที่หาที่อื่นไม่ได้ หรือหายากมาก เราจึงมีทั้งปริมาณและความหลากหลาย เป็นแหล่งค้นพบสิ่งใหม่ๆสำหรับนักอ่าน นี่เป็นจุดแข็งของเรา” นอกจากนั้นร้านหนังสืออิสระยังต้องมีเจ้าของผู้อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับมัน ฟรานซิสโกเฝ้าร้านเอง ขายเอง คอยพูดคุยและให้คำแนะนำลูกค้าเอง เขาเริ่มรู้สึกถึงความผูกติดกับร้านโดยไม่อาจลาหาย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจในความจำเป็นและความสำคัญของการอุทิศตัวเช่นนี้

“ผมคิดว่าเมืองที่ดีต้องมีร้านหนังสือ มันสะท้อนถึงชีวิตคนในชุมชน ต่างจากการสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีมิติของการแลกเปลี่ยน พบปะ สื่อสารระหว่างกัน สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มีส่วนช่วยสานต่อชีวิตของความเป็นชุมชนในปอร์โต เหมือนกับว่าเรากำลังให้บริการสาธารณะด้วยซ้ำ” ฟรานซิสโกย้ำว่าเขาเห็นข้อดีที่ปอร์โตกลายเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว แต่ยิ่งการท่องเที่ยวเติบโตมากเท่าไร เมืองก็ยิ่งต้องตื่นตัวทางศิลปวัฒนธรรมมากขึ้นด้วย “เมืองใหญ่ที่ไม่มีร้านหนังสือน่าจะเป็นเมืองที่ย่ำแย่มากในความรู้สึกของผม”

เช่นนี้คงไม่น่าแปลกใจที่ชาวปอร์โตจะพากันแสดงความขอบคุณฟรานซิสโกกับนูนู่สำหรับการช่วยต่อลมหายใจให้โพเอเทรีย เพราะอย่างน้อย ความอยู่รอดของร้านหนังสือเฉพาะทางขนาดกะทัดรัดแห่งนี้ก็เป็นสัญลักษณ์แทนความอยู่รอดทางปัญญาของเมืองที่ยังกล่าวอย่างภาคภูมิได้ว่ามี “ชีวิต” อยู่จริงๆ

สองเจ้าของใหม่ของร้าน Poetria ฟรานซิสโก เฆช กับนูนู่ เปเรร่า
สองเจ้าของใหม่ของร้าน Poetria ฟรานซิสโก เฆช กับนูนู่ เปเรร่า

ข้อมูลเพิ่มเติม: Poetria ตั้งอยู่ที่ Rua das Oliveiras, 70 r / c, store 12, 4050-448 Porto ประเทศโปรตุเกส (www.livrariapoetria.com)  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 31

  • niwat
    ครับ
    24 ก.ค. 2561 เวลา 19.43 น.
  • GAME
    😃
    24 ก.ค. 2561 เวลา 17.39 น.
  • โอเคคับ🕶️
    24 ก.ค. 2561 เวลา 18.24 น.
  • PiAk Krab
    24 ก.ค. 2561 เวลา 16.19 น.
  • Łőőķ"ŝöM 156 🏡
    😁
    25 ก.ค. 2561 เวลา 12.35 น.
ดูทั้งหมด