คอลัมน์ สัญญาณรบกวน
ในประเทศที่ความหลากหลายทางการงานและการศึกษากระจุกตัวอยู่ไม่กี่หย่อม ผู้คนรอบนอกเป็นต้องถูกดูดดึงเข้าหาแม่เหล็กแห่งการประทังชีวิตและการแสวงหาโอกาสตามหย่อมเหล่านั้นเป็นธรรมดา ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือจำยอม ความเป็น “ศูนย์กลาง” ของเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องใหม่ มนุษย์จับกลุ่มสุมหัวกันอยู่ในหรือใกล้ศูนย์กลางนับตั้งแต่มีความเป็นเมือง (หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า “พื้นที่ของอำนาจ”) ตั้งแต่จับกลุ่มกันอยู่เพื่อทำงานรับใช้เจ้า มาจนถึงสุมหัวกันเป็นมนุษย์เงินเดือน
สื่อยุคหนึ่งนิยมนำเสนอว่าการเดินทางจากบ้านเกิดเพื่อเข้าเมืองของคนหนุ่มสาวอาจเป็นความทะเยอทะยานที่ไม่จำเป็นเท่าไรนัก เป็นความลุ่มหลงในแสงสีกับโลกีย์ของเมืองจนลืมพื้นเพ หรือแย่กว่านั้นคือโดนเมืองใหญ่ลวงหลอกด้วยสิ่งล่อใจสารพัดจน “เสียคน” แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขายังมีทางเลือกให้หวนคืนสู่ “บ้านนอก” ที่บริสุทธิ์ เรียบง่าย อบอุ่น ไม่จำเป็นต้องทนทุกข์อยู่ในความแออัด โหดร้ายและเย็นชาของเมืองใหญ่
หากจินตภาพเชิดชูความดีงามของชีวิตบ้านนอกจะเคยอิงกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมจริงอยู่บ้าง ไม่ใช่มายาคติล้วนๆ ก็คงสรุปได้ว่าหนุ่มสาว “ต่างจังหวัด” (“ต่างจังหวัด” ในกรณีของไทยมีความหมายแฝงว่าเป็นพื้นที่นอกรัศมีของศูนย์กลาง ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “จังหวัดอื่น” แต่หมายถึง “ไม่ใช่กรุงเทพฯ”) ในปัจจุบันได้สยบยอมต่อแรงลากแรงฉุดของเมืองใหญ่กันเกือบหมด การ “กลับ” ไปใช้ชีวิตบ้านนอกกลายเป็นค่านิยมในหมู่คนเมืองมีอันจะกิน หรือคนบ้านนอกที่ได้ดิบได้ดีในเมือง (จนกลายเป็นคนเมือง) ด้วยเหตุผลในมิติวิถีชีวิตแบบรักธรรมชาติ โหยหาความเนิบช้า ต่อต้านความวุ่นวาย ความเร่งรีบและฉาบฉวยของชีวิตเมือง โดยมักละไว้ว่าพวกเขาทำเช่นนั้นได้เพราะตักตวงจากเมืองไว้เพียงพอ หรือไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาเมืองใหญ่อีกต่อไป (กรณียกเว้นคือบรรดาคนมีฐานะดีโดยไม่ต้องกระเสือกกระสนขวนขวายในระดับเดียวกับคนส่วนใหญ่ คนเหล่านี้สามารถเลือกอยู่หรือไม่อยู่ที่ไหนก็ได้แต่แรก)
ความเปลี่ยนแปลงในแนวทางการดำรงอยู่ของสังคม โดยเฉพาะจากสังคมเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม และการเติบโตของการค้าขายระหว่างประเทศ ทำให้วิถีชีวิตรอบนอกที่อาชีพหลักของผู้คนคือการสร้างผลิตผลป้อนศูนย์กลางไม่มีความจำเป็นมากเท่าในอดีต และที่ยังพอจำเป็นอยู่ก็ลดการใช้แรงงานมนุษย์ลงเรื่อยๆ ความคิดที่ว่าทุกท้องถิ่นมี “ของดี” ของตัวเองเป็นเพียงมายาคติ กล่าวได้กับเฉพาะบางพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรพิเศษโดยสภาพภูมิประเทศ หรือมีการสืบสานของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ยาวนานและแข็งแรง โดยส่วนใหญ่แล้ว “ของดี” เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องปลูกต้องสร้างขึ้น แต่การสร้างสินค้าท้องถิ่นที่ไม่มีตลาดรองรับเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ จึงเป็นเรื่องง่ายกว่าและเข้าใจได้อย่างมากที่คนหนุ่มสาวจะมุ่งหน้าหาเมืองใหญ่ ซึ่งมีการเกิดของโอกาสใหม่ๆแทบทุกวัน
สมัยนี้มีความพยายามอย่างแพร่หลายที่จะทำเมืองเล็กๆให้เป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ปัญหาคือในหลายๆแห่งมันเป็นความพยายามจากสูตรสำเร็จ ถูกจัดสร้างตามกระแส และเลียนแบบสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอื่นๆ มากกว่าจะน่าสนใจในตัวเอง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนคุณภาพชีวิตที่สมดุลของคนในพื้นที่
ปัญหาของสังคมสมัยใหม่ทั่วโลกคือการขาดแคลนประชากรในชุมชนขนาดย่อม เมืองเล็กจำนวนมากมีสภาพเปลี่ยวร้าง หลงเหลืออยู่เพียงผู้เฒ่าผู้แก่ เมืองเหล่านี้นอกจากจะมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง อดีตก็กำลังเลือนหายอย่างรวดเร็วไปพร้อมๆกัน การมีสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นจุดๆ หรือมีผลิตภัณฑ์โดดเด่นประจำท้องถิ่น ไม่สร้างแรงจูงใจเพียงพอจะรั้งหรือเรียกให้คนปักหลักอยู่อาศัยและสร้างชุมชนขึ้นใหม่ และไม่มอบโอกาสที่จะพัฒนาสืบต่อไปได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
มนุษย์อาจไม่ต่างจากสัตว์อื่นในพฤติกรรมกระจุกตัวตามแหล่งอาหาร แต่มนุษย์มีความนึกคิดที่ทำให้เกิดความปรารถนา เราต้องการตัวเลือก โอกาส และการเติมเต็มทางความรู้สึก หนุ่มสาวเข้าเมืองไม่เพียงเพื่อเรียนสูง หางานดีๆ (หรืองานที่ต้องการ) แต่เพราะเมืองยังเป็นศูนย์รวมความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่เข้มข้น เป็นชุมชนที่ “มีชีวิต” เราไม่เพียงรอคอยวันเงินเดือนออก แต่ยังตื่นตัวกับการแลกเปลี่ยนความเห็น การเสพความรู้ความบันเทิง การใกล้ชิดกับแหล่งสร้างสรรค์ทางปัญญาและอารมณ์ ความเป็นไปได้ในการเลือกสรรความรัก มนุษย์อาจไม่ตายหากอิ่มท้อง ได้น้ำ และพักผ่อนเพียงพอ เราทุกคนต่างสามารถปลูกผักผลไม้กินเอง สวมเสื้อผ้าซ้ำทุกวัน แหงนหน้าดูฟ้าเพื่อความรื่นรมย์ แต่สมองมนุษย์วิวัฒน์มาจนซับซ้อนและต้องการมากกว่านั้น โดยเฉพาะในด้านความรู้สึกนึกคิด ชีวิตเมืองจึงไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเลี้ยงท้อง หากแต่ยังเต็มไปด้วยบ่อบำรุงจิตใจ แม้จะอยู่ตามห้างสรรพสินค้าและอาจต้องแลกมาด้วยการอดข้าวอดน้ำบ้างก็ตาม
ในขณะที่เมืองเล็กกำลังถูกคนรุ่นใหม่ทอดทิ้ง ความเป็นจริงของสังคมก็สะท้อนว่าความจำเป็นต้องทิ้งมีเหตุผลรองรับทั้งด้านปากท้องและด้านมันสมองของความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ (ยังไม่นับว่านักภูมิศาสตร์และนักวิจัยหลายคนเสนอว่าการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า) แต่หากเมืองเล็กหรือบ้านนอกไม่สามารถให้เหมือนเมืองใหญ่ในมิติอื่นๆ สถานะหนึ่งที่มันน่าจะเป็นได้คือ “ที่อยู่อาศัย” โดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารระบบดิจิตอล มีวิธีทำงานมากมายอนุญาตให้บางอาชีพไม่ต้องยึดติดกับเวลาเข้างานหรือการมีสำนักงานตามธรรมเนียมเดิม
การมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว น่าไว้ใจ และมีตัวเลือก ดูจะเป็นแนวทางสำคัญและเป็นไปได้ที่สุดในการแก้ปัญหานี้ การเข้าเมืองใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ง่ายสำหรับคนจำนวนมากในโลกปัจจุบัน แต่เมื่องานบางแบบไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในศูนย์กลางอีกต่อไป ถ้าการเดินทางสะดวกสบาย ราคาไม่แพง ตรงเวลา และค่อนข้างปลอดภัย ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากจนเป็นเรื่อง “แค่คิดก็เหนื่อย” (เช่น ขับรถนานหลายชั่วโมงบนเส้นทางชวนหวาดเสียว) ผู้คนจำนวนไม่น้อยจะสามารถทำงานกับศูนย์กลางโดยไม่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และเมื่อตัวเลือกนั้นเป็นจริงขึ้น คนหนุ่มสาวที่อาศัยห่างออกไปจากเมืองใหญ่ก็อาจสร้างชุมชนเล็กๆขึ้นรอบๆตัวพวกเขาเอง ชุมชนที่ไม่ต้องคำนึงถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือค้นคิดผลิตภัณฑ์ซ้ำซากขึ้นมาขายศูนย์กลาง (โลกนี้น่าจะมีแยมทาขนมปังมากพอแล้ว) แต่อาจมีพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ให้ความรู้และความบันเทิงแลกเปลี่ยนกับชุมชนใกล้เคียง โดยไม่ต้องมุ่งหน้าเข้าเมืองใหญ่เพื่อแสวงหาเสมอไป
การกระจายชีวิตออกสู่รอบนอก หรือการสืบสานความมีชีวิตดั้งเดิมให้ยังคงอยู่ ไม่อาจพึ่งพาเพียงทรรศนะรักธรรมชาติ รักบ้านเกิด หรือการสร้างภาพเรียกนักท่องเที่ยว ซึ่งมักมาจากกลุ่มคนและชนชั้นที่ไม่รู้ซึ้งถึงความจำเป็นในการเข้าเมืองใหญ่ของ “คนต่างจังหวัด” แต่ต้องเป็นโครงการระดับชาติที่เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างตัวเลือก และมอบโอกาสหลากหลายในการใช้ชีวิตให้ประชาชนอย่างแท้จริง
ความเห็น 49
ทำำให้มองเห็นอะไรเพิ่มขึ้นได้เยอะมาก...ขอบคุณ.
18 ต.ค. 2561 เวลา 05.03 น.
SMILEAREA
ไม่ต้องเกรงใจหรอกถ้าจะพูดถึงคนบ้านนอกในมุมของคนมีความรู้ การถูกมองข้ามมันก็เป็นเรื่องแน่อยู่แล้ว .. แต่อยากถามคนเขียนกลับว่า..เห็นใบแล้วรู้หรือเปล่าว่าต้นอะไร
29 ก.ค. 2561 เวลา 06.26 น.
the Daxx
...
29 ก.ค. 2561 เวลา 01.38 น.
Oom Siwat
บอกได้คำเดียวเลย...สิบาโด้
29 ก.ค. 2561 เวลา 01.29 น.
p' golf
กำลังบอกอะไรครับ?
แกนคืออะไร?
29 ก.ค. 2561 เวลา 00.58 น.
ดูทั้งหมด