โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เราควรปิดโรงเรียนในช่วงโควิดไหม ? - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 17 พ.ค. 2563 เวลา 17.16 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ผ่านวิกฤติโควิดมาหลายเดือน หลายประเทศทั่วโลกกำลังถกกันว่าได้เวลาเปิดโรงเรียนแล้วหรือไม่ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ให้เหตุผลที่มีน้ำหนัก น่ารับฟัง

ณ วันนี้ ข้อมูลจากองค์การยูเนสโกบอกว่า 177 ประเทศสั่งปิดโรงเรียน นักเรียน 1.2 พันล้านคนทั่วโลกไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนสามในสี่ของโลก

โรงเรียนทั้งหมดปิดด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

ข้อเสนอให้เปิดโรงเรียนคือ การปิดโรงเรียนทำให้เด็กขาดเรียน การเรียนออนไลน์ไม่ได้ผล บางที่ระบบการเรียนแบบ ‘บ้านใครบ้านมัน’ ก็ไม่พร้อม ไม่มีเครื่องมือหรือมีไม่พอ

ฝ่ายที่เห็นว่าควรปิดโรงเรียนต่อไปให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ปิดอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อขนานใหญ่ ก็มีการแย้งว่า การแพร่เชื้อในเด็กต่ำมาก แต่อีกฝ่ายก็แย้งกลับว่า แล้วจะเสี่ยงหรือ ? 

ปัญหาที่ตามมาจากการปิดโรงเรียนกระทบถึงพ่อแม่เด็กอย่างเลี่ยงไม่พ้น ผู้ใหญ่ต้องหยุดงานหรือลดเวลาทำงานเพื่อที่จะดูแลเด็ก ส่งผลกระทบต่อรายได้ และผลทางจิตวิทยาของเด็กที่อยู่บ้านนานเกินไป

ฝ่ายหนึ่งว่า ขาดรายได้ดีกว่าติดโรคแล้วตาย

อีกฝ่ายว่า ไม่มีรายได้ก็ตายเหมือนกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่ถกกันคือหัวอกพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูก ในมุมมองของพ่อแม่ ลูกเรียนช้าไปหกเดือนหรือหนึ่งปี ก็ดีกว่าติดโควิด

ไป ๆ มา ๆ ก็ถกกันด้วยความรู้สึก

ในวิกฤติใหญ่ขนาดนี้ เราคงต้องว่ากันที่ข้อเท็จจริง

…………………………………………………………………………..

รายงานทางการแพทย์เผยว่า เด็ก ๆ สามารถรับเชื้อโควิดได้เท่ากับผู้ใหญ่ แม้ไม่แสดงอาการ เมื่อเด็กกลับบ้านก็มีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้ใหญ่ 

การศึกษาตัวอย่างในเมืองจีนพบว่า เทียบกับผู้ใหญ่แล้ว เด็กเพียงหนึ่งในสามเท่านั้นที่ติดเชื้อ แต่เด็กมีความเคลื่อนไหวมากเป็นสามเท่าของผู้ใหญ่ จึงแพร่เชื้อได้สามเท่า

รายงานชี้ว่าการปิดโรงเรียนช่วยลดการติดโรคลง 40-60 เปอร์เซ็นต์จริง

นอกจากการเล่าเรียนแล้ว การสอบระดับมาตรฐานโลก เช่น Cambridge IGCSE, Cambridge O Level, Cambridge International AS & A Level, SAT, ACT ไปจนถึง International Baccalaureate (IB) ก็ถูกเลื่อนออกไปหมด

นี่แปลว่ามันจะส่งผลกระทบต่อการสมัครเรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั่วโลก ยกตัวอย่าง เช่น การเลื่อนสอบ IB ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่นักเรียนนำผลสอบไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้ กระทบนักเรียนสองแสนคนทั่วโลก 

ดังนั้นต่อให้โรงเรียนในประเทศไทยสามารถเปิดสอนและสอบตามปกติ เด็กมัธยมปลายที่จะไปเรียนต่อในต่างประเทศก็ไม่สามารถไปสมัครมหาวิทยาลัยที่ไหนในโลก เพราะทุกที่เลื่อนหมด ท้ายที่สุดก็ต้องรออยู่ดี

นี่บอกเราว่า ทุกหน่วยทุกฟันเฟืองในโลกเกี่ยวร้อยกันด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่ของโลกทั้งใบ และเราไม่อาจแก้ปัญหาเฉพาะจุด เฉพาะฟันเฟืองบางชิ้น

…………………………………………………………………………..

เป็นที่น่าสังเกตว่า เวลาถกกันเรื่องปิด-เปิดโรงเรียน เราก็คุยกันแต่เรื่องโรงเรียน หลายคนมองไม่เห็นว่า โรงเรียนเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในวิกฤติโควิดโลก

เมื่อมองเรื่องนี้ เรามองแค่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพรวม จะแก้ปัญหาเฉพาะจุดก็ไม่ได้ ต้องแก้ทั้งภาพรวม

ความจริงก็คือ เวลาเด็กนักเรียนหนึ่งคนไปโรงเรียน ไม่ได้มีเพียงคนหนึ่งคนไปโรงเรียน มันมีกระบวนการมากกว่านั้น ถ้าพ่อแม่ต้องไปส่งลูก ก็เพิ่มอีกคนหรือสองคน ถ้าไปโรงเรียนด้วยรถเมล์ ก็มีคนขับรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ ถ้าไปทางรถไฟฟ้า ก็เกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายของรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีคนขายอาหาร คนส่งนม ฯลฯ

นี่หมายถึงว่าการไปโรงเรียนของเด็กหนึ่งคน เกี่ยวข้องกับระบบอื่นๆ แทบทุกระบบ เพราะทุกหน่วยในสังคมเกี่ยวข้องกัน ไม่มีหน่วยใดเดินหน้าไปได้โดยไม่เกี่ยวกับหน่วยอื่น ถ้านักเรียนไปเป็นเรือนพันหรือเรือนหมื่น ตัวเลขคนในระบบอื่นที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มตามเป็นเรือนพันหรือเรือนหมื่นเช่นกัน

ว่าก็ว่าเถอะ ถ้านักเรียนไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คนอื่นไปทำงานไม่ได้

ถ้าเราคิดจะรอดจากวิกฤตินี้ การแก้ปัญหาต้องแก้ที่องค์รวม เป็น ‘Master plan’ ซึ่งจิ๊กซอว์แต่ละชิ้นนำไปปฏิบัติ ไม่อาจแก้เป็นเฉพาะจุดตามใจชอบ หรือตามอารมณ์ หรือตามกระแสสังคม

องค์รวมนั้นกว้างกว่าแค่เรื่องการศึกษา ยังมีเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ที่ทุกส่วน ทุกสังคม ทุกประเทศ เกี่ยวร้อยกัน กระทบต่อกันเป็นลูกโซ่

ไม่มีประเทศไหนสามารถฟื้นจากโควิดอย่างเดียวดาย ต่อให้เมืองไทยปลอดโควิดโดยสิ้นเชิง หากประเทศอื่นยังไม่ฟื้น เราก็ยังฟื้นไม่ได้เช่นกัน

………………………………………………………………

กรอบคิดหนึ่งที่มักนำมาถกคือการไม่ไปโรงเรียนคือการสิ้นสุดของการเรียน และเด็กจะเสียเวลาในชีวิต

ทว่าโควิดเปิดประตูบานใหม่ของวิถี ‘New normal’ ในโลก เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยกรอบคิดแบบเดิมหรือมุมมองที่เคยชินทุกครั้ง เราต้องก้าวพ้นจากกรอบคิดว่าความรู้เกิดจากห้องเรียนอย่างเดียว

โควิดอาจปิดโรงเรียน แต่ไม่ได้ปิดการเรียนรู้

การเรียนในห้องเรียนแบบเจอหน้ากันย่อมดีที่สุด แต่เราควรระวังอย่าไปยึดติดกับรูปแบบการเรียนมากเกินไป 

มองโลกในแง่ดี เรายังโชคดีที่มันเกิดขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ต การเรียนออนไลน์หรือทางคลื่นโทรทัศน์เป็นไปได้ หากเป็นยุค Spanish Flu เมื่อร้อยปีก่อน ก็ไม่สามารถเรียนที่บ้านอย่างนี้ได้

มันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย คอขาดบาดตาย เพียงแต่ต้องปรับตัว

การปรับตัวเป็นหัวใจของสิ่งมีชีวิต

………………………………………………………………

กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2485 เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมสูงเป็นเดือน ๆ ไม่มีใครสามารถไปโรงเรียนได้ เพราะโรงเรียนจมน้ำหมด

อยากไปโรงเรียนแค่ไหน ก็ไปไม่ได้

ในช่วงเวลานั้น การสัญจรทางบกเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ชาวบ้านก็ปรับตัว ไปไหนมาไหนด้วยเรือ

โควิดก็เหมือนน้ำท่วม ตอนน้ำท่วมสูง เราอาจไม่สะดวก การเรียนการทำงานชะงักงัน แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป เราจะคิดค้นหนทางออกมาจนได้ เพราะ “Necessity is the mother of invention.” ถ้ามีความจำเป็นจริง ๆ เราก็สามารถคิดหาวิธีมาจนได้นั่นแหละ

Adapt or die.

แต่สิ่งที่โควิดเตือนเราทางอ้อมคือ วิธีการเผชิญหน้ากับวิกฤติระดับโลก มันบอกว่าอย่ามองว่านี่คือการเผชิญหน้ากับโรคร้าย ให้มองข้ามโรคร้ายนี้ไปไกลกว่านั้น

โรคร้ายไม่ใช่หัวใจของเรื่องนี้ หัวใจคือการเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤติต่างหาก

เราเรียนรู้จากตลอดอารยธรรมของมนุษยชาติว่า โควิดจะไม่ใช่โรคสุดท้ายที่มาเยือนมนุษย์ ในอนาคตไม่เพียงจะมีโรคใหม่ๆ ยังอาจมีวิกฤติรูปอื่นๆ เช่น น้ำท่วมโลก โรงไฟฟ้าปรมาณูรั่ว อุกกาบาตหล่นลงมาจากฟ้า เป็นต้น

ทุกวิกฤติต้องการการปรับตัว และเราต้องพร้อมที่จะปรับตัว

หากปรับตัวไม่ได้ และไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัว เราก็สูญสิ้นไปตามการคัดสรรของธรรมชาติ 

…………………………………………………………………………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 63

  • Arm
    ตราบใดที่ไม่มีวัคซีน ต้องปิดสถานเดียว ไม่คุ้มต่อชีวิตเลย ไม่คุ้มเลยจริงๆ
    18 พ.ค. 2563 เวลา 03.32 น.
  • ตุ๊กตา
    ปิดก็ด่า หากไม่ปิดเด็กติดเชื้อมาก็ด่าเป็นวัวเป็นควาย มนุษย์เอาใจยาก
    18 พ.ค. 2563 เวลา 03.42 น.
  • tawato
    ไม่ควรเปิดครับยังมีความเสี่ยงอยู่ เรียนออนไลน์พอไปได้ ครูใจดีไม่ดุไม่ตี มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
    18 พ.ค. 2563 เวลา 03.13 น.
  • แซ๊ก&ตุ๊
    ครบถ้วนชัดเจน แต่ก็เหมือนเสียงซอที่ลอยมาตามลมสำหรับอ๋อยและปลื้ม แต่คิดว่าเรียนทางทีวีแก้ขัดไปก่อนดีกว่า ทางเน็ตบ้านเรายังไม่ทั่วถึง100%แค่เดือนกว่าๆก็เปิดเทอมได้แล้ว อย่าให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่่มอีกเลยเพราะแค่เปิดเทอมธรรมดาก็ไม่รู้ว่าจะหาอะไรไปจำนำเป็นค่าใช้จ่ายอีกแล้ว
    18 พ.ค. 2563 เวลา 03.21 น.
  • So
    เห็นด้วยค่ะ
    18 พ.ค. 2563 เวลา 03.22 น.
ดูทั้งหมด