หลอกว่าเท่า…สุดท้ายก็เทียม! “พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ” เพื่อคนเพศทางเลือก? หรือแค่เครื่องมือการตลาดท่องเที่ยวไทย!
เป็นอีกครั้งที่กฎหมายคู่ชีวิตเพื่อชาวหลากหลายทางเพศถูกยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมไทย หลังจากร่างที่ 3 ของ "ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตพุทธศักราช…” คลอดออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย หลังจากเริ่มร่างกันมาครั้งแรกตั้งแต่ประมาณ 5 ปีที่แล้ว การต่อสู้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อสิทธิทางกฎหมายที่จะได้มีฐานะเท่าเทียมกับคู่สามีภรรยาชายหญิง ดูเหมือนจะเริ่มเห็นปลายทางของเส้นชัยที่ทุกฝ่ายอยากไปให้ถึง
เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกเพศ, เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และอีกหลายเหตุผลที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า การมาถึงของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ฉบับนี้ จะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น
แต่ถ้าลองดูกันให้ชัดถึงกฎหมายเป็นรายข้อ เราจะรู้ว่า ที่บอกว่าเพื่อความเท่าเทียม ที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงคำหลอกลวงเท่านั้นเอง!
ในหลายประเทศทั่วโลก สิทธิของคนเพศหลากหลายที่จะใช้ชีวิตกับคนที่รัก ถูกยกฐานะให้เป็น “คู่สมรส” ที่มีฐานะเท่ากับคู่รักชายหญิง ผ่านการจดทะเบียนสมรส (ซึ่งไม่เท่ากับการแต่งงานที่ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียน) และการจดทะเบียนสมรสนี้เองที่จะนำมาซึ่งสิทธิต่างๆ ที่รัฐจะรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพย์สิน มรดก การเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ
พัฒนาการของประเทศเหล่านี้ บางที่ก็ยกฐานะของคนเพศหลากหลายให้ได้เป็นคู่สมรสกันเลย เพราะถือว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากันไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร หรือบางที่อาจจะนำร่องด้วยการออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง เช่นที่ประเทศอังกฤษที่เปิดให้คนเพศหลากหลายจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตตั้งแต่ปี 2005 ก่อนจะจดทะเบียนสมรสได้ในปี 2014
กุญแจล็อกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ที่ขัดขวางไม่ให้การสมรสเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ของกลุ่มคนเพศหลากหลาย คือข้อความที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่เป็นเพศชายและเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้นที่จะจดทะเบียนสมรสได้
การมาถึงของ พ.ร.บ. คู่ชีวิตฯ ในร่างที่ 3 ถ้าลองมาเทียบกับไอเดียเริ่มต้นเมื่อห้าปีก่อนหน้า เป็นที่น่าสังเกตว่ามีหลายประเด็นที่ถูกถอดออกไปโดยไม่ได้มีคำอธิบายอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลของคู่ชีวิตอีกฝ่าย(คู่รักเพศหลากหลายไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนอีกฝ่ายหากต้องยินยอมรักษาพยาบาลโดยด่วน) สิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่าย(หากคนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกฝ่ายไม่สามารถรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรสชายหญิง) สิทธิในการใช้ชื่อสกุลเดียวกันฯลฯ
ที่น่าสังเกตไปมากกว่านั้นคือ ในร่างแรกสุดของพระราชบัญญัตินี้ มีการพูดถึงการ “อนุโลม” ให้คู่รักเพศหลากหลายสามารถได้รับผลประโยชน์ต่างๆ เหมือนคู่สมรสชายหญิงที่มีอยู่ก่อนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คล้ายกับกฎหมายคู่ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 1999) ในขณะที่ร่างปัจจุบันที่กำลังพิจารณาความเห็นกันอยู่ กลับไม่มีพูดถึงการอนุโลมนี้เลย
นั่นหมายความว่า ช่องทางที่จะพัฒนาความเป็น “คู่ชีวิต” ไปสู่ “คู่สมรส” อาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ หากรัฐไม่แก้ไขนิยามของการสมรสในภาพใหญ่ให้ครอบคลุมทุกเพศ มากกว่าจะจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ไว้ให้ชายหญิงเหมือนอย่างที่เป็นอยู่
ถ้าอย่างนั้น ที่รัฐบอกว่าอยากจะให้ทุกเพศมีความเสมอภาค มีสิทธิเท่าเทียมกัน แท้จริงแล้วอาจเป็นการโกหกครั้งใหญ่หรือเปล่า?
เพราะถ้าตั้งใจอยาก “ทดลองใช้” พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่อนำร่องก่อนให้จดทะเบียนสมรสเหมือนอย่างในอังกฤษ ก็ควรจะเปิดช่องให้มีการพิจารณาสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับคู่ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสในระหว่างทดลองใช้ มากกว่าจะตัดทิ้งไปเลย โดยที่ไม่เอ่ยถึงแม้แต่คำเดียว
หรือจะไปแก้ไขที่ร่มใหญ่ของปัญหาก็ย่อมได้ นั่นคือการตัดคำว่า “ชายและหญิง” ออกจากข้อบังคับของการจดทะเบียนสมรส และใช้คำว่า “บุคคล” เข้าไปแทนที่ก็เท่านั้นเอง
หลายฝ่ายมองว่า การผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตนี้ หากมองแบบสั้นๆ ก็ดูดีในสายตาประชาชนและนานาประเทศ แต่ในระยะยาว การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางกฎหมายในอนาคต อาจกลายเป็นเหมือนแพ้ตั้งแต่หน้าประตู เพราะรัฐ (และประชาชนบางกลุ่ม) อาจบอกได้ว่า “ก็ได้ไปแล้วจะมาเรียกร้องอะไรอีก!”
โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นการตอบรับจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มารับลูกจากข่าวการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยยกประโยชน์ที่ว่า จะได้โปรโมทประเทศไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นสวรรค์ของกลุ่มเพศหลากหลาย เปิดกว้างและยอมรับทุกเพศ พ่วงด้วยสาเหตุที่มองว่า กลุ่มคนเพศหลากหลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง เพราะไม่ต้องมีห่วงเรื่องครอบครัวและบุตร ใช้ชีวิตได้ตามใจ
ยิ่งตอกย้ำความคิดที่ว่า การผลักดันกฎหมายนี้ อาจเป็นแค่การใช้ความหวังของกลุ่มเพศหลากหลาย ที่ต้องการมีสิทธิทางกฎหมายทัดเทียมกับชายหญิง เอามาฉาบหน้าความอยากได้เงินท่องเที่ยว หวังโปรโมทแต่ภาพลักษณ์ของประเทศเพียงอย่างเดียว
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่าบอกเลยว่าทำไปเพราะอยากเห็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย ทั้งที่มันเป็นแค่ละครฉากหนึ่งเท่านั้นเอง!
ข้อมูลอ้างอิง
- - https://www.bbc.com/thai/thailand-46151187
- - https://thestandard.co/civil-partnership-bill-draft-3/
- - https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSe6_GcLUlMMj5QNnPiRUNktu4TAvv6sGS7V2i_n47MPFSeYfw/viewform
- - https://www.khaosod.co.th/economics/news_1758556
- - https://www.posttoday.com/politic/report/548289
ภาพประกอบจาก
http://www.thaihealth.or.th/tag/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3/
ความเห็น 13
xxx
BEST
มีเหรอความเท่าเทียม ตื่นเช้าผมก็ต้องเตรียมอาหารให้คุณภรรยากับคุณลูกสาวไปรับประทานที่ทำงานและที่โรงเรียน เสร็จแล้วผมก็ต้องรีบไปรีดชุดนักเรียนให้คุณลูกสาว และพับชุดฟอร์มให้คุณภรรยาใส่ถุงผ้าไปเปลี่ยนที่ทำงาน แล้วผมถึงได้อาบน้ำกินกาแฟ และขับรถไปส่งคุณภรรยาและคุณลูกสาว แล้วผมถึงไปทำงาน กลับมาบ้านตอนเย็นหลังจากรับคุณทั้งสองแล้วผมก็ต้องเข้าครัวเตรียมอาหารเย็น กินเสร็จเก็บล้าง เล่นกับหมาแล้วเข้านอนเป็นคนสุดท้าย นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...อย่ามีเมีย
14 พ.ย. 2561 เวลา 05.15 น.
Spy Kunraphat 69
รออีกหน่อย ให้มนุษย์ที่เกิดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่1 ให้รุ่นนี้ตายหมดก่อน ประเทศไทยจะเจริญแน่นอน..
14 พ.ย. 2561 เวลา 05.12 น.
Lak
อยู่กันมาจะเข้าสิบปีแล้ว..รอได้ครับ
14 พ.ย. 2561 เวลา 05.52 น.
Kenny2
เรื่องหลอกตีหัว แบบตื้นๆต้อง ไทยแลนด์....อยากลึกซึ้ง จริงจังไปที่อื่น...ถ้า ขำๆ อ่ะมาได้
14 พ.ย. 2561 เวลา 05.59 น.
Rewat Thaiwee♾️1️⃣9️⃣
ผ่านแล้วต่อไป พรบ.อุ้มบุญเสรีตามมาแน่นวล
14 พ.ย. 2561 เวลา 05.29 น.
ดูทั้งหมด