โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ตำรวจไทยทำอะไรก็ผิด ขนาดโบกรถติดยังโดนด่า!

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 13 พ.ย. 2561 เวลา 05.00 น.

 ตำรวจไทยทำอะไรก็ผิดขนาดโบกรถติดยังโดนด่า! 

“รถติดแบบนี้ มีตำรวจอยู่ข้างหน้าแน่นอน” 

หนึ่งในประโยคคลาสสิกที่ผู้ใช้รถ ใช้ถนนต้องเคยคิดขึ้นมาในใจ (ไปถึงขั้นสบถออกมาดังๆ) เพราะนอกจากปริมาณที่แน่นขนัดพาให้หงุดหงิดใจ เรามักจะมองหมวกสีขาวของคุณตำรวจเป็นภาพประกอบอยู่ไกลๆ ทุกครั้งที่รถจอดแช่อยู่บนถนนเป็นเวลานาน 

ประกอบกับผลสำรวจของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร INRIX ที่ระบุว่า ไทยครองแชมป์รถติดอันดับ 1 ของโลก 2 ปีซ้อน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่ขึ้นแท่น เสียเวลาอยู่บนท้องถนนยาวนานถึง 64 ชั่วโมงต่อปี! 

ยิ่งรวมกับข่าวล่าสุด ที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ปิ๊งไอเดียว่าตำรวจจราจรควรอยู่แต่ในป้อม ไม่ควรไปยืนตามจุดต่างๆ เพราะอาจเป็นสาเหตุของรถติด รวมทั้งผลสำรวจของสำนักข่าว The Standard ที่เปิดให้คนลงความเห็น ปรากฏว่า จากจำนวน 2,500 เสียง มีคนเห็นด้วยว่าตำรวจจราจรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถติดมากถึง 77% ก็ยิ่งช่วยตอกย้ำประโยคข้างต้นได้เป็นอย่างดี 

ถึงแม้เรื่องดังกล่าวจะเป็นความจริงอยู่หลายส่วน แต่การเหมารวมโยนความผิดให้กับตำรวจจราจรทั้งหมด ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ ทนแดด ทนฝนด้วยความจริงใจและปรารถนาดี เท่าไรนัก 

เราอยากลองให้ทุกคนทำใจให้กว้าง แล้วมามองให้ลึกถึงปัญหาการจราจรที่แท้จริง แล้วอาจจะพบว่าจริงๆ แล้ว พวกเราทุกคนก็มีส่วนต้องรับผิดชอบ ไม่ต่างอะไรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเหมือนกัน 

ปริมาณรถมากไม่สัมพันธ์กับจำนวนถนน

จากสถิติกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ในแต่ละวันจะมีจำนวนรถยนต์สะสมบนท้องถนนทั่วประเทศมากถึง 38 ล้านคัน แบ่งเป็นในกรุงเทพอย่างเดียว 9.8 ล้านคัน ซึ่งนับว่าเกินจากพื้นที่ที่ถนนรองรับได้มากถึง 4.4 เท่า! 

สถิตินี้คำนวนจากพื้นที่บนถนนนที่โล่งเต็มพิกัด ไม่นับบางจุดที่การตั้งร้านค้ากินพื้นที่ถนน และคนก็พร้อมใจกันจอดรถเพื่ออุดหนุนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน รวมทั้งถนนอีกหลายเส้นที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ที่มักจะมีการกันพื้นที่ถนนอย่างน้อย 1 เลน (อย่างการเปิดตัวศูนย์การค้าใหม่ที่เป็น ‘สัญลักษณ์ของสยาม’ ถึงกับปิดถนนทั้งเส้นไปเลย) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยอาจจะลืมคิดไปว่า ยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกหลายคน ที่เขาไม่ได้ยินดีกับการ ‘อำนวย’ ความสะดวกตรงนี้แม้แต่น้อย 

มหาครแห่งรถรางที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย10 ปีถึงจะเกิดขึ้นจริง 

ตอนนี้มีโครงการ ‘รถไฟฟ้าหลากสี’ อยู่ในกระบวนสร้างอยู่ทั้งหมด 8 สี คือสายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน, สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ, สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค, สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, สายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, สายสี ชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง 

ซึ่งบางโครงการก็คืบหน้าไปจนใกล้เสร็จแล้ว แต่ถ้ารวมทั้งหมด จนกรุงเทพฯกลายเป็นมหานครแห่งรถรางที่หลายคนใฝ่ฝันก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงปีพ.ศ. 2572 ซึ่งเป็นการคำนวนจากสภาวะการเมืองปกติ ยังไม่นับหากมีช่วงการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล ที่อาจจะต้องมีการสลับสับเปลี่ยน เล่นแร่แปรธาตุของผู้รับผิดชอบโครงการ จนยืดเวลาออกไปอีกไม่รู้เท่าไหร่  

ช้าคนละไม่กี่วินาทีทำให้รถติดได้มากกว่าที่คิด 

ปัญหาที่หลายคนนึกไม่ถึง เพราะระหว่างติดไฟแดง รอสัญญาณไฟเขียว หลายคนก็จะก้มหน้าก้มตาหาความเพลินบนหน้าจอโทรศัพท์ รอจนกว่าจะได้ยินเสียงแตรจากคันข้างหลัง ถึงจะค่อยๆ ขยับตัวออกไป เพราะคิดว่าเราออกตัวช้าแค่ไม่กี่วินาที คงไม่มีผลกับสภาพการจราจรมากเท่าไหร่ 

หากคิดแบบนั้นก็ไม่ผิด ถ้าเกิดว่าบนท้องถนนที่คนช้าแค่ 1-2 คน แต่ลองสภาพว่าทุกคนคิดแบบนั้น และออกตัวช้าคนละ 5 วินาที เป็นจำนวนอย่างน้อย 10 คัน ระยะเวลาที่สะสมเพิ่มขึ้นจากคันที่หนึ่งถึงคันที่สิบ จะทำให้รถบนถนนเคลื่อนตัวช้ามากถึง 275 วินาที หรือประมาณ 4 นาทีครึ่ง! (คำนวนจาก 5 + 10 + 15 + 20 + 25 + 30 + 35 + 40 + 45 + 50 ไม่ใช่แค่ 5x10 เพราะความช้าของคันหน้าจะส่งผลมาถึงคันข้างหลังด้วย) 

ปาดขวาแซงซ้ายมุดคอสะพานเร็วขึ้น1 คันแต่พังกันทั้งถนน

อันนี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่คงไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ และมีวิธีการคิดระยะเวลาสะสมคล้ายกับข้อด้านบน คือเราอาจจะคิดว่าปาดหน้า 1 ครั้งคงไม่เป็นไร แต่การทำให้รถคันอื่นต้องชะลอแค่ไม่กี่วินาที ก็สร้างปัญหาการจราจรได้มากกว่านั้นเยอะ

โดยเฉพาะการไม่ยอมรอในเลนที่ถูกต้อง แล้วไปปาดหน้าก่อนทางขึ้นสะพานหรือทางเลี้ยวต่างๆ ที่พอมุดไม่ได้ ก็จะกลายเป็นคอขวดค้างเติ่ง ที่ไปเดือดร้อนคนที่วิ่งมาตามเลนปกติให้ติดขัดตามไปด้วย รวมทั้งกรณีที่ปาดกันจนเกิดอุบัติเหตุ ที่กว่าจะถ่ายรูป กว่าจะรอประกัน ก็ต้องหยุดรถค้างไว้อย่างนั้นอีกไม่รู้ว่านานเท่าไหร่ 

ด่านลอยไร้เหตุผลเข้มงวดกวดขันหรือหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง

จากเหตุผล 4 ข้อข้างต้น คือเหตุผลที่เชื่อว่าผู้ใช้รถใช้ถนน หน่วยงานรัฐ และทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน แต่กับเหตุการณ์ ‘ด่านลอย’ ที่ขับอยู่ดีๆ ก็มีชายในชุดสีกากี โผล่มากวักมือเรียกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งหากเรียกจับเพราะเราทำผิดกฎจราจรจริงๆ อันนั้นเราไม่มีปัญหา 

แต่กับบางด่าน ที่พอเรียกเราไปแล้วเห็นว่าเราไม่มีความผิด แต่ก็ยังทู่ซี้หาป้ายพ.ร.บ.หมดอายุ หาของแต่งรถผิดระเบียบ หรือสารพัดเหตุผลที่ต้องทำให้เรามีความผิดสักอย่างขึ้นมาจนได้ ซึ่งเอาจริงๆ จะจับเราข้อหาไหนก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก หากมีการเขียนใบสั่งให้ถูกต้อง และชำระค่าปรับกันตามกฎหมาย ไม่ใช่สอดธนบัติใต้บัตรประชาชน ส่งเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วแยกย้ายกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ซึ่งข้อนี้ แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำแบบนั้นต้องรับผิดไปแบบเต็มๆ แต่ไอ้นิสัยขี้เกียจไปจ่ายค่าปรับ  “คุณตำรวจครับ/ค่ะ ช่วยผม/หนู หน่อย”  ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้ด่านพวกนี้ไม่หายไปไหน และยังคงวนเวียนตั้งขึ้นมา เพื่อกีดขวางทางจราจรไม่รู้จักจบสิ้นได้เหมือนกัน

อ้างอิง

http://news.ch7.com/detail/299130

https://www.thairath.co.th/content/944553

http://www.bltbangkok.com/article/info/3/613

http://www.bltbangkok.com/CoverStory/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%AF%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0