เด็กๆในสังคม “เกมออนไลน์” หยาบคายจนเป็นนิสัย โตไปสังคมไทยจะเป็นอย่างไร?
กระแส e-sport หรือกีฬาที่แข่งโดยใช้เกมเป็นเครื่องมือหลักนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ที่วงการเกมต่างๆ คึกครื้นกว่าที่เคยเป็นมา มีเกมใหม่ๆ เปิดตัวขึ้นราวกับดอกเห็ด และปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คือวงการที่มีเม็ดเงินสะพัดมหาศาลอีกวงการหนึ่ง
การเติบโตอย่างรวดเร็วและการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทำให้การเล่นเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนสมาร์ทโฟนแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และกลุ่มเป้าหมายก็ยิ่งขยายฐานกว้างขึ้นเรื่อยๆ
แต่ภายในความสนุกสนานกลับมาพร้อม “สังคมเกม” ที่ชวนหงุดหงิดใจ
ยกตัวอย่างชาว “ตีป้อม” ทั้งหลาย (ที่คุ้นชินกับอาการหัวร้อนเสมอเวลาฐานจะแตก หรือตัว “ฟาร์ม” มัวแต่ฟาร์มไม่ยอมออกจากป่า) ที่ต้องพบเจอกับคำพูดคำจาที่ต้องตกใจว่า “หยาบ” ได้เพียงนี้เชียวหรือ
คำด่าสารพัดสัตว์ ไปจนถึงการด่าว่าเป็นลูกโสเภณี (เชื่อเถอะ เวลาพิมพ์ด่ากันในเกมจะเป็นคำอื่นที่แรงกว่านี้) ไม่น่าเชื่อว่านี่คือคำพูดคำจาที่พ่นใส่กันเป็นปกติยาม “หัวร้อน” เกินจะห้ามตัวเองไหว
และยิ่งหลังๆ มานี้ ดูราวกับว่าสังคมเกมในไทยจะเจอแต่คำรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการเติบโตอย่างรุดหน้าของวงการ e-sport ไทย
ที่ไม่น่าเชื่อคือบางครั้งคนที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวหยาบายแบบนี้กลับเป็นเด็กอายุไม่ถึงสิบขวบ
หลายคนอาจจะมองว่านี่ไม่ใช่ “เรื่องอันตราย” หรือ “แปลกใหม่” แต่เราอย่าลืมว่า เมื่อเด็กได้ทำสิ่งใดซ้ำๆ นั่นจะกลายเป็นการบ่มเพาะนิสัยเสียนี้โดยไม่รู้ตัว
การพิมพ์ด่ากันในเกมนั้นง่าย ง่ายเพราะไม่ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ง่ายเพราะไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร ง่ายเพราะเราได้ระบายด้านหยาบในใจออกไปผ่านตัวหนังสือ
ไม่ต่างอะไรกับการด่าคนอื่นในโลกโซเชี่ยลมีเดียโดยที่เราไม่ต้องรับผิดชอบแบบที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ นั่นแล
ทีนี้… เกมคือแหล่งบ่มเพาะความหยาบคายของเด็กหรือไม่?
เราคงต้องยอมรับ โดยไม่เข้าข้าง “เกม” อย่างเดียวว่า “ใช่” การที่เราไม่ต้องแสดงตัวตนไปมากกว่าชื่อที่สร้างขึ้นมาเองทำให้การด่าอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำต่างๆ นั้นง่ายกว่าปอกกล้วยเข้าปาก
แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร?
ง่ายสุดคือการเล่นอย่างเหมาะสม อย่าว่าแต่เด็กเลย แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เช่นกัน การเล่นเกมในปริมาณที่เหมาะสมทำให้สุขภาพจิตไม่ถูกบั่นทอนมากเกินจำเป็น
ผู้ปกครองเองก็เป็นคนสำคัญ การที่เด็กคนหนึ่งไปแสดงออกในเกมเช่นนั้นย่อมสะท้อนถึงอะไรบางอย่าง พ่อแม่ได้สั่งสอนหรือดูแลลูกอย่างไร สิ่งนั้นย่อมสะท้อนออกมาในทางใดทางหนึ่ง
ผู้เล่นด้วยกันเองก็เช่นกัน ถ้าอยากให้สังคมเกมบ้านเราน่าอยู่ ก็จงเริ่มที่ตัวเองก่อน คอเกมรู้อยู่แล้วว่าถ้าวงการเกมคึกคัก และ e-sport ได้รับการสนับสนุนมากกว่านี้ ก็เหมือนกับการเห็นสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ ได้มีพัฒนาการไปอีกขั้น แล้วเราอยากให้การเติบโตนั้นสวนทางกับสังคมผู้เล่นที่ฟอนเฟะหรือ
ในเมื่อคนในสังคมบางส่วนมอง “เกม” ว่าเป็นสิ่ง “มัวเมา” อยู่แล้ว ก็จงช่วยกันอย่าให้เกมที่เราชอบ กลายเป็น “สังคมบ่มเพาะความหยาบคาย” เพิ่มไปกว่านี้อีกเลย
ถ้ารักมัน จงช่วยกันทำมันให้ดีและน่าอยู่กันเถิด
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://www.tcijthai.com/news/2013/09/scoop/2503
https://thaitechnewsfeed.com/tag/dtac/page/12/
https://realtimesubscriber.com/video/2-isuzu-vs-toyota/FfDrfYZ9PdQ