โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ช่วยหนึ่งชีวิตคือช่วยคนทั้งโลก - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 27 ก.ย 2563 เวลา 18.57 น. • วินทร์ เลียววาริณ

รถไฟกำลังเคลื่อนออกจากสถานีคอนาส บนชานชาลามีผู้คนมากมายออกัน สายตาทุกคู่จับที่เขา สีหน้าแต่ละคนหดหู่หม่นหมอง อาบความกังวล

แล้วเขาก็โยนกระดาษปึกหนึ่งลงไป

คนบนชานชาลากรูเข้าไปรับ

มันไม่ใช่ธนบัตร 

มันมีค่ากว่าธนบัตร

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ (杉原 千畝) เป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นในเมืองคอนาส ประเทศลิทัวเนีย ตำแหน่งรองกงสุล

ซุงิฮะระเกิดในปี ค.ศ. 1900 ในครอบครัวคนชั้นกลาง เขาเรียนดี บิดาอยากให้เป็นหมอ แต่เขาไม่ชอบงานสายนั้น เขาจึงตั้งใจสอบตก โดยใส่ชื่อไม่ใส่นามสกุล

ในที่สุดเขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ วิชาเอกภาษาอังกฤษ 

ในปี 1919 ซุงิฮะระสอบได้ทุนการศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาทำงานในกระทรวงนี้สองปี หลังจากนั้นไปรับราชการทหาร ยศร้อยตรี ในกองกำลังทหารราบที่ 79 ประจำการที่เกาหลี ซึ่งเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น

ต่อมาเขาไปสอบเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ การรู้ภาษารัสเซียเป็นข้อได้เปรียบ เขาถูกส่งไปประจำการที่ฮาร์บิน ประเทศจีน เรียนจบจากสถาบัน Harbin Gakuin เชี่ยวชาญด้านการเมืองรัสเซีย

ช่วงทำงานอยู่ที่ฮาร์บินนานสิบหกปี เขาเรียนภาษารัสเซียเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ เข้าใจกิจการของรัสเซียดีมาก เขามีผลงานต่อรองการซื้อเส้นทางรถไฟสายแมนจูเรียเหนือจากพวกรัสเซียในปี 1932 

เขาแต่งงานกับหญิงสาวรัสเซียนาม Klaudia Semionovna Apollonova และหันไปนับถือศาสนาคริสต์

ญี่ปุ่นรุกเข้ายึดครองแมนจูเรียในปี 1931 และก่อตั้งรัฐแมนจูกัวในปีต่อมา ซุงิฮะระไม่พอใจที่ทหารญี่ปุ่นกระทำทารุณต่อชาวจีน จึงลาออกจากตำแหน่งในปี 1935 ปีเดียวกับที่เขาหย่ากับภรรยาชาวรัสเซียในปีนั้น กลับไปตั้งหลักที่ญี่ปุ่น และต่อมาแต่งงานใหม่

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

เนื่องจากเขาเก่งภาษารัสเซีย ในปี 1939 ทางการจึงส่งเขาไปเป็นรองกงสุลของสถานกงสุลญี่ปุ่นประจำเมืองคอนาส ประเทศลิทัวเนีย หน้าที่ของเขารวมการเฝ้าสังเกตความเคลื่อนไหวของกองทัพเยอรมนีกับโซเวียต 

เวลานั้นฮิตเลอร์คิดก่อสงคราม แต่ไม่ต้องการรบศึกสองด้าน จึงเซ็นสัญญากับสตาลินไม่รุกรานซึ่งกันและกัน แต่ทุกคนในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศต่างรู้ดีว่า ช้าหรือเร็ว ฮิตเลอร์จะบุกโซเวียตแน่นอน รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการรู้ว่าฮิตเลอร์จะบุกโซเวียตเมื่อใด เขาส่งรายงานไปให้เบื้องบนที่โตเกียวและเบอร์ลินเป็นระยะ 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ลิทัวเนียตกอยู่ตรงกลางของการประลองกำลังของเยอรมนีและโซเวียต โซเวียตเข้ายึดครองลิทัวเนีย แต่ต่อมานาซีเยอรมนีก็ยึดไป ช่วงท้ายสงคราม เยอรมนีถอย รัสเซียก็ยึดคืน

วันที่ 14 มิถุนายน 1940 กองทัพแดงโซเวียตบุกเข้ายึดครองลิทัวเนีย ล้มรัฐบาลเก่า ชาวยิวจำนวนมากจากโปแลนด์และลิทัวเนียหนีภัยสงคราม 

ในเดือนเดียวกันนี้ อิตาลีเข้าสู่สงครามเป็นหนึ่งในสามของฝ่ายอักษะคือเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ทางหนีด้านทะเลเมดิเตอเรเนียนถูกปิดตาย เหลือทางหนีเดียวคือญี่ปุ่น เดินทางโดยรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียไปวลาดิวอสตอก และญี่ปุ่น จากญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา คูราเชา

เวลานั้นบางประเทศประกาศเปิดรับผู้ลี้ภัย เช่น ประเทศคูราเชาในทะเลคาริบเบียน

พวกยิวอพยพมีทั้งยิวจากประเทศโปแลนด์ที่ฝั่งตะวันตกถูกพวกเยอรมันและฝั่งตะวันออกถูกพวกโซเวียตยึดครอง และยิวจากรัฐลิทัวเนีย

แต่การอพยพจำต้องมีใบผ่านทาง หากไร้วีซา ยิวอพยพเหล่านี้จะไปไหนไม่รอด 

ในเมื่อยุโรปเป็นสมรภูมิรบ ญี่ปุ่นเป็นประตูด่านสุดท้ายออกจากความตาย

ทันใดนั้นสถานกงสุลญี่ปุ่นที่เมืองคอนาสก็คลาคล่ำด้วยยิวอพยพทุกวัน ขอให้ช่วยออกวีซาให้ผ่านทางไปในเขตแดนญี่ปุ่นเพื่อหาทางไปประเทศที่สาม

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ปลายปี 1940 โซเวียตอนุญาตให้ชาวลิทัวเนียสมัครขอสัญชาติรัสเซีย แต่ชาวลิทัวเนียหลายพันคนเลือกหนทางอพยพออกนอกประเทศ

ซุงิฮะระติดต่อเบื้องบนที่กระทรวงการต่างประเทศสามหนเพื่อขอคำแนะนำเรื่องการให้วีซาผู้อพยพ คำตอบคือออกวีซาให้เฉพาะคนที่มีวีซาไปจุดหมายปลายทางแน่นอน มีเอกสารถูกต้อง และมีเงินพอ ไม่มีข้อยกเว้น 

ปัญหาคือผู้อพยพส่วนใหญ่ไม่มีคุณสมบัติตามกฎนี้

หลังจากโซเวียตยึดลิทัวเนีย ก็สั่งปิดสถานกงสุลญี่ปุ่น เส้นตายคือวันที่ 4 กันยายน

หากเขาจะออกวีซาให้ผู้ลี้ภัย ก็ต้องทำให้เสร็จทันก่อนกงสุลปิด เขารู้ว่ามันเป็นเรื่องเร่งด่วนและคอขาดบาดตาย

ซุงิฮะระตัดสินใจขัดคำสั่งของเบื้องบน ออกวีซาให้คนเหล่านั้น จำนวนมากมีเอกสารไม่ครบ หรือมีวีซาปลอมไปคูราเชาหรือสหรัฐอเมริกา

เขาตกลงกับพวกรัสเซียให้ผู้อพยพเดินทางผ่านไปทางสายทรานส์-ไซบีเรีย ราคาตั๋วรถไฟพุ่งขึ้นห้าเท่า 

18 กรกฎาคม - 28 สิงหาคม 1940 สิบวันนั้น ซุงิฮะระออกวีซาด้วยลายมือ ใช้เวลาวันละ 18-20 ชั่วโมงเขียนวีซาให้ทีละคน เป็นงานหนัก แต่เขารู้ว่าเขาหยุดไม่ได้ เพราะชีวิตคนขึ้นอยู่กับเขา เขาเป็นที่พึ่งสุดท้ายของผู้ลี้ภัย

หลังจากเขาออกวีซาไปได้ราว 1,800 คน เบื้องบนส่งโทรเลขจากโตเกียวสั่งว่า ห้ามออกวีซาให้คนที่ไม่มีเอกสารครบ และไม่มีเงินใช้จ่ายช่วงที่อยู่ในญี่ปุ่น

เขาแจ้งเบื้องบนว่าเขาได้ออกวีซาแก่คนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีเอกสารครบ เนื่องจากสถานการณ์บังคับ ญี่ปุ่นเป็นช่องทางเดียวที่คนเหล่านี้จะรอดตายไปประเทศที่สามได้ คนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้วีซาญี่ปุ่นเพื่อออกจากโซเวียต

เขาออกวีซาไปแล้วราวสองพันกว่าคน วีซายังส่งผลครอบคลุมสมาชิกในครอบครัว อีกประมาณสามร้อยคน

หลังจากสถานกงสุลปิดตามคำสั่งของโซเวียต เขาก็ย้ายไปที่โรงแรมทำงานออกวีซาต่อไป จนถึงวันที่เขาต้องออกจากลิทัวเนีย เขาก็ยังออกวีซาต่อที่สถานีรถไฟ หลังจากขึ้นรถไฟแล้ว เขาก็โยนวีซาลงมาจากรถไฟ เป็นกระดาษเปล่ากับตราประทับกงสุล มีลายเซ็นของเขา เขามอบตราประทับของสถานกงสุลให้พวกอพยพไปเขียนวีซาเอง* (* ลูกชายของเขาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ซุงิฮะระไม่เคยให้ตราประทับแก่ใคร)

เขาช่วยได้เท่านี้ 

ซุงิฮะระไม่รู้ว่าชะตากรรมของยิวอพยพจะเป็นอย่างไร

เขาก็ไม่รู้ว่าชะตากรรมของตนเองจะเป็นอย่างไรเช่นกัน

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

หลังจากเหตุการณ์วีซาช่วยชีวิต ซุงิฮะระถูกส่งไปประจำที่ปรัสเซีย ตามด้วยตำแหน่งกงสุลใหญ่ที่กรุงปราก เชกโกสโลวาเกีย ช่วง 1941-1942 และต่อมาไปประจำการที่กรุงบูคาเรส โรมาเนีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีจนถึงปี 1944 แล้วเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขานุการตรี

ในช่วงท้ายสงคราม กองทัพโซเวียตบุกบอลข่าน ยึดโรมาเนีย ทูตจากชาติศัตรูทุกคนถูกจับ รวมทั้งซุงิฮะระและครอบครัว ทั้งหมดถูกขังในคุกนักโทษสงครามนานปีครึ่ง

เขาและครอบครัวได้รับการปล่อยตัวในปี 1946 แล้วกลับญี่ปุ่นด้วยรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย

เมื่อกลับญี่ปุ่น ปี 1947 เขาถูกสั่งให้ออกจากราชการ โดยได้รับเบี้ยบำนาญเล็กน้อย เหตุผลคือทางราชการต้องปรับลดจำนวนบุคลากร เพราะช่วงนั้นสหรัฐฯ ยึดครองญี่ปุ่น แต่ไม่มีใครรู้เหตุผลจริงว่าเกี่ยวกับการที่เขาขัดคำสั่งเบื้องบนออกวีซาให้ชาวยิวจำนวนมากหรือไม่

หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็ขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัว ลูกสามคน เขาทำงานทุกอย่าง แม้แต่การเคาะประตูบ้านคนขายหลอดไฟ

ต่อมาเขาทำงานที่บริษัทส่งออก ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และต่อมาเนื่องจากรู้ภาษารัสเซียดี จึงจากลูกเมียไปทำงานที่รัสเซียคนเดียวนานสิบหกปี

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

The Simon Wiesenthal Center (องค์กรสิทธิมนุษยชนของยิว ทำงานเรื่องการล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี) ประเมินว่า ซุงิฮะระออกวีซาให้ชาวยิวได้ราว 6,000 คน ช่วยชีวิตชาวยิวได้ราว 4,500-6,000 คน ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่คูราเชาและที่อื่น ๆ ยิวอพยพจำนวนมากเดินทางต่อไปที่เมืองจีนและสหรัฐอเมริกา

มีการประมาณว่า ประชาชนประมาณสี่หมื่นถึงหนึ่งแสนคนสืบสายมาจากคนที่ ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ ช่วยเหลือในครั้งนั้น

หลายปีให้หลัง มีคนถามซุงิฮะระว่า ทำไมจึงกล้าขัดคำสั่งเบื้องบน เสี่ยงต่อการทำลายอนาคตตนเอง

เขาตอบว่ามันเป็นเรื่องมนุษยธรรมล้วน ๆ

“ผมทนไม่ได้เมื่อเห็นยิวที่มาขอร้องขอวีซาผ่านทางทั้งน้ำตา คนเหล่านี้มีทั้งคนแก่ สตรี เด็ก พวกนั้นไม่มีหนทางอื่นอีกแล้ว บางคนถึงกับก้มลงจูบรองเท้าผม”

ขณะที่เบื้องบนไม่กล้าตัดสินใจหรือไม่อยากเปลืองตัว มโนธรรมของเขาบอกว่า คนเหล่านี้เป็นคนเหมือนกัน

เขารู้ว่าการกระทำครั้งนี้จะส่งผลลบต่ออนาคตวิชาชีพของเขา แต่เขาจำเป็นต้องทำ

มันเป็นสิ่งถูกต้องที่พึงกระทำ

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า เบื้องบนเลือกไม่พูดเรื่องนี้ อาจเพราะเหตุการณ์ขัดคำสั่งนี้อยู่ในพื้นที่สีเทา หากออกวีซาก็ผิดกฎ หากไม่ออกให้ ก็ผิดมนุษยธรรม

เรื่องของเขาจึงไม่ปรากฏในสื่อญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่รู้เรื่องของเขา จนหลังจากเขาเสียชีวิต

ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ ถึงแก่กรรมในวันที่ 31 กรกฎาคม 1986 อายุ 86 งานศพของเขาคลาคล่ำด้วยชาวยิวที่รอดชีวิตและลูกหลาน รวมทั้งทูตอิสราเอลประจำญี่ปุ่น ทันใดนั้นชาวญี่ปุ่นก็เพิ่งรู้ประวัติของชายผู้นี้ ผู้ที่ในประเทศบ้านเกิดไม่มีใครรู้จัก

นานปีให้หลัง อนุสาวรีย์รูปซุงิฮะระแห่งหนึ่งสลักคำจารึกจากคัมภีร์ The Talmud

“ผู้ใดก็ตามที่ช่วยหนึ่งชีวิต ช่วยทั้งโลก”

เพราะเมื่อโลกยังมีคนที่มีมนุษยธรรม มันจึงยังไม่หม่นหมองดำมืดจนเกินไป

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

หมายเหตุ

ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากประเทศอิสราเอล ลิทัวเนีย โปแลนด์ บราซิล หลายประเทศสร้างสวนสาธารณะชื่อของเขา เช่น ในเยรูซาเลม สวนซากุระที่ลิทัวเนีย สร้างถนนชื่อซุงิฮะระ ในอิสราเอลและบราซิล เขายังปรากฏบนแสตมป์ของอิสราเอลและลิทัวเนีย

ในปี 1985 รัฐบาลอิสราเอลยกย่อง ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ

ประเทศลิทัวเนียประกาศให้ปี 2020 เป็น ‘ปี ซุงิฮะระ ทซิอุเนะ’

จนถึงสิ้นปี 1941 ชาวยิวลิทัวเนียมากกว่า 120,000 คนถูกฆ่าตาย

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 10

  • Yong
    ความดีไม่มีขายถ้าอยากได้ต้องทำเองอะไรคือความดีการประพฤติพรหมจรรย์นั่นแหละคือความดีศีลก็เป็นพรหมจรรย์เป็นความดีพื้นฐานคือไม่ทำบาปอย่างอยาบทั้ง 5 ประการเมตตานี่ก็คือส่งเสริมศีลให้บริสุทธิ์จึงเรียกว่าเมตตาธรรมค้ำจุนโลก
    28 ก.ย 2563 เวลา 11.58 น.
  • TaevadaTam
    นี่คือคนที่ควรได้รับการเคารพยกย่อง คนดีที่โลกไม่ควรลืม
    28 ก.ย 2563 เวลา 16.54 น.
  • สุวภัทร (*_*)
    ขอบคุณมากค่ะ/มนุษยธรรม/บทความดีๆ
    28 ก.ย 2563 เวลา 11.12 น.
  • Apirak-อภิรักษ์
    จำได้ว่าเคยอ่านใน สรรสาระ Reader's Digest ครับ
    28 ก.ย 2563 เวลา 02.41 น.
  • Sakda Rojanapradit
    มีหนังด้วยนะครับ ชื่ออังกฤษ Persona non Grata หนังปี 2015 โคยูกิเล่นเป็นภรรยาของชิอุเนะ
    28 ก.ย 2563 เวลา 10.55 น.
ดูทั้งหมด