โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมล็ดพันธุ์แห่งหน้าที่ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 20 ก.ย 2563 เวลา 18.25 น. • วินทร์ เลียววาริณ

เมื่อฮิตเลอร์ส่งกองทัพไปล้อมเมืองเลนินกราด* ในวันที่ 8 กันยายน 1941 อเล็กซานเดอร์ ชูกิน (Alexander Stchukin) กำลังทำงานที่สถาบันอุตสาหกรรมพืชวาวิลอฟ (Vavilov Institute of Plant Industry) (* ปัจจุบันคือ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก) 

วาวิลอฟเป็นสถาบันวิจัยพืชและเก็บตัวอย่างพืชและเมล็ดพันธุ์ ก่อตั้งในปี 1921 เป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ชูกินเป็นหัวหน้าสถาบัน เชี่ยวชาญเรื่องถั่ว มีผู้ร่วมงานหลายคนที่เชี่ยวชาญเรื่องพืชแต่ละชนิด เช่น ดิมิทรี อิวานอฟ หัวหน้าฝ่ายเมล็ดข้าวเชี่ยวชาญเรื่องข้าว เป็นต้น

ฮิตเลอร์บุกโซเวียตเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ในยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ปฏิบัติการบาร์บารอสซา สามเดือนต่อมาก็เข้าล้อมเมืองเลนินกราด

กองทัพที่บุกเลนินกราดมีทั้งทัพนาซี ฟินแลนด์ และสเปน

ทัพฟินแลนด์บุกมาทางเหนือ ฟินแลนด์เข้าร่วมกับฮิตเลอร์เพราะมองเห็นโอกาสที่จะทวงแผ่นดินบางส่วนคืนที่โซเวียตยึดไป ในสงครามที่เรียกว่า Winter War ฮิตเลอร์สัญญาว่าถ้ายึดเมืองได้ จะยกแผ่นดินเหนือแม่น้ำเนวาให้

ส่วนสเปนเดิมวางตัวเป็นกลางในสงครามโลก แต่เมื่อนาซียึดฝรั่งเศสได้ สเปนก็เริ่มเปลี่ยนนโยบาย อยากร่วมกับฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่อยากรบกับชาติตะวันตกอื่น ๆ จึงตั้งทัพอาสาสมัคร เรียกว่า Blue Division ไปช่วยรบแค่โซเวียตเท่านั้น (แต่เมื่อเยอรมนีเริ่มพายแพ้ สเปนก็หวนกลับไปที่นโยบายเป็นกลางตามเดิม และถอนตัว Blue Division ออกมา)

กองทัพฝ่ายอักษะทำลายถนนเข้าเมืองหมดสิ้น ชาวเมืองถูกปิดล้อม

ฮิตเลอร์ไม่ได้อยากยึดเมืองมาครองเล่น แต่ต้องการบดขยี้ทำลายให้สิ้นซาก ด้วยหลายเหตุผล

เมืองนี้ใช้ชื่อเลนิน ผู้นำคนแรกของโซเวียต จึงเป็นสัญลักษณ์ของปฏิวัติรัสเซีย และในด้านยุทธศาสตร์ มันเป็นฐานทัพเรือของโซเวียตในทะเลบอลติก มีโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย เลนินกราดมีผลผลิตทางอุตสาหกรรมถึง 11 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ

มีเรื่องเล่าว่าฮิตเลอร์มั่นใจว่าจะยึดเมืองนี้ได้ในเร็ววัน จนพิมพ์บัตรเชิญล่วงหน้าไปร่วมฉลองการยึดเมืองได้ที่โรงแรมแอสโทเรีย

คำสั่งของฮิตเลอร์ไปถึงกองทัพฝ่ายเหนือในวันที่ 29 กันยายน 1941 สั่งว่าห้ามประนีประนอม ห้ามรับการยอมแพ้ ทำลายเมืองให้ราบคาบ ไม่ต้องสนใจถ้าประชาชนจะอดตายไปกี่คน

แต่ ณ แนวรบด้านตะวันออก โซเวียตสู้สุดใจขาดดิ้น ทั้งสองฝ่ายรบกันนานเกือบสามปี มันเป็นการปิดล้อมเมืองที่ยาวนานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก สูญเสียชีวิตคนมหาศาล ไม่ใช่จากการสู้รบเป็นหลัก แต่จากการอดตาย

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

สถาบันวาวิลอฟเก็บตัวอย่างพืชและเมล็ดพันธุ์พืชราว 187,000 ชนิด จำนวนมากเป็นพืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม เก็บไว้ใช้ในอนาคต สำหรับวงการเกษตรของประเทศ เช่น มันฝรั่ง เมล็ดข้าว ฯลฯ

หลังจากฤดูหนาวแรกหลังปิดล้อมเมืองผ่านไป เจ้าหน้าที่สถาบันก็หว่านเมล็ดพืชเพื่อปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ชุดใหม่

ครั้นฤดูหนาวที่สองมาถึง พวกเขาก็ยืนหยัดต่อไป อดทนผ่านไปทีละวัน ทีละเดือน ทีละปี แล้วฤดูหนาวที่สามก็มาเยือน

อเล็กซานเดอร์ ชูกิน ออกคำสั่งชัดเจน ไม่แตะอาหารในคลัง เพราะมันไม่ใช่เสบียง มันคืออนาคตของเกษตรกรรัสเซียทั้งประเทศ

หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่คือปกป้องพืชจากความหนาวเย็น ชาวบ้านที่อดอยาก และหนูหิวโหยจำนวนมหาศาล

พวกเขาใช้ชีวิตอย่างอดอยาก ทั้ง ๆ ที่อาหารก็อยู่ในมือ

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

ในช่วงปิดล้อมเมือง การทำงานในสถาบันยากขึ้นหลายเท่า อาคารไม่มีฟืน ไม่มีถ่านหิน การสู้รบทำให้หน้าต่างอาคารแตก เย็น ชื้น และมืด ในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิลดลงถึงติดลบ 40 องศา

นักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าความเย็นจัดจะทำให้มันฝรั่งและพืชผลหลายชนิดกลายเป็นน้ำแข็งและเสียหาย เจ้าหน้าที่สถาบันจึงเผาทุกสิ่งที่หาได้เพื่อสร้างความอบอุ่น ต่อชีวิตทั้งของพวกเขาเองและพืชผล ใช้กระดาษ กล่อง ซากไม้จากตึกที่ถูกทำลายมาเป็นเชื้อเพลิง

พวกเขามีปัญหาใหญ่คือหนูที่หิวโหยจากสงครามเช่นเดียวกับคน ในตอนค่ำพวกมันบุกห้องทดลอง เพื่อหาอาหาร

จนถึงจุดจุดหนึ่ง เจ้าหน้าที่สถาบันฯ ก็รู้ว่าไม่สามารถจะปกป้องเมล็ดพันธุ์ได้อีกนาน ก่อนที่พืชผลจะเสียหายเพราะความหนาวเย็น พวกหนู และชาวบ้านจะบุกมาปล้นเสบียงไปต่อชีวิต

“เราต้องขนย้ายเมล็ดพันธุ์พวกนี้ไปเก็บที่อื่น”

“ที่ไหน ?”

“เก็บแถวเทือกเขาอูราล”

“จะไปยังไง ในเมื่อนาซีล้อมเมืองอยู่ ?”

“ตอนนี้ทะเลสาบลาโดกาเป็นน้ำแข็ง เราก็ขนเมล็ดพืชขึ้นรถขับข้ามทะเลสาบไป”

เหล่าเจ้าหน้าที่ทำงานลับ ๆ แบ่งพืชพรรณออกเป็นส่วนย่อย ๆ ค่อย ๆ แอบขนออกนอกเมืองไปทีละส่วน

▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪▪

นาซีปิดล้อมเมืองนาน 872 วัน จนถึงวันที่ 27 มกราคม 1944

พลเรือนเลนินกราดตายจากการปิดล้อมประมาณแปดแสนคน

ในบรรดาผู้อดอาหารตาย มีกลุ่มหนึ่งที่อดตายไม่ใช่เพราะไม่มีอาหาร ก็คือเหล่านักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สถาบันวาวิลอฟ 

พวกเขามีอาหารเหลือเฟือ แต่พวกเขาเลือกอดตาย

ในเดือนมกราคม 1942 มีคนพบศพ อเล็กซานเดอร์ ชูกิน ฟุบบนโต๊ะทำงานของเขา

เขาตายไปตั้งแต่ฤดูหนาวที่หนึ่ง

รวมทั้ง กีออร์กี ไกรเยอร์ แผนกสมุนไพรรักษาโรค และ ดิมิทรี อิวานอฟ หัวหน้าแผนกข้าว ก็ตายไปโดยที่มีข้าวสารมากมายในคลัง

สถาบันวาวิลอฟอยู่รอดผ่านสงครามโดยที่ผลผลิตที่เก็บไว้อยู่รอดปลอดภัย โดยจ่ายราคาด้วยชีวิตของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยพืชจำนวนยี่สิบแปดคน

พืชพันธุ์ที่เก็บไว้ได้ใช้งานต่อไปสมเจตนารมณ์ของคนเก็บรักษาด้วยชีวิต การรักษาพันธุ์พืชเหล่านั้นส่งผลถึงปัจจุบัน ทำให้มีการผสมข้ามพันธุ์หลากหลาย และเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเกษตรกร ต่อชีวิตจำนวนมหาศาลต่อไป

บางครั้งการปกป้องชีวิตของคนในอนาคตก็เกิดขึ้นด้วยการเสียสละชีวิตในวันนี้

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากวินทร์ เลียววาริณ ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 12

  • chompu
    หน้าที่ และการเสียสละ ที่คนปัจจุบัน แทบไม่มีเลย
    20 ก.ย 2563 เวลา 23.13 น.
  • Nong
    เป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ชนรุ่นหลัง
    21 ก.ย 2563 เวลา 05.48 น.
  • Vanida
    เห็นภาพ ผู้เสียสละอันยิ่งใหญ่ อยากให้โน้มกิ่งลงมามอง
    21 ก.ย 2563 เวลา 00.54 น.
  • ในเรื่องราวนี้ทำไมทำให้ผมคิดไปว่า ถ้าหากว่าคนเรานั้นไม่คิดถึงในเรื่องของผลประโยชน์ให้อยู่เหนือในความถูกต้องจนมากเกินไป ปัญหาต่างๆก็คงจะไม่เกิดขึ้นตามมาได้เหมือนกันนะครับ.
    21 ก.ย 2563 เวลา 09.55 น.
  • pui753
    😿👍
    21 ก.ย 2563 เวลา 11.46 น.
ดูทั้งหมด