“ป่วย-บาดเจ็บ” ต้องฉุกเฉินแค่ไหน? ถึงจะได้รับการรักษา!
ส่งห้องฉุกเฉินหนึ่งแสนคนเข้าเกณฑ์วิกฤตแค่สองหมื่นสังคมกังขาไหนบอกว่าโรงพยาบาลไหนก็เข้าได้เอกชนโบ้ยเบิกจ่ายไม่ได้ถ้าอาการไม่หนักพอแฉคนไข้ทำเนียนตีกินฟรีก็มีมาก
แม้ไม่ใช่ครั้งแรกของเหตุการณ์วินิจฉัยอาการคนไข้พลาด แต่ข่าวของโรงพยาบาลพระราม 2 ก็สร้างความเกรียวกราวกว่าครั้งใด เพราะสาเหตุที่คนไข้ทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนสิ้นใจนั้น มีเรื่องความกังวลด้านค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง จนเกิดเสียงวิพากษ์ในวงกว้าง ต้องเฉียดตายแค่ไหน เราถึงมีสิทธิรักษาทุกโรงพยาบาล
งบพันล้านไม่พอ! มติสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ.) จัดสรรงบไว้ชดเชย การปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินในปี พ.ศ.2561 ไว้มากถึงเกือบหนึ่งพันล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งใดก็ได้ แล้วโรงพยาบาลก็เบิกคืนจากรัฐ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อลดความสูญเสียชีวิต
แต่ด้วยทรัพยากรจำกัด งบประมาณที่มองดูว่ามาก ต้องถูกตรวจสรรอย่างถ้วนถี่ โดยมีเกณฑ์ว่าจะรักษาฟรีข้ามโรงพยาบาลเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินระดับวิกฤต เท่านั้น โดยแต่เดิม คนไข้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคม และบัตรทองต้องเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่ประกันตนหรือมีสิทธิ์ แต่รัฐบาลก็อนุมัติเพิ่มอาการฉุกเฉินเข้าไปในการรักษายังสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุ
โทร.1669 ในโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาฟรี 72 ชั่วโมง ภายใต้กรอบกติกาของ UCEP ( Universal Coverage for Emergency Patients ) ซึ่งได้กำหนดคำจำกัดความของคำว่า “วิกฤตฉุกเฉิน” ไว้ในมาตรฐานสากล แต่ว่าผู้ป่วยและญาติ มักมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงพบปัญหาบ่อยครั้ง
ป่วยเขาป่วยเราป่วยที่ไม่เท่ากัน ณ จุดคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตคนไข้ เพราะหน่วยนี้คล้ายเป็นหนังหน้าไฟคอยปะทะกับญาติผู้ป่วย ทั้งนี้ฝ่ายผู้ป่วยเองก็ไม่อยากจะเสียเงินเลย แต่ในขณะที่โรงพยาบาลก็ต้องคัดกรองคนไข้ตามระเบียบที่ตั้งไว้ ภายใต้ทรัพยากรที่จัดสรรไว้จำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญาติของคนไข้ จะมีปฏิกิริยารุนแรงที่สุด เมื่อโดนปฏิเสธการรักษาเพราะอาการยังไม่เข้าหลักเกณฑ์
ป่วยแค่ไหน ถึงได้สิทธิฟรี ?
ผู้ป่วยสีแดง( ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต ) มักเป็นผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง หรือมีอาการกำเริบจากโรคประจำตัว โดยระดับวิกฤต จะต้องมีอาการหัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนอง ตลอดจนระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ อวัยวะฉีกขาด หรือเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ชีพจรผิดเพี้ยน ความดันไม่เสถียร แขนขาอ่อนแรงจนอาจไปถึงมีอาการชัก โรงพยาบาลมีหน้าที่คัดกรองให้ผู้ป่วยประเภทนี้ ได้รับการรักษาก่อนใคร เพราะชีวิตกำลังถูกคุกคามด้วยอาการข้างต้น โดยจะได้รับสิทธิในการรักษาข้ามเขตโรงพยาบาลที่ประกันตนยาวถึง 3 วัน ( 72 ชั่วโมง ) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ผู้ป่วยสีเหลือง ( ผู้ป่วยฉุกเฉินระดับเร่งด่วน ) เป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ว่าแฝงด้วยอาการทางระบบประสาท มีภาวะแทรกซ้อน จนอาจนำไปสู่ความพิการ และถ้าไม่รักษาอาจเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้ป่วยที่ถูกคัดกรองไว้ในหมวดสีเหลือง จะถูกเฝ้าระวัง เมื่อมีอาการเสถียรค่อยถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลผู้ประกันตน แต่หากประสงค์จะรักษา ณ โรงพยาบาลเดิม จะเสียค่ายา 50% แต่ค่าห้องและค่าศัลยกรรมฟรี
ผู้ป่วยสีเขียว ( ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง ) มีอาการไม่หนักมาก และเป็นผู้ป่วยที่มีการถกเถียงกับจุดคัดกรองมากที่สุด เนื่องจากพยาบาลวิชาชีพมักวินิจฉัยผู้ป่วยระดับนี้ผิดพลาดจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิต พิการ อัมพาต ตลอดจนระบบประสาทถูกทำลาย ผู้ป่วยสีเขียวอาจมีอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ช็อคน้ำตาลจากเบาหวาน หรือมีความฟกช้ำจากอุบัติเหตุแต่คนไข้ยังมีสติ หากถูกตรวจว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสีเขียว โรงพยาบาลจะทำการติดต่อโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเบิกจ่ายได้เพื่อส่งต่อไปยังสถานรักษาซึ่งใช้สิทธิ์ได้
หมอไปไหน? เมื่อนายแพทย์ไม่อยู่ประจำห้องฉุกเฉิน ( Round Ward ) ก็มักจะพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ด้วยการเปิดสายโทรศัพท์ รอการเรียกจากจุดคัดกรอง กรณีมีคนไข้ฉุกเฉิน ลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็นหมอเวร ( ON CALL ) แม้ว่าพยาบาลวิชาชีพ จะมีความแม่นยำในการวิเคราะห์อาการผู้ป่วยเบื้องต้นได้ แต่ผู้ป่วยก็คงอุ่นใจถ้าได้รับการตรวจเบื้องต้นจากคุณหมอมากกว่า กระนั้น โรงพยาบาลขนาดเล็กเองคงไม่สามารถจ้างคุณหมอประจำห้องฉุกเฉินเต็มเวลาได้ พยาบาลวิชาชีพ ณ จุดคัดกรอง จึงมีความสำคัญมากที่สุด
คนไข้เด็กเลี้ยงแกะ เพราะความที่โรงพยาบาลรัฐบาลซึ่งคนไข้ทั้งหลายสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายฟรีได้ มีความแออัดและต้องรอคิวนาน จึงทำให้มีผู้ป่วยไม่น้อย ที่มีอาการระดับธรรมดา แฝงตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลซึ่งสะดวกกว่า โดยพยายามจะเข้าถึงสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงโดนปฏิเสธบ่อยครั้ง จากการเริ่มต้นโครงการ ผู้ป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี มีคนไข้ขอเข้ารับการรักษาประมาณแสนกว่าคน แต่มีเพียง สองหมื่นกว่าคนที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต นั่นหมายความว่า อีกแปดหมื่นกว่าคนต้องถูกย้ายไปโรงพยาบาลผู้ประกันตน หรือ ผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง
โรงพยาบาลไม่ใช่โรงทาน แม้ว่าจรรยาบรรณของแพทย์จะถูกทดสอบบ่อยครั้ง แต่โรงพยาบาลก็ดำเนินอยู่ภายใต้กลไกของธุรกิจ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นหากรักษาฟรีในหลายเคสที่ไม่ฉุกเฉินระดับวิกฤต ก็จะทำให้เกิดความเสียหายเพราะว่า เบิกจ่ายกับรัฐไม่ได้ เพราะกรอบของ สพฉ. มีชัดเจนว่า ต้องมีอาการข้างต้นดังกล่าว กระนั้น ถ้า UCEP ระบุโรค หรือ ความหนักของอาการได้ละเอียดมากขึ้น โรงพยาบาลน่าจะมีข้อถกเถียงกับคนไข้น้อยลง
ฟรีจนชินกินจนเป็นนิสัย ปัญหาสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนเอง เมื่อรับรู้ว่ามีสิทธิฉุกเฉินฟรี ก็พยายามจะใช้สิทธิ์นั้น โดยแม้ว่าจะปราศจากความรู้ หรือไม่เข้าใจระบบ บ้างก็เข้าใจในระบบแต่พยายามจะเข้าถึงสิทธิ์เพราะความสะดวก จนลืมไปว่า ตนเองก็มีสิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทองอยู่แล้ว กรณีคนไข้ไม่ได้เข้ารักษายังโรงพยาบาลรัฐที่ประกันตนไว้ ก็ย่อมจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นว่าจะมีอาการวิกฤตกะทันหันนอกพื้นที่ รัฐเองก็พร้อมจะสนับสนุนและพยุงอาการให้พ้นวิกฤตฟรีภายใต้กรอบระเบียบที่วางไว้ ในขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งโดยเฉพาะสถานเอกชน ซึ่งกำหนดราคาค่ารักษาต่างออกไป มองเห็นช่องทางการเบิกจ่าย อันจะเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องเสียทรัพยากรและงบประมาณไปกับคนไข้ที่จำเป็นน้อยกว่า ปัญหานี้จึงแก้ไม่ได้ด้วยระบบต่อให้มันสมบูรณ์เพียงไร แต่เยียวยาได้ด้วยจิตใจและจิตสำนึกที่พึงมี
ความเห็น 32
Gittt I
สุดท้ายก็จะวนกลับมาเรื่อง ความเสื่อมถอยทางศีลธรรม และวิกฤตพลเมืองของชาติขาดความซื่อสัตย์ ...ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะช่วยกันรณรงค์โครงการ พลเมืองไทยรักษาศีล 5_ให้เป็นวาระสำคัญของชาติควบคู่กับการพัฒนาความรู้ความสามารถ และยกระดับคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ.. อย่างจริงจังกันสักที.. จะดีไหมครับ
17 พ.ย. 2561 เวลา 05.34 น.
Chtw Wan
ประชาชนไม่ผิด. แพทย์ไม่ผิด พยาบาลไม่ผิด โรงพยาบาลไม่ผิด ทุกคนพยายามปฏิบัติตามเกณฑ์มากที่สุด ลดความเสียหายมากที่สุด. เท่าที่ทรัพยากรที่พึงมีในขณะนั้น ...นโยบายที่สวยหรูแต่ขัดกับหลักความเป็นจริง ผลที่ตามมาก็อย่างที่เจอ เกิดปัญหาเมื่อใดก็แก้ผ้าเอาหน้ารอดตลอด. ระบบไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความยั่งยืน คำว่า “ฟรี” อาจจะดูดี แต่เบื้องหลังมันมีความซับซ้อน เป็นปัญหาหนักใจทั้งโรงพยาบาล
17 พ.ย. 2561 เวลา 07.08 น.
loy
อย่างในกรณีล่าสุดทั้งๆที่มีบัตรประกันสังคม และแพทย์วินิจฉัยทางโทรศัพท์ว่าต้อง admit ทำไมถึง admit ที่รพ.ต่างสังกัดไม่ได้ โรงพยาบาลโอนค่ารักษาให้กันไม่ได้หรอ นี่มันยุค Thailand 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยี่มาช่วยแล้วไม่ใช่หรอ เห็นผู้มีอำนาจพ่นคำพูดกันจัง Thailand 4.0, big data, บูรณาการ .... ไม่รู้ไอ้คนที่พูดมันรู้เรื่องถึง 5% หรือเปล่า
17 พ.ย. 2561 เวลา 06.54 น.
Trairat365
เดี๋ยวนี้ รพ.เอกชน บางที่เขาให้ ฟร้อน ประเมินค่าใช้จ่ายก่อนด้วยซ้ำ ว่าโอเครไม่โอเครก่อนถึงมือหมอ มันไปไกลเเล้ว เลยจริยธรรมคุณธรรมไปนานเเล้ว อย่างอื่นก็อ้างหลักการกันไปเเค่นั้น เเร่ะ เเต่มีหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่อะไรไม่ทราบ เเพทยสภา หลายๆเหตุการรณ์ สงสัยทำหน้าที่อะไร เป็นสภาที่รักษาผลประโยชน์ของเเพทย์เหรอ ไม่เกี่ยว ปชช.ใช่ไหม
17 พ.ย. 2561 เวลา 07.02 น.
.
คนออกเกณฑ์ฉุกเฉินเป็นคนผิด เพราะตั้งเกณฑ์ไม่คลอบคลุมเอง
17 พ.ย. 2561 เวลา 06.04 น.
ดูทั้งหมด