เมืองนอกแจก “ยาบ้า-เฮโรอีน” ฟรีเพื่อทำลาย“มูลค่า” ยาเสพติด!
ในขณะที่บ้านเรายังคงไม่ไปหน้ามาหลังเรื่องปลดล็อคกัญชาว่าจะสามารถอนุญาตให้ใช้ในแง่ของยารักษาโรคหรือไม่ ในขณะที่ยังแง้มข่าวมาว่าองค์การเภสัชและยาทุ่มงบกว่า 120 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงกัญชาแห่งแรกในประเทศไทย รวมทั้งอาสานำร่องผลิตสารสกัดในกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อนวางแผนปลูกและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา แต่รู้ไหมว่าในหลายประเทศได้ทำให้ยาเสพติดหลายชนิดกลายเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย นอกจากจะสร้างโซนนิ่งสำหรับการเสพ ในหลายแห่งยังมีการแจกยาเสพติดสำหรับผู้ติดยา ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างถูกกฎหมายต่อเนื่องมาหลายปีอีกด้วย
โปรตุเกสประเทศนำร่อง
เริ่มต้นให้ยาเสพติดไม่ผิดกฎหมายเป็นประเทศแรกๆ แถมยังประสบความสำเร็จอีกด้วย ซึ่งแนวคิดแรกที่ทำให้เปิดเสรี ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการจำกัด หรือเสรีอย่าง 100% เพียงแต่เริ่มต้นที่การลด การควบคุม และปรับปรุงโทษต่างๆ ให้เบาบางลง จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนให้ยาเสพติดทั้งหลายถูกกฎหมายในที่สุด ทว่ายังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องของคำเตือนทางการแพทย์ จำกัดอายุของผู้บริโภค จำนวนการซื้อ การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งต้องไม่เป็นไปเพื่อการค้า ซึ่งความสำเร็จของโปรตุเกสไม่ได้เริ่มในระยะเวลาอันสั้น หากแต่ต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมหลายปีก่อนจะมีการปฏิบัติ และริเริ่มนโยบายใหม่ในปี 2001 ที่ให้ชาวโปรตุเกสสามารถใช้ยาเสพติดได้เกือบทุกชนิด แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
ความน่าสนใจที่เหมือนเซอร์ไพรส์สำหรับเหล่านักคิดหัวอนุรักษ์ก็คือ แทนที่สังคมจะปั่นป่วนเละเทะ หรือเต็มไปด้วยขี้ยา ก่ออาชญากรรมตามท้องถนน แต่ปัญหาจากยาเสพติดกับลดลงทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมต่างๆ ทั้งการขโมยเพื่อหาเงินมาซื้อ นักโทษคดียาเสพติดที่ลดลง การตายจากการใช้ยาเกินขนาด แม้กระทั่งอัตราของผู้ติดเชื้อ HIV กลับลดลง
หลายประเทศในยุโรปกับการผลักดันให้กัญชาออกจากยาเสพติดสู่ประโยชน์ทางการแพทย์
ไม่ว่าจะแคนาดา เนเธอแลนด์ สเปน และอีกหลายประเทปในทวีปยุโรปกลับทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้นหลังอนุญาตให้กัญชาสามารถรักษาโรคได้ ที่นอกจากประชาชนจะเสพได้แล้ว พกพาติดตัวได้สูงสุดถึง 40 กรัม ยังอนุญาตให้ประชาชนปลูกเองในบ้านได้ในปริมาณที่ภาครัฐจำกัดไม่ให้เป็นไปเพื่อการค้าขาย และในที่สุดได้มีหลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาเลือกที่จะอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างเสรีได้แทนที่จะใช้วิธีการห้าม บังคับ หรือตัดตอนดังเช่นที่กล่าวมมา ซึ่งแนวโน้มเรื่องอาชญากรรมจากยาเสพติดลดลงในทิศทางที่ดี
ห้องสำหรับเสพยาในเดนมาร์ก
ส่วนนโยบายของประเทศเดนมาร์กนั้น ได้นำโมเดลเช่นเดียวกับในหลายประเทศของทวีปยุโรปที่สร้างห้องเสพยา (Fix Room) เพื่อเปิดบริการให้ผู้เสพยาเสพติดร้ายแรงอาทิ เฮโรอีนหรือโคเคน ทั้งที่เป็นผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพายาเพื่อลดความเจ็บปวด หรือผู้เสพติดเองก็ตามที่มุ่งมั่นอยากลดหรือเลิกยาเสพติด สามารถเสพยาในห้องดังกล่าวได้เกือบตลอด 24 ชั่วโมง (โดยมีช่วงเวลาปิดเพื่อทำความสะอาดวันละประมาณ 1 ชั่วโมง) ทั้งนี้ภายในห้องจะมีพื้นที่สำหรับผู้ใช้ยา มีอุปกรณ์สำหรับเสพยาเสพติดที่ทำความสะอาดอย่างถูกหลัก เตรียมไว้ให้ แต่ผู้เสพจะต้องนำยาของตัวเองมา แต่!! ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้จะเสพกันอย่างเพลิดเพลินเท่าไหร่เท่ากัน หากแต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และพยาบาลเพื่อดูแลและค่อยๆ ปรับให้ผู้เสพใช้ปริมาณยาลดลง โดยมุ่งหวังว่าจะทำให้สามารถเลิกได้ในสักวัน ทั้งนี้ผลจากการเปิดห้องดังกล่าวทำให้ลดอาชญากรรมได้เช่นกัน รวมทั้งลดปริมาณผู้ตายจากการใช้ยาเกินขนาดลงเรื่อยๆ เนื่องจากการที่จะเลิกหรือหยุดใช้ยาเสพติด สำหรับผู้ที่เสพมาเป็นเวลานานไม่ได้เป็นเรื่องที่กระทำด้วยตนเองได้ง่าย แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแลใกล้ชิด
นอร์เวย์ประกาศแจกเฮโรอีนฟรี!
ใช่แล้ว ฟังไม่ผิดหรอก นาย Bente Hoi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศนอร์เวย์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยหวังว่านโยบายการแจกเฮโรอีนที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เสพยาจำนวนมาก โดยในระหว่างนี้ทางคณะกรรมการของศูนย์บริการดูแลสุขภาพนอร์เวย์จะทำการวางแผนและขึ้นทะเบียนผู้ป่วยและผู้ติดยาเข้าสู่โครงการดังกล่าว (ซึ่งเป็นนโยบายรูปแบบเดียวกับของประเทศเดนมาร์ก) ซึ่งเมื่อนโยบายนี่เริ่มต้นขึ้น ผู้ป่วยจะต้องนัดพบแพทย์ หรือไปยังคลินิกที่เปิดรักษาเพื่อรับยาตามขนาดที่เหมาะสมอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ทำให้การลด ละ เลิกเกิดผลมากที่สุด
ทุกนโยบายเป็นไปอย่างรัดกุม
แม้ว่าในหลายๆ ประเทศจะลดจำนวนผู้เสพ และปัญหาอาชญากรรมได้อย่างเห็นผล โดยไม่ต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้ออย่างต่อเนื่อง ทว่า ไม่ได้หมายความว่าการอนุญาต การแจก หรือให้อิสระต่อผู้ป่วยหรือผู้ติดยานั้นทำได้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะทุกอย่างผ่านกระบวนการวางแผนอย่างรัดกุมและใช้เวลาศึกษาอย่างจริงจังหลายต่อหลายปี ทั้งการศึกษานโยบายจากในหลายประเทศ รวมทั้งศึกษาวัฒนธรรมผู้เสพติดของพลเมืองในประเทศตัวเองอย่างจริงจัง เพราะการจะให้ผู้ป่วยเลิกยาได้นั้น ไม่สามารถทำได้ทันทีหรือหักดิบ หากแต่ต้องมีขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกหลัก นอกจากนี้การที่ทางการรัฐออกมาแจกจ่ายหรือควบคุมเองอย่างจริงจังนั้น ยังเป็นส่วนช่วยที่ลดการเกิดโรคติดต่อทั้งหลายจากอุปกรณ์การเสพที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะ HIV อย่างเห็นผล
นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างการจัดการปัญหายาเสพติดในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างประเทศนำมาใช้กัน แต่ไม่ได้นำเสนอว่าประเทศไทยควรทำตาม เพราะแต่ละประเทศก็มีรูปแบบและแนวคิดการจัดการที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของประชาชนในประเทศ เพียงแค่เราหวังอย่างยิ่งว่าพัฒนาการในการจัดการเรื่องยาเสพติดในประเทศไทย จะสดใสและเสียเลือดเนื้อน้อยลง และลดลงอย่างยั่งยืนกว่าการเชือดไก่ให้ลิงดู