อะไรคือวิชา ‘คน’ ?
วิชานี้มีที่ไหน ?
ทำไมต้องเรียนวิชา ‘คน’ ?
คำถามมากมายที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินคำว่า วิชา ‘คน’ จริง ๆ แล้ววิชานี้ไม่ได้มีไว้สอน และไม่มีใครที่มีความรู้พอจะสอนวิชานี้ได้
วิชา ‘คน’ ไม่ได้มีไว้ให้สอบผ่าน เรียนจบแล้วก็ไม่ได้เก่งขึ้น หรือประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่เรียนเพื่อให้เป็นคนคุณภาพที่โลกนี้กำลังขาดไป เพราะทุกคนมัวแต่คิดถึงตัวเองจนแสดงความไม่น่ารัก และความเห็นแก่ตัวออกมา ทำให้โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน แต่บทเรียนนี้จะย้อนกลับไปในเรื่องพื้นฐานที่บางทีเราก็ลืมคิดไป พร้อมแล้ว..เข้าสู่บทเรียนวิชา ‘คน’ กันเลย!
บทเรียนที่ 1 มารยาท คือพื้นฐานของทุกคน
มารยาท เรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญมาก
ทุกวันนี้คนมีมารยาทกลายเป็นคนส่วนน้อยในสังคม มารยาทกลายเป็นเรื่องเฉิ่มเชยที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้เราสามารถด่าคนไม่รู้จักเพียงเพราะไม่พอใจอะไรบางอย่างได้แบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องควบคุมอารมณ์
ยิ่งในโลกโซเชียล ทุกคนพร้อมใจกันทิ้งมารยาทลงถังขยะ แล้วเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด โดยขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้เกิดการ Bully (การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรม) เกิด Hate speech (วาจาที่สร้างความเกลียดชัง) นับไม่ถ้วนจนเป็นปัญหาไม่จบไม่สิ้นอย่างทุกวันนี้
ทั้งที่ความจริง..แค่เราทุกคนรักษามารยาทในบริบทต่าง ๆ ในที่ทำงาน ในบ้าน ในโรงเรียน ในโลกโซเชียล หรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ให้เกียรติกัน รู้จักเกรงใจ เคารพซึ่งกันกัน รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร แค่นี้ปัญหาต่าง ๆ ก็ลดลงแล้ว
บทเรียนที่ 2 เลิกพึ่งคนอื่น
ตั้งแต่เกิดจนโต คนเราถูกสอนมาให้พึ่งพากันและกัน ซึ่งการพึ่งพากันและกันก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราไม่สามารถพึ่งคนอื่นได้ตลอดเวลา ต้องมีบางช่วงบางตอนที่ไม่มีใครให้พึ่ง และเมื่อถึงวันนั้น เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้
การพึ่งตัวเองในที่นี้คือการคิด ทำ ตัดสินใจ และกำหนดทิศทางชีวิตด้วยตัวเอง ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่มีหลายคนที่เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ก็กลายเป็นเรื่องยากได้ เพราะไม่เคยคิดและทำมาก่อน เรียกว่าทุกอย่างในชีวิตถูกนำไปยึดโยงกับคนสักคนตลอดเวลา โดยใช้คำว่า “แล้วแต่..” เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ
ทั้งที่ความจริง..เรื่องของเรา เราต้องคิด ทำ และตัดสินใจเอง เราพึ่งพากันได้ แต่ต้องพึ่งตัวเองให้มากกว่า คนเดียวที่จะช่วยเราได้ ก็คือตัวเราเอง เพราะยิ่งเราพึ่งตัวเองได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความสุขได้ง่ายขึ้น และมันจะง่ายขึ้นไปอีก ถ้าเราเป็นคนที่คนอื่นพึ่งพาได้
บทเรียนที่ 3 ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด
คนเดี๋ยวนี้มีความคิดค่อนข้างประหลาด โดยเฉพาะเรื่องความถูก-ผิด กลายเป็นว่าทำผิดไม่เป็นไร ขอให้ยังมีดีอยู่บ้างก็ยังถือว่าดี หรือคิดว่านักการเมืองจะโกงกินบ้างเป็นเรื่องปกติ แค่ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองบ้างก็ไม่เป็นไร
วิธีคิดแบบนี้กำลังครอบงำพวกเราไปเรื่อย ๆ จนแยกแยะไม่ออกว่าอะไรถูก อะไรผิด ทุกอย่างหักลบกลบหนี้กันได้หมด ทำให้คนเดี๋ยวนี้ไม่กลัวความผิด มีข้ออ้างต่าง ๆ นานาในการทำผิด จนสุดท้ายก็ไม่ต้องรับโทษ
ทั้งที่ความจริง..ไม่มีตรงกลางระหว่างความถูก-ผิด ถูกก็คือถูก และผิดก็คือผิด จะเข้าข้างหรือเปลี่ยนวิธีคิดยังไง ผิดก็กลายเป็นถูกไม่ได้ ไม่มีใคร ไม่เคยทำผิด ทุกคนมีโอกาสผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น แค่ผิดแล้วต้องรู้ว่าผิด ไม่แก้ผิดให้เป็นถูก ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงจะเรียกว่าคนจริง
บทเรียนที่ 4 เอาใจเขา มาใส่ใจเรา
พูดกันตามตรง สมัยนี้การเอาใจเขา มาใส่ใจเราดูเหมือนเป็นเรื่องโบราณที่ไม่มีใครทำกันแล้ว ทุกคนพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และมีประโยชน์กับตัวเอง โดยไม่ต้องสนใจใครหน้าไหนทั้งนั้น คนไม่รู้จักก็ไม่ต้องเกรงใจ ยิ่งเป็นคนรู้จัก สนิทสนมก็ยิ่งทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องสนอกสนใจอะไร และมีแนวโน้มว่าพวกเรากำลังกลายเป็นคนแบบนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ
คนที่จะพูดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าคนฟังจะรู้สึกยังไง คนที่ด่าคนไม่รู้จักแบบสาดเสีย เทเสีย โดยไม่ได้รู้จักเค้าแม้แต่นิดเดียว เอาตรง ๆ หลายคนกำลังทำแบบนี้โดยไม่คิดถึงอะไรเลย ไม่ได้เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ไม่ได้คิดถึงผลที่ตามมา สังคมมันเลยเกินเยียวยาแบบนี้
ทั้งที่ความจริง..แค่คิดว่าถ้าเราเจอเหตุการณ์แบบนี้บ้าง จะเป็นยังไง หัดยับยั้งชั่งใจสักนิด คิดก่อนทำสักหน่อย โลกนี้ก็จะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ
บทเรียนที่ 5 โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา
ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งของคนส่วนใหญ่ก็คือ คิดว่าตัวเองคือตัวเอกในละครที่มีบทบาทเหนือทุกคน คิดไปว่าตัวเองคือศูนย์กลางของทุกเรื่อง คิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ว่าใครก็ต้องทำ ต้องเป็นอย่างที่เราคิด และสิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
นี่คือความคิดของคนเดี๋ยวนี้ที่ผิดไปจากความเป็นจริงแบบคนละเรื่อง ต่อให้เราคือตัวเอก ก็เป็นตัวเอกเฉพาะในชีวิตของตัวเอง ไม่ต้องไปพยายามยุ่งกับชีวิตคนอื่น ชีวิตใคร ชีวิตมัน ถ้าสนิทหรือรู้จักก็ทำได้แค่แนะนำ ส่วนเค้าจะเชื่อและทำตามหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเค้า
จงอย่าใช้ชีวิตโดยคิดว่าตนเองสำคัญที่สุด จงให้ความสำคัญกับคนทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา แต่เราต่างหากที่ต้องยอมรับในความเป็นไปของโลก
บทเรียนที่ 6 รู้จักรับ และต้องรู้จักให้
ความจริงอย่างหนึ่งของคนเราก็คือ การเป็นผู้รับอยู่ในสัญชาตญาณของคนทุกคน ไม่ต้องมีใครสอน ไม่ต้องมีใครบอก ทุกคนรู้จักการรับและมีความสุขกับการได้รับกันอยู่แล้ว ในขณะที่การให้ เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกเสียเปรียบ เสียประโยชน์ และไม่จำเป็นต้องทำกันบ่อย ๆ
แต่ถ้าทุกคนเอาแต่ ‘รับ’ โดยไม่รู้จักการให้เลย โลกนี้คงไม่น่าอยู่อีกต่อไป เพราะโลกคงเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ คิดถึงแต่ตัวเอง ซึ่งที่โลกยังสมดุลอยู่ได้ก็เพราะนอกจากคนเราจะรับ ‘เป็น’ แล้ว เรายัง ‘ให้’ กันในบางโอกาสที่เอื้ออำนวยด้วย
เราต่างรู้ดีว่า ‘การให้’ มีประโยชน์มากแค่ไหน แต่เราก็ยังอยากยึดสิ่งที่มี ให้อยู่กับเราได้นานที่สุด เราถึงเคยชินแต่การได้รับ ลองเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ให้ดูบ้าง แล้วจะรู้ว่า ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ เป็นยังไง
บทเรียนที่ 7 มีเงินหมื่นล้าน ก็ซื้อเมื่อวานกลับมาไม่ได้
‘คำพูด’ ‘เวลา’ และ ‘โอกาส’ คือ 3 สิ่งที่ไม่มีวันย้อนกลับมาได้
ในชีวิตคนเรา ต้องมีหลายครั้งที่คิดว่า ‘ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะ….’ เพราะการตัดสินใจหรืออะไรก็ตามที่ผิดพลาดไป ทำให้เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขมันได้อีกสักครั้ง ถ้าเป็นไปได้ เราจะไม่ได้ทำเหมือนเดิม ถ้าทำได้ เราจะทำให้ดีขึ้น
แต่ไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้ เรื่องบางเรื่อง โอกาสบางอย่าง มันมาหาเราได้แค่ครั้งเดียว ถ้าไม่ทำให้ดี ก็ไม่มีทางเริ่มใหม่ได้ เพราะต่อให้ต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ก็ซื้อเวลากลับมาไม่ได้
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียวก็คือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสำเร็จ ผิดพลาด หรือบกพร่อง ทุกสิ่งทุกอย่างก็คืออดีต และต้องไม่ใช่แค่อดีตที่ทำให้เจ็บปวด แต่ต้องเป็นอดีตที่เป็นบทเรียนสอนตัวเราเองเพื่อไม่ให้ผิดหรือพลาดซ้ำอีก
บทเรียนที่ 8 คิดแล้วทำ และจงกล้าที่จะล้มเหลว
ข้อดีของการคิดแล้วไม่ทำ ก็คือไม่ต้องเสี่ยง แต่ข้อเสียก็คือ ไม่มีอะไรเลย
ข้อเสียของการคิดแล้วทำ ก็คือมีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวอยู่บ้าง แต่ข้อดีก็คือ คุณได้ลงมือทำมันแล้ว
โลกนี้มีทั้งคนที่คิดแล้วทำ และคนที่คิดแล้วไม่ทำ ความแตกต่างระหว่างสองคนนี้ก็คือ ‘ความสำเร็จ’
คิดแล้วไม่ทำ ความสำเร็จเท่ากับศูนย์ แต่คิดแล้วทำ แม้จะมีความล้มเหลวอยู่ 50% แต่ก็มีความสำเร็จอยู่ 50% เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่ามัวขี้เกียจ อย่ามัวกังวล และอย่าเสียเวลาคิดให้มากเกินไป ยังไงก็ไม่มีความสำเร็จใดเกิดขึ้นได้จากการไม่ลงมือทำ
บทเรียนที่ 9 ความลำบากที่เกินทน จะหลอมคนให้ทนทาน
ความยากลำบากสอนอะไรบางอย่างได้เสมอ และความลำบากมักจะฝากร่องรอยความคิด ความทรงจำ และประสบการณ์อันล้ำค่าเอาไว้ด้วย
ความยากลำบากเป็นหนึ่งในวิชา ‘คน’ ที่ทุกคนต้องเจอ แม้มันจะลำบากสมชื่อกว่าจะผ่านไปได้ แต่รสชาติแห่งความสำเร็จหลังจากที่ผ่านมาแล้วหอมหวานเสมอ ถึงขั้นมีคนเคยบอกว่า ‘คนที่ไม่เคยลำบาก ไม่มีวันรู้สึกถึงความสุขที่แท้จริง’
เพราะความลำบากทำให้เราเติบโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้น บทเรียนแห่งความลำบากนี้จะช่วยขัดเกลา ทดสอบทั้งจิตใจและร่างกายให้เราเข้มแข็ง อดทน และพร้อมที่จะเจอกับอุปสรรคปัญหาในทุกรูปแบบ
บทเรียนที่ 10 ตั้งใจและทุ่มเทให้กับทุกงานที่ทำ
งานคือสิ่งที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเราเอง คนทำงานเดี๋ยวนี้มักคิดว่าตัวเองเป็นคนรับผิดชอบ แต่ลืมไปว่าผลของงานบอกอะไรได้มากกว่านั้น งานเสร็จไม่ใช่คำตอบทุกอย่างของการทำงาน เพราะถ้าขาดความกระตือรือร้น ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ในการทำงาน ยังไงก็ออกไม่ดี
อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่างตั้งใจและทุ่มเทต่างหากที่จะทำให้งานออกมาดี และสามารถต่อยอดไปได้ เพราะยังไง ‘ค่าของคนก็ยังคงอยู่ที่ผลของงาน’
บทเรียนวิชา ‘คน’ เหล่านี้เป็นบทเรียนที่ไม่มีใครสอน ทุกบทต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการใช้ชีวิตในแต่ละวัน บางคนก็เรียนรู้ได้เร็ว บางคนก็ช้า และบางคนก็ไม่ยอมเรียนรู้ แต่ไม่วันใดก็วันหนึ่ง บทเรียนพวกนี้จะแทรกซึมเข้าไปในชีวิตเรา ไปทำให้เรารู้จักกับคำว่า ‘ชีวิต’ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรียนจนครบ เราจะเป็นคนคุณภาพที่โลกกำลังต้องการ
ความเห็น 168
KAE_เก๋
BEST
เต็ม10ไม่หัก
28 มี.ค. 2564 เวลา 18.07 น.
Suthat Somwhan
BEST
มีสอนในศาสนาพุทธ ผมก็ใช้อยู่ทุกวัน
29 มี.ค. 2564 เวลา 01.09 น.
Nong - กนก
BEST
ขอบคุณที่คิดและเขียนสิ่งดีๆ แบบนี้
ช่วยดึงสติกลับมาได้เยอะเลย
29 มี.ค. 2564 เวลา 00.34 น.
TT
เยี่ยม
28 มี.ค. 2564 เวลา 17.55 น.
worapong_a
ขอบคุณครับ
28 มี.ค. 2564 เวลา 18.02 น.
ดูทั้งหมด