ทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟฟ้า พอเสียงประกาศดังว่า “สถานีต่อไป เพ็ด-ชะ-บุ-รี” ผมมักนึกในใจว่าออกเสียงถูกหรือ?
คำว่า เพชรบุรี ออกเสียงว่า เพ็ด-บุ-รี หรือ เพ็ด-ชะ-บุ-รี กันแน่?
ราชบัณฑิตยสถานให้อ่านชื่อจังหวัดในประเทศไทยที่ลงท้ายด้วยคำว่า บุรี มีสามจังหวัดที่ไม่อ่านเสียงเชื่อม
ชลบุรี = ชน-บุ-รี
ลพบุรี = ลบ-บุ-รี
สุพรรณบุรี = สุ-พัน-บุ-รี
ส่วนจังหวัดที่อ่านได้สองแบบ มีสี่จังหวัด
นนทบุรี = นน-บุ-รี หรือ นน-ทะ-บุ-รี
จันทบุรี = จัน-บุ-รี หรือ จัน-ทะ-บุ-รี
ราชบุรี = ราด-บุ-รี หรือ ราด-ชะ-บุ-รี
เพชรบุรี = เพ็ด-บุ-รี หรือ เพ็ด-ชะ-บุ-รี
แปลว่าเพชรบุรีออกเสียงได้สองอย่าง
จบข่าว
ยังไม่จบ!
ยังไม่ยอมจบ!
…………..
จำได้ว่าตอนเรียนชั้นมัธยม ครูสอนว่าออกเสียง เพ็ด-บุ-รี เพราะ เพชร กับ บุรี เป็นสองคำที่สมาสกัน ไม่ใช่สนธิ
จำไม่ได้แล้วใช่ไหมว่าสมาสกับสนธิคืออะไร?
งั้นมาลองรื้อฟื้นวิชาหลักภาษาไทยดูหน่อย
สมาสคือคำที่รวมสองคำในภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นคำเดียวกัน เกิดคำใหม่ ความหมายใหม่
ยกตัวอย่าง เช่น
ประวัติ + ศาสตร์ = ประวัติศาสตร์
สุภาพ + บุรุษ = สุภาพบุรุษ
สุวรรณ + ภูมิ = สุวรรณภูมิ
วิธีการรวมของคำสมาสก็คือทากาวปะสองคำเข้าด้วยกัน ดังนั้นจะเห็นรอยต่อชัด
ส่วนสนธิก็คือสมาสนั่นเอง แต่ต่างกันตรงรอยเชื่อม รอยเชื่อมของสนธิจะเนียนกว่า โดยเชื่อมพยางค์หลังของคำหน้ากับพยางค์หน้าของคำหลัง มันเหมือนการเชื่อมโลหะสองชิ้นเข้าด้วยกัน แล้วขัดรอยต่อออก ทำให้เป็นการเชื่อมที่ดูเป็นสิ่งของชิ้นเดียวกันมาตั้งแต่แรก
ยกตัวอย่าง เช่น
พงศ + อวตาร = พงศาวตาร
ราช + อานุภาพ = ราชานุภาพ
ธรรม + อารมณ์ = ธรรมารมณ์
ด้วยหลักนี้ เพชรบุรีจึงเป็นคำสมาสของ เพชร + บุรี เห็นรอยปะชัดเจน
ปกติคำสมาสออกเสียงสองคำตรงๆ เช่น สุภาพบุรุษ ออกเสียงว่า สุ-พาบ-บุ-หรุด
แต่บางคำก็นิยมใช้เสียงเชื่อม เช่น ราชการ ออกเสียง ราด-ชะ-กาน
รัฐธรรมนูญ ออกเสียง รัด-ถะ-ทำ-มะ-นูน
ประวัติศาสตร์ ออกเสียง ประ-หวัด-ติ-สาด
สุวรรณภูมิ ออกเสียง สุ-วัน-นะ-พูม
แต่คำว่าเพชรบุรีที่อ่านว่า เพ็ด-ชะ-บุ-รี กลับมีเสียงเชื่อมไม่เข้ากับตัวอย่างที่ยกมา เพราะมันตกเสียง ร ไป
ไม่ออกเสียงว่า เพ็ด-ชะ-ระ-บุ-รี
เช่นเดียวกับคำอื่นๆ เช่น
เพชรปาณี = เพ็ด-ชะ-ปา-นี
เพชรสังฆาต = เพ็ด-ชะ-สัง-คาด
เพชรหึง = เพ็ด-ชะ-หึง
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2554 ให้ออกเสียง เพชร ได้สงอย่างคือ เพ็ด กับ เพ็ด-ชะ
ขณะที่พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530 อนุญาตให้ใช้ เพ็ด-ชะ-ระ ด้วย ตัวอย่างคือคำว่า เพชรดา พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานออกเสียง เพ็ด-ชะ-ดา พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ ออกเสียง เพ็ด-ชะ-ระ-ดา
ถ้าเช่นนั้นทำไมไม่อนุญาตให้ออกเสียง เพ็ด-ชะ-ระ-บุ-รี เพราะคนไม่ชินหูชินปากกระนั้นหรือ?
สรุปก็คือ เราออกเสียง ชะ ในเพชรบุรี แต่ไม่ออกเสียง ระ ด้วย แม้ว่าตัว ร ตามหลัง ช
เป็นไปได้ไหมว่ามันเข้าข่ายเดียวกับคำว่า จริง แสร้ง ฯลฯ ไม่ออกเสียง ร
คล้ายกับที่ภาษาอังกฤษไม่ออกเสียง b ใน subtle, debt ฯลฯ
ก็อยากเชื่ออย่างนี้ หากไม่ใช่เพราะชื่อนักแสดงเก่า เพชรา เชาวราษฎร์ ไม่ออกเสียง เพ็ด-ชา แต่เป็น เพ็ด-ชะ-รา
เพชรายุธ ออกเสียง เพ็ด-ชะ-รา-ยุด
ตอนนี้เริ่มงงแล้ว ไม่รู้ว่าใช้หลักอะไรในการออกเสียง หรือว่าต้องจดจำเป็นคำๆ ไปว่า เพชรนิลจินดา อ่าน เพ็ด-นิน-จิน-ดา เพชรร่วง = เพ็ด-ร่วง แต่ เพชรซีก อ่าน เพ็ด-ซีก ไม่ใช่ เพ็ด-ชะ-ซีก ฯลฯ
จบแล้วใช่ไหม?
ยังไม่จบ!
ยังไม่ยอมจบ!
…………..
ค้นไปคุ้ยมา พบหลักฐานชิ้นหนึ่ง เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรีที่อาจยืนยันว่า ชื่อนี้น่าจะออกเสียง เพ็ด-บุ-รี
ในเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 5 คำว่าเพชรบุรีมีไม้ไต่คู้ที่อักษร พ (คือ เพ็ชรบุรี)
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 คำว่าเพิ่มการันต์ที่ตัว ร (คือ เพ็ชร์บุรี) มีการันต์ไว้ เพื่อยืนยันว่าออกเสียง เพ็ด-บุ-รี
หลักฐานดูได้จากป้ายสถานีรถไฟของจังหวัดนี้
สถานีรถไฟเพชรบุรี เปิดเมื่อ 19 มิถุนายน ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2446) ป้ายสถานีเขียนชัดเจนว่า เพ็ชร์บุรี
รองรับด้วยราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 มิถุนายน ร.ศ. 122 (พ.ศ. 2447) ใช้คำว่า เพ็ชร์บุรี ในพระราชดำรัสเปิดทางรถไฟ
นี่น่าจะเป็นหลักฐานชัดพอว่า คนโบราณตั้งใจให้ออกเสียงนามนี้ว่า เพ็ด-บุ-รี ไม่ใช่ เพ็ด-ชะ-บุ-รี
แม้คนไทยส่วนใหญ่ติดการออกเสียง เพ็ด-ชะ-บุ-รี ไปแล้ว ผมยังติดนิสัยตามที่ครูชั้นมัธยมสอน ออกเสียง เพ็ด-บุ-รี
และมึนๆ ทุกครั้งที่รถไฟฟ้าผ่านสถานีเพ็ด-ชะ-บุ-รี
(ขอบคุณภาพจาก rotfaithai.com)
…………..
วินทร์ เลียววาริณ
เว็บไซต์ winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
กรกฎาคม 2561