โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนที่หายใจเข้าเป็นความคิด หายใจออกเป็นตัวอักษร

LINE TODAY

เผยแพร่ 10 ส.ค. 2561 เวลา 12.15 น. • Pimpayod

ในแวดวงหนังสือ และนักเขียน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “วินทร์ เลียววาริณ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ถึง 2 ครั้ง และหนึ่งในนักเขียนคุณภาพจาก THINK TODAY ที่รวบรวมความคิดผ่านงานเขียนจาก 10 นักเขียนระดับประเทศไว้ด้วยกันบน LINE TODAY ซึ่งไม่บ่อยเลยที่นักเขียนอย่าง “วินทร์ เลียววาริณ” จะมาถ่ายทอดความคิด การใช้ชีวิตผ่านบทสัมภาษณ์แบบนี้

สำหรับ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนก็คือคนที่หายใจเข้าเป็นความคิด หายใจออกเป็นตัวอักษร คนที่สะสมสิ่งต่าง ๆ มากลั่นกรองเป็นงานเขียน..

“ผมคิดว่าชีวิตมนุษย์แต่ละคนเป็นผลรวมของการสะสม สะสมความคิด สะสมประสบการณ์ สะสมปัญญา แต่เมื่อมีความคิดหลายอย่างมารวมตัวกัน ลอยแกว่งไปแกว่งมา ก็ต้องใช้เวลาที่จะทำให้มันตกตะกอน เมื่อตกตะกอนแล้วเราจึงมองเห็นภาพชัด 

“การทำงานเขียนหนังสือก็เป็นเหมือนการกลั่นกรองความคิดอย่างหนึ่ง ผ่านไปนานปี ก็ทำให้เข้าใจชีวิต มนุษย์กับสังคม ไปจนถึงเรื่องสเกลใหญ่ระดับจักรวาลได้ชัดขึ้น ก็คงคล้าย ๆ ปรัชญาเซน ก่อนฝึกเซน เห็นภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำตอนฝึกเซน เห็นภูเขาไม่เป็นภูเขา แม่น้ำไม่เป็นแม่น้ำ หลังฝึกเซน เห็นภูเขาเป็นภูเขา แม่น้ำเป็นแม่น้ำ 

“ผมยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรหรอก แต่ก็รู้สึกว่าก่อนเป็นนักเขียนกับหลังเป็นนักเขียน ก็มีพัฒนาการความคิด ทำให้เห็นชัดขึ้นในระดับหนึ่ง” 

<a href=
วินทร์ เลียววาริณ">
วินทร์ เลียววาริณ

บางคนอาจคิดว่าเป็นนักเขียนต้องติสต์ ต้องเป็นอย่างโน้น ต้องเป็นอย่างนี้ แต่สำหรับนักเขียนที่ชื่อ “วินทร์ เลียววาริณ” แล้ว ความมินิมอลคือคำตอบของการใช้ชีวิต

“ผมใช้ชีวิตเรียบง่ายมาตลอด เป็นชาว Minimalist ดังนั้นปรัชญาการใช้ชีวิตก็คือ น้อยไว้ก่อน เอาเฉพาะที่จำเป็น มันทำให้เบาตัว โล่งสบาย ส่วนเรื่องการมองโลก ผมเคยเป็นพวกมองโลกในแง่ร้ายมาก แต่เมื่อใช้ชีวิตมานาน ก็มองเห็นประโยชน์ของการมองโลกในแง่บวก มันคุ้มกว่า!

“ผมใช้ชีวิตกับการทำงานมากกว่าการเล่นหรือการเที่ยว อาจเพราะการทำงานที่รักก็คือความสนุกอยู่แล้ว และลักษณะของงานเกี่ยวข้องกับจินตนาการและการขบคิดมาก ทำให้ผมใช้ชีวิตแบบน้ำนิ่ง (แต่ภายในปั่นป่วน!)”

<a href=
วินทร์ เลียววาริณ">
วินทร์ เลียววาริณ

แม้ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่กับตัวอักษร ผ่านยุคที่ส่งต้นฉบับด้วยการเขียน มาจนถึงยุคโซเชียล พิมพ์อีเมล แต่ก็ไม่มีคำว่า “เบื่อ” 

“ผมเป็นนักเขียนไซด์ไลน์นานสิบหกปี เมื่อชีวิตถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็ต้องตัดสินใจว่าจะไปทางไหน ผมเลือกทางสายนักเขียนอย่างไม่แน่ใจนัก สามัญสำนึกบอกว่าไม่น่าจะไปทางนี้ แต่หัวใจส่วนลึกบอกว่าควรไป

ในที่สุดก็แพ้ใจตัวเอง…

“การเป็นนักเขียนมีความยุ่งยากสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือการฝึกฝนตนเองให้เป็นนักเขียน เรื่องนี้เหมือนกันหมดทั้งโลก ไม่ว่าสามสิบปีก่อนหรือตอนนี้ คือต้องฝึกหนัก เขียน ๆ ๆ ๆ ๆ ฝึกจนได้ที่ จึงจะพอเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียน ถ้าเก่งหน่อยก็อาจใช้เวลาน้อยหน่อย แต่ก็ไม่น่าจะต่ำกว่าสิบปี

“เรื่องที่สองคือการขายผลงาน ส่วนนี้ยากเหมือนกัน การขายผลงานจำเป็นต่อการเป็นนักเขียนอาชีพ เพราะนักเขียนอยู่ได้ด้วยรายได้ตรงนี้ 

“ปัญหาคือเมื่อสามสิบปีก่อน นักเขียนขายงานได้ง่ายกว่าตอนนี้ สมัยผมเป็นวัยรุ่น ยอดพิมพ์หนึ่งหมื่นเล่มเป็นเรื่องไม่แปลก ตอนนี้เป็นเรื่องสุดแสนมหัศจรรย์ สาเหตุคงเพราะพฤติกรรมการเสพสื่อของคนทั้งโลกเปลี่ยนไปอ่านสั้นลง และอ่านหนังสือจริง ๆ จัง ๆ น้อยลง ก็คงต้องรับสภาพ และปรับตัว

“ส่วนจะเป็นนักเขียนไส้แห้งไหม..
แล้วแต่คน จังหวะ และหลายปัจจัย
เขียนดี ขายเป็นก็ไส้ไม่แห้ง
เขียนไม่ดี ขายเป็น ก็ไส้ไม่แห้ง
เขียนดีขายไม่เป็น ก็ไส้แห้ง
ประเด็นคือ คุณภาพงานเขียนไม่เกี่ยวกับยอดขาย คนละเรื่องเลย! เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เป็นความจริง”

ทุกวันนี้มีสิ่งที่เรียกว่า “งานเขียนออนไลน์” ที่บางคนก็บอกว่าทำให้คุณค่าของความเป็นหนังสือลดน้อยลง แต่สำหรับนักเขียนมืออาชีพระหว่างการเขียนหนังสือ กับงานเขียนออนไลน์ไม่ได้ต่างกันเลย

“ผมว่ามันไม่แตกต่างกัน ก็เหมือนสร้างหนังมาหนึ่งเรื่อง จะฉายที่โรงหนังหรือทางโทรทัศน์ก็ได้ เพราะสิ่งที่สำคัญคือเนื้อหาสาระของเรื่อง 

“สำหรับผมสิ่งเปลี่ยนอย่างเดียวคือ งานเขียนที่ลงออนไลน์จะเขียนสั้นลง และจับเหตุการณ์ภายนอกมากขึ้น ส่วนงานเขียนอื่น ยังเป็นปกติ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไร ผมมองไม่เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างการเขียนหนังสือกับเขียนออนไลน์ เพราะนักเขียนแต่ละคนก็มีสไตล์และวิธีการทำงานที่ไม่เปลี่ยนมาก”

<a href=
เราเกิดมาทำไม">
เราเกิดมาทำไม

นอกจากงานเขียนบนโลกออนไลน์หรือบนกระดาษจะไม่ต่างกันแล้ว การอ่านก็ยังไม่แตกต่างกันด้วย สิ่งที่ต่างก็คือเราได้หรือไม่ได้อะไรจากการอ่านนั้น

“ผมว่าจะอ่านหรือจะดู หรือด้วยวิธีการใด ๆ ไม่สำคัญ สำคัญที่สาระของสารที่เสพเข้าไป ถ้าเสพสารไม่หลากหลาย ความคิดก็จะไม่กว้างเท่าที่ควร แต่ถ้าเสพแล้วไม่สามารถย่อยหรือวิเคราะห์ ความคิดก็จะคับแคบ หรืออาจจะโง่ลงได้

“เพราะฉะนั้นจะอ่านหนังสือกี่บรรทัดไม่สำคัญอะไรเลย สำคัญที่อ่านอะไร อ่านเป็นไหม อ่านแตกไหม อ่านหลากหลายไหมเท่านั้นเอง การอ่านหนังสือเป็นคืออ่านแล้วย่อย แตกหน่อความคิด แล้วฉลาดขึ้น

“อ่านหนังสือไม่เป็นคืออ่านแล้วเชื่อเลย ไม่คิด ไม่วิเคราะห์ การอ่านแบบนี้อาจทำให้โง่ลงได้ หรืออาจเลวร้ายกว่าไม่อ่านด้วยซ้ำ

“อย่างร่างกายคนเราต้องการสารอาหารอย่างน้อยจำนวนหนึ่งจึงมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นโรคภัย สมองก็เช่นกัน ต้องอ่านมากพอในปริมาณหนึ่ง ซึ่งบ่อยครั้งที่ 8 บรรทัดไม่เพียงพอ”

<a href=
วัวกับเด็กหญิง">
วัวกับเด็กหญิง

สำหรับงานเขียน “วินทร์ เลียววาริณ” คือตัวจริง คือคนใช้ตัวอักษรเลี้ยงชีพมากว่า 30 ปี และสิ่งที่ทำให้เดินทางมาไกลจากมาตรวัดความฝันวันแรกของการเขียนหนังสือ ก็คือ “ใจ”

“นักเขียนคือคนที่หายใจเข้าเป็นความคิด หายใจออกเป็นตัวอักษร การใช้ชีวิตของผมทุกวันเหมือนกันหมด ตื่นเช้าอย่างช้าหกโมง กินอะไรสักหน่อย แล้วเริ่มทำงานไปจนค่ำ ระหว่างการทำงานก็เบรกด้วยการพัก การงีบ การออกกำลังกาย ดูหนัง สลับไปมา โดยไม่มีกฎตายตัว แต่ก็เขียนตลอด 

“ที่ผ่านมาผมชอบเขียนแทบทุกแนว แต่ที่ยังไม่ได้เขียนมีหลายแนว เช่น นวนิยายปรัชญา นวนิยายธรรมะ นิยายกำลังภายใน ถ้าพร้อมและยังมีแรง ก็คงได้เขียน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไฟในการเขียนให้ตัวเองเรื่อย ๆ ยังอ่านเรื่อย ๆ อ่านกว้าง ๆ แล้วคิดไปด้วย ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เปิดความคิด และทำให้มีเรื่องเขียน

“สำหรับเรื่องความสำเร็จในอาชีพนักเขียน ถ้าวัดด้วยมาตรของความฝันวันแรกที่เขียนหนังสือ ผมก็ถือว่าสำเร็จ มาไกลกว่าที่คิดไว้หลายปีแสง ตอนแรกแค่เขียนสนุก ๆ และทำงานด้วยความยากเย็นแสนสาหัส จนคิดว่าไม่น่ารอดแน่ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า ‘เอาอยู่’ และมั่นใจขึ้นมาก ประกอบกับผลตอบรับทั้งคนอ่าน รางวัล และรายได้ที่พอเลี้ยงตัวได้จากการเขียนหนังสืออย่างเดียว ก็ถือว่าสำเร็จ ซึ่งอาจต่างจากระดับความสำเร็จของนักเขียนดังระดับโลกหลายล้านปีแสง แต่แค่นี้ก็พอใจแล้ว”

<a href=
โครงกระดูก">
โครงกระดูก

ปิดท้ายด้วยข้อคิดจาก “คุณวินทร์” ที่ไม่ว่าจะอยากเขียนหรือไม่อยากเขียนก็นำไปใช้ได้

“ใช้ชีวิตให้สมกับค่าใช้จ่ายที่ธรรมชาติมอบให้เรา”

ถ้าอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ จะรู้เลยว่า “วินทร์ เลียววาริณ” เป็นนักเขียนที่ยังคงคมในความคิดเสมอ ถ้ารู้จักนำไปใช้..ก็มักได้อะไรจากสิ่งที่เราอ่าน แต่ถ้าแค่อ่าน แค่ผ่านไป..ก็ไม่แปลกที่เราจะโง่ลงเรื่อย ๆ เพราะโลกก้าวหน้าไปถึงไหน ๆ แต่เรากลับหยุดความรู้ไว้แค่นั้น..

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0