เรารู้สึกว่าหลายคนยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับบริบทของการลวนลามทางเพศอยู่
การล่วงละเมิดทางเพศหรือ Sexual Harassment นั้น
จากข่าวที่เห็นบ่อยๆ เมื่อสมัยก่อน
เรามักคุ้นชินกับภาพ‘คนข่มขืน’ เป็นผู้ชายตัวใหญ่ๆ สกปรก สติดูไม่ดี หรือไม่ก็หน้าตาดูโหดเหี้ยมเหมือนตัวร้ายในละครอย่างชัดเจน
ส่วน ‘คนที่ถูกข่มขืน’ ก็จะเป็นผู้หญิงตัวเล็ก บอบบาง เดินอยู่ในซอยเปลี่ยวคนเดียว เลยโดนจับไปลวนลามได้ง่าย
เหตุการณ์ประเภทนี้ มันทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า
‘คนไหนเป็นผู้กระทำ’ -ผู้ร้าย
หรือ ‘คนไหนเป็นผู้ถูกกระทำ’ -ผู้บริสุทธิ์
แต่แท้จริงแล้ว
ใครก็ตามในโลกนี้ ไม่ว่าเพศไหน ฐานะไหน ผิวสีอะไร อายุเท่าไหร่ อาชีพใด
สามารถตกอยู่ในรูปแบบของ ‘เหยื่อ’ และ ‘ผู้กระทำ’ ได้หมด
เราเป็นนักจิตบำบัดอยู่ในอเมริกานี้
เราเลือกความสามารถพิเศษเฉพาะทาง ด้านกลุ่มคนที่เคยโดนกระทำชำเรา/ลวนลามทางเพศมาก่อน
คนไข้ที่มาพูดคุยกับเราจากเหตุการณ์ขืนใจทางเพศนั้น
เกิน 50% โดนกระทำจากคนในครอบครัว
และเกือบ 100% โดนกระทำจากคนที่รู้จัก เห็นหน้าคร่าตาหรือสนิทกันมาก่อน
‘แล้วจะไปสมยอมทำไม?’
- เป็นคำถามสุดคลาสสิคของคนที่ไม่ยอมเปิดใจ มักถามและ ‘โยนความผิด’ ไปให้กับเหยื่อ
เพราะหลายครั้ง
เหตุการณ์ลวนลามทางเพศ ก็ไม่ได้มาในรูปแบบเหมือนที่ยกตัวอย่างข้างต้นบทความ
‘ตัวร้าย’ ในที่นี้ อาจเป็นคนที่เหยื่อรักและผูกพันกับเขาตั้งแต่เกิด
อาจเป็นบุคคลที่เหยื่อเคารพ ยกย่อง เชิดชู
หรืออาจเป็นกลุ่มคนที่เหยื่อเชื่อมาเสมอว่าอยู่กับเขาแล้ว ‘จะปลอดภัย’
หาก ผู้กระทำ เป็นคนที่เหยื่อรู้จัก/สนิท/และที่สำคัญ อยู่ในสถานะที่เหยื่อต้องให้ความเคารพ
ปมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเหยื่อนั้น
มันรุนแรงมากกว่าเหลือเกิน หากเทียบกับเมื่อ ผู้กระทำ เป็นคนแปลกหน้า
นั่นเป็นเพราะ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้าน หรือสถานศึกษา
ไม่ว่าจะเป็นการถูกกระทำ จากพ่อ, แม่(ใช่แล้ว เราเคยศึกษากรณีแม่ลวนลามลูกเหมือนกัน), ลุง, พี่ชาย, หรือคุณครู
มันมักไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียว
มักเกิดเป็นประจำ ในช่วงระยะเวลายาวนาน
และเหยื่อจะตกอยู่ในสถานะ หนีไปไหนไม่ได้
ไม่สามารถปริปากบอกใครได้
โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ
หลายครั้งเป็นเพราะ เหยื่อมีความรักและความเคารพมอบให้ผู้กระทำ
ยิ่งทำให้รู้สึกผิด หากไปร้องเรียกขอความยุติธรรม เพราะไม่อยากทำร้ายคนๆ นั้น
และอาจผวา เพราะหลายครั้งผู้กระทำได้ขู่ บังคับเหยื่อด้วยข้ออ้างน่ากลัวต่างๆ ให้เหยื่อปิดปากเงียบ
ปมที่ติดตัวเหยื่อไป มักเป็นรูปแบบของ Complex-Trauma หรือปมปวดร้าวที่ซับซ้อนและสร้างความสับสนในจิตใจเหยื่อ –ใช้เวลารักษาเยียวยานานมากๆ
ถ้าเช่นนั้น มันติดสินกันตรงไหน ว่านี่คือการลวนลามขืนใจรึเปล่า?
- มันตัดสินกันที่ Consent หรือ ‘ความสมัครใจ’
และความสมัครใจนี้ ต้องเกิดจาก ‘สติสัมปชัญญะของทั้งสองฝ่าย’
และ ‘วุฒิภาวะทางความคิดและอารมณ์ของทั้งสองฝ่าย’
นั่นหมายถึง
- หากอีกฝ่ายกำลัง ‘เมา’ อยู่ การไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเขา ก็ถือเป็นการลวนลามขืนใจ เพราะเขาไม่ได้มีสติร้อยเปอร์เซ็นต์มานั่งรับรู้ผิดชอบชั่วดี
- หากเหยื่อโดนบุคคลชักจูงให้ร่วมกิจกรรมทางเพศโดยอ้างเหตุผลว่า ‘นี่คือพิธีกรรมทางศาสนา’ หรือใช้เหตุผลชั้นสูงอื่นมาอ้างเพื่อโน้มน้าวความสมัครใจของเหยื่อ –ถึงเหยื่อจะไม่มีท่าทีขัดขืนเพราะเหยื่อศรัทธาในศาสนา/ความเชื่อนั้นมากๆ แต่นี้ก็ถือเป็นการกระทำชำเราอยู่ดี เพราะเป็นการยินยอมภายใต้พื้นฐานของความหลอกลวง และเป็นการเอาเปรียบ/ใช้ประโยชน์จากเหยื่อ
- หากเด็กที่ยังไม่เข้าใจเรื่องกระบวนการทางเพศ ไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้ว่า นี่เป็นสิ่งที่ตนควรโดนกระทำรึเปล่า เพราะวุฒิภาวะยังไม่มากพอจะรับรู้บริบททางสังคมต่างๆ ก็ไม่มีใครมีสิทธิที่จะทารุณทางเพศของเด็ก เพราะเด็กยังคิดเองไม่ได้ และนี้ถือเป็นการขืนใจเด็กทั้งนั้น มันไม่ได้เกิดจากความบริสุทธิ์ใจ
วิธีที่ผู้กระทำมักใช้ เป็นวิธีที่เรียกว่า ‘Grooming’
หรือการตีสนิท สร้างความรักลวงๆ ดูแลห่วงใย พูดโน้มน้าว ให้เหยื่อตายใจและเชื่อใจ
แล้วค่อยยกเหตุผลเลิศหรูมาอ้าง เพื่อชักจูงเหยื่อให้มาติดกับดักความเน่าเฟะทางเพศของตัวเอง แล้วค่อยใช้ประโยชน์จากเหยื่อจากความไม่ทันคนของเหยื่อนั้น
ซึ่งเหตุการณ์ที่ออกมา ‘มักเป็นเหตุการณ์สีเทา’
‘ให้ท่าเองรึเปล่า?’
มักเป็นคำพูดที่เหยื่อต้องเจอ โดยการหาว่า ตัวเองเปิดโอกาสให้เขา
คำพูดที่มาจากความคิดแคบๆ สกปรกๆ ของใครบางคนแบบนี้
มักทำให้เหยื่อรู้สึกผิด อับอาย รังเกียจและโทษตัวเอง
ว่าตนเป็นคนเชื้อเชิญสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง
- การเยียวยามักไม่เกิดขึ้น เพราะมันมาจากความเชื่อ และชุดความคิดที่ผิด
และความทรมานจากปมที่ฝังลึกนี้ มันก็จะคอยรบกวนการใช้ชีวิตของเหยื่อเรื่อยๆ ไม่ไปไหน
สังคมควรเลิกใช้วิธีน่ารังเกียจโดยการโยนความผิดไปเหยื่อได้แล้ว
‘ความผิดไม่เคยตกเป็นของผู้เป็นเหยื่อ’
เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ
ถูกคุกคาม เล้าโลม ให้เกิดการกระทำทางเพศ ‘อย่างไม่เต็มใจ’
ไม่เกี่ยวว่าเหยื่อจะมีท่าทีป้องกันตัว หรือร้องไห้ โวยวายหรือไม่
เพราะบางครั้งเหยื่ออาจตกใจกลัวจนไม่สามารถขัดขืนแล้วก็ได้
หากเกิดการกระทำทางเพศที่อีกฝ่าย ‘ไม่สมัครใจ’
นั่นก็ถือเป็นการ ลวนลาม อันน่าเหยียดหยามทั้งนั้น !
ติดตามบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
ความเห็น 7
ผมคิดว่าถ้าคนเรานั้นมีสามัญสำนึกที่ดีต่อในการกระทำแล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆก็ตามที ผมเชื่อว่ายังไงก็สามารถที่จะช่วยทำให้ลดปัญหาของสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างแน่นอนครับ.
12 พ.ค. 2563 เวลา 15.09 น.
Oend_Chan Lakkanarak
เป็นบทความที่ดีค่ะ😊. สังคมมักตราหน้าเหยื่อก่อนเสมอว่าแรดไปให้ท่าเอง ถ้าเป็นเยาวชนก็ถูกตราหน้าว่ามันอยากโดน หลายคนที่มีความคิดพิพากษาเหยื่อ ทำให้เหยื่อไม่กล้าบอกใคร ในอีกกรณีอย่างที่ผู้เขียนกล่าวคือคนๆนั้นคือคนใกล้ชิดที่เหยื่อให้ความเคารพ และอีกกลุ่มคือผู้ที่มีอำนาจเหนือเหยื่อทำให้ไม่กล้าที่จะร้องหาความถูกต้อง กับประเด็นในสังคมคือถ้า.... เป็นกู.. กุจะถีบมัน, กุจะแหกปากให้ทุกคนรู้..... แต่ในความเป็นจริงคนเหล่านี้ไม่ค่อยโดนกระทำเพราะดูเป็นคนพร้อมสู้ คนที่โดนกระทำคือคนที่ดูอ่อนแอ, หัวอ่อน
13 พ.ค. 2563 เวลา 11.51 น.
DAN1MENTOR
ไม่มีใครจะล่วงละเมิดทางเพศใครได้ทั้งนั้น ไม่ว่าเพศใด ขนาดเป็นสามีภรรยายังมีกฎหมายระบุเรื่องข่มขืนไว้เลย
13 พ.ค. 2563 เวลา 11.46 น.
สังคมเลวร้ายมาก
13 พ.ค. 2563 เวลา 11.15 น.
Tuk-Chuanpis
ตั้งใจเข้ามาอ่าน แต่เจอคำผิดไปสองสามย่อหน้า การใช้คำแปลคำว่า Sexual Harrashment เป็นการกระทำชำเราทางเพศ มันก้อดูแปลกๆ เลยตัดใจไม่อ่าน
ข่มขื่น = คืออะไร
ก่อนลงตรวจคำผิดหน่อยนะ
12 พ.ค. 2563 เวลา 13.48 น.
ดูทั้งหมด