โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โควิดกับความเหงา –ฟังดูเหมือนงี่เง่า แต่เจ็บปวดจริง - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 28 เม.ย. 2563 เวลา 13.53 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

เวลาบอกใครว่า ‘เหงา’ ในช่วงการกักตัวโควิดนี้

ฟังเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ หน่อมแน้ม

ดูไม่อันตรายรุนแรงเท่าความเครียด ความอดอยาก การตกงาน หรือการเจ็บป่วย

พูดไปแล้วก็เขินๆ

เพราะน้ำหนักของ ‘ความเหงา’ มันดูไม่มากพอจะเป็นเรื่องจริงจังให้ต้องมาใส่ใจขนาดนั้น

ในอเมริกา สายด่วนสำหรับคนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย มีสถิติคนโทรมาใช้บริการพุ่งสูงขึ้นมากตั้งแต่เกิดโรคระบาดระดับโลกนี้

และไม่กี่วันที่ผ่านมา

เพื่อนของเพื่อนเราที่นี่เพิ่งเสียชีวิตลง เพราะเสพยาเกินขนาด

ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่ติดสารเสพติดต่างๆ หรือเสพย์ติดการกระทำบางอย่างจนทำลายชีวิต จะเป็นกลุ่มคนที่สมองเขามีสารกระตุ้นให้ตอบสนองกับสิ่งเร้าได้รุนแรงกว่าปกติ นั่นคือ พวกเขาต้องใช้พลังมากกว่าคนธรรมดา ที่จะ ‘เลิก’ เสพติดสิ่งเหล่านั้นอย่างเด็ดขาดได้

ที่อเมริกา นอกจากความช่วยเหลืออย่างจิตแพทย์หรือนักบำบัดจิตใจแล้ว

สิ่งที่มีเยอะมากแทบจะทุกหย่อมหญ้า นั่นคือ ‘support group’ หรือการนัดพบเจอเพื่อเป็นการให้กำลังใจและสัมผัสได้ถึงแรงสนับสนุนต่างๆ จากคนที่มีปัญหาแบบเดียวกัน ได้มีกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

กลุ่มสนับสนุนนี้ มีเยอะมากไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม, กลุ่มคนใกล้ชิดของผู้ติดยาเสพย์ติดเรื้อรังนิรนาม, กลุ่มผู้เสพย์ติดเซ็กส์นิรนาม และอีกมากมาย

ฟังเหมือนเป็นการมานัดเจอกันอย่างสนุกสนาน แต่จริงๆ แล้ว คุณค่ามีมากกว่านั้น เพราะมันคือกำลังใจที่รวมไปด้วยผู้คนที่ทรมานจากอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ต้องการเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อเป็นการย้ำตัวเองให้มั่นใจว่า

 

เราไม่ได้อยู่ในสภาวะอันโหดร้ายนี้คนเดียว

 

ความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพลังที่มีอานุภาพมากในการต่อสู้กับปีศาจร้ายที่มาสิงอยู่ในตัวเอง

ความสัมพันธ์ที่ดี สามารถโค่นอาการเสพติดรุนแรงทั้งหลายได้อย่างราบคาบ

และแน่นอน ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ นั้นคือขั้วตรงข้ามของ ‘ความเหงา’

 

 

 

หลายครั้ง จิตใจเราเลือกจะทำอะไรที่เหลวแหลกหรือโหดร้ายลงไป

เพื่อพยายามจะให้การกระทำนั้นๆ

มันกลบความรู้สึกเจ็บปวดที่สุดข้างในหัวใจ

จนหยุดพึ่งสิ่งเสพติดเหล่านั้นไม่ได้

เพราะความรู้สึกมันท่วมท้นจนสูญเสียการควบคุม

และหนึ่งในความรู้สึกที่หลายคนอยากหนีให้พ้นที่สุด นั่นคือ

‘ความเหงาและโดดเดี่ยว’

ที่เป็นต้นตอของหลายความรู้สึกหนักหน่วงอื่นๆ ที่ตามมา

ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้า, อาการนอนไม่หลับ, ชะลอระบบปฏิบัติการทางความคิดประจำวัน, ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอาการทางกายหลายอย่างที่อาจตามมา ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ที่หนักขึ้น ความอ้วน และการปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่มีกะจิตกะใจจะขยับออกกำลังกาย

 

 

 

ความเหงา มันเกิดขึ้นได้ แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย

ในเมืองใหญ่ หลายคนก็ยังรู้สึกเหงา

แม้ว่าจะเบียดอัดแน่นอยู่ในขบวนรถไฟ นั่งอยู่ในที่ประชุมที่ทุกคนพูดไม่หยุด หรือแม้กระทั่งอยู่ในครอบครัวที่ไม่มีใครหันหน้ามาคุยและสนใจกัน

ความเหงาเยียวยาได้ด้วย คนที่ใช่ ที่พร้อมอยู่เพื่อเราจริงๆ

 

 

ในการกักตัวแต่ละวัน

ไม่ว่าเราจะดูหนัง, อ่านหนังสือ, หรือมองคนเดินเล่นผ่านหน้าต่างในห้องของเรายังไง

ให้พยายาม ‘เชื่อมความเหมือนบางอย่างของเรากับเขา

อาจเป็นนางเอกคนนี้เคยอกหักเหมือนเราเลยอ่ะ

พระเอกคนนี้เคยเลี้ยงหมาพันธุ์เดียวกับเราเป๊ะ

หรือแค่ ‘เธอคนนั้นเป็นผู้หญิงเหมือนเรา’

พยายามสร้างความสัมพันธ์กับทุกคนที่ผ่านประสาทสัมผัสเราไป

เพราะมนุษย์ลึกๆ เป็นสัตว์สังคม

มากน้อยก็อยู่ที่ระดับความพอใจของแต่ละคน

แต่มนุษย์อยู่โดยไม่มีปฎิสัมพันธ์กับใครเลย ไม่ได้

 

 

ลองตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ในหนึ่งวัน เราจะโทรหาคนจำนวน__เท่านี้

คนที่เราไว้ใจคนนั้น

สามารถสร้างพื้นที่อบอุ่นให้เราได้ระบายใส่เขา

และเราก็มีโอกาสได้รับฟังและโปรยละอองโอบกอดห่างๆ ไปให้เขา

เป็นห่วงและดูแลสภาวะจิตใจกันและกัน

 

 

เหงาขึ้นมาเมื่อไหร่

สิ่งที่ใช่ที่สุด ก็คือกำลังใจและแรงสนับสนุน

ในที่สุด ก็เพื่อให้รู้ว่า เราไม่ได้เหงาอยู่ในโลกนี้คนเดียว

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง

https://www.apa.org/monitor/2019/05/ce-corner-isolation

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0