‘สวัสดีค่ะ ไหนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวคุณมาสิคะ?’
‘อ๋อ ดิฉันเพิ่งหย่าค่ะ’
‘หมอเสียใจด้วยนะคะ’
‘เสียใจทำไมอะคะ? ฉันไม่เห็นจะรู้สึกเสียใจเลย’
นี่คือเรื่องราวที่อาจารย์จิตวิทยาคนหนึ่งเล่าให้เราฟัง เธอไปหานักจิตบำบัดคนหนึ่ง (ใช่ค่ะ นักจิตบำบัดเอง บางครั้งก็ไปหานักจิตบำบัดเหมือนกัน) เธอบอกนักจิตบำบัดคนนั้นถึงชีวิตแต่งงานที่ไม่ได้ลงเอยอย่างราบรื่นของเธอ นักจิตบำบัดคนนั้นมีท่าที ‘สงสาร’ ซึ่งสำหรับเธอแล้ว การหย่าคือ ‘ความสุข’ ที่เธอเลือกให้กับชีวิตตัวเอง
ในทางจิตวิทยา มีคำว่า Implicit Bias
มันคือ ความลำเอียงที่อยู่เหนือจิตสำนึกการควบคุม
นั่นเป็นเพราะ เรามักมีชุดความคิดหรือทัศนคติบางอย่าง ที่มีผลต่อความเข้าใจ การกระทำ และการตัดสินใจในชีวิตของเรา และหลายครั้งความลำเอียงนี้ ก็ถูกสร้างขึ้นจากการสะสม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราได้ยินมาจากหลายๆ คน พอได้ยินบ่อยเข้า สมองเราก็เริ่มสร้างชุดความคิดและความรู้สึกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราได้ยินมา ทำให้เราพูดจา หรือลงมือทำอะไรบางอย่าง จากชุดความคิดนี้ที่มันฝังลึกอยู่ข้างใน โดยหลายครั้ง เราก็จับตัวเองไม่ทันว่ากำลังมีพฤติกรรมนี้อยู่!
บทสนทนาตอนต้นนั้น ก็คือตัวอย่างของ Implicit Bias ที่นักจิตบำบัดคนนี้มีต่อ ‘ทัศนคติชีวิตสมรส’ ของทุกคนในโลกว่า การหย่า = ความล้มเหลว หรือใครที่เพิ่งเลิกกับแฟน มักจะถูกโยนไปอยู่ในหมวดคนน่าสงสารทันที มันเลยออกมาเป็น ‘คำพูด’ ที่แสดงถึงความลำเอียงในใจอย่างไม่ทันตั้งตัว
(ยิ่งเป็นนักจิตบำบัด ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหากแสดงความเห็นอะไรออกมา ที่มันกลายเป็นการแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงที่มีอยู่ข้างใน อาจทำให้คนไข้รู้สึก ‘ไม่เชื่อใจ’ ในการพูดคุยกับเราก็ได้ เพราะคนไข้อาจรู้สึกว่า เรากำลังตัดสินเขาอยู่)
Implicit Bias สุดคลาสสิกในอเมริกา ก็คือทัศนคติที่คนขาวมีต่อคนดำ
(ขออธิบายเพิ่มเติมถึงคำว่า ‘คนดำ’ ซึ่งเราแปลมาจากคำว่า Black People ที่ภาษาอังกฤษใช้เรียกถึงคนที่มีผิวสีดำ ในที่นี้ไม่ได้เป็นการเหยียดเชื้อชาตินะ มันเป็นคำที่คนเขาใช้กันเป็นปกติ ส่วนที่ไม่ใช้คำว่า แอฟริกัน-อเมริกันนั้น เพราะคนที่มีผิวดำบางคนก็ไม่ได้มาจากแอฟริกา ส่วนคำว่า ‘คนผิวสี’ ก็ให้ความหมายที่กว้างไป เพราะมันหมายรวมถึงคนที่ไม่ใช่ ‘ผิวขาว’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผิวเหลืองแบบคนจีน หรือผิวน้ำตาลแบบคนอินเดีย ฯลฯ เราเลยขอใช้คำว่า ‘คนดำ’ เพื่ออธิบายถึงคนที่มีผิวสีดำเท่านั้นทุกคนนะคะ)
ผู้คนมากมายมักมีทัศนคติต่อคนดำว่าเป็น ‘อาชญากร’
จะเห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่คนดำมักได้เล่นหนังเป็นคนร้าย
หรือเพราะคนมักมีภาพต่อคนดำว่าเป็นกลุ่มคนมีฐานะไม่สูง จึงชอบโยงไปถึงการเป็นอาชญากร
Implicit Bias ก็จะเกิดขึ้น เช่น หลายครั้งผู้คนมักเดินข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีคนดำเดินสวนมาโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
อีกตัวอย่างคือ หลายครั้งที่โรงพยาบาลในอเมริกา เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนไข้คนดำมาหาหมอ หมอมักจ่าย ‘ยาแก้ปวด’ น้อยกว่าคนผิวสีอื่นๆ เพราะมี Implicit Bias ไปเองว่า คนดำนั้นบึกบึน อึดทนต่อความเจ็บปวดทั้งหลายได้ดี
หลายครั้งที่ Implicit Bias มันโผล่ขึ้นมาจากจิตใต้สำนึก และสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเหมือนกัน ‘เพราะผู้คนมักตีความหมายภาพที่เห็นแค่ด้านเดียวเท่านั้น’ โดยลืมคำนึงถึงไปเลย ว่า คนหนึ่งคน ไม่จำเป็นต้องได้รับการจัดหมวดหมู่อยู่ได้แค่หมวดเดียว
เช่น ล่าสุด คุณหมอเฉิน ฟู เป็นคุณหมอชาวจีน ที่ต้องดูแลผู้ป่วยโควิดในเมืองนิวยอร์ก คุณหมอเล่าถึงเหตุการณ์การเป็น ‘คนจีน’ ที่อยู่ในอเมริกาว่า เขาเคยโดนคนตะโกนด่าใส่ในรถไฟใต้ดิน แล้วก็มีคนใจดีเข้ามาช่วยเอาไว้
‘มันยากนะ ที่จะทำความเข้าใจว่าตัวเองสามารถเป็นทั้งฮีโร่ และตัวร้าย ในเวลาเดียวกัน’
ดูโพสต์นี้บน Instagram
โพสต์ที่แชร์โดย TIME (@time) เมื่อ เม.ย. 11, 2020 เวลา 11:02am PDT
หรือแม้กระทั้งนักแสดงสาวมากความสามารถอย่าง คริสเตน เบลล์ เจ้าของเสียง "เจ้าหญิงอันนา" ในภาพยนต์โฟรเซ่น
เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า
‘ตอนแรกที่เข้าวงการมา มีผู้กำกับบอกเธอว่า เธอสวยไม่พอที่จะเล่นบทนางเอก หรือไม่ได้ดูเด๋อพอจะมาเล่นบทตลก’
เธอก็งงเลยว่า อ้าว การที่เธอมีหน้าตาและบุคลิกแบบนี้ ทำให้เธอเป็นดาราไม่ได้เลยเหรอ
สรุปเลย
เราตั้งใจเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
เพราะบทความที่เราเขียนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับประเด็นเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในอเมริกา และความกลัวของเรากับการเป็นคนเอเชี่ยนในประเทศนี้
ระหว่างเขียนไป อารมณ์ก็สั่นไหว เปราะบางเหลือเกิน แล้วก็เห็นคนคอมเม้นต์มาหลายคน ว่า จริง คนขาวนิสัยไม่ดี ชอบเหยียดคนอื่น เห็นว่าตัวเองดีที่สุด อย่างนู่นอย่างนี้ มันเลยทำให้เราชะงักขึ้นมาได้ว่า เออ เราควรจะเขียนเรื่องที่มีความเป็นกลางและไม่ส่อให้เกิดความเกลียดชังแบบนี้ไหมนะ
เพราะเพื่อนของเราที่เป็นคนขาวทุกคน ก็ดีกับเราและเป็นคนน่ารักกับเพื่อนมนุษย์จริงๆ และเราจะให้ตัวอย่างของคนขาวก้าวร้าวที่เราเห็นในวิดีโอคลิปเพียงไม่กี่คน มาทำลายภาพที่เรามีต่อคนขาวทั้งหมด ไม่ได้สิ
มั่นใจให้ได้ว่าเรากำลังดูคน ที่ความเป็นมนุษย์ของเขา
มันสำคัญมากที่ต้องเรียนรู้คนให้ลึกลงไป
กว่าภาพภายนอกที่โดนฉาบไว้ให้เรามอง
อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันอังคาร บน LINE TODAY
ความเห็น 3
🌙
ชอบอ่านบทความที่ช่วยกระตุกต่อมคิดเช่นนี้
ขอบคุณผู้เขียนที่สะท้อนมุมมองให้เราได้กลับมาสอดส่องทัศนคติท่าทีของเราที่มีต่อผู้อื่นค่ะ
ในเรื่องของถ้อยคำ
ความเห็นส่วนตัว ถ้าใช้ 'คนผิวดำ'
คิดว่าคงจะน่าฟังกว่า 'คนดำ' เฉยๆ
ซึ่งอาจฟังดูห้วนเกินไปสักหน่อย
เป็นกำลังใจให้ค่ะ🌷
14 เม.ย. 2563 เวลา 14.33 น.
ในการยอมรับกับในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาให้ได้ ก็ย่อมที่จะช่วยทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาได้เสมอ.
15 เม.ย. 2563 เวลา 12.49 น.
miao
ชอบบทความค่ะ มาแอบอ่านนานๆ ที เขียนดี มุมมองดี เป็นกำลังใจให้นะคะ
21 เม.ย. 2563 เวลา 13.32 น.
ดูทั้งหมด