โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

LINE

เรื่องน่ารู้! คู่มือเตรียมตัวรับมือกับอุทกภัย

LINE ประเทศไทย

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2564 เวลา 04.36 น.

จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และปริมาณน้ำทางภาคเหนือที่ไหลมาประกอบกันในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยมาตั้งแต่จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตะลิ่งจนเข้าท่วมบ้านเรือน ที่พักอาศัย และถนนหลายสาย นอกจากนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองบัญชาการกองทัพเรือ ได้ออกประกาศให้ประชาชนเฝ้าระวังอุทกภัยในช่วงปลายสัปดาห์นี้ไปจนถึงสัปดาห์หน้า เนื่องจากช่วงนี้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ

เพื่อเป็นการเตรียมตัวและตั้งรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต วันนี้ LINE ประเทศไทย ขอแนะนำแนวทางเตรียมรับมือกับน้ำท่วมสำหรับประชาชนที่บอกเล่าข้อควรปฏิบัติทุกขั้นตอน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดน้ำท่วม เพื่อป้องกันความเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราทุกคน ไปเรียนรู้วิธีการรับน้ำท่วมพร้อมกันได้เลย!

รู้จักกับระดับการเตือนภัยน้ำท่วม

ลักษณะการเตือนภัยน้ำท่วมมี 4 ประเภท ดังนี้

1. การเฝ้าระวังน้ำท่วม - มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างสังเกตุการณ์

2. การเตือนภัยน้ำท่วม - เตือนภัยว่ากำลังจะเกิดน้ำท่วม

3. การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง - เตือนภัยเมื่อเกิดน้ำท่วมรุนแรง

4. ภาวะปกติ - เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติหรือเป็นพื้นที่ไมไ่ด้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม

ขั้นตอนเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมสำหรับประชาชน

1. ติดตามข่าวและสถานการณ์น้ำท่วมจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งสัญญานเตือนความผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนอย่างสม่ำเสมอ

2. จัดเตรียมสิ่งของอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาทิ

- น้ำสะอาด อาหารกระป๋อง หรืออาหารแห้ง 

- ยาสามัญประจำบ้าน อาทิ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงน้ำตาล เกลือแร่ ยาโรคประจำตัว เป็นต้น

- อุปกรณ์ที่จำเป็นในการช่วยชีวิต อาทิ อุปกรณ์การสื่อสารพร้อมแบตเตอรี่สำรอง 

- อุปกรณ์ชูชีพ อาทิ ห่วงยาง ไฟฉาย หรือเทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงขยะ หรือถุงพลาสติก โดยแนะนำให้เตรียมให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตได้อย่างน้อย 3-5 วัน

3. ศึกษาแผนปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินของหมู่บ้าน หรือในชุมชน ศึกษาเกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัยต่างๆ การติดต่อสื่อสารเส้นทางอพยพ และสถานที่ตั้งที่พักฉุกเฉิน หรือศูนย์อพยพในพื้นที่

4. จัดเตรียมช่องทาง หรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน อาทิ ขอความช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายเลข 1669 สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หมายเลข 1784 และสายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422

5. หากมีสัตว์เลี้ยงให้จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับการดูแลสัตว์ อาทิ อาหารพื้นที่หลบภัยสำหรับสัตว์ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจเกิดมาจากสัตว์สู่คน เช่น โรคฉี่หนู เป็นต้น

6. การจัดเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบไฟสำรอง รวมทั้งถุงบรรจุทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมหากจำเป็น

นอกจากนี้ กรณีที่ท่านมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านควรเคลื่อนย้ายไปไว้ในจุดที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง และติดตั้งให้มั่นคงป้องกันการหล่นน้ำขณะใช้งาน อาทิ พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น พร้อมทั้งยกระดับปลั๊กไฟฟ้าให้สูงขึ้นจากพื้นที่ ที่คิดว่าอาจเสี่ยงต่อน้ำท่วมประมาณ 1-2 เมตร 

ทั้งนี้ หากไม่สามารถยกระดับปลั๊กไฟได้ให้ใช้วิธีตัดวงจรไฟฟ้าที่เต้ารับ หรือสวิตช์หลักที่น้ำท่วมถึง รวมทั้งตัดวงจรไฟฟ้า โคมไฟที่รั้วบ้าน โคมไฟที่สนามไฟ กริ่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เดินสายไฟฝังอยู่ใต้ดิน

ปลอดภัยไว้เมื่ออยู่ในบ้านหากเกิดน้ำท่วม

1. ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อบ้านโดนน้ำท่วม เพราะอุปกรณ์บางอย่างสามารถทำให้คุณถูกไฟช็อตได้แม้ไม่เสียบปลั๊ก และห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำจนกว่าจะแน่ใจทุกชิ้นส่วนของอุปกรณ์นั้นแห้งสนิท

2. ระวังสัตว์อันตรายที่อาจมาพร้อมน้ำท่วม อาทิ งู หรือตะขาบ

3. แนะนำให้ใส่รองเท้า หรือรองเท้าบูทกันน้ำ และเดินอย่างระมัดระวัง ระวังโคลนที่อาจทำให้ลื่น เศษแก้ว เข็ม และซากสิ่งของที่พังที่ลอยมากับน้ำ

4. ระวังแก๊สรั่ว หากได้กลิ่นแก๊สให้อยู่ห่างจากบริเวณดังกล่าว แล้วใช้ไฟฉายส่องเพื่อตรวจสอบความเสียหาย และห้ามสูบบุหรี่หรือทำให้เกิดประกายไฟจนกว่าจะปิดแก๊ส หรือระบายอากาศในพื้นที่แล้ว

5. ระวังอันตรายจากคาร์บอนมอนอกไซด์ ควรใช้เตาย่าง หรือโคมไฟนอกบ้านเพราะควันจากอุปกรณ์เหล่านี้มีพิษอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

6. ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เปียกน้ำ เนื่องจากน้ำท่วมเป็นตัวการนำน้ำที่มีสิ่งปฏิกูลและสารอันตรายเจือปน ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้บริโภคทุกอย่างที่สัมผัสน้ำ สำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ให้ล้างด้วยสบู่หรือน้ำให้สะอาดก่อนใช้

7. ดูแลจิตใจหลังเกิดภัยน้ำท่วม เพราะหลังเกิดอุทกภัยอาจทำให้เกิดความเครียดและความกังวลจากความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจใช้เวลาเยียวยานานกว่าการรักษาจากอาการเจ็บป่วยทางกาย

ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่ออยู่นอกบ้านหากเกิดน้ำท่วม

1. ห้ามเดินตามเส้นทางน้ำไหล รู้หรือไม่ว่า มีผู้คนจำนวนหนึ่งจมน้ำเสียชีวิตแม้จะมีความสูงของระดับเพียง 15 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะน้ำที่ไหลอยู่สามารถทำให้ลื่นล้มได้ ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเดินผ่านที่มีน้ำไหล แนะนำให้จุ่มไม้เพื่อวัดระดับน้ำก่อนทุกครั้ง

2. ห้ามขับรถในพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม เนื่องจากการขับรถในพื้นที่น้ำท่วมมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เครื่องยนต์ดับหรือจมน้ำได้

3. ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านน้ำได้จนเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากการโดนไฟดูดได้ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม

ข้อปฎิบัติหลังเกิดน้ำท่วม

การศึกษาข้อปฎิบัติหลังน้ำลดถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดจำนวนมากหลังเข้าไปสำรวจบ้านเรือนเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ขอแนะนำขั้นตอนการเข้าไปในพื้นที่หลังเกิดน้ำท่วม ดังนี้

1. ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน พร้อมเดินสำรวจรอบบริเวณที่พักอาศัย

2. ปิดวาล์วแก๊สให้สนิท แต่หากได้กลิ่นแก๊สรั่วไม่ควรเข้าในบริเวณที่แก๊สตั้งอยู่ ให้ติดต่อตัวแทนจำหน่ายแก๊สที่ซื้อมา

3. ตรวจสอบความเสียหายของโครงบ้าน ตัวบ้าน ระเบียง และหลังคา เพื่อให้แน่ใจว่าโครงสร้างทั้งหมดปลอดภัย

4. ตรวจสอบรอยรั่วหรือรอยแตกของท่อน้ำ หากพบความเสียหายให้รีบปิดมิเตอร์น้ำ และไม่ควรบริโภคน้ำจากก๊อกจนกว่าจะมั่นใจในความสะอาด

5. กำจัดตะกอนที่มาจากน้ำ เนื่องจากเชื้อโรคส่วนใหญ่มักสะสมอยู่ในตะกอน

ข้อมูลสำหรับติดตามข่าวสารน้ำท่วม

กรมอุตุนิยมวิทยา | www.tmd.go.th

- ให้ข้อมูลด้านการพยากรณ์อากาศ เส้นทางพายุ ปริมาณน้ำฝน และบทวิ้คราะห์ด้านสภาพอากาศ

 กรมทรัพยากรน้ำ | www.dwr.go.th

- ให้ข้อมูลด้านระบบเตือนภัย สถานการณ์น้ำ และข้อมูลน้ำในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ | www.ndwc.go.th 

- ให้ข้อมูลด้านสภาพข้อมูลภัยพิบัติ และการแจ้งเตือนพื้นที่ภัยพิบัติ

กรมทรัพยากรธรณี | www.gmr.go.th

- ให้ข้อมูลด้านการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) | www.haii.or.th

- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพายุ อากาศ ฝน และระบบน้ำ (น้ำในเขื่อน ระดับน้ำทะเล)

กรมชลประทาน | www.rid.go.th

- ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ลำน้ำ และการปล่อยน้ำ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย | www.disaster.go.th

- ให้ข้อมูลด้านภัยพิบัติ การประกาศพื้นที่เสี่ยงภัย และการบริหารจัดการประสานความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

สายด่วนช่วยเหลือน้ำท่วมและติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

4 แอปพลิชันติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

สำหรับผู้ที่ประสบอุทกภัย นอกจากขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่างๆ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้านบนแล้ว ยังสามารถขอความช่วยเหลือผ่าน LINE Official Account ของ ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784โดยการเพิ่มเพื่อน LINE ID: @1784DDPM

อ้างอิง:

ประกาศกรมอุทกศาสตร์ เรื่อง สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร และ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ในระหว่างวันที่ 5-14 พฤศจิกายน 2564 ระหว่างเวลาประมาณ 05:00-20:30 น. (ฉบับที่ 23)

คู่มือเตรียมพร้อมรับอุทกภัย ก่อนน้ำมาเตรียมให้พร้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ 

แนะ 6 วิธีเตรียมพร้อม รับมือฝนตกหนัก โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

คู่มือรับมืออุทกภัย (Flood Handbook) โดย งานสื่อสารนานาชาติ (CICC) ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0