โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สำรวจเหตุการณ์ #ติดถ้ำ บทเรียนที่คนไทยห้ามลืม!

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 07 เม.ย. 2564 เวลา 17.05 น. • AJ.
ภาพโดย Joshua Sortino / unsplash.com
ภาพโดย Joshua Sortino / unsplash.com

ประเทศไทยมีถ้ำท่องเที่ยวมากมาย เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย เส้นทางชมธรรมชาติ และเส้นทางดำน้ำสุดมหัศจรรย์ที่ดึงดูดนักสำรวจทั่วโลกไม่ขาดสาย แต่ภายใต้ความงามแสนลึกลับน่าค้นหา ก็ยังมีอันตรายซ่อนอยู่

3 ปีที่แล้ว เราผ่านเหตุการณ์ '13 หมูป่า' ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนพร้อมโค้ช 13 คนจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย เหตุการณ์ครั้งนั้นกินเวลายาวนานกว่า 18 วัน ทั้งยังเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกในเรื่องของ 'ความโหดหิน' ของภารกิจ ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา นักสำรวจ รวมถึงหน่วยซีลเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ ที่สุดท้ายแม้หมูป่าทั้ง 13 คนจะกลับออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ต้องสูญเสียบุคลากรอดีตหน่วยซีล 1 คนจากภารกิจดังกล่าว เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คนไทยได้ตระหนักถึงความน่ากลัวของ 'ถ้ำ' และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ระมัดระวังมากพอ

ฝันร้ายของคนกลัวที่แคบกลับมาอีกครั้ง เมื่อมีข่าว#พระติดถ้ำ ในถ้ำพระไทรงาม จังหวัดพิษณุโลก แม้ทีมนักประดาน้ำจะสามารถช่วยชีวิตพระธุดงค์รูปดังกล่าวออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่เวลากว่า 4 วันที่ 'พระมนัส' ติดอยู่ภายในถ้ำท่ามกลางฤดูฝนที่ทำให้ภารกิจช่วยเหลือเป็นไปอย่างยากลำบาก ก็น่าหวั่นใจพอให้เราหวนย้อนนึกถึงเหตุการณ์ 13 หมูป่า ที่เต็มไปด้วยอันตรายและความหนักอึ้งในใจของผู้เกี่ยวข้องในขณะนั้น

'ผู้ประสบภัยติดถ้ำ' ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?

อาการขาดสารอาหาร : ภาวะ Refeeding Syndrome

เมื่อติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน ร่างกายของผู้ประสบภัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ดวงตาจะรับแสงฉับพลันไม่ได้ ต้องใส่แว่นกรองแสงเมื่อออกจากถ้ำ ผิวหนังจะซีดเซียว ส่วนการไม่ได้รับสารอาหารหลายวัน จะเกิดภาวะ 'Refeeding Syndrome' ทำให้ร่างกายมีระดับเกลือและวิตามินลดต่ำลง ซึ่งเกลือแร่และวิตามินเหล่านี้มีส่วนสำคัญในระบบย่อยอาหารและหัวใจ เคสของ 13 หมูป่า นักประดาน้ำจึงต้องให้พวกเขากินเจลวิตามินขณะรอการช่วยเหลือ ยังไม่ให้กินอาหารโดยทันที เพราะหากกลับมากินเร็ว และมากเกินไป อาจเกิดอันตรายจากการที่ระบบย่อยอาหารไปดึงเอาสารอาหารอื่นๆ ที่มีอยู่น้อยมาใช้ ทำให้ขาดสารอาหารฉับพลันจนระบบร่างกายล้มเหลวได้

สภาพจิตใจย่ำแย่

สิ่งที่น่าเป็นกังวลนอกจากขั้นตอนการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ติดถ้ำ ยังมีภาวะเครียดหลังเกิดภยันตราย หรือ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงจิตใจของแต่ละคน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ประสบภัยจะยังคงคิดถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ ซึ่งจะมีอาการตื่นตกใจ ผวา ฝันร้าย หรือเห็นภาพเหตุการณ์ (Flashback) ซึ่งจิตแพทย์จะใช้วิธีรักษาแตกต่างกันไปแล้วแต่พื้นฐานสภาพจิตใจของแต่ละคน อย่างในกรณี 13 หมูป่า จิตแพทย์แนะนำว่าให้ผู้ประสบภัยได้ 'เล่า' เรื่องราวที่เกิดขึ้น เพื่อให้ตัวเขาได้เรียบเรียงเหตุการณ์และได้ทำความเข้าใจไปทีละนิด แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือคนใกล้ชิด ที่จะช่วยเป็นที่พึ่งให้ผู้ประสบภัยรู้สึก 'ปลอดภัย' ในการกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง

ภาพโดย Shane / unsplash.com
ภาพโดย Shane / unsplash.com

'ติดถ้ำ' ถึงตายได้

'การติดถ้ำ' นับเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงในการเอาชีวิตรอด และความยากลำบากสำหรับทีมกู้ภัย อนุกูล สอนเอก นักสำรวจวิจัยทางภูมิศาสตร์ ได้ยกตัวอย่างของภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในถ้ำ เอาไว้ดังนี้

1.ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าปกติ

ผู้ประสบภัยจะขาดออกซิเจน ซึ่งมีผลต่อการหายใจ และหากอยู่ในสภาวะคาร์บอนไดออกไซด์สูงนานๆ จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง สมองมึนงง หมดแรง หมดสติ และอาจรุนแรงถึงชีวิตเลยทีเดียว

2.อุณหภูมิร่างกายลดต่ำ

ความเย็นในถ้ำนับว่าอันตรายเป็นอันดับ 2 รองจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ เหตุจากน้ำในถ้ำมักจะมีความเย็นมากกว่าแหล่งน้ำด้านนอก หากติดอยู่ในถ้ำในสภาพที่แช่น้ำจะยิ่งเสี่ยงต่ออาการไฮโปเทอร์เมีย (Hypothermia) ทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงต่ำ จนเกิดอาการตัวสั่น พูดไม่สะดวก มองเห็นไม่ชัด ไปจนถึงหมดสติและเสียชีวิต

3.น้ำท่วมฉับพลัน

ถ้ำบางแห่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำและมีลำธารไหลผ่าน มักพบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน การสำรวจถ้ำในช่วงฤดูกาลนี้จึงไม่นิยมทำกัน เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุติดถ้ำอย่างในข่าวได้

4.หลงทางในถ้ำ

ในการสำรวจถ้ำที่มีความซับซ้อนจะมีโอกาสพลัดหลงได้ง่าย นักสำรวจต้องทำเครื่องหมายนำทาง เช่น ทิ้งสัมภาระไว้ตามทางแยก ให้เพื่อนร่วมคณะสามารถเข้าไปช่วยเหลือ หรือเป็นแนวเดินสำหรับการเดินทางกลับออกมา

5.อันตรายจากอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ เช่น การพลัดตกจากที่สูง การลื่นล้มแขนขาหัก หินถล่ม เป็นต้น

ภาพโดย Anton Shakirov / unsplash.com
ภาพโดย Anton Shakirov / unsplash.com

อยากเที่ยว 'ถ้ำ' ให้ทำแบบนี้!

เพื่อให้การเที่ยวถ้ำเป็นไปอย่างเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้มีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น สำนักอุทยานแห่งชาติ ได้รวบรวมคำแนะนำเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวและนักสำรวจได้ปฏิบัติตาม ดังนี้

  • ใส่เสื้อผ้ารัดกุม ไม่อมน้ำ หากมีการว่ายน้ำหรือดำน้ำควรใส่ Wetsuit ส่วนรองเท้าควรใส่หุ้มข้อที่ไม่อมน้ำ ไม่ลื่น และไม่ใช่รองเท้าแตะ
  • พกไฟฉายขนาดพอเหมาะ
  • นำเชือกที่มีความแข็งแรงและเหนียวพอที่จะรับน้ำหนักอย่างน้อย 60 - 65 กิโลกรัม
  • พกน้ำสำรองและอาหารสำเร็จรูป ควรมีติดตัวเผื่อกรณีหลงทางภายในถ้ำเท่านั้น ไม่ควรนำไปกินในถ้ำ
  • ห้ามสูบบุหรี่ หรือก่อกองไฟ เพราะจะทำให้ออกซิเจนที่มีน้อยอยู่แล้วลดน้อยลง
  • ไม่ควรส่งเสียงดัง ขีดเขียน พ่นสี หรือปิดประกาศโฆษณาภายในถ้ำ
  • ห้ามกระทำการใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือทำให้น้ำท่วมหรือเหือดแห้ง
  • ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
  • ห้ามเดินออกจากเส้นทางที่กำหนด กรณีไม่ใช่ถ้ำท่องเที่ยวที่มีเส้นทางสำรวจ ให้หลีกเลี่ยงการเดินบนกลุ่มหินปูนหรือม่านหินย้อย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ถอดรองเท้าออกและเดินเป็นแนวซ้ำทางเดียวกัน(อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่)

ยังมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการสำรวจถ้ำว่าไม่ควรสำรวจถ้ำที่ไม่รู้จักในหน้าฝน หากไม่ใช่ผู้ชำนาญหรือมีไกด์นำทางก็ไม่ควรไปเที่ยวถ้ำในฤดูกาลนี้เลย และอย่าลืมสังเกตผนังและเพดานถ้ำ หากมีเศษกิ่งไม้หรือคราบดินโคลนติดอยู่แปลว่าถ้ำแห่งนี้มีน้ำท่วมในฤดูฝน เป็นสัญญาณว่าอาจมีน้ำท่วมขังเป็นประจำ ดังนั้นการสำรวจถ้ำที่มีลักษณะดังนี้จึงต้องอาศัยความระมัดระวังและรอบคอบเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ 'ติดถ้ำ' ซ้ำรอยอีกในอนาคต

-

อ้างอิง

bbc.com

exploreroneteam.blogspot.com

กรมสุขภาพจิต

สำนักอุทยานแห่งชาติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0