โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

‘โอไมครอน’ กระจอกจริงหรือไม่ ติดไปเลยให้จบ ๆ ได้หรือเปล่า?!

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 12 ม.ค. 2565 เวลา 17.00 น. • nawa.

ใคร ๆ ก็ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ติดง่าย ตายยาก ซึ่งหลาย ๆ หน่วยงานก็ออกมาคอนเฟิร์มเรื่องติดง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ หลายเท่าจริง

แต่เรื่องตายยาก ไม่มีอะไรรับประกันได้ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ขึ้นชื่อว่าโรคระบาด ยังไงซะก็ต้องระวังอันตรายจากมันอยู่ดี โดยเฉพาะคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 รวมถึงกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ รวมถึงสตรีมีครรภ์ ก็มีโอกาสเจ็บป่วยและเกิดการสูญเสียได้ทั้งนั้น

ติดง่ายก็ติดไปเลยสิจะได้จบ ๆ ?

อย่าหาทำ! แม้ว่าอาการโควิดโอไมครอนในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะไม่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยแทบไม่แสดงอาการเลยด้วยซ้ำ แต่อย่าลืมว่ามันคือโรค มันคืออาการป่วย ไม่ว่าอย่างไรก็มักมีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่เป็นอยู่แล้วแน่นอน

แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกก็ยังต้องย้ำเตือนทั่วโลกว่า อย่าดูแคลนเจ้าโอไมครอน เพราะมันอาจส่งผลกระทบระยะยาวกับร่างกายได้ โดยเฉพาะอาการ Long covid ซึ่งผู้ที่หายป่วยจำนวนมากกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยหอบง่ายกว่าปกติ, จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสแม้จะหายป่วยแล้ว, นอนหลับยาก, อาการซึม และสารพัดอาการที่มีแต่จะส่งผลเสียต่อร่างกายแบบไม่สิ้นสุด

ที่น่าสนใจและต้องระวังเป็นพิเศษคือ มันแพร่ระบาดได้ไวกว่าที่เคยเป็นมา จนผู้อำนวยการของ WHO เองยังบอกว่า มันคือ ‘สึนามิของโควิด’ ที่โลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ มันจึงทำให้มีโอกาสที่คน ๆ หนึ่งจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้ทุกเมื่อ เนื่องจากโอไมครอนตัวร้ายสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่เราเคยได้รับมา รวมถึงเมื่อติดเชื้อแล้วแทบไม่แสดงอาการ ทำให้บางคนติดเชื้อไม่รู้ตัวจึงใช้ชีวิตตามปกติ รู้อีกทีก็ได้รับเชื้อกันทั้งหมู่คณะไปแล้วเรียบร้อย

เพราะฉะนั้นที่หลาย ๆ คนมองว่าโอไมครอนจะเป็นวัคซีนธรรมชาติ เป็นภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นไวรัสเพื่อนรัก ก็อย่าประมาทจะดีกว่า เดี๋ยวผลลัพธ์ที่ได้มาจะไม่คุ้มสิ่งที่เสียไปนะ

ติดง่ายก็มีโอกาสกลายพันธุ์ง่าย

จากโคโรน่าไวรัส หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาอย่างยาวนานกว่า 2 ปี ตั้งแต่สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า จนมาถึงโอไมครอนในปัจจุบัน (และอาจจะกลายพันธุ์ไปอีกเรื่อย ๆ ก็ได้ เช่น เดลต้าครอน ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่จริง ๆ หรือแค่การผสมผสานของไวรัสที่ปนเปื้อนในห้องแล็ปเฉย ๆ )

การที่โอไมครอนแพร่ระบาดไวมาก ทำเอาเจ้าเก่าอย่างสายพันธุ์เดลต้าแทบจะลดบทบาทลงไปเยอะในเวลาอันรวดเร็ว ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าไวรัสนี้จะปรับรูปร่างหน้าตาไปอีกมากมายขนาดไหน หากเราใช้ชีวิตแบบเผลอไผลแม้ชั่วขณะเดียว อาจจะเป็นผู้โชคดีได้รับสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นอย่าเสี่ยงจะดีที่สุด 

ไม่ว่ายังไงสิ่งที่ต้องทำให้เป็นกิจวัตรทุกวันนี้คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ที่สำคัญคืออย่าลืมฉีดวัคซีนบูสเตอร์ เพราะตอนนี้ 2 เข็มเอาไม่อยู่เป็นที่เรียบร้อย จากนั้นก็ใช้ชีวิตกันไปตามปกติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างระวังตัว

ติดง่ายอาจทำให้ระบบสาธารณสุขพัง

นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างที่สุดในบ้านเรา ทุกครั้งที่มีการแพร่ระบาดของโควิดไม่ว่าจะระลอกที่เท่าไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ป่วยล้นทะลัก มักจะตามมาด้วยข่าว คนป่วยหาเตียงไม่ได้, เตียงเต็ม, น้ำยาตรวจไม่เพียงพอ, คนป่วยปกปิดข้อมูลทำให้บุคลากรการแพทย์ต้องเสี่ยงไปด้วย เมื่อมีคนป่วย 1 คนอาจะส่งผลต่อคนอื่น ๆ ได้อีกมากมายอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะบุคลากรการแพทย์ ลองคิดภาพว่าหากคุณหมอ คุณพยาบาลต้องป่วย ต้องกักตัวกันหมด แล้วใครจะมาทำหน้าที่ตรงนี้ ระบบสาธารณสุขพังพินาศ แย่กันไปทั้งระบบ จะแก้ไขอะไรก็ไม่ทันการ เพราะทุกวินาทีคือชีวิตของคน ๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี หากว่าได้รับเชื้อแล้วก็ควรปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นรักษาตัวที่โรงพยาบาล,ฮอสพิเทล หรือการรักษาตัวที่บ้านก็ตาม

ติดทุกคนแน่นอน ไม่ต้องกังวล

นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งไว้ว่า

“หลังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนครั้งใหญ่นี้ เชื่อว่าทุกคนไม่ว่าจะเคยฉีดวัคซีน หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมมาก่อน จะได้รับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ช้าก็เร็ว เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หวังว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คงจะจบลงสักที”

จนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง บ้างก็ว่า ‘สบายใจละ’ เชิงติดตลกเพราะทุกวันนี้ได้แต่ถามตัวเองว่า ‘กูติดยังวะ’ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตามละครเรื่องนี้ก็ยังคงไม่มีใครรู้ว่าจุดจบจะเป็นอย่างไร จบสวยหรือจะมีตอนต่อไปเรื่อย ๆ อีกนานแค่ไหน ในอนาคตหากโควิดกลายเป็นโรคธรรมดาที่มีวัคซีนป้องกัน มียารักษา ก็นับว่าเป็นเรื่องดีต่อมวลมนุษยชาติ แต่สิ่งที่ทุกคนรู้กันทุกวันนี้คือ เรายังต้องป้องกันตัวเองอย่างสุดความสามารถเท่าที่จะทำได้ไปพร้อมการใช้ชีวิตประจำวันให้รอบคอบมากที่สุด

Long Covid ยังคงน่ากังวลอยู่

แม้เราจะรับรู้กันว่าอาการของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะน่ากลัวน้อยกว่าเดลต้าก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเสี่ยงเอาชีวิตตัวเองไปติดโรค เพราะทุกผู้เชี่ยวชาญพูดตรงกันหมดว่า แม้จะหายป่วยแล้ว แต่อาการ Long Covid ยังน่าเป็นห่วง อย่าคิดว่าเป็นแป๊บเดียว เดี๋ยวก็หายแล้ว แลกกับเงินแสน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม บอกเลยว่าไม่คุ้มที่จะเอาสุขภาพไปแลกกับเงินประกันอย่างแน่นอน คนที่หายป่วยจำนวนไม่น้อยบอกว่ามีอาการข้างเคียงเป็นระยะเวลานาน เช่น ผมร่วง, หายใจเหนื่อยง่าย, นอนหลับยาก, วิตกกังวล และอีกหลาย ๆ อาการแตกต่างกันไป ฉะนั้นลองคิดดี ๆ หากจะ 'ติดไปเลยให้จบ ๆ' เพราะผลลัพธ์ที่ต้องแลกมาอาจจะไม่คุ้มเลยสักนิดเดียว

โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววัน

จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ล่าสุดจะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ และในประเทศไทยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอไมครอนก็ตาม (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค. 64) ทำให้มีหลายองค์กร รวมถึง สธ. ไทยเองก็เริ่มคาดการณ์เบื้องต้นได้ว่า ภายในปี 2565 นี้ โควิดอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นก็เป็นได้ (โรคประจำถิ่นหมายถึงโรคที่เกิดการระบาดในพื้นที่จำเพาะ สามารถคาดการณ์การแพร่ระบาด และมีอัตราป่วยคงที่) เช่นเดียวกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี เช่น ไข้เลือดออก แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรประมาทอยู่ดี เพราะถึงแม้จะเป็นสถานการณ์ของโรคจะสงบลงในวันหนึ่ง แต่ในทุก ๆ การป่วย มักจะมีคนเสียชีวิตอยู่เสมอ 

สุดท้ายแล้ว โรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่เรื่องกระจอก ไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไรก็ตาม เพราะมันหมายถึงชีวิตของคนทุกคน ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อป่วยแล้วจะหายขาดหรือไม่ ทุกคนมีโอกาสโคม่า อาการหนัก และมีโอกาสเสียชีวิตได้ทั้งนั้น อย่าดูถูกความเจ็บป่วยดีกว่า…

.

ขอบคุณข้อมูลจาก

- The MATTER

-Facebook นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

-คมชัดลึก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0