โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เปิดรายชื่อ 20 กระทรวงในประเทศไทย และบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ

Amarin TV

เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 03.38 น.
เปิดรายชื่อ 20 กระทรวงในประเทศไทย และบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
เช่นเดียวกับแผนกต่างๆ ในบริษัท หรือแม้กระทั่งการแบ่งหน้ารับผิดชอบการทำงานภายในบ้านหลังเล็ก ประเทศไทยเองก็มีกระทรวงต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานของรั

เช่นเดียวกับแผนกต่างๆ ในบริษัท หรือแม้กระทั่งการแบ่งหน้ารับผิดชอบการทำงานภายในบ้านหลังเล็ก ประเทศไทยเองก็มีกระทรวงต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบภารกิจต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของของตน ซึ่งในปัจจุบันมีกระทรวงหรือเทียบเท่าจำนวนทั้งสิ้น 20 กระทรวง ประกอบด้วย

1. สำนักนายกรัฐมนตรี – เป็นส่วนราชการของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ไม่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี รับผิดชอบการบริหารราชการทั่วไป เสนอแนะนโยบายและการวางแผนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และราชการเกี่ยวกับการงบประมาณ ระบบราชการ การบริหารงานบุคคล กฎหมายและการพัฒนากฎหมาย การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการ การส่งเสริมการลงทุน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปฏิบัติภารกิจพิเศษและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือที่มิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดโดยเฉพาะ

2. กระทรวงกลาโหม – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีหน้าที่ป้องกันประเทศ เพิ่มขีดความสามารถ และรักษาผลประโยชน์ของชาติ สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียน และมิตรประเทศ เพื่อลดความหวาดระแวงสร้างสันติภาพ ให้ความสำคัญในการตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกระทรวงกลาโหม ตลอดจนภารกิจอื่นตามที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะ และมีหน้าที่พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชประสงค์

3. กระทรวงการคลัง – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินของแผ่นดิน การภาษีอากร การรัษฎากร กิจการเกี่ยวกับที่ดินราชพัสดุ กิจการอันกฎหมายบัญญัติให้เป็นการผูกขาดของรัฐ กิจการหารายได้ซึ่งรัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่เพียงผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมอื่น และกิจการซึ่งจะเป็นสัญญาผูกพันต่อเมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจหรือสัตยาบัน รวมทั้งการค้ำประกันหนี้ของส่วนราชการและองค์การรัฐ สถาบันการเงินและรัฐวิสาหกิจ

4. กระทรวงการต่างประเทศ – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศและราชการอื่น ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ

5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การกีฬา การศึกษาด้านกีฬา นันทนาการ และราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ให้อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

6. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม การสร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชน

7. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชื่อ กระทรวงเกษตรพานิชการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตรกรรม การจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ส่งเสริมและพัฒนาระบบสหกรณ์ รวมตลอดทั้งกระบวนการผลิตและสินค้าเกษตรกรรม และราชการอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

8. กระทรวงคมนาคม – เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีหน้าที่เกี่ยวกับดูแลระบบการขนส่งและบริการคมนาคม ให้มีความคุ้มค่าและทั่วถึง ธุรกิจการขนส่ง การวางแผนจราจร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อย่างเสมอภาคโดยทั่วถึงกัน

9. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และดูแลหน่วยงานราชการอื่น ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545

10. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม – เป็นกระทรวงในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ภายใต้ชื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อมาได้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

11. กระทรวงพลังงาน – พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้จัดตั้ง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในระดับกรม สังกัด สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลภาพรวมด้านพลังงานของประเทศ แต่เนื่องจากหน่วยงานด้านพลังงานต่างกระจายออกไปสังกัดในกระทรวงที่ต่างกัน ทำให้มีปัญหาในเรื่องการประสานงาน รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงมีมติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 จัดตั้ง “ทบวงพลังงาน” และต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2545 ที่ประชุมร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรี กับรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับการบริหารราชการแต่ละกระทรวง ทบวง รวม 5 ท่าน ได้มีมติให้ยกระดับส่วนราชการ “ทบวงพลังงาน” เป็น “กระทรวงพลังงาน” กระทั่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงถือเป็นการก่อตั้งกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545

12. กระทรวงพาณิชย์ – กระทรวงพาณิชย์เดิมเรียก “กระทรวงเศรษฐการ” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2463 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกระทรวงหนึ่งของประเทศไทยที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และราชการอื่นๆ ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์

มีบทบาทคือ 1. ภารกิจด้านในประเทศ มีหน้าที่ดูแลราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ดูแลผู้บริโภคภายใต้กรอบกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ทั้งการค้าสินค้าและธุรกิจบริการ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย และคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา

2. ภารกิจด้านต่างประเทศ มีหน้าที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยการเจรจาภายใต้กรอบ WTO FTA อนุภูมิภาค ภูมิภาค ฯลฯ จัดระเบียบและบริหารการนำเข้าส่งออก รวมทั้งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ การค้ามันสำปะหลัง สินค้าข้อตกลงต่างๆ แก้ไขปัญหา และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า เช่น การดูแลเรื่อง GSP การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งเสริมและเร่งรัดการส่งออก

13. กระทรวงมหาดไทย – มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การอำนวยความเป็นธรรมของสังคม การส่งเสริมและพัฒนาการเมืองการปกครอง การพัฒนาการบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองท้องที่ การส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและพัฒนาชุมชน การทะเบียนราษฎร ความมั่นคงภายใน กิจการสาธารณภัย และการพัฒนาเมืองและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย

14. กระทรวงยุติธรรม – เป็นกระทรวงหนึ่งในประเทศไทยก่อตั้งเมื่อ 25 มีนาคม พ.ศ. 2434 เดิมใช้ชื่อว่ากระทรวงยุตติธรรม และมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงยุติธรรมในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 มี พระดุลยพากย์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมสถาน)เป็น ปลัดกระทรวงยุตติธรรมคนสุดท้ายดำรงตำแหน่งวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ถึง 11 มีนาคม พ.ศ. 2495 และเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมคนแรกดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 ถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2496 และในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2496 ได้มีการโปรดเกล้า สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นปลัดกระทรวงคนที่สอง มีภารกิจเป็นหน่วยงานหลักของกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการเพื่อพัฒนากฎหมาย และระบบบริหารจัดการของ กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ช่วยเหลือและให้ความรู้แก่ประชาชนทางกฎหมาย ป้องกัน ปราบปราม แก้ไข ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในสังคมและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ การบังคับคดีแพ่ง บังคับคดีล้มละลาย บังคับคดีทางอาญา บำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานคณะกรรมการคุมประพฤติ ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธานกรรมการคุมประพฤติ

15. กระทรวงแรงงาน – การดำเนินนโยบายด้านแรงงานของประเทศไทย เริ่มต้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับในระยะนั้นเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ประชาชนจึงเกิดภาวะการว่างงานจำนวนมาก หน่วยงานของรัฐบาลที่ปฏิบัติงานบริหารแรงงาน ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก โดยคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้กำหนดนโยบายประการหนึ่งระบุว่า “จะต้องบำรุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจและหางานให้ราษฎรทุกคนทำ” จึงได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 ขึ้นบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ให้สิทธิแก่เอกชนที่จะจัดตั้งสำนักงานรับจัดหางานให้แก่ประชาชนได้ โดยเรียกค่าบริการจากประชาชน ผู้มาใช้บริการภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 ก็ได้ตรา พระราชบัญญัติสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 ขึ้นบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ฉบับนี้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานกลางจัดหางาน ขึ้นในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ทำหน้าที่จัดหางานให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจด้านแรงงานของรัฐบาลไทย

ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยการโอนภารกิจบางส่วนจากกรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก และได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อกระทรวงอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2545 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กระทรวงแรงงาน

16. กระทรวงวัฒนธรรม – เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีอื่น ๆ

17. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็นหนึ่งในหน่วยงานระดับกระทรวงของรัฐบาลไทย มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลื่ยนแปลงของโลก

กระทรวงนี้เกิดจากการรวมหน่วยงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเข้าด้วยกัน โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ที่ประชุมเห็นชอบให้นาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

18. กระทรวงศึกษาธิการ – กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานราชการไทยประเภทกระทรวง มีหน้าที่ส่งเสริมการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สร้างความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมทางการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพ ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการศึกษา เน้นให้นิสิตนักศึกษามีโอกาสศึกษาต่อสูงขึ้นทั้งในท้องถิ่นและสถาบันเปิด เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้บริการแก่สังคม พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ส่งเสริมผู้ที่มีความสามารถพิเศษให้ได้เรียนและแสดงออกในทางที่เหมาะสม

19. กระทรวงสาธารณสุข – เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข

20. กระทรวงอุตสาหกรรม – เป็นส่วนราชการของรัฐบาลไทย ประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0