ความปรารถนาหนึ่งของการเป็นมนุษย์คือการไม่มีความทุกข์ ซึ่งบางครั้งในชีวิตประจำวันเราอาจจะยังไม่ถึงขั้นจมทุกข์หรอกค่ะ แค่เครียดบ้างเท่านั้นเอง ซึ่งเรามักจะคิดว่าการไม่เครียดเป็นลาภอันประเสริฐใช่ไหมคะ แต่ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไปค่ะ เชื่อไหมว่า ‘การไม่เครียด’ ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน
คุณ Susan T. Charles จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เคยทำการทดลองเกี่ยวกับผลเสียของการเป็นคนไม่ค่อยเครียด โดยให้อาสาสมัครวัยกลางคนที่เข้าร่วมการวิจัย จำนวน 2,804 คน จดบันทึกความเครียดในชีวิตประจำวันตามหัวข้อที่กำหนดทั้งหมด 7 ข้อ เป็นเวลา 8 วันติดต่อกัน โดยเรื่องที่ต้องเช็กก็คือ
1. วันนี้มีการถกเถียงหรือตอบโต้จนรู้สึกเครียด เพราะไม่เห็นด้วยกับคนอื่นหรือไม่
2. วันนี้เรากำลังหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับอะไรบางอย่างหรือไม่
3. วันนี้มีความเครียดเพราะเรื่องที่บ้าน, ครอบครัวหรือไม่
4. วันนี้มีเรื่องเครียดจากที่ทำงาน, โรงเรียนหรือไม่
5. วันนี้รู้สึกถูกเลือกปฏิบัติจึงทำให้เครียดบ้างหรือไม่
6. วันนี้เราเครียดจากความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ บ้างหรือไม่ (network stressor)
7. วันนี้เราเครียดจากเรื่องอื่น ๆ หรือไม่
ผลคือ คนเกือบ 10% ไม่มีความเครียดใด ๆ เลยตลอดระยะเวลาการทดลอง คำถามคือ แล้วอะไรขึ้นกับพวกเขาบ้าง ?
แน่นอนว่าคนไม่เครียดย่อมมีข้อดีมากมาย ได้แก่ อารมณ์ดี, ไม่ค่อยหงุดหงิด, ไม่นำไปสู่โรคทางจิตแบบเรื้อรัง แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน นั่นคือ การทำงานของระบบความคิดและความจำจะด้อยกว่าคนที่มีความเครียด การนึกคิดต่าง ๆ จะไม่ยืดหยุ่นเท่ากลุ่มคนเครียด เพราะว่าคนเครียดจะถูกท้าทายจากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้มีโอกาสได้บริหารสมองด้วยการคิด หาทางแก้ไข เอาชนะอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา ต่างจากคนที่ไม่เครียดจะไม่ได้ออกกำลังกายสมองเท่าไหร่ และคนที่ไม่ค่อยเครียดส่วนมากมักจะเป็นผู้ใหญ่ไปจนถึงสูงอายุ (ซึ่งพวกเขาอาจจะผ่านความเครียดมามากพอแล้วในช่วงวัยอื่น ๆ ก็เป็นได้)
จุดด้อยอีกอย่างหนึ่งของคนไม่รู้จักเครียดก็คือ ความสามารถในการเป็นผู้ช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกคนอื่นจะลดน้อยลงไปด้วย เพราะว่าตัวเองมีแต่อารมณ์ทางบวก พอมีคนมาปรึกษาเรื่องอารมณ์ทางลบก็จะรับมือไม่ค่อยถูก ปลอบประโลมใครไม่ค่อยเป็น รวมถึงการจะไปขอให้คนอื่นช่วยซัพพอร์ตความรู้สึกเวลาตัวเองเศร้าซึมก็จะยากขึ้นไปด้วย เนื่องจากจะรู้สึกเก้ ๆ กัง ๆ ทำตัวไม่ถูกว่าจะต้องไปร้องขอเขาอย่างไรดี
เพราะฉะนั้นการไม่เครียดเลยก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี การเครียดมากเกินไปก็เป็นเรื่องแย่ แล้วทางสายกลางอยู่ตรงไหน ?
เครียดได้แต่อย่าเยอะ! เครียดพอกรุบกริบให้สมองได้ขยับเขยื้อนบ้าง ขอแนะนำเคล็ดลับการจำกัดลิมิตความเครียด ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป ดังนี้
เครียดได้แต่ต้องไม่จมปลัก
พอมีปัญหาเข้ามาในชีวิต ตั้งการ์ดพร้อมรับความเครียดนั้นด้วยการรู้เท่าทัน ค่อย ๆ คิดไปทีละสเต็ปว่าสาเหตุคืออะไร แก้ไขได้หรือไม่ หากแก้ไขได้ต้องลงมือทำอย่างไรบ้าง หากแก้ไขไม่ได้ก็ขอให้ปล่อยวางซะ อย่านอนกอดความเครียดไว้เลยค่ะ
ความเครียดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
เหตุผลทั้งเราควรเครียดแค่นิดเดียวก็เพราะว่า ความเครียดไม่จีรังยั่งยืนนั่นเอง ต้องหมั่นท่องไว้เสมอว่า ความเครียดเข้ามาในชีวิตแล้วอีกสักพักมันก็จะจากเราไปเหมือนกับความรู้สึกอื่น ๆ นั่นแหละค่ะ
โฟกัสที่การคิดด้วยเหตุผลเป็นหลัก
ถ้าใช้อารมณ์นำทางเมื่อไหร่ ความเครียดจะมาหาเราแบบทะลักทะลวงเลยล่ะค่ะ แต่ถ้าเราเพ่งเล็งไปยังความเครียดนั้นด้วยเหตุผลแทน โฟกัสกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความรู้สึกแวดล้อม ก็จะทำให้ควบคุมความเครียดไม่ให้มากเกินพิกัดได้
เรื่องนี้ช่วยยืนยันคำตอบให้เราอย่างชัดเจนว่า ทุกเรื่องราวล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่การไม่เครียดที่ใคร ๆ ต่างหวังและปรารถนา ก็ยังมีมุมมืดต่อชีวิตเราเหมือนกัน..
.
ขอบคุณข้อมูลจาก
.