โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยกับใครสักคน - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY

เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 17.00 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

ผมไปหอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นประจำ บ้างไปดูงานศิลปะ บ้างไปทำงาน และบ้างไปแวะพักก่อนกลับบ้าน ที่นั่นมีความหลากหลายของผู้คน ทั้งความเนิบช้าของคนสูงวัยและความวูบไหวของคนหนุ่มสาว ทั้งศิลปินเจ้าของความคิดคมคายและมากมายด้วยลุงยามป้าแม่บ้านที่เป็นกันเอง

เมื่อหลายปีก่อน ผมไปซื้อหนังสือที่ร้าน Bookmoby (ชั้น 4 ของหอศิลป์กรุงเทพฯ) หลังจากซื้อเสร็จ ผมตั้งใจจะนั่งพักที่เก้าอี้หน้าร้าน อยากอ่านเล่มที่เพิ่งซื้อสักพักแล้วค่อยกลับบ้าน ตรงนั้นมีชายสูงวัยนั่งอยู่ก่อน ปกติเวลาแบบนี้ ผมต้องการพื้นที่ส่วนตัวพอสมควร แต่ท่าทีของเขาค่อนข้างเป็นมิตร ผมเลยไปนั่งด้านข้าง

ปรากฏว่าผมไม่ได้อ่านหนังสืออย่างที่ตั้งใจ แต่เปลี่ยนมาสนทนากับชายคนนั้น เป็นครั้งแรกที่เราเจอกัน ไม่แน่ใจว่าใครทักใคร ด้วยความเป็นคนขี้สงสัย ผมชวนคุยถึงประวัติชีวิต ความเจ็บป่วย ความคิดและความรู้สึกต่อเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่วันนั้นเรากลับคุยกันนานเป็นชั่วโมง

เท่าที่จำได้ เขาอายุใกล้เจ็ดสิบ บ้านอยู่ไม่ไกลจากหอศิลป์กรุงเทพฯ มาใช้บริการเป็นประจำ ไม่ได้ทำงานและไม่ได้มีสวัสดิการอะไร ญาติพี่น้องเป็นคนให้เงินไว้ใช้จ่าย ด้วยท่าทางหลุกหลิกผิดปกติและเรื่องเล่ากระจัดกระจายไม่ต่อเนื่อง ผมคิดอยู่ในใจว่าเขาน่าจะป่วยทางจิตอะไรสักอย่าง ซึ่งวันนั้นเขาก็พูดถึงตัวเองแบบนั้น 

ตลอดหลายปีหลังจากวันนั้น ถ้าเราเจอหน้าแล้วเห็นกัน เขาจะส่งเสียงดังเรียกผมว่า "สวัสดีลูกพี่!" (ทั้งที่เขาอายุรุ่นพ่อ!) ถ้าวันนั้นติดธุระ บางครั้งผมทักทายสั้น ๆ ถ้าวันนั้นติดธุระด่วนมาก ผมตัดสินใจเดินเลี่ยง เพราะเขามักชวนคุยนานเสมอ แต่ถ้าวันนั้นไม่ได้รีบไปไหน ผมจะหยุดคุยด้วยสักพัก

 “เป็นยังไงบ้างครับ สบายดีไหม”

 “มานานหรือยัง จะกลับแล้วเหรอ”

 เป็นคำถามซ้ำ ๆ ที่ใช้เปิดบทสนทนา ซึ่งคำตอบก็คล้ายเดิมทุกครั้งไป

 “สบายดีครับ”

 “มาตั้งแต่เช้า ยังไม่กลับนะ หาที่นั่งอยู่”

นอกจากได้ยินคำพูดแบบเดิม ๆ สิ่งที่ผมเห็นเป็นประจำ คือ ความสุขที่แสดงออกผ่านน้ำเสียง สีหน้า และรอยยิ้ม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปหอศิลป์กรุงเทพฯ อย่างเคย หลังจากเสร็จธุระ ผมหันไปเห็นเขานั่งเหม่อลอยอยู่ชั้นหนึ่ง วันนั้นไม่ได้รีบไปไหน เลยเดินเข้าไปทักทาย นั่งลงข้าง ๆ แล้วชวนคุย แม้จะพยายามฟังว่าเขาเล่าอะไร แต่ด้วยฟันปลอมที่หลวมจนเกือบหลุด แทบทุกประโยคเลยไม่เต็มเสียง ส่วนใหญ่จับใจความไม่ได้ ท่อนที่ฟังเข้าใจก็ไม่เห็นความเชื่อมโยง

 "ผมอายุเจ็ดสิบแล้ว ป่วยแบบนี้ ไม่รู้จะตายตอนไหน แต่ดีกว่าพวกพี่นะ ต้องอยู่อีกนาน ต้องดูแลบริวาร (น่าจะหมายถึงครอบครัว)" เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ฟังแล้วเข้าใจ

หลายนาทีที่คุยกัน เขาพูดไปยิ้มไป พร้อมกับสะกิดแขนขาและจับมือของผม

ผมสงสัยมาตลอด เจอทุกครั้งก็ทักทุกครั้ง เขาจำผมได้ หรือทักแบบนั้นกับทุกคนที่คุ้นหน้าอยู่บ้าง

 "ลุงจำผมได้เหรอครับ" ผมลองถาม

 "จำได้สิ เราเคยคุยกันเรื่องชนชั้นและการกดขี่ไง" เขาตอบทันที พร้อมกับอธิบายเป็นฉาก ๆ

ผมพยักหน้าตอบรับพลางแปลกใจ เพราะตัวเองไม่น่าใช่คนที่พูดคุยเรื่องยากแบบนั้นได้ แต่ก็นั่นแหละ เราอาจเคยคุยเรื่องนั้นจริง เขาอาจจำผิดคน หรือแม้แต่เขาจำทุกอย่างได้ถูกต้อง แต่โลกในจินตนาการของเราไม่เหมือนกัน

ผมเอาเรื่องนั้นมาเล่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วใช้คำว่า ‘เขาคงต้องการคุยกับใครสักคน’ เพื่อสรุปความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งรุ่นพี่ที่ดูแลร้าน Bookmoby ในปัจจุบันได้มาคอมเมนต์เล่าประสบการณ์ตัวเอง ผมเลยได้รู้จักเขาจากอีกมุมมอง 

 “น่าจะคนเดียวกันนะ ลุงเป็นลูกค้าประจำที่ร้าน แกจะเรียกเรากับน้องที่เคาน์เตอร์ว่า ‘คุณหมอ’ แล้วพูดว่า ‘หมอ สวัสดีครับ ผมมารับยา’ (ชา 1 แก้ว) แกจะมาตั้งแต่ร้านเปิด บางทียังไม่ได้เสียบปลั๊กต้มน้ำร้อนเลย แกจ่ายเงินค่ายาไว้ก่อน แล้วไปนั่งคอยหน้าร้าน บางวันเรียกคนเดินผ่านมาเข้าร้าน บางวันนั่งสวดมนต์พึมพำคนเดียว ลูกค้าบางคนตกใจนิด ๆ แต่เราเห็นว่าแกไม่มีพิษมีภัย เลยไม่ได้ไปห้ามอะไร บางวันแกชวนคุยเยอะ เราฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ก็ดูแลเท่าที่ทำได้”

ในฐานะผู้ฟัง เราอาจมองว่า ‘คุยกับใครสักคน’ เป็นเรื่องที่ไม่ได้สำคัญอะไร ว่างก็คุย ไม่สนใจก็พยักหน้าเรื่อยเปื่อย หรือขี้เกียจก็ตัดบทเพื่อจบประโยค แต่ในฐานะผู้พูด เราอาจมองเรื่องเดียวกันในอีกมุมมองไปเลย แล้วยิ่งชัดเจนมากขึ้นหากวันนั้นกำลังหมดแรงไร้กำลังใจ 

ผมมองว่า ‘คุยกับใครสักคน’ เป็นช่วงเวลาที่เติมเต็มความว่างเปล่า ยิ่งคนรับฟังใส่ใจและไม่ตัดสินถูกผิด จากเคว้งคว้างจะค่อย ๆ มั่นคง จากอ่อนล้าจะค่อย ๆ มีเรี่ยวแรง แม้จะจดจำสิ่งที่พูดไม่ได้ทั้งหมด แต่สุดท้ายเราจะแยกย้ายกับคู่สนทนาด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย  

ตั้งแต่วันแรกจนครั้งล่าสุด เรื่องเล่าของเขากระจัดกระจาย เนื้อหาคืออะไรจำไม่เคยได้ แต่ผมจำแววตาและรอยยิ้มได้ชัดเจน เขาคงมีความสุขที่ได้คุยใครสักคน  

เช่นกัน แม้จะเพียงไม่กี่ครั้ง ผมรู้สึกดีที่ตัวเองได้ทำหน้าที่นั้น…

.

.

.

ติดตามบทความของ เพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 6

  • มิตรภาพที่ดีย่อมที่จะเกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยเพราะความจริงใจ.
    17 ก.ย 2562 เวลา 05.37 น.
  • Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
    ส่วนใหญ่ถ้าไม่คุ้นเคยหรือไม่รู้จักก็จะไม่คุยด้วย หรือบางทีแม้คนในครอบครัวก็ไม่ค่อยคุย บางครั้งแค่มีคนอยู่ด้วยใกล้ๆ ก็เพียงพอ
    17 ก.ย 2562 เวลา 02.37 น.
  • คนเริ่มพูดก็เริ่มโกหก เรื่องจริงนะ
    17 ก.ย 2562 เวลา 12.23 น.
  • NAS
    เป็นบทความที่ดีมากๆเลยคะ ทำให้เรารู้ว่าการคุยกับใครสักคนในบางเรื่อง มันก้ทำให้เราสบายใจขึ้นเยอะ เวบาที่เราต้องการคำปรึกษาหรือคำแนะนำบางอย่าง บางคนก้ให้เราได้ แต่บางคนแค่รับฟัง เราก็โอเคแล้ว
    18 ก.ย 2562 เวลา 01.11 น.
  • Liyunhoong
    เคยนั่งคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งนานเป็นชั่วโมงแบบนี้ ทั้งที่รู้ว่าเค้าผิดปกติทางจิต น้ำเสียงการพูดเบาเรียบชวนขนลุก และเล่าเรื่องไม่เชื่อมโยง มารู้ภายหลังจากเพื่อนเพราะโดนแซวว่าเก่งนะที่เราคุยกับคนบ้าได้ จริงสาเหตุจากเค้ามีสามีและลูกเสียชีวิตไปพร้อม ๆ กันเลยเกิดอาการช๊อคทางใจ จิตวิปลาส น่าสงสารมาก
    17 ก.ย 2562 เวลา 15.07 น.
ดูทั้งหมด