“มวยเด็ก” ยอมเจ็บตัวเพื่อหาเงิน! “สังเวียนผลประโยชน์” ที่นำมาซึ่ง “สังเวย” ชีวิต!
จากกรณีที่ ด.ช.อนุชา หรือ เล็ก ทาสะโก หรือ เพชรมงคล ป.พีณภัทร อายุ 13 ปี ถูกคู่ต่อสู้ชกหลับกลางอากาศหัวฟาดผืนผ้าใบอย่างแรงจนเสียชีวิต ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายถึงความเหมาะสมกับวงการ ‘มวยเด็ก’ ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งใน ‘วัฒนธรรม’ คู่สังคมไทยมาช้านาน
อย่างแรก คือเรื่องความปลอดภัยของเด็กที่ต้องมีการยกเครื่องกฏหมายกันครั้งใหญ่ ตั้งแต่เกณฑ์อายุ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังเสนอแก้ไข พ.ร.บ.กีฬามวย 2542 ให้ ครม.พิจารณาห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีชกมวย ถ้าอายุระหว่าง 13-15 ปีต้องใส่เครื่องป้องกัน
ซึ่งถ้ามองเบื้องต้น ก็ดูเหมือนว่าจะดีสำหรับอนาคตของเด็กๆ แต่ก็มีอีกหลายความคิดเห็นจากคนในวงการที่คัดค้านการแก้กฎหมายดังกล่าว โดยมีเหตุผลสำคัญคือ มองว่าจะเป็นการทำลายมนต์เสน่ห์บนผืนผ้าใบให้ลดน้อยลง
และยังมีอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ถึงจะฟังดูโหดร้าย แต่ก็เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ คือการขึ้นสังเวียนตั้งแต่เด็ก คือแหล่งรายได้สำคัญที่นักมวยรุ่นจิ๋วเอากลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้ง่ายที่สุด เพราะถ้าได้ลองเข้าไปคลุกคลีในอีเวนต์มวยเด็กเหล่านี้จริงๆ จะเห็นว่าเกือบจะ 100% คือเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อย และขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคมต่างจากเด็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวทั่วไปอยู่หลายเท่าตัว
อย่างแรกคือ เมื่อเติบโตมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อย พ่อแม่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนไม่มีเวลาเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด วิธีการที่ง่ายที่สุด ก็คือฝากลูกไว้ตามค่ายมวยตามชุมชนต่างๆ อย่างน้อยที่สุดก็มีคนช่วยดูแล แถมถ้าพอมีฝีมือ มีแววเข้าตาครูฝึก ก็อาจได้ขึ้นไปชกบนเวที เพื่อแลกกับ ‘ค่าขนม’ เล็กๆ น้อยๆ เรียกได้ว่ามีทั้งรายได้ ฝึกฝนระเบียบวินัย ได้ออกกำลังกาย ร่างกายแข็งแรง มองอย่างไรก็มีแต่ได้กับได้เห็นๆ
แต่ ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้กรอบคำว่า ‘มีแต่ได้กับได้’ นั้น คนที่ได้คือเด็กจริงๆ หรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่คำพูดสวยหรู เพื่อความสะใจและโอกาสสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเหล่าผู้ใหญ่ที่ยืนเชียร์อยู่ข้างสังเวียนกันแน่
เพราะเอาจริงๆ รายได้ที่เด็กๆ ขึ้นชกแต่ละครั้ง นั้นมีตั้งแต่ต่ำที่สุดในระดับไม่กี่สิบบาท โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ อายุไม่ถึง 10 ขวบ ที่จะถูกคำพูดทำนองว่า “ยังเด็กอยู่ ขึ้นไปชกขำๆ จะเอาเงินไปทำไมเยอะแยะ” แต่เมื่อขึ้นไปอยู่บนสังเวียนจริงๆ ขึ้นชื่อว่า ‘การต่อสู้’ ถึงจะเป็นเด็กก็พกความจริงจัง และแบกศักดิ์ศรีลูกผู้ชายที่ไม่อยากยอมแพ้ขึ้นไปทั้งนั้น ยิ่งมีเสียงเชียร์จากข้างล่างกระตุ้นเร้ามากเท่าไหร่ นักกีฬาบนเวทีก็ยิ่งฮึกเหิมจนอาจลืมผลเสียที่ตามมาได้ง่ายๆ
ความเสียหายจากหมัด เท้า เข่าศอก ของคู่ต่อสู้ ที่อาจเป็นเพียงการสะกิดสำหรับผู้ใหญ่ แต่อย่าลืมว่า ร่างกายและสมองของเด็กๆ เหล่านั้นก็ยังอยู่ในระยะที่ยังไม่เติบโตเต็มที่ การถูกกระทบกระทั่งซ้ำๆ แม้เพียงเบาๆ ก็สามารถสะสมความบอบช้ำจนส่งผลกับการพัฒนาของร่างกายได้ในระยะยาว
พอลงจากเวที รายได้ที่ถึงแม้จะน้อยนิด แต่ถ้าเทียบกับการไปทำงานอย่างอื่น ที่เอาจริงๆ ก็มีไม่กี่ที่นักหรอก ที่จะยอมรับเด็กๆ เหล่านี้เข้าทำงานจริงๆ เพราะฉะนั้นการยอมเจ็บตัวนิดๆ หน่อยๆ จึงเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า เพื่อหาเงินทุนการศึกษา หรือบางครั้งก็อาจเป็น ‘ค่าหวย’ ‘ค่าขวด’ ของพ่อแม่ หรือ ‘ค่านมน้อง’ ที่นอนรออยู่เบื้องหลังได้ไม่ยาก
ทำให้เราถึงเห็นสถิติน่าตกใจ ของ ‘น้องเล็ก’ ที่มีประวัติการชกเริ่มต้นตั้งแต่ 8 ขวบ จนกระทั่งอายุ 13 ปี กับสังเวียนครั้งสุดท้าย นักชกที่ผู้คนสรรเสริญกันว่าเป็น ‘กำปั้นกตัญญู’ ก็ต้องขึ้นชกไปมากกว่า 170 ไฟต์ เท่ากับว่าระยะเวลาเพียง 5 ปี น้องเล็กต้องขึ้นยืนหยัดรับหมัด เท้า เข่า ศอก ปีละประมาณ 35 ครั้ง หรือ เดือนละ 3 ครั้ง หรือ 10 วันต่อหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย ซึ่งขัดกับข้อบังคับที่ว่า นักมวยต้องพักอย่างน้อย 21 วันถึงจะขึ้นชกครั้งต่อไปได้ อย่างสิ้นเชิง
ยังไม่นับรวมความอยุติธรรม ที่มักจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเงื่อนไขในการ ‘ต่อรอง’ ของเซียนพนัน ทำให้เราจะเห็นการ ‘แบกน้ำหนัก’ หรือชกข้ามรุ่นของวงการมวยเด็กอยู่เสมอ อย่างกรณีน้องเล็กที่อายุเพียง 13 ปี แต่ต้องขึ้นชกกับคนที่อายุ 15 ปีที่กระดูกมวยแข็งแรงกว่า
และยังไม่ต้องพูดไปถึงการบังคับให้ขึ้นไปแพ้บนสังเวียน ที่มักพบเห็นได้ในอีเวนต์มวย ที่มีนักกีฬาเป็นลูกของผู้อิทธิพลในละแวกนั้นๆ ที่เชิงมวยอาจไม่แข็งเท่าไหร่ แต่อาศัยบารมีของผู้ปกครอง ทำให้โปรโมเตอร์ ต้องจัดหาเด็กๆ ด้อยโอกาส เพื่อขึ้นไปชก โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามชนะเป็นอันขาด เท่ากับว่าสภาพของเด็กคนนั้น ก็แทบไม่ต่างอะไรกับการถูกจ้างเพื่อขั้นไปเป็นกระสอบทรายให้ถูกซ้อมเล่น เพื่อแลกกับค่าแรงไม่กี่บาทเพียงเท่านั้น
เพราะฉะนั้นหากมองให้ลึกลงไป หากจะแก้ปัญหา ‘มวยเด็ก’ ที่เกิดขึ้นให้ถูกจุดจริงๆ การแก้เฉพาะกฎหมายและข้อบังคับเบื้องต้น อาจจะยังไม่ใช่การ ‘เกาถูกที่คัน’ เท่าไหร่นัก เพราะตราบใดก็ตามที่เรายังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม มีเงื่อนไขความสนุกสนานและความสะใจของบรรดา ‘เซียนพนันรุ่นใหญ่’ ที่คอยควบคุมและบงการเม็ดเงินและความบันเทิง โดยมี ‘ชีวิต’ และ ‘อนาคต’ ของนักมวยเด็ก ที่ต้องขึ้นไปฟาดลำแข้งเพื่อความอยู่รอด
และหากมุ่งแต่เพียงแก้ปัญหาที่ตัวกฎหมายอันเต็มไปด้วยช่องโหว่ โดย ‘คนใน’ ที่อยู่ในวงจรธุรกิจ ‘มวยเด็ก’ ยังไม่ได้แก้ความคิดที่มองเห็นนักชกรุ่นจิ๋วเป็นเพียงเครื่องมือตอบสนองความสะใจ เราก็อาจต้องทนเห็นข่าว ‘กำปั้นยอดกตัญญู’ ที่พลีชีพตัวเองเพื่อแลกกับเม็ดเงินเพียงไม่กี่บาท ออกมาให้เห็นกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น
โอเคล่ะ! ว่าธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับนักชกรุ่นจิ๋วได้จริงๆ แถมยังเป็นโอกาสสำคัญในการก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยมืออาชีพในอนาคต แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบ ‘น้องเล็ก’ ขึ้นมาอีก มีบ้างใครบ้างไหมที่จะสามารถ ‘รับผิดชอบ’ ชีวิตของเขา รวมทั้งอนาคตของคนในครอบครัวได้จริงๆ
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/content/1422351
https://www.bbc.com/thai/thailand-46218196
ภาพประกอบ
https://www.voicetv.co.th/read/HynJdg3p7
ความเห็น 39
Boochayan
ผู้จัดกับเซียนมวยเขารักวัฒนธรรมกีฬามวยไทย โดยนำลูกมาฝึกและขึ้นชกตั้งยังเล็ก แล้วให้เซียนมวยคนอื่นวางเดิมพันด้วยก็ดี
24 พ.ย. 2561 เวลา 16.28 น.
Nora_Sobeereen
😔
22 พ.ย. 2561 เวลา 14.47 น.
Somboon Uechanya
ชก3ครั้งต่อ2เดือนก็แย่แล้วครับ
21 พ.ย. 2561 เวลา 06.40 น.
ดีกว่าจะไปติดยาเสพติดตายกีฬาครับอย่างมองเป็นอย่างอื่น
21 พ.ย. 2561 เวลา 01.43 น.
วัวหายล้อมคอก
21 พ.ย. 2561 เวลา 01.41 น.
ดูทั้งหมด