โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมเปรียบ "หม้อ" เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิง หรือแท้จริงแฝงนัยยะการกดทับทางเพศ?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 ก.ย 2566 เวลา 02.42 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2566 เวลา 17.07 น.
ภาพปก - หม้อ

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ในศัพท์สแลงอย่าง “ตีหม้อ” ที่หมายถึง ผู้ชายไปซื้อบริการทางเพศผู้หญิง / ไปมีเพศสัมพันธ์กับ ผู้หญิง และ“หน้าหม้อ” ที่หมายถึง ผู้ชายเจ้าชู้/หื่นกาม (พจนานุกรมฉบับของมานิต มานิตเจริญ หมายถึง ชำเราหญิง) เหตุใดคำว่า “หม้อ” จึงถูกนำมาเปรียบเป็นสัญลักษณ์ว่าหมายถึงผู้หญิง

หม้อ เป็นภาชนะที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกอารยธรรมทั่วโลก ในพื้นที่ประเทศไทยก็ปรากฏหลักฐานโบราณวัตถุประเภทหม้อจำนวนมาก โดยหน้าที่ของหม้อนับแต่อดีตสืบถึงทุกวันนี้คือ การหุงต้มหรือใส่สิ่งของ ดังนั้น หม้อจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้หม้ออยู่คู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์คือ เป็นภาชนะที่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยสี่ในด้านอาหารการกิน เป็นภาชนะที่ขาดเสียไม่ได้ในการประกอบอาหาร

ในบทความ“หม้อ ในมิติทางวัฒนธรรมไทย : การศึกษาจากวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก (วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) ศึกษาเรื่องราวของหม้อที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยในมิติต่าง ๆ ผ่านวรรณคดีสมัยต้นรัตนโกสินทร์จำนวน 10 เรื่อง ชี้ให้เห็นหลากหลายเรื่องราวของหม้อได้อย่างน่าสนใจ

ในประเด็นการนำหม้อมาเปรียบเป็นสัญลักษณ์ว่าหมายถึง ผู้หญิง นั้น ปฐมพงษ์ สุขเล็ก กล่าวว่า เมื่อคนสมัยก่อนเห็นว่าหม้อและฝาละมี (ที่ปิดหม้อดินเผารูปร่างคล้ายฝาชี มีปุ่มสําหรับจับอยู่ด้านบน) เป็นสิ่งที่คู่กันพบเห็นได้อย่างทั่วไปในบ้านเรือน สิ่งของทั้งสองอย่างนี้จึงถูกนํามาเปรียบเป็นหญิงและชายซึ่งเป็นคู่กัน การกล่าวถึงหม้อและฝาละมีที่มีนัยความเปรียบระหว่างผู้ชายและผู้หญิง”

ดังที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่องนิราศสุพรรณ ดังนี้

ถึงโคกหม้อหม้ออะไรที่ไหนนี่

ฝาละมีครบหม้อหรือหลอหลง

ถ้าขาดฝาก็จะหามาปิดลง

ให้สมทรงหม้อหนูเป็นคู่กัน

ถ้าหม้อยอมพร้อมใจจะให้ปิด

ก็ไม่คิดแรมราจนอาสัญ

ถึงยากจนจะช่วยปิดให้มิดควัน

*หม้อจะหันไปข้างไหนจะไปตาม*

จากนิราศสุพรรณข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการนำฝาละมีหรือฝาปิดหม้อเป็นสัญลักษณ์แทนผู้ชาย ส่วนหม้อเป็นสัญลักษณ์แทนผู้หญิง และสื่อให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่พึงคู่กันด้วยลีลาการเกี้ยวพาราสีของผู้ชาย หากผู้หญิงยอมรับรัก ผู้ชายก็พร้อมที่จะดูแลไม่ทอดทิ้ง จะอยู่เคียงคู่กันเสมอ

ปฐมพงษ์ สุขเล็ก อธิบายว่า “การใช้หม้อเป็นนัยแทนผู้หญิงอาจพิจารณาจากด้านรูปทรงของหม้อที่คล้ายกับสะโพกหรือบริเวณลำตัวผู้หญิงที่มีความคอดและผายออกเป็นกลมมน หรือลักษณะของหม้อที่อูมอวบอาจเป็นลักษณะแทนเครื่องเพศของสตรีในทัศนะของกวี และอาจพิจารณาด้านประโยชน์ใช้สอยของหม้อที่เป็นภาชนะสำหรับรองรับการใส่สิ่งต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพทางสังคมของเพศหญิงสมัยนั้นที่มีสถานภาพรองรับอำนาจจากเพศชาย

การที่หม้อได้รับการเปรียบเทียบให้เป็นฝ่ายหญิง สื่อให้เห็นถึงผู้หญิงต้องเป็นผู้รองรับอำนาจจากผู้ชาย สอดคล้องกับการแทนฝ่ายชายด้วยฝาละมีที่ทำหน้าที่ปิดหม้อ อยู่ในตำแหน่งที่อยู่สูงกว่าหม้อ ทัศนะเรื่องผู้หญิงที่ต้องรองรับอำนาจจากผู้ชายจึงมีความสัมพันธ์กับแนวคิดที่ให้อำนาจความเป็นใหญ่แก่ฝ่ายชายส่งผลให้ฝ่ายหญิงมีสถานภาพเป็นรอง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในเวลานั้น”

จากศึกษาสถานภาพสตรีในวรรณกรรมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ของ บุญยงค์ เกศเทศ อธิบายว่า “กฎเกณฑ์ของสังคมกีดกันหญิง ไม่เปิดโอกาสให้หญิงมีบทบาทอย่างเต็มที่ ตรงข้ามกับชายที่สังคมเปิดช่องทางให้กระทำได้ทุกกรณี สถานภาพของสตรีในด้านสังคมจึงด้อยกว่าชาย” สอดคล้องกับการศึกษาสภาพสังคมและวัฒนธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์จากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนของ วรนันท์ อักษรพงศ์ อธิบายว่า “สภาพสังคมไม่เปิดโอกาสให้หญิงที่มีความรู้ได้แสดงความสามารถมากนัก”

ปฐมพงษ์ สุขเล็ก สรุปว่า “การใช้หม้อและฝาละมีเป็นนัยเปรียบเทียบหญิงและชาย จึงแสดงให้เห็นถึงไหวพริบของกวีที่นำหม้อและฝาละมีมาถ่ายทอดความคิดอย่างมีวรรณศิลป์ สะท้อนให้เห็นถึงทัศนะและสภาพสังคมในอดีตที่มีความเชื่อมโยงกับหม้อที่ใช้หุงหาอาหารในชีวิตประจำวัน”

สรุปแล้ว เหตุที่ หม้อ ถูกนำมาเปรียบเป็นสัญลักษณ์ว่าหมายถึง ผู้หญิง เนื่องจากหม้อและฝาละมีซึ่งเป็นของคู่กัน เปรียบได้กับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่ผู้ชายต้องอยู่เคียงคู่กับ ผู้หญิง คำนี้คงใช้กันเรื่อยมา กระทั่งในยุคหลังได้นำไปใช้จนกลายเป็นศัพท์สแลงอย่างคำว่า “ตีหม้อ” และ “หน้าหม้อ” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0