โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ภาษี 1,916,088,000,000 บาท เงินหายไปไหนหมด! ทำไม ปชช. ต้องระดมทุนบริจาคกันเอง?

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 31 ต.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

ภาษี 1,916,088,000,000 บาทเงินหายไปไหนหมด! ทำไม ปชช. ต้องระดมทุนบริจาคกันเอง?

ใช้เวลาไม่กี่วัน ยอดบริจาคสมทบทุนเพื่อการวิจัยยารักษาโรคมะเร็งของกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯที่ชาวไทยร่วมกันโอนเงินช่วยเหลือ ก็ทะยานสู่ตัวเลข 100 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย

แต่จากข้อมูลของคุณหมอ กว่าโครงการนี้จะสำเร็จจนถึงขั้นสุดท้าย จนได้ออกมาเป็นยารักษาโรคร้ายที่เข้าถึงได้ง่ายตามเป้าหมายของทีมวิจัย ก็ยังต้องใช้เงินอีกมากถึง 1,500 ล้านบาท!

เห็นตัวเลขแล้วก็รีบเก็บพลุที่เตรียมจุดฉลองแทบไม่ทัน…

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นพลังการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยก็จริง แต่คำถามที่น่าคิดต่อคือ ทำไมปัญหาที่เกี่ยวกับโครงสร้างระบบสาธารณสุขของประเทศทั้งหลายแหล่ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยทางการแพทย์ที่ทำให้คนไทยสุขภาพดีขึ้น ไปจนถึงการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ทั้งหลายแหล่ วิธีการส่วนใหญ่ที่เห็น มักชูการ ‘บริจาค’ ขึ้นมาเพื่อหาทุนไปแก้ไขปัญหาทั้งสิ้น

ตั้งแต่รายการพิเศษทางโทรทัศน์ หาดารามานั่งรับสายคนที่โทรมาบริจาค ตั้งกล่องรับบริจาค ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแบบทั่วไป จนถึงการ ‘วิ่ง’ ใต้จรดเหนือของ "ตูน บอดี้แสลม"ซึ่งระดมเงินบริจาคมาได้ถึง 1,400 ล้านบาท

หรือพี่ตูนต้องวิ่งอีกรอบเพื่อสู้มะเร็งกันนะ?

ขอบอกก่อนว่าเราไม่ได้คิดว่าการบริจาคเป็นเรื่องเสียหาย เพราะการระดมทุนที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด คือการร่วมใจกันคนละนิดคนละหน่อยจากพวกเราทุกคน และเป็นเรื่องปกติที่กองทุนวิจัยทางการแพทย์หลายๆ แห่งในโลกก็ทำกัน

แต่หนึ่งตัวแปรสำคัญที่ควรเป็นเจ้าภาพสนับสนุนงานวิจัย ส่งเสริมสุขภาพคนไทยในอนาคต คือ รัฐ!

การจัดการเงินภาษีที่เหมาะสมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เพิ่งประกาศใช้ไป หนึ่งในนั้นคือการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ซึ่งผู้รับหน้าที่เสนอของบประมาณจากรัฐ คือกระทรวงสาธารณสุข

ถ้าลองไปดูงบประมาณจัดสรรในปี 2562 ที่หน่วยงานรัฐเริ่มจำแนกงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ จากชิ้นเค้กมูลค่ากว่า 136,000 ล้านบาทที่กระทรวงสาธารณสุขได้มาในปีงบประมาณหน้า เชื่อหรือไม่ว่ามีเงินที่จัดสรรเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมเพียง 184 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.14% ของงบก้อนใหญ่เท่านั้น!

แต่ถ้าเราดูงบประมาณปี 2561 เงินที่จัดสรรเพื่องานวิจัยด้านสาธารณสุขจะอยู่ที่ 318 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าในปีเดียว รัฐตัดงบที่ควรใช้ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสุขภาพของคนไทยไปถึงเกือบครึ่ง!

จากที่มีน้อยอยู่แล้ว (และต้องแบ่งให้กับงานวิจัยอีกหลายฉบับตลอดปี) ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เทียบกับอัตราการสะสมบุญ สมทบยอดบริจาคในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา คิดเล่นๆ ดูแล้วเราอาจได้กองทุนสนับสนุนงานวิจัยทางการแพทย์แบบไม่ต้องพึ่งงบจากรัฐที่มียอดเงินเท่ากัน ในเวลาไม่กี่วัน

หันไปดูตัวเลขเงินลงทุนวิจัยเพื่อสาธารณสุขของพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา กลับมีทิศทางที่ดีกว่า เพราะนับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2559 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นเกือบ 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.77% ภายในเวลา 3 ปี

เราอาจจะสู้กับเขาในแง่เม็ดเงินไม่ได้ แต่การเติบโตของเงินที่รัฐลงทุนด้านการวิจัยก็สะท้อนให้เห็นการมองอนาคตยุทธศาสตร์ชาติอเมริกาได้เหมือนกันว่าเขาคิดอะไรอยู่

ในขณะที่สหรัฐฯ เพิ่มตัวเลขการสนับสนุนมากขึ้น แต่ไทยเรากลับลดมันลงเกือบครึ่ง 

น่าสะท้อนใจ และน่าคิดว่าทำไมการสนับสนุนจากรัฐถึงไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็น

"รศ. ยุทธพร อิสรชัย" รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การจัดสรรงบประมาณนยุคหลังมีการตั้งงบก้อนที่เรียกว่า ‘งบกลาง’ ไว้เป็นจำนวนมาก (ในปี 2561 ตั้งไว้สูงถึง 390,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นเงินสำหรับใช้ยามจำเป็นและไม่อาจคาดการณ์ได้ ซึ่งมักจะหมดไปกับสวัสดิการและเงินเดือนข้าราชการเป็นส่วนใหญ่

เป็นเหตุให้งบกลางที่ว่า ถูกใช้ไปกับกระทรวงใหญ่ๆ เช่นกระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีจำนวนข้าราชการเยอะ ขนาดองค์กรใหญ่ แต่ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณกลางให้ไปตามหน่วยงานอื่นๆ ทำให้หน่วยงานย่อยในกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมารับบริจาคกันอยู่เรื่อยๆ

ด้วยความเชื่อที่ว่า การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คือการให้ที่ยิ่งใหญ่ (พอๆ กับบุญที่ตัวเองได้รับ)

เมื่อความเชื่อมารวมกับการจัดสรรงบประมาณที่ไม่พอดีตามความต้องการ ทำให้โมเดล ‘รับบริจาค’ กลายเป็นที่พึ่งหลักของหน่วยงานด้านสุขภาพให้เราเปิดแอปพลิเคชั่นโอนเงินให้อยู่เรื่อยๆ 

โดยลืมถามไปว่า "แล้วรัฐล่ะทำอะไรอยู่"

 

ที่มาข้อมูล:

http://canceriec.md.chula.ac.th/support/

https://www.facebook.com/CUCancerIEC/

https://www.kaokonlakao.com/kao_project_detail.pdf

http://budget.parliament.go.th/

https://www.researchamerica.org

https://www.voicetv.co.th/read/530386

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0