ในขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้นจากการสื่อสารที่รวดเร็วและเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คน ทำให้เราคุยกับทุกคนบนโลกได้ รับรู้ข่าวสารได้รวดเร็วทันท่วงที
แต่เรากลับสื่อสารกับตัวเองได้น้อยและคุยกับคนข้างๆเราน้อยลง
แล้วความว่างเปล่าก็มาเยือนหัวใจผู้คนมากขึ้น จนหลายคนนิยามตัวเองว่า “คนเหงา”
จำนวนคนเหงาเริ่มเพิ่มมากขึ้นบนโลก จนเป็นวาระสำคัญของหลายประเทศในการเริ่มสำรวจจำนวนคนเหงา
เช่นในประเทศอังกฤษมีจำนวนคนเหงาประมาณ 9 ล้านคน
ประเทศอเมริกามีจำนวนคนเหงาคิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรในประเทศ
ล่าสุดคือประเทศไทยจากการสำรวจโดยวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยตลาดคนเหงาพบว่า
ประชากรในประเทศไทย 66.41 ล้านคน มีคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหากับความเหงาถึง 26.75 ล้านคน
โดยส่วนมากเป็นกลุ่มวัยเรียน วันทำงาน ( แสดงว่าจำนวนและพฤติกรรมการบริโภคของคนกลุ่มนี้มีมากพอที่จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ)
สิ่งที่ทำให้รู้สึกสนใจอยากเขียนเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมีข้อมูลจากการวิจัยการตลาดของคนเหงาเปิดเผยว่า
ความเหงามีความสัมพันธ์แปรผกผันกับรายได้ *รายได้มากเหงาน้อย รายได้น้อยเหงามาก *
โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท
ด้วยเหตุผลว่า เป็นเพราะคนมีรายได้น้อยไม่มีเงินพอที่จะทำกิจกรรมคลายเหงา เช่น ไปเที่ยว ชอปปิง
จากข้อมูลข้างต้นจึงอดที่จะนั่งย้อนไปมองในวัยเยาว์ที่ยังไม่มีเงินเดือน
และเหลียวมองผู้คนรอบข้างที่เค้ามีรายได้ไม่ถึงหมื่นห้าแต่ไม่ได้รู้สึกว่าความเหงาคือปัญหาไม่ได้
แสดงว่าเรายังมีวิธีอยู่กับความเหงาโดยที่เราไม่ต้องเสียเงินในกระเป๋าอยู่
แต่เราอาจจะต้องต้องทำความเข้าใจความรู้สึกเหงา
เพื่อให้เราสามารถดูแลและใช้ประโยชน์จากความรู้สึกนี้ได้ดีขึ้น
เรามาค่อยๆทำความรู้จักความเหงาไปพร้อมกันนะคะ
ความเหงาคืออะไร? ความเหงาเป็นความรู้สึกที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน แต่มีอิทธิพลต่อชีวิตเราแตกต่างกัน
บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ บางคนมองว่าความเหงาคืออุปสรรค
บางคนมองว่าเป็นช่วงเวลาของการสะสมพลังงาน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน
แต่ลึกๆแล้วภายใต้ความเหงามักมีความรู้สึกอ้างว้าง และโดดเดี่ยวซ่อนอยู่
ความเหงาจึงเป็นเหมือนรสนิยมเฉพาะบุคคล
*ดังนั้นการที่เราเหงาไม่สำคัญเท่าเรามีทัศนคติอย่างไรต่อความเหงา *
ความเหงาไม่ได้ขึ้นกับเรื่องราว แต่ขึ้นกับการให้ความหมาย :
เช่น การที่เราต้องอยู่คนเดียวในบ้าน เราอาจจะรู้สึกว่าให้คะแนนความเหงาระดับ 10 เต็ม 10
เพราะเราให้ความหมายว่าคนในบ้านไม่ใส่ใจ ทอดทิ้ง ไม่เห็นความสำคัญ
เราอาจเคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนในวัยเด็กตอนที่ถูกปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียว
แต่ความรู้สึกนี้กลับติดตามมาในปัจจุบันทั้งที่เราไม่ใช่เด็กน้อยคนเดิมแล้ว
ในขณะที่บางคนอาจรู้สึกเหงา 5 เต็ม 10 เพราะให้ความหมายว่าเป็นช่วงเวลาที่ได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่
*ความเหงานั้นมีระดับและวิธีการดูแล : *
เหงาเล็กน้อย: ความเหงาระดับนี้มักมาในรูปแบบของความคิดถึง ความเบื่อ สภาวะขณะนั้น
เราสามารถดูแลและใช้ประโยชน์จากความเหงาได้ด้วยการระลึกถึงคนที่คิดถึงแล้วสื่อสาร
เช่น โทรหาพ่อแม่ที่อาจจะกำลังนั่งเหงาและคิดถึงเราเช่นกัน
การกลับไปทำงานอดิเรกในวัยเด็ก ออกกำลังกาย
หรือการหยิบงานที่คั่งค้างมาสะสางด้วยความตั้งใจ
*เหงาระดับกลาง : * ความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยวเริ่มผุดขึ้นมาแบบอัตโนมัติทุกวัน วันละหลายรอบ
เราดูแลความเหงาระดับนี้การเรียนรู้ตัวเองผ่านความเหงา
โดยใช้เวลาทองในการกลับมาอยู่กับตัวเองแล้วตอบคำถามของความเหงา
เช่น อะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกเหงา ?
อะไรบ้างที่จะทำให้ความเหงาหายไป ?
ใครบ้างที่เราอยากให้เค้ารับรู้ว่าเราเหงา?
มีอะไรบ้างที่เราอยากจะเล่าหากมีใครสักคนรับฟัง?
เราอยากให้คนที่เรารักและให้ความสำคัญ เข้าใจเราว่าอย่างไร?
เรายังมีความปรารถนาอะไรบ้างในชีวิต?
หากเราค่อยๆทบทวนแล้วเขียนมันออกมาด้วยความอิสระ โดยไม่ได้แชร์ความเป็นตัวเองกับชีวิตของใคร
เราจะเห็นความคิด อารมณ์ และความปรารถนาของตัวเองชัดขึ้น สุดท้ายเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้น
รวมถึงการเริ่มมีเป้าหมายในชีวิตที่มาจากตัวเราเอง ไม่ใช่ความคาดหวังจากคนอื่นหรือการเปรียบเทียบ
เราจะพบว่าศิลปินที่มีชื่อเสียง หรือคนที่ประสบความสำเร็จหลายคนต่างใช้ช่วงเวลานี้ในการสร้างผลงานและรายได้
เช่น เจ.เค. โรว์ลิง ก็ใช้ช่วงเวลาที่ตกงาน ได้รับเพียงเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด
ถูกปฏิเสธในการให้ความช่วยเหลือจากคนรอบข้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอใช้ช่วงเวลาของความโดดเดี่ยวมานั่งเขียนนวนิยายก้องโลกอย่างแฮรี่พอตเตอร์ด้วยความมุ่งมั่น พลิกชีวิตให้สร้างชื่อเสียงและรายได้อันมหาศาลจนถึงปัจจุบัน
*เหงาขั้นสุด : * เหงาระดับนี้ อารมณ์ความเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้มักท่วมท้น
ยากในการถอยหลักกลับมาสังเกตและทบทวน การดูแลคือเหงาให้สุดแล้วหาตัวช่วย เช่น ใครสักคนที่รับฟัง นักให้คำปรึกษา หรือจิตแพทย์ (การไปพบจิตแพทย์ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องของคนป่วยแต่เป็นเรื่องของคนที่รู้จักดูแลตัวเอง) เพราะการจมดิ่งอยู่กับความเหงายาวนานจนเกินไปก็อาจนำพาเราไปสู้ภาวะซึมเศร้าได้
จากการเรียนรู้ระดับความเหงาและการอยู่กับความเหงาอย่างเป็นสุข เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เงินสักบาท
ในทางกลับกัน หากเราใช้เวลาแห่งความอิสระที่ความเหงาได้มอบให้ เราอาจได้ผลงานมากขึ้น ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญคือได้เห็นเป้าหมายในชีวิตชัดขึ้น นอกเหนือจากความสุขแล้ว ความเหงาอาจนำพาซึ่งรายได้ที่มากขึ้น แทนการวิ่งหนีความเหงาด้วยการไปใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขเพียงชั่วคราว
สำรวจใจว่าเราซึมเศร้าหรือเศร้าซึม
ไปพบจิตแพทย์ต้องทำอย่างไร และต้องเจออะไรบ้าง
การระงับความโกรธ
----------------------------------------------------------------------------
Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549
----------------------------------------------------------------------------
IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/
----------------------------------------------------------------------------
Website : http://www.earnpiyada.com/
ความเห็น 5
papon
ความเหงาเป็นอาการที่เกิดมากขึ้นกับคนยุคปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้คนใช้ชีวิตห่างจากธรรมชาติวิถีมากขึ้น จึงเกิดความแปลกแยก (social alienation) มากขึ้น ประการหนึ่งเกิดจาก การดิ้นรนทางเศรษฐกิจ หากมีเงิน ก็สามารถบรรเทาความเหงาด้วยเครื่องสร้างบรรยากาศแบบต่างๆ ได้ แต่ที่สุดระยะยาวต้องเข้าหาธรรมชาติให้มาก แล้วความแปลกแยกจะค่อยๆ ลดลง
16 พ.ค. 2562 เวลา 04.29 น.
𝕂ℍ𝕌ℕ𝕀𝕋𝔸
ถ้ามีเงินก้อหายเหงา
15 พ.ค. 2562 เวลา 12.44 น.
ภาวิไล456
เหงาค่ะ เจ็บอ่ะ สู้📌📍
15 พ.ค. 2562 เวลา 22.49 น.
การมีสติและเป็นตัวของตัวเอง เพียงแค่นี้ก็ช่วยทำให้ชีวิตมีความสุขได้เสมอ.
16 พ.ค. 2562 เวลา 05.37 น.
เรไร ยงวนิช.
ถ้ามีเงินไม่เหงาค่ะ
17 พ.ค. 2562 เวลา 05.18 น.
ดูทั้งหมด