“พ่อแม่ไม่เข้าใจ ต่อให้อธิบายมากแค่ไหนก็ตาม”
“พ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ไม่เข้าใจ ทำไงดี ?”
“ยิ่งโต ยิ่งไม่เข้าใจพ่อแม่ แก่ตัวไปเราจะพูดยากแบบนี้ไหม”
สารพัดคำถามจากคนเป็นลูกที่ทำยังไง พ่อแม่ก็ไม่เคยเข้าใจ กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจของลูก ๆ ที่ต้องออกมาหาที่ระบายให้หายเครียด บางคนขอคำปรึกษา บางคนขอแค่ระบาย บางคนถึงขั้นบอกว่าจะฆ่าตัวตายเพราะทนกดดันที่พ่อแม่ไม่เข้าใจไม่ได้ !
“ทำไมพ่อแม่ ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย ?”
ถ้ามองในมุมของลูกก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าอยู่ในมุมของพ่อแม่ อาจมีคำถามออกมาเหมือนกันว่า “ทำไมลูกไม่เข้าใจพ่อแม่เลย ทำไมลูกถึงทำแบบนี้” นั่นก็เพราะต่างคนต่างยืนอยู่แต่ในมุมของตัวเองก็เลยทำให้ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน
พ่อแม่คิดแต่ว่าลูกต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ใช้สิทธิ์ความเป็นพ่อแม่อย่างเต็มที่ที่จะบังคับให้ลูกเป็นไปในแบบที่ต้องการ ส่วนลูกก็ไม่ต้องการทำตามใคร มีความคิดตัวเอง จนกลายเป็นปัญหาที่พ่อแม่ไม่มีวันเข้าใจ
ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีใครสามารถเข้าใจอีกคนได้เลย ถ้าไม่รู้จักหัดมองในมุมของคนอื่นบ้าง เอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง อย่าลืมว่าคนเป็นพ่อแม่ก็เคยเป็นลูกใครสักคนมาก่อน และคนเป็นลูกก็ต้องเป็นพ่อแม่ของใครสักคนในสักวัน เพราะฉะนั้นลองคิดในมุมของกันและกันดูบ้าง ถึงตอนนั้นก็อาจจะเข้าใจกันและกันมากขึ้นก็ได้
พ่อแม่เป็นอย่างไรในมุมมองของลูก
ลูกทุกคนรับรู้ได้อยู่แล้วว่าพ่อแม่รักและหวังดีกับพวกเค้าเสมอ แต่บางทีความหวังดีที่ไม่มีที่มาที่ไป หรือบางครั้งก็อธิบายเหตุผลไม่ได้ก็ทำให้พวกเค้าอึดอัดอย่างบอกไม่ถูก หรือในกรณีที่อธิบายได้ แต่ฟังดูแล้วไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเอาเสียเลย ก็ทำให้คนเป็นลูกอยากจะต่อต้านเสียให้ได้
ของแบบนี้เป็นกันทุกครอบครัว ต่อให้รักกันมากแค่ไหน แต่ต่างคนต่างก็มีความคิดเป็นของตัวเอง ผ่านโลกมาในมุมมองของตัวเอง มองโลกในแบบของตัวเอง ย่อมไม่แปลกที่แต่ละคนก็มักจะมีเหตุผลเป็นของตัวเอง แถมเหตุผลเหล่านี้เมื่อถูกนำมาถกเถียงกันภายในครอบครัว คนเป็นลูกก็มักจะแพ้ด้วยข้อจำกัดที่ว่าอายุยังน้อย ประสบการณ์ยังน้อย ยังไม่ทันคน หรือเหตุผลต่าง ๆ นานาที่ทำให้ต้องจนแต้ม หมดทางอธิบาย
ทั้งที่ในสายตาของลูก พ่อแม่ก็ยังคงเป็นคนที่พวกเค้ารักและเคารพที่สุดนั่นแหละ พอไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องขัดแย้งกัน พ่อก็ยังเป็นพ่อ แม่ก็ยังเป็นแม่ที่ปกติที่สุด แต่พอถึงเวลาต้องอธิบาย ต้องใช้เหตุผล เด็ก ๆ จะมองว่าพ่อแม่ของตัวเองไม่มีเหตุผล พูดอะไรก็ไม่รับฟัง เอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ยึดมั่น ถือมั่นแต่ความเชื่อของตัวเอง จนบางครั้งก็ครอบงำมาถึงคนเป็นลูกที่ได้แต่เดินตาม หมดหนทางโต้แย้ง
สังเกตง่าย ๆ ว่าเราเป็นพ่อแม่บ้าอำนาจในสายตาของลูกหรือเปล่า มีสักครั้งไหมที่ปล่อยให้ลูกได้แสดงความคิดของตัวเองออกมาจริง ๆ โดยคนเป็นพ่อแม่ได้แต่ฟังมากกว่าพูด ถ้าลองนึกย้อนดูแล้วพบว่าไม่มีเลย แสดงว่าเราอาจเข้าข่ายพ่อแม่บ้าอำนาจไปแล้วก็ได้ และพ่อแม่ที่บ้าอำนาจแบบนี้ก็มักจะทำให้ครอบครัวร้อนเป็นไฟ เผาทั้งตัวเอง เผาทั้งลูก ๆ ให้ไม่มีความสุข
ในสายตาของพ่อแม่ ลูกก็ยังเป็นลูกอยู่วันยังค่ำ
สัญชาตญาณของพ่อแม่ก็คืออยากปกป้องลูกของตัวเองให้มากที่สุด ไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไหร่ ก็ยังคงอ่อนด้อยประสบการณ์ในสายตาของพ่อแม่เสมอ เพราะฉะนั้นต่อให้โตขนาดไหน ลูกก็ยังเป็นแค่เด็กที่ไม่ค่อยจะรู้เดียงสาอยู่วันยังค่ำ
ประกอบกับค่านิยมสมัยก่อนที่คนเป็นพ่อแม่ถูกปลูกฝังมาว่าต้องเชื่อฟัง ต้องเคารพบุพการี อย่าเถียงพ่อแม่เดี๋ยวปากจะเท่ารูเข็ม ห้ามตีพ่อแม่เดี๋ยวมือจะเท่าใบลาน เป็นความเชื่อที่สั่งสมกันมาแบบรุ่นต่อรุ่น ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแค่กุศโลบายของคนโบราณที่ไม่ต้องการให้เด็กเถียงหรือทำร้ายพ่อแม่ และเชื่อว่าพ่อแม่หลายคนก็เคยถูกสอนมาในลักษณะนี้กันทั้งนั้น
ความเชื่อเหล่านี้ที่สั่งสมมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วิธีคิด วิธีสอนลูกอาจไม่เข้ากับยุคสมัย เพราะขณะที่ลูกก้าวตามโลกไปในทุกวัน พ่อแม่กลับแช่ตัวเองอยู่ในอุโมงค์แห่งกาลเวลา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกันที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายแม้จะรักและอยากปกป้องลูกแค่ไหน แต่ก็ยังคงใช้วิธีสอน วิธีคิดแบบเดิม ๆ มีแต่คำสั่ง ไม่มีเหตุผล พอลูกไม่เข้าใจ หาคำอธิบายไม่ได้ ก็กลายเป็นการโต้แย้ง ถกเถียง และสรุปไปว่า “พ่อแม่ ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย”
อยากให้ลูกเข้าใจ พ่อแม่ต้องเข้าใจลูกก่อน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งคนเป็นพ่อแม่ก็เล่นใหญ่เล่นโตเกินไปจริง ๆ อาศัยคำว่า “เป็นลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่” “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” “นี่บ้านฉัน ฉันจะทำอะไรก็ได้” “ไม่เห็นด้วยก็ไปอยู่ที่อื่นซะ” และอีกสารพัดคำพูดที่มีไว้ทิ่มแทงลูกตัวเอง
ถ้าพ่อแม่ที่หมั่นงัดเอาคลังคำเหล่านี้ออกมาไว้ทำร้ายลูก บอกได้เลยว่าพ่อแม่เหล่านี้กำลังเป็นพ่อแม่ที่มีอัตตา (ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน) คือไม่ยอมฟังความคิดเห็นของใคร คิดว่าตัวเองถูกเสมอ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีใครในโลกนี้จะถูกต้องไปตลอดกาล การเป็นพ่อแม่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดถูก ทำถูก เพราะคุณวุฒิ วัยวุฒิหรือแม้กระทั่งวุฒิภาวะไม่ได้การันตีอะไรพวกนี้เลย
จริง ๆ แล้วคนเป็นลูกมีสิทธิ์ทุกประการที่จะแสดงความคิดเห็น อธิบาย หรือแม้กระทั่งต่อว่าพ่อแม่
มีคำถามจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ถามหลวงตามหาบัวว่า “พ่อทำไม่ดี ตีแม่ เล่นการพนัน กินเหล้า แล้วหนูด่าว่าพ่อให้ทำตัวให้ดีขึ้น หนูจะบาปไหม ปากจะเท่ารูเข็มไหม” คำถามนี้หลวงตามหาบัวตอบไว้ชัดเจนว่า “ไม่บาป พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความถูกต้อง การประพฤติตนในทางที่ถูกต้องไม่ถือว่าเป็นบาป เพราะพ่อแม่ลูกควรมีความรับผิดชอบร่วมกัน ใครผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด ต้องแนะนำ ตักเตือนกันได้ ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัว”
เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ส่งต่อกันมาว่า “เถียงพ่อแม่ ปากจะเท่ารูเข็ม” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป
คนเป็นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าคนทุกคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ต่อให้เป็นลูกที่ให้กำเนิด ที่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กจนโต ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นเจ้าของชีวิตของเขา ลูกมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในชีวิตของตัวเอง ในทางที่ลูกเลือกเอง พ่อแม่ทำได้แค่แนะนำ ส่งเสริม และทำความเข้าใจเค้าในแบบที่เค้าเป็น ส่วนสุดท้ายแล้วเค้าจะมีชีวิตเป็นอย่างไร ก็อยู่ที่การตัดสินใจของเค้าเอง
อย่าหวังให้พ่อแม่เข้าใจ ถ้าไม่เคยนึกถึงมุมของพ่อแม่เลย
จริงอยู่ที่พ่อแม่บางบ้านก็เกินเยียวยา พูดก็แล้ว บอกก็แล้ว อธิบายก็แล้ว แต่ไม่เคยคิดจะฟัง คิดว่าตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว เอะอะก็ตะคอก ด่า ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกของลูก ทำให้ลูก ๆ หลายคนโอดครวญว่าพ่อแม่ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย
แต่รู้อะไรไหม..คนเรามักมองแต่ตัวเอง เอาแต่คิดเข้าข้างตัวเอง ถึงใครจะพูด จะบอกอะไร ใจเราก็ยังแย้งอยู่ตลอดว่าเราถูก เราทำดีที่สุดแล้ว อย่าว่าแต่พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจเราเลย ถามตัวเองก่อนว่าเคยคิดที่จะทำความเข้าใจพ่อแม่เราบ้างไหม เข้าใจไหมว่าทำไมเค้าถึงบ่น ทำไมเค้าถึงด่า ทำไมเค้าถึงเป็นแบบนี้
เอาจริง ๆ คนที่บ่นว่าพ่อแม่ไม่เคยเข้าใจ เคยเปิดใจนั่งคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวในครอบครัวไหมว่าพวกเราเดินมาจุดนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่ยอมเปิดใจ ไม่บอกว่าเสียใจ ไม่บอกว่าไม่ชอบอะไร ต่อให้เป็นพ่อแม่ก็ไม่มีวันรู้หรอกว่าลูกรู้สึกยังไง
ที่สำคัญเลยก็คือเราไม่มีทางเปลี่ยนพ่อแม่ตัวเองได้ เพราะขนาดความคิดตัวเราเองยังเปลี่ยนยากเลย ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้มีเพียงอย่างเดียวก็คือทำความเข้าใจเค้าให้มาก ๆ บางทีการทำใจ วางตัวเฉย ๆ ไว้อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็ได้ ในเมื่อมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิดก็แค่เฉย ๆ ไว้
สุดท้ายจงอย่าลืมว่าทุกคนต่างมีจุดยืนของตัวเอง เราเองก็มีของเรา พ่อแม่เค้าก็มีของเค้า..ยังไงความเข้าใจกันในครอบครัวก็สำคัญที่สุด
สรุปก็คือ ~ คนเราผ่านอะไรมาต่างกัน วิธีมองโลก วิธีใช้ชีวิตย่อมไม่เหมือนกัน ยิ่งทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลาย สิ่งที่ “ใช่” ในอดีต อาจ “ไม่ใช่” อีกต่อไปแล้วก็ได้ หรือสิ่งที่ “ใช่” สำหรับพ่อแม่ อาจ “ไม่ใช่” เลยสำหรับลูกก็ได้ ยังไงเราก็ยังเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก และลูกก็พร้อมที่จะเข้าใจพ่อแม่ แค่เปิดใจรับฟัง เข้าใจซึ่งกันและกัน คำว่า “ครอบครัว” ก็จะแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม ♡
ความเห็น 123
วิมลลักษณ์
BEST
พ่อแม่เลี้ยงมาแตเล็กแต่น้อย ทำเพื่อเราทุกอย่าง แต่พ่อแม่บอกอะไรเราจะไม่เชื่อไม่ฟัง คนอื่นบอกเราจะเชื่อจะฟังเขาจูงจมูกไปเราก็ไป สักวันอายุมากก็เป็น พ่อแม่จะรู้สึก ตอนนี้ย้งไม่รู้หรอกกาลเวลาจะสอนพวกหนูเอง
20 ก.ย 2563 เวลา 22.14 น.
A
BEST
สื่อแตกแยก เสนอเลอะเทอะ
20 ก.ย 2563 เวลา 23.04 น.
Bee
BEST
มันก็แตกต่างกันไปแต่ละครอบครัว สมัยนี้โยนโทรศัพท์ให้ลูก เอาสบายไว้ก่อน ร้องมาก็ให้เงิน อยากได้ก็ให้ ไม่สอนให้รู้จักความลำบาก เพราะไม่มีเวลา ทำแต่งาน พอเด็กไม่ได้ดั่งใจ เขาก็โมโห ให้ทำอะไรเขาก็จะทำยากเพราะพ่อแม่ทำให้หมด เราไม่เคยเห็นด้วยกับการติดโทรศัพท์ แต่อย่างว่า คนต้องทำงาน เขาไม่มีเวลา
20 ก.ย 2563 เวลา 23.30 น.
lek
ถ้าคนเขียนมีลูกก็ขอให้ลูกมันติดเพื่อนไม่เชื่อฟังด่ามันทุกๆวัน นะจ้ะ
เข้าใจลูกดีใช่ป่ะ
21 ก.ย 2563 เวลา 00.46 น.
ถุยยยยยย...เวรเอ๊ยยยยย
20 ก.ย 2563 เวลา 23.02 น.
ดูทั้งหมด