โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไขข้อข้องใจ..พ่อ-แม่เลี้ยงมา แต่ไม่ให้เงินพ่อแม่ อกตัญญูไหม

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 03 ม.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • เพื่อนตุ้ม

“ลูกไม่ได้ขอมาเกิดแต่ถูกพ่อ-แม่ทำให้เกิด จึงเป็นความรับผิดชอบที่ต้องเลี้ยงดูให้ดี” 

“การเลี้ยงดูลูก เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่พ่อ-แม่ต้องทำ”

ในฐานะคนเป็นลูกและยังไม่เคยเป็นแม่ ได้ยินแบบนี้ยังแสลงหูแทนบรรดาพ่อ-แม่ที่รัก ดูแล ประคมประหงมลูก ๆ มาเป็นอย่างดีเลย แล้วพ่อ-แม่ตัวจริงที่เลี้ยงมากับมือ ได้ยิน ได้อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไร

คำถามคือพ่อ-แม่มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูก ?

เปล่าเลย ! มันไม่ใช่หน้าที่ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่บอกว่า….

“คิดว่ามีลูกแล้ว มันมีความสุขมากกว่าเก่า มีคนที่เรารักมาก ๆ เพิ่มมาอีกคนนึง มองหน้าลูกแล้วเห็นความรัก ความเชื่อใจจากลูก ได้เห็นลูกเติบโตขึ้นทุกวัน มันบรรยายไม่ถูก แถมเวลามองหน้าสามีแล้วมันได้เห็นเค้าในอีกมุมนึง ในอีกบทบาทนึง มันภูมิใจและมีความสุขมาก”

“ได้รู้ว่าวัน ๆ นึงเราไม่ใช่ทำแค่ตัวเอง เราทำเพื่อลูก เพื่อสามี เพื่อครอบครัวที่อบอุ่น อนาคตเป็นไงไม่รู้ค่ะ รู้แค่ตอนนี้มีความสุข ถ้าให้เลือกตอนมีลูกกับไม่มีลูก ขอเลือกตอนมีลูกค่ะ มันคือความสุขที่หาไม่ได้จากที่ไหน”

“คนไม่มีลูก ไม่มีวันเข้าใจหรอกว่ามีลูกมันรู้สึกยังไง การจินตนาการไม่เหมือนของจริง เอาหลานมาเลี้ยงผมบอกให้ มันจะรู้สึกดีแค่ตอนเด็กแค่นั้น ถ้าเป็นลูกของเรา คุณไม่มีแม้แต่จะรังเกียจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำ คุณจะมีเป้าหมาย มีจุดหมายในชีวิต ทุกอย่างพร้อมมอบให้กับลูก เมื่อคุณมีลูก ชีวิตคุณจะไม่มีที่สิ้นสุด มีเรื่องราวให้ได้ทำตลอด”

นั่นก็แปลว่าเพราะ “รัก” ถึงดูแล ถึงเลี้ยงดูมาอย่างดี…

ขณะที่โลกนี้มีพ่อ-แม่ตั้งมากมายที่ไม่รัก ไม่ดูแลเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเอง ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ บางครอบครัวถึงขั้นตบตี ด่าทอ ลูกก็โตมาแบบบุฟเฟ่ต์ ปากกัดตีนถีบ หากินเอง ดูแลตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แปลกถ้าลูกจะไม่กตัญญู ไม่เลี้ยงดู และไม่สำนึกในบุญคุณ

ในที่นี้เราพูดกันถึงกรณีพ่อแม่เลี้ยงมา ส่งเสียให้เรียน เลี้ยงดูปูเสื่อตามที่อัตภาพของพ่อแม่จะเอื้ออำนวย แต่มีคำถามว่าถ้าโตแล้ว ทำงานแล้ว ไม่ให้เงินพ่อแม่ ถือว่าอกตัญญูไหม ?

ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจคำว่า “ความกตัญญู” ก่อน ความกตัญญูคือการรู้สึกสำนึกในบุญคุณ ด้วยการแสดงความเคารพ นับถือ เชื่อฟัง และช่วยเหลือในกิจการงานต่าง ๆ

คนเราถ้ามีความกตัญญูอยู่ในใจ เราจะเห็นคุณของคนที่เลี้ยงดูมา คนที่ไม่มีความกตัญญู จะนึกตรงนี้ไม่ออก อาจจะคิดแต่ว่าพ่อแม่รักสนุกจึงทำให้เกิดมา หรือเค้าเหงาก็เลยต้องมีลูก หรืออะไรก็ตาม คนแบบนี้คือคนที่ปัญญายังหยาบ ถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ก็ไม่มีวันที่คิดขึ้นมาได้

แต่คนมีความกตัญญูใจจะละเอียด สามารถตรองเห็นพระคุณของคนที่มีบุญคุณได้ ไม่เฉพาะแค่พ่อแม่ แต่รวมถึงครู-อาจารย์ คนอื่นที่เคยช่วยเหลือ ก็เห็นพระคุณได้อย่างชัดเจน เพราะไม่คิดแต่จากมุมของตัวเอง ใครที่เคยช่วยก็ไม่ได้นึกถึงคุณของเค้าแค่ตอนนั้น แต่ยังจำได้ขึ้นใจถึงคุณต่าง ๆ ที่เคยให้ ถึงจะเรียกว่าคนที่มีความกตัญญู

ทีนี้พอรู้สึกสำนึกในบุญคุณ จิตใจก็อยากตอบแทนเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีใครบอก ใครสอน หรือแสดงให้เห็น ของแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ ทว่าการตอบแทนของคนส่วนใหญ่กลับมองไปที่ “เงิน” เพียงอย่างเดียว ไม่ให้เงินก็เท่ากับไม่กตัญญู ทั้งที่ความจริงแล้วการให้เงินพ่อแม่เป็นอะไรที่ง่ายและฉาบฉวยที่สุดด้วยซ้ำ

ขอบคุณภาพจาก <a href=
@katemangostar | freepix.com" data-width="626" data-height="417">
ขอบคุณภาพจาก @katemangostar | freepix.com

มุมมองพ่อ-แม่..อยากได้อะไร

จริงไหม..ที่พ่อแม่ไม่ได้หวังอยากได้เงินของลูก

“เราก็มีลูกนะ แต่มีเพราะอยากมีเท่านั้นเลย อยากเป็นแม่ อยากเติมชีวิตตัวเอง เพราะงั้นใด ๆ ก็ตามที่ทุ่มเทให้ลูกคือ "ให้เปล่า" ในฐานะพ่อแม่เท่านั้น เราอยากมีลูกเอง เค้าไม่ได้ขอเราเกิด ถึงเวลาโตขึ้นก็ดูแลตัวเองให้ได้ก็พอแล้ว ชีวิตตัวเองก็ต้องดูแลเอง ถ้าลูกจะมาดูแลกันเพราะรักกันผูกพันกันก็ดี แต่ไม่ใช่ความคาดหวังว่าลูกต้องเลี้ยงตอบแทน”

“บางคนเห็นเงินสำคัญที่สุด พอคิดถึงเรื่องเลี้ยงพ่อแม่ก็คิดถึงเงินก่อนเลย พ่อแม่จะมาเอาเงินฉัน ! บางทีพ่อแม่อาจจะต้องการแค่การดูแลเอาใจใส่ พาเขาไปหาหมอบ้าง ไปเยี่ยมบ้าง พาไปกินข้าวบ้าง มันไม่ได้ใช้เงินเยอะแยะ ไปเที่ยวกับเพื่อนใช้เงินเยอะกว่านี้อีกมั้ง เป็นคนรุ่นใหม่ก็เลี้ยงดูพ่อแม่ได้นะ ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับยุคสมัยเลย”

คำพูดของพ่อแม่เดี๋ยวนี้ที่ไม่ได้หวังจะให้ลูกเลี้ยงดูอีกต่อไป

ตรงกันข้ามกับค่านิยมสมัยก่อนที่พ่อแม่จะหวังพึ่งลูก โดยมีความคิดฝังหัวว่าเมื่อให้กำเนิดและเลี้ยงดูมา ก็อยากให้ลูกตอบสนองในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ หรือบางครอบครัวคนเป็นพ่อแม่ก็แค่ให้กำเนิดและใช้คำว่าบุญคุณที่ทำให้ได้เกิดมาเพื่อตักตวงทุกอย่างจากคนที่เป็นลูก ค่านิยมเหล่านี้กลายเป็นเครื่องกำหนดว่าลูกจะต้องทำตัวอย่างไร โตมาแล้ว ทำงานได้แล้ว ต้องให้เงินพ่อแม่ จนทุกคนในสังคมเข้าใจว่า “เงิน” คือเครื่องพิสูจน์ความกตัญญู

ปัจจุบันแม้ค่านิยมแบบนี้จะยังคงหลงเหลืออยู่ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่เลิกคาดหวังสิ่งเหล่านี้จากบรรดาลูก ๆ แล้ว แสดงให้เห็นว่าความกตัญญูค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบไป จากการต้องให้เงิน กลายเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะนามธรรม แต่มีคุณค่ามากกว่าเงิน

ขอบคุณภาพจาก <a href=
@katemangostar | freepix.com" data-width="626" data-height="417">
ขอบคุณภาพจาก @katemangostar | freepix.com

เมื่อเงินไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ความกตัญญู

คำถามก็คือ เมื่อไม่ให้เงิน แล้วเราสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ที่รักเราอย่างไร

อย่างที่บอกว่าสำหรับพ่อแม่แล้ว เค้าเองก็ไม่ได้ต้องการเงินจากเราหรอก เพราะบางสิ่งบางอย่างก็มีคุณค่ามากกว่า “เงิน” และหายากกว่าเงินซะอีก เช่น การจะทำอย่างไรให้พ่อแม่มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ นี่สิถึงจะเป็นโจทย์ที่สำคัญกว่า ซึ่งนอกจากเงินแล้ว ลองทบทวนดูสิว่าได้ทำสิ่งเหล่านี้เพื่อคนที่รักเราบ้างหรือเปล่า

1. เข้าใจธรรมชาติของพ่อแม่

นอกจากเข้าใจนิสัยที่ติดตัวมาของพ่อแม่ตัวเองแล้ว ยังต้องเข้าใจธรรมชาติของคนแก่ด้วย เพราะยิ่งอายุเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความเป็นเด็กมากขึ้นเท่านั้น ความขี้น้อยใจและการเรียกร้องความสนใจเป็นสองอย่างที่บรรดาลูก ๆ ต้องเจอแน่นอน ขอให้เตรียมใจไว้เลย ทางที่ดีคือพยายามทำความเข้าใจพ่อแม่ให้มากที่สุดว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการต้องการความรักจากเราเท่านั้น

2. แสดงความรัก

เมื่อพ่อแม่ต้องการความรัก ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ การที่เราแสดงความรักออกมา ซึ่งก็หนีไม่พ้นการบอกรักและการสัมผัสกัน อย่างการกอดหรือการหอม แต่จะให้คนที่ไม่เคยกอด ไม่เคยหอมพ่อแม่เลยมาแสดงความรักกันแบบนี้ตอนแก่ก็คงเป็นเรื่องยาก ลองเริ่มจากการสัมผัสบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็แสดงถึงความรักได้ดีไม่แพ้กัน เช่น จูงมือ ช่วยพยุง หรือกอดคอกันบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ขนาดแฟนที่คบกันมาไม่นานยังทำได้แบบไม่เคอะเขินเลย กับพ่อแม่ตัวเองมีหรือจะทำไม่ได้

3. เอาใจใส่บทสนทนาของพ่อแม่บ้าง

พูดกันตามตรงพอเราโตขึ้น เราจะฟังพ่อแม่น้อยลง คำพูดบางคำของพ่อแม่ดูเหมือนหลุดออกมาจากโลกที่เราไม่รู้จัก ความคิดก็ไม่ตรงกัน ทุกอย่างตรงข้ามกันอย่างร้ายแรง แต่รู้ไหม..การมีใครสักคนตั้งใจฟังในสิ่งที่เราพูด มันมีความสุขมากเลยนะ แค่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ เราคงให้พ่อแม่ได้แหละ

ลองปรับเปลี่ยนวิถีตัวเองเสียใหม่ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีเวลาให้พ่อแม่มากนัก ยิ่งต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ฟังเสียบ้าง เอาใจใส่กับการสนทนากับพ่อแม่มากขึ้น ไม่ใช่ว่าฟังแบบผ่าน ๆ หรือแบบขอไปที เพราะช่วงเวลาที่พ่อแม่ได้คุยโน่น คุยนี่ให้ฟังนี่แหละ ความสุขของเค้าเลย ซึ่งธรรมดาของคนแก่มักมีเรื่องเล่ามากเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะซ้ำ ๆ หรือพูดวนไปวนมา หน้าที่ของเราก็คือการเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด แค่ฟังและตอบโต้บ้างเท่านั้น ไม่เหลือบ่ากว่าแรงนักหรอก

4. ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มาก

สำหรับคนที่ยังไม่มีครอบครัว การใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับพ่อแม่คงไม่ยาก ใช้ช่วงเย็น-ค่ำหรือวันหยุดก็ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่มีครอบครัวแล้ว การแบ่งเวลาให้พ่อแม่คงเป็นเรื่องยากมากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือตกลงกับครอบครัวตัวเองก่อนว่าจะให้เวลาพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายอย่างไร หรือถ้าเป็นวันพิเศษ เช่น วันแม่ วันพ่อ ฯลฯ ก็อาจใช้เวลาร่วมกันทั้งสองครอบครัวเลยก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ลำบากและแบ่งเวลาได้ดีขึ้น

5. ทำในสิ่งที่พ่อแม่จะมีความสุข

นอกจากการใช้เวลาร่วมกันแล้ว การทำในสิ่งที่พ่อแม่จะมีความสุขก็เป็นความกตัญญูที่ดีอย่างหนึ่ง พ่อแม่บางคนก็มีสังคมของตัวเอง มีเพื่อน มีสมาคม ฯลฯ ซึ่งอะไรที่เป็นความสุขของคนวัยนี้ก็ควรสนับสนุนเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการไปออกกำลังกาย ไปเที่ยวพักผ่อน หรือการเข้าคอร์สต่าง ๆ ข้อสำคัญคืออย่าปล่อยไปเลย คอยซักถาม พูดคุยถึงกิจกรรม คนรอบตัวของท่านบ้าง ดีเสียอีกที่พ่อแม่ได้มีกิจกรรมของตัวเอง เราจะได้มีหัวข้อสนทนา และมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้นด้วย

สรุปก็คือ..ในเมื่อความกตัญญูไม่ได้วัดกันที่เงิน ลองคิดดูว่า..นอกจากเงินแล้ว เราทำอะไรให้คนที่รักเราบ้าง ไม่ต้องมาก..แค่ 1 ใน 5 ข้อนี้ ได้ทำบ้างหรือยัง เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องใช้ใจ ใช้เวลา ซึ่งมีค่ามากกว่า “เงิน” เสียอีก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0