หมายเหตุ บทความนี้มีคำไม่สุภาพ
ลึก ๆ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าแบกก็หนัก ปล่อยก็เบา แต่คนเราก็มักชอบถือ ชอบแบกสิ่งที่เป็นมลพิษกับตัวเองไว้เสมอ แทนที่จะปล่อย จะวางให้มันเบาลง โล่งขึ้น
หนึ่งในวิธีปล่อยที่ดูเหมือนง่าย แต่ทำยากก็คือการช่างแม่ง..เจอเรื่องอะไรที่รู้อยู่แล้วว่ามันต้องทุกข์ใจ ต้องมีปัญหา ก็ช่างหัวมันไป โนสน โนแคร์กับอะไรที่มันทำร้ายจิตใจตัวเอง แค่นี้ก็ช่วยเยียวยาจิตใจตัวเองได้มากโขแล้ว
แต่บอกก่อนว่าการ “ช่างแม่ง” “ช่างหัวมัน” “ช่างมันเหอะ” ไม่ใช่การไม่รู้สึกรู้สา ไม่คิด ไม่ทำ ไม่นำพา
ไม่ใช่การช่างแม่ง ไม่ต้องทำงานก็ได้วะ !
ไม่ใช่การช่างหัวกฎระเบียบ กฎเกณฑ์มันไปเหอะ ช่างแม่ง !
ไม่ใช่การช่างมันเหอะ ไม่ต้องอ่านหนังสือสอบก็ได้วะ !
แบบนี้ไม่ใช่คอนเซปต์ของการช่างแม่งที่ถูกต้อง
การช่างแม่งคือการยอมรับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นว่ามันก็เป็นอย่างนั้น เราทำอะไรกับมันไม่ได้แล้ว มันอยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว จากนั้นก็เดินหน้าต่อในแบบที่เราสบายใจ
แต่น่าแปลกที่ยิ่งโตมา ก็ยิ่ง ‘ช่างแม่ง’ ได้น้อยลง เพราะคนเรามักใช้ชีวิตด้วยการไปสนใจสิ่งรอบข้างมากเกินไป ทั้งที่บางทีก็ไม่จำเป็นและไม่ควรต้องสนใจกับเรื่องพวกนี้เลย โดยเฉพาะเรื่องจุกจิกในชีวิตประจำวัน ที่เราไปให้ความสำคัญกับมันจนกลายเป็นความเคยชินแบบไม่รู้ตัว ก็เลยปล่อยความคิดให้ช่างมันกับเรื่องต่าง ๆ ได้น้อยลงทุกที สุดท้ายก็พอปล่อยอะไรไม่ได้สักอย่าง ตัวเราเองก็เจ็บปวด เป็นทุกข์โดยที่ไม่จำเป็นเลย
“ช่างแม่ง” ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
การช่างแม่ง..มันไม่ง่าย ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เราจะหยุดคิดแล้วช่างหัวมันได้ทันที หลักใหญ่ใจความของการ "ช่างหัวมัน" ก็คือการปล่อยวางนั่นแหละ แต่การที่เราจะทำเป็นไม่สนใจกับอะไรสักอย่างที่มันทำร้ายจิตใจ ต้องถือว่าเป็นศาสตร์ชั้นสูงเลยทีเดียว
คนที่สามารถช่างหัวมันได้ในทุก ๆ เรื่องไม่ควรค่าแก่การให้ความสำคัญ น่าจะต้องถูกยกย่องว่าเป็นคนไม่ธรรมดาเลย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะวางเรื่องอะไรแบบนี้ไปไม่ได้ ชอบเก็บมาคิด มาใส่ใจ จนทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ แต่คนที่ช่างมันได้จะต้องมีความเข้าใจในสัจธรรม มองเห็นทุกอย่างตามที่เป็นจริงได้เท่านั้น รู้ว่าทุกสิ่งล้วนเป็นมายา ความทุกข์ยาก เรื่องกังวลใจต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญเป็นเพียงฉากละครที่เปลี่ยนแปลงไป
เราต่างหากที่ไป “อิน” กับมันจนปล่อยวางหรือช่างหัวมันไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องไปยึดมั่นถือมั่นกับเรื่องอะไรเหล่านี้เลย ปล่อยไปบ้าง ช่างหัวมันไปบ้าง ก็ทำให้ตัวเองหลุดพ้นและมีความสุขขึ้น เมื่อช่างมันได้ ความโหดร้าย ความทุกข์ต่าง ๆ ก็สลายไป เพราะเราไม่ได้เอามาแบกไว้
ดังนั้นการ “ช่างมัน” “ช่างแม่ง” จึงเป็นวิทยาศาสตร์แห่งการทำใจ อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด และเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรามีหน้าที่ต้องยอมรับมันก็เท่านั้น
ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะ “ช่าง” ได้
แต่ละคนมีบรรทัดฐานของการช่างแม่งที่ต่างกัน บางคนโอเคกับเรื่องหนึ่ง แต่กับอีกเรื่องก็ไม่ เพราะฉะนั้นการช่างจึงเป็นเรื่องปัจเจกที่เอามาวัดหรือเทียบกันไม่ได้
แล้วอะไรที่ควรช่าง และอะไรที่ไม่ควรช่าง..
หลักการง่าย ๆ คือต้องรู้ก่อนว่าอะไรสำคัญ และอะไรไม่สำคัญสำหรับเรา อย่าคิดว่าทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตสำคัญเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ !
คนเราควรมีลำดับความสำคัญของทุกอย่างในชีวิต ควรให้ความหมายเฉพาะกับสิ่งที่มีความหมายเท่านั้น และควรจำกัดสิ่งที่คิดว่าสำคัญให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
เพราะฉะนั้นจงตระหนักเฉพาะสิ่งที่สำคัญและมีความหมาย นอกเหนือจากนั้นถ้ามันไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็ช่างแม่งมันไปเหอะ
แต่ก็มีบางเรื่อง บางอย่างที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน และเราทุกคนควรช่างแม่งกับเรื่องบ้า ๆ พวกนี้เพื่อไม่ให้เป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจตัวเอง เช่น
คนรอบข้างที่เป็นมลพิษ คบไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ช่างแม่งเหอะ ปล่อยเค้าไป
อะไรที่มันอยู่เหนือการควบคุม ก็ช่างหัวมันเหอะ อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด
ฝนตก รถติด อย่าได้เอามาหงุดหงิดใจ ช่างได้ก็ช่างมันเถอะ
ฯลฯ
ตัวอย่างพวกนี้คือเรื่องที่ทุกคนควรช่างแม่งไปให้หมด เอามาคิดก็ทำให้เป็นมลพิษในใจโดยใช่เหตุ ช่าง ๆ มันไป ดีที่สุด !
และต่อไปนี้..เวลาเจออะไรที่มันไม่ได้สลักสำคัญกับชีวิตเราเลย คิดไปก็ปวดหัว ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ก็ช่างแม่ง ! ไปบ้างก็ได้นะ
ความเห็น 37
doyery
ชอบๆ
24 ก.ย 2565 เวลา 02.36 น.
Leevaria
เออ บทความนี้ดี
16 ส.ค. 2563 เวลา 15.49 น.
AnnA
😍🥰
15 ส.ค. 2563 เวลา 07.38 น.
อิสระ ธนะบรรณ์
ใช่ครับถูกต้องเลยต้องปล่อยวางเรื่องงี่เง่าไร้สาระออกไปบ้าง... ช่างแ.. ่งเนอะ
13 ส.ค. 2563 เวลา 15.40 น.
🐳rung🐳
ชอบค่ะอ่านแล้วสอนใจได้ดีมาก
12 ส.ค. 2563 เวลา 14.54 น.
ดูทั้งหมด