โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ศัพท์สแลงแสลงใจ.. วัยรุ่นเข้าใจ วัยอื่นเป็นงง

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 26 ธ.ค. 2563 เวลา 18.01 น. • pp.p
Photo by Tim Gouw | pixels.com
Photo by Tim Gouw | pixels.com

ส่งท้ายปี ๒๕๖๓ นี้ด้วยเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของภาษาไทย นั่นก็คือเรื่องของ “คำสแลง” (อ่านว่า สะ-แลง) ที่หมายถึงถ้อยคำหรือสำนวนที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม หรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง กล่าวคือไม่มีความเป็นทางการ ส่วนมากที่พบเจอบ่อยๆ จะมาจากกลุ่มวัยรุ่นที่มีการสร้างสรรค์ผลิตคำที่มีความหมายเฉพาะ เข้าใจกันเองในกลุ่มหรือช่วงวัย ซึ่งพอเลยวัยรุ่นไปก็จะไม่เข้าใจในความหมายนั้น และเมื่อเจอคำเหล่านี้ก็มีอันต้องฉงนจนส่ายหัวกันไป ซึ่งเราได้รวบรวมศัพท์สแลงในยุคนี้ไว้พร้อมความหมาย เวลาพบเจอจะได้ทำความเข้าใจได้ทัน เริ่มกันด้วยคำว่า

“ขิง”

คำธรรมดาที่ก็มีความหมายเดิมอยู่แล้วหมายถึงพืชล้มลุกชนิดหนึ่งมีเหง้าอยู่ใต้ดิน แต่ในกลุ่มวัยรุ่นจะใช้คำว่า “ขิง” หมายถึงการอวด เช่น อย่ามาขิง = อย่ามาอวด / ขิงเหรอ = อวดเหรอ ซึ่งที่มาของคำนี้บ้างก็ว่ามาจากกลุ่มนักเล่นเกมออนไลน์ที่พิมพ์ผิดจากคำว่า อวดของ เป็นอวดขิง, บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ซุยขี้ขิง=สิงห์ขี้คุย ก็มี แต่ทั้งสองที่มานี้มีความหมายเดียวกัน

“ลำไย”

ปัจจุบันคำนี้เป็นที่เข้าใจความหมายกว้างขึ้น ความหมายคือ รำคาญ แต่เลี่ยงที่จะพูดตรงๆ 

“เผ็ช”

หมายถึงสวย เปรี้ยว แซ่บ เซ็กซี่ เป็นการเปรียบเทียบกับพริกที่มีความเผ็ดร้อน เพิ่มอารมณ์ความร้อนฉ่า ผ่านตัว ช.ช้าง และจะออกอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นเมื่ออ่านออกเสียง 

“นก”

คำนี้หมายถึง อด พลาด หากย้อนไปสมัยก่อนก็จะตรงกับคำว่า ชวด นั่นเอง

“แกง”

หมายถึงแกล้ง ยกตัวอย่างการใช้เช่น พามาแกง = พามาแกล้ง, ถูกแกง = ถูกแกล้ง 

“เท”

หมายถึง ทิ้ง โดนบอกเลิก เบี้ยวนัด เช่นนัดกันไว้อย่างดิบดีแต่ถึงเวลาแล้วไม่มาปรากฏตัวตามที่นัดหมาย คนที่เป็นฝ่ายผิดนัดก็จะเรียกว่าเป็นฝ่ายเท และคนที่รอเก้อคือคนที่ถูกเท 

“ข่อมค่ะ” / “ข่อมค่า”

เป็นภาษาที่นิยมในการเล่นแชท มาจากการพูดรวบคำของคำว่า ขอบคุณค่ะ / ขอบคุณค่า 

“เจา”

เป็นอีกหนึ่งภาษาแชท มาจากการพูดรวบคำของคำว่า จะเอา 

“ไม่ไร”

คำนี้คือคำว่า ไม่เป็นไร ส่วนใหญ่ใช้ในภาษาแชทเช่นกัน

“เคร”

เป็นการย่อลงมาของคำว่า โอเค/ตกลง

“ตุย”

หมายถึง ตาย / ไม่รอด แต่จะเป็นในเชิงพูดเล่น และยังมีการต่อเติมเสริมความยาวเข้าไปอีกก็คือ “ตุยเย่วาตานาเบ้ ไอโกะ” หมายถึงตายสนิทไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้ ตายเกินตาย เป็นการเติมสร้อยคำเสริมอารมณ์ ไม่ได้มีความหมายทับศัพท์จากภาษาอื่นใด หากเจอคำนี้เข้าใจสั้นๆ ได้เลยว่าหมายถึงตายแน่ๆ

“นุ้ง” / “น้อน”

สองคำนี้หมายถึง น้อง แต่แปรรูปไปเพื่อเพิ่มความรู้สึกน่ารักน่าเอ็นดู  

“ไอ่ต้าว”

เป็นอีกหนึ่งคำที่แสดงความรู้สึกเอ็นดู แต่ก่อนถูกใช้แทนคำว่า ไอ้เจ้า… เช่น ไอ้เจ้าอ้วน เป็น ไอต้าวอ้วน / ไอ้เจ้าบ้า เป็น ไอต้าวบ้า ซึ่งไม่ว่าจะตามท้ายด้วยอะไร หรืออยู่เดี่ยวๆ ความหมายของคำนี้ก็คือหมายถึง น่ารัก

“มงลง”

หมายถึงสวยประหนึ่งนางงามได้มงกุฎ, เลอค่า, ดีงาม, ชนะเลิศ มีที่มาจากแฟนๆ วงการนางงามที่ติดตามลุ้นจนถึงรอบสุดท้ายว่าใครจะได้ครองมงกุฎ และเมื่อประกาศผลผู้ชนะก็จะได้รับการสวมมงกุฎ ประดุจยืนอยู่สวยๆ บนเวทีก็มีมงฯมาลงที่ศีรษะ

“ลูกหลาว”

มาจากคำว่า ลูกสาว ซึ่งเพี้ยนเสียงไป

“หลัว”

หมายถึงสามี ซึ่งคำนี้เพี้ยนเสียงมาจากคำว่าผัวนี่เอง

“ม่องห่วง”

เป็นการพูดรวบเสียงของคำว่า ไม่ต้องห่วง

“น่างสาน”

หมายถึง น่าสงสาร ซึ่งมีที่มาจากการพูดรวบเสียงเช่นกัน

"งอง"

ก็คือคำว่า งง นั่นเอง 

และยังมีอีกมากมายหลายคำที่ถือกำเนิดขึ้นมาอีกตามธรรมชาติของภาษาที่มักต้องมีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ การมีคำศัพท์เกิดใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อคำใดที่ไม่ถูกใช้ หรือไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป เมื่อเวลาผ่านไปคำเหล่านั้นก็จะหายไปหรือถูกเลิกใช้กันไปเอง อยู่ที่การเรียนรู้และการให้ความยอมรับของผู้ร่วมใช้ภาษาในสังคม หากพูดออกไปแล้วไม่เป็นที่เข้าใจ ผู้ฟังสามารถถามได้เมื่อสงสัย และผู้พูดควรให้คำอธิบายเพื่อความกระจ่างชัด เพราะการใช้ภาษาที่ถูกต้องคือสื่อสารออกไปให้เกิดความเข้าใจจึงจะสำฤทธิ์ผล ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรู้จัก กาลเทศะในการใช้ เช่นหากต้องเขียนจดหมายทางการก็ต้องสามารถใช้ภาษาที่เป็นทางการได้ ส่วนศัพท์สแลงนั้นจะเป็นการพูดหรือการสนทนากับคนวัยเดียวกัน หากผู้ร่วมบทสนทนาเข้าใจตรงกันก็ถือเป็นอันใช้ได้   

เกร็ดน่ารู้

  • "คำสแลง" เป็นคำนาม ทับศัพท์ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Slang หมายถึงถ้อยคำหรือสำนวนที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มหรือชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง

  • ส่วนคำว่า "แสลง" เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึงไม่ถูกกับโรค เช่น แสลงโรค บ้างใช้ในความหมายถึง ”ขัด” เช่นแสลงหู แสลงตา แสลงใจ

ข้อมูลจาก thaipublica.org, wordyguru.com, pantip.com, mthai.com, undubzapp.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0