โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รักนี้สีรุ้ง ว่าด้วยเรื่องรักร่วมเพศในราชวงศ์ยุโรป - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 03 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

เกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชั่ว รักร่วมเพศ เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และในหลายวัฒนธรรม “ไม่ใช่ความลับ” บรรดาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ต่างมีญาติหรือสมาชิกในครอบครัวที่มีชีวิตรักโลดโผนไม่เหมือนใคร เพราะไม่ว่าคุณจะรักใคร เพศไหน อายุ หรือสีผิวต่างกันเท่าใด ความรักต่างมีเส้นทางและจุดจบที่สวยงามตามแบบของตัวเอง และนี่คือ 3 บุคคลสำคัญที่มีเรื่องราวความรักไม่ธรรมดาแต่น่าสนใจ 

เจ้าชายฟิลิปที่ 1 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง - ผู้ครองตำแหน่ง “สมเด็จปู่แห่งยุโรป” 

น้องชายแท้ๆ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และลูกชายคนเล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ฐานะที่สูงส่งของดยุกแห่งออร์เลอ็อง ทำให้ทรงเป็นเชื้อพระวงศ์สายตรงที่มีอำนาจและความมั่งมีเป็นอันดับต้นๆ ของฝรั่งเศส นอกจากเกิดมาพร้อมช้อนเงินช้อนทอง ความสนใจในเพศเดียวกันของฟิลิปก็ปรากฎชัดตั้งแต่ยังเป็นเด็กชาย 

“สาวน้อยของแม่ - my little girl” คือคำที่พระนางอานน์ แห่งออสเตรีย ใช้เรียกลูกชายคนเล็กที่ชอบแต่งตัวแบบเด็กผู้หญิงมาตลอด 

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รสนิยมในการแต่งตัวข้ามเพศของเจ้าชายกลายเป็นที่จดจำของคนทั่วไป ทรงโปรดออกงานเลี้ยงสวมหน้ากากโดยสวมชุดแบบสตรี และแม้จะมีนิสัยส่วนตัวอย่างที่กล่าวมา เจ้าชายฟิลลิปก็เป็นผู้นำทางการทหารที่เข้มแข็ง สร้างความสำเร็จเป็นที่พอใจอยู่หลายครั้งและนำความมั่งคั่งมาสู่สายตระกูลจนมีคอลเลคชั่นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้พี่ชาย 

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่ได้มีปัญหากับรสนิยมทางเพศของฟิลิป ในทางตรงกันข้าม ทรงมองเป็นเรื่องดีเพราะเท่ากับว่าสามารถตัดน้องชายออกจากการเป็นคู่แข่งทางการเมืองได้อีกคน ตอนอายุ 18 เจ้าชายพัฒนาความสัมพันธ์กับฟิลลิป เดอ ลอเร เพื่อนและคนรักที่จะมีบทบาทในชีวิตของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต 

เจ้าชายฟิลิปแต่งงานมีครอบครัวเมื่ออายุ 21 ปี เจ้าสาวของพระองค์ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเจ้าหญิงเฮนเรียตตาแห่งอังกฤษ ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องเพราะมีปู่คนเดียวกันคือพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ชีวิตสมรสของสองพระองค์ค่อนข้างขม เจ้าชายฟิลิปประกาศชัด ไม่สามารถรักภรรยาสาวหากไม่ได้รับความยินยอมจากคนรักหนุ่ม (ฟิลลิป เดอ ลอเร) ทั้งสามใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายปี ระหว่างนี้เจ้าหญิงเฮนเรียตตาให้กำเนิดทายาทสามคน ใต้ข่าวลือว่าเด็กๆ ที่เกิดมาไม่น่าใช่ลูกของเจ้าชาย แต่เป็นลูกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขยเสียมากกว่า 

เจ้าหญิงเฮนเรียตตาสิ้นพระชนม์ตอนอายุเพียง 26 พรรษา มีข่าวลือว่า เดอ ลอเร คนรักของเจ้าชายเป็นผู้วางยาเจ้าหญิง เพราะแค้นที่เฮนเรียตตาทูลขอให้พระเจ้าหลุยส์เนรเทศตนออกจากวังหลวง อย่างไรก็ดีผลจากการชันสูตรระบุว่าเจ้าหญิงน่าจะเสียชีวิตด้วยอาการเจ็บป่วยตามธรรมชาติมากกว่าการถูกยาพิษ 

เมื่อไร้ซึ่งภรรยา บรรดาเจ้าหญิงมากมายต่างถูกทาบทามเพื่อเติมเต็มที่ว่างในฐานะน้องสะใภ้เจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ไม่น่าแปลกใจที่ส่วนใหญ่ปฎิเสธ 

เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธ ชาร์ลอตต์ แห่งพาลาทิเนท คือผู้โชคดีที่ยอมรับข้อเสนอ เจ้าหญิงเอลิซาเบ็ธเป็นเจ้านายสายเยอรมัน ได้รับคำบรรยายว่า “งั้นๆ” กระทั่งเจ้าชายฟิลิปคร่ำครวญว่า “จะสามารถร่วมเตียงกับผู้หญิงแบบนี้ได้อย่างไร?” น่าแปลกใจที่การแต่งงานครั้งที่สองราบรื่นกว่าคราวก่อน ฟิลิปกับเอลิซาเบธมีชีวิตคู่ที่เรียบง่าย ต่างจากเจ้าหญิงเฮนเรียตตาที่หึงหวงและมีความคิดเป็นของตัวเองตลอดเวลา เอลิซาเบธเข้าใจและยอมย้ายออกจากห้องนอนของเจ้าชายทันทีที่ทั้งสองมีทายาทด้วยกัน 

ที่เป็นแบบนี้เพราะค่านิยมของภรรยาที่ดีของเยอรมันต่างจากอังกฤษและฝรั่งเศส เจ้าหญิงสายเยอรมันได้รับการสั่งสอนให้เป็นช้างเท้าหลังและมีความอดกลั้นมากกว่า พวกเธอรู้ว่าการแย่งชิงความรักไม่ใช่หน้าที่ของสตรีแต่ยินดีหลบฉากเพื่อเลี้ยงดูทายาทและเก็บกวาดบ้านให้น่าอยู่ 

เจ้าชายฟิลิปมีชีวิตต่อมาถึงอายุ 60 พรรษา ความสามารถของพระองค์วางรากฐานให้สายตระกูลออร์เลอ็องมั่งคั่งมาอีกหลายชั่วอายุคน ทายาทจากการแต่งงานทั้งสองครั้ง ได้ดิบได้ดีเป็นถึงราชินีแห่ง สเปน, ซาร์ดิเนีย (แคว้นอิสระในอิตาลี) และแคว้นสำคัญหลายแห่งในยุโรป ทุกวันนี้บรรดาราชวงศ์ต่างๆ ที่นับถือคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ล้วนมีเชื้อสายสืบมาจากทายาทของพระองค์ ทรงได้รับฉายาที่น่าภูมิใจ เป็น “สมเด็จปู่แห่งยุโรป”

เจ้าหญิงอิซาเบลล่าแห่งปาร์มา รักเดียวของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

อิสซาเบลล่าแห่งปาร์มาเป็นลูกสาวคนโตของฟิลิป ดยุกแห่งปาร์มากับเจ้าลูอิส เอลิซาเบธ ลูกสาวพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส อิสซาเบลล่าแต่งงานกับเจ้าชายโซเซ็ฟ อาร์ชดยุกและรัชทายาทบัลลังก์ออสเตรียควบตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตอนอายุเพียง 18 ปี 

อาร์ชดยุกโจเซ็ฟตกหลุมรักอิซาเบลล่าตั้งแต่แรกเห็น พระองค์ตื่นเต้นกับเจ้าสาวคนใหม่และมอบความรัก ความใส่ใจให้พระนางมากขึ้นทุกวัน ถึงอย่างนั้นอิซาเบลล่ากลับตอบกลับทุกการกระทำของสามีด้วยการถอยห่างที่พ่วงมากับภาวะซึมเศร้า เป็นที่รู้กันว่าอิสซาเบลล่าโปรดใช้เวลาร่วมกับน้องสาวของสามี อาร์ชดัชเชส มาเรีย คริสตีน่า มากกว่า ทั้งคู่มีความสนใจในเรื่องดนตรีและศิลปะ และมักแลกเปลี่ยนจดหมายยาวเหยียดให้กันทุกวันทั้งที่อาศัยอยู่ในราชสำนักเดียวกัน

จดหมายที่อิสซาเบลล่าเขียนถึงมาเรีย คริสตีนา มีจำนวนมากถึง 200 ฉบับ ล้วนแล้วแต่พรรณาความรักลึกซึ้งที่มีให้ ตัวหนังสือของอิซาเบลล่าเต็มไปด้วยความสับสน และหมกมุ่นกับความตายมากขึ้นทุกวัน 

“ฉันเขียนถึงคุณอีกแล้ว น้องสาวผู้โหดร้าย แม้เราจะเพิ่งพบหน้ากัน ฉันทนไม่ไหวที่จะได้รู้คำตัดสินในโชคชะตา ฉันเพียงอยากรู้ว่าตัวเองควรค่าให้คุณรักบ้างหรือไม่ หรือคุณแค่อยากทิ้งฉันไว้กลางแม่น้ำตามลำพัง ฉันไม่อาจทนต่อความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ฉันคิดได้แค่ว่าตัวเองกำลังตกหลุมรักอย่างบ้าคลั่ง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร การรักคนที่ไม่ควรรักช่างโหดร้าย แต่ก็ห้ามใจตัวเองไม่ได้เลย”

แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ แต่ในฐานะภรรยาของรัชทายาท อิสซาเบลล่ามีหน้าที่มอบทายาทที่แข็งแรงให้ราชบัลลังก์ออสเตรีย เธอเกลียดและกลัวการมีลูก แต่คู่แต่งงานใหม่ก็มอบความหวังให้ทั้งประเทศด้วยข่าวการตั้งครรภ์ของอิสซาเบลล่าในเวลาเพียงหนึ่งปีหลังการแต่งงาน 

อิสซาเบลล่าซึมเศร้าจากการตั้งครรภ์และเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา เธอเริ่มนึกถึงความตาย และต้องนอนติดเตียงเป็นเวลาเกือบสองเดือนหลังให้กำเนิดลูกสาว ดูเหมือนว่าอาร์ชดยุกโจเซ็ฟจะไม่เข้าใจความเจ็บป่วยทางใจของภรรยา อิสซาเบลล่าตั้งท้องและแท้งอีกสองครั้ง และระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งที่ 4 เธอป่วยเป็นไข้ทรพิษ แท้งลูก และเสียชีวิตตามไปไม่นาน ตอนนั้นอิสซาเบลล่าเพิ่งอายุ 21 ปี 

มาเรีย คริสติน่าแต่งงานในอีกสองปีต่อมา จดหมายทั้งหมดที่เขียนด้วยลายมือเธอถูกทำลายหลังมาเรีย คริสติน่าสิ้นพระชนม์ ทำให้เนื้อหาที่ทรงตอบกลับเจ้าหญิงอิซาเบลล่ากลายเป็นความลับตลอดไป ในขณะที่อาร์ชดยุกโจเซ็ฟแต่งงานใหม่กับเจ้าหญิงมาเรีย โฌเซฟา แห่งบาวาเรีย การแต่งงานครั้งนี้ไม่มีความสุข โจเซ็ฟไม่แคยลืมอิสซาเบลล่า ทรงไม่มีทายาทจากการแต่งงานครั้งใหม่และเมื่อลูกสาวคนเดียวของโจเซ็ฟกับอิสซาเบลล่าเสียชีวิตตอนอายุเพียง 7 ปี โจเซ็ฟใจสลายและแทบไม่เคยออกงานสังคมอีก

เจ้าชายปีเตอร์ ดยุกแห่ง โฮเดนเบิร์ก น้องเขยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย 

‘โดยที่ไม่รู้ว่ามีความสุขหรือไม่ เมื่อปีเตอร์บอกรักและขอแต่งงาน เราตอบไปสั้นๆ ว่า 'ขอบคุณ' ’ แกรนด์ดัชเชสโอลก้า น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 บันทึกไว้ในไดอารี่ 

แน่นอนว่าการแต่งงานของแกรนด์ดัชเชสของราชวงศ์โรมานอฟเกิดขึ้นเพราะความเหมาะสม โอลก้าในวัย 19 เลือกแต่งงานกับชายที่แก่กว่า 14 ปี ติดพนัน และที่สำคัญเป็นพวกรักร่วมเพศ 

‘แม่เชื่อว่าลูกคงคาดไม่ถึง โอลก้าหมั้นหมายกับปีเตอร์และพวกเขาดูมีความสุขมาก แม่ไม่มีอะไรคัดค้านนอกจากอวยพรให้ทั้งสองมีความสุข ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่อยากจะเชื่อเลยจริงๆ’ 

จักรพรรดินีมารีเรีย เฟโอโดรอฟ เขียนจดหมายถึงลูกชาย พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่สอง หลังได้รับข่าวเรื่องลูกสาว 

‘ลูกก็ไม่อยากเชื่อว่าโอลก้าหมั้นหมายแล้วจริงๆ สงสัยพวกเขาจะเมาหนักเมื่อคืนนี้’

ซาร์นิโคลัสที่สองตอบกลับไปด้วยอารมณ์ขันไม่แพ้กัน ที่เป็นแบบนั้นเพราะครอบครัวของบ่าวสาว เชื่อมาตลอดว่าเจ้าชายปีเตอร์ไม่สนใจสตรี หรือนี่จะเป็นข้อยกเว้นสำหรับหนุ่มที่ครองโสดมายาวนาน? 

อันที่จริงโอลก้ารับรู้ความจริงข้อนี้แต่อยากใช้ข้ออ้างจากการแต่งงานเพื่อหลบหนีการดูแลที่เข้มงวดของพระมารดา เป็นที่รู้กันว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองห่างเหินเย็นชา โอลก้าและปีเตอร์ไม่เคยร่วมเตียงกันจริงๆ คู่แต่งงานใหม่ใช้ชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ปีเตอร์ออกไปเล่นพนันคบหาหนุ่มน้อยมากหน้าหลายตา ส่วนโอลก้าทำงานการกุศล วาดภาพ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับหลานสาวทั้งสี่ โอลก้า, ทาเทียน่า, มาเรีย และ อนาสตาเซีย ลูกสาวน้อยๆ ของซาร์นิโคลัสผู้เป็นพี่ชาย 

สองปีหลังการแต่งงานเมื่อโอลก้าเจอชายในฝันเป็นนายทหารหนุ่มรูปร่างสูงนามว่านิโคไล คิลิคอฟสกี้ โอลก้าสารภาพว่ามีชายอื่นและปราถนาการหย่า แต่กลับได้รับคำเสนอจากสามีว่าเขายินดีจะให้นิโคไลย้ายมาประจำการเป็นผู้ช่วยของเขา เพื่อให้ทั้งสองมีโอกาสอยู่ใกล้กัน 

คู่แต่งงาน(ในนาม) อยู่ร่วมกันแบบนี้เป็นเวลาร่วม 12 ปี กระทั่งรัสเซียเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 และพระเจ้าซาร์ยอมอนุญาตให้การแต่งงานปลอมๆ นี้จบสิ้นลง เปิดทางให้น้องสาวคนสุดท้องได้แต่งงานกับคนรักก่อนการปฎิวัติรัสเซียจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีต่อมา

ปีเตอร์เสียชีวิตในปี 1924 ที่ประเทศฝรั่งเศส เขาอายุ 55 ปี ในขณะที่โอลก้าและครอบครัวลี้ภัยไปเดนมาร์กและแคนาดา เธอเสียชีวิตในวัย 78 ปี ถือเป็นแกรนด์ดัชเชสคนสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ 

.

.

ติดตามบทความของเพจพื้นที่ให้เล่า ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์

.

.

References: 

https://en.wikipedia.org/wiki/Philippe_I,_Duke_of_Orl%C3%A9ans 

https://en.wikipedia.org/wiki/Princess_Isabella_of_Parma 

https://en.wikipedia.org/wiki/Duke_Peter_Alexandrovich_of_Oldenburg

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 13

  • ต้ำ สุวัฒน์ 6️⃣4️⃣♾
    ยอมรับว่าอ่านแล้วงงๆ
    11 ม.ค. 2563 เวลา 18.41 น.
  • Sky2365
    ขอบคุณที่ได้อ่านเรื่องราวดีๆ
    07 ม.ค. 2563 เวลา 14.19 น.
  • .~★☆ PikaPiPi ☆★~.
    🏳️‍🌈👭💓👬🏳️‍🌈
    06 ม.ค. 2563 เวลา 19.27 น.
  • Vitoon
    การเป็นรักร่วมเพศมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ดีใจที่คนในยุคนี้เข้าใจคนเพศที่ 3 มากขึ้น เพราะประชากรเกย์และเลสเบี้ยนมีมากมายทั่วโลก แต่ในสมัยก่อนเกย์และเลสเบี้ยนมักถูกบังคับให้แต่งงาน เพราะสังคมยุคนั้นไม่ยอมรับคนที่เป็นแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วชีวิตการแต่งงานก็ไปไม่รอดเพราะใจไม่ได้รักเพศตรงข้ามเลย น่าสงสารคนเพศที่ 3 ในยุคนั้นนะเพราะสังคมในยุคนั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจในทางจิตวิทยา แต่ทุกวันนี้วงการจิตแพทย์ได้วิจัยแล้วว่าการเป็นเกย์และเลสเบี้ยนเป็น"รสนิยมทางเพศ"ไม่ใช่โรคจิตอย่างที่คนยุคก่อนเข้าใจกัน
    04 ม.ค. 2563 เวลา 21.16 น.
  • ❤ Sandy ❤
    รักแบบนี้มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยไหนแล้ว แต่สังคมสมัยนี้ทำเป็นใจแคบ รังเกียจ
    04 ม.ค. 2563 เวลา 11.07 น.
ดูทั้งหมด