โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พูดคุยกับสถาปนิกหนุ่มนักตกแต่งภายใน ผู้สร้างสรรค์ทุกชิ้นงานด้วยความตั้งใจ 'บดินทร์ พลางกูร'

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 19.29 น. • pp.p

ไฮไลต์

  • สถาปนิกหนุ่มนักตกแต่งภายในวัย 36 ผู้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบมากมาย (เจ้าของดีกรีผู้ได้รับรางวัล Emerging Designer Awards 2019 : Interior Design)

  • ด้วยความกล้าในการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวที่จะลาออกจากงานประจำมาค้นหาตัวเอง บวกกับความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้ค้นพบสิ่งที่ชีวิตเขาต้องการ กับเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนขึ้น

  • เริ่มต้นจาก 0 ทำงานเพียงคนเดียว สะสมผลงาน ตอบรับทุกโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จและมีบริษัทเป็นของตัวเอง

  • เขาคนนี้มีแรงบันดาลใจที่จะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาตนเองและผลงานของเขาไปให้สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำได้ เพราะเขาเชื่อว่าค่าของคนอยู่ที่สิ่งที่คน ๆ นั้นได้ลงมือทำในชีวิตที่เขามีอยู่

ส่งท้ายปลายเดือนด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มมากความสามารถ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบอันงดงามหลายๆ แห่ง ที่เชื่อว่าหลายๆ คนคงคุ้นตากับผลงานของเขา เพียงแต่ยังไม่เคยพบกับเจ้าของผลงานเหล่านั้น วันนี้เราได้มีโอกาสทำความรู้จักกับสถาปนิกหนุ่มนักออกแบบภายในไฟแรงที่ชื่อ ‘บดินทร์ พลางกูร’ …

ก้าวแรกที่ทำให้เข้ามาสู่เส้นทางของ ‘สถาปนิก’

“ชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็กครับ แต่ไม่เคยไปประกวดที่ไหนนะ แต่ชอบวาดรูปและประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ เวลาว่างมาตลอด พอเรียนจบระดับชั้นประถมก็ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ พอถึงระดับไฮสคูลก็ถึงเวลาต้องเลือกวิชาที่เราชอบ วิชาที่เราทำได้ดีที่สุด4-5วิชา ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือวิชาศิลปะ รวมกับวิชาอื่นๆ เช่น คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ก็พบว่าเหมาะที่จะไปทางสถาปัตยกรรม ก็ตัดสินใจเลือกทางนี้เพราะก็เป็นสิ่งที่เราชื่นชอบและสามารถนำมาเป็นวิชาชีพได้ เรียนสถาปัตย์ก่อน แล้วต่อด้วยอินทีเรีย (ตกแต่งภายใน) พอจบก็กลับมาเริ่มต้นหางานทำที่เมืองไทย ทำงานออฟฟิศอยู่ประมาณ 3ปี รู้สึกอยากเอาเวลาทุ่มเทในการสร้างผลงานการออกแบบให้เต็มที่ จึงตัดสินใจลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ สะสมผลงานไปเรื่อยๆ โดยทีแรกตั้งใจว่าจะสะสมผลงานเพื่อไปสมัครงานบริษัทชื่อดังที่รับออกแบบโดยเฉพาะ ตั้งเป้าว่าผลงานทุกชิ้นที่จะทำต้องเป็นชิ้นงานที่ถูกสร้างขึ้นจริง ไม่ใช่แค่งานร่างแบบ ในขณะที่ทำไปเรื่อยๆ เพื่อไปสมัครงานที่ใหม่นี้ ระหว่างทางมันก็มีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นชื่นชอบที่จะทำงานกับตัวเองแบบนี้ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ก็เลยยังไม่ได้ไปสมัครงานใหม่ที่ไหน”

“เริ่มเส้นทางนี้เรียกว่าฉายเดี่ยวก็ว่าได้ เพราะตอนที่เราเรียนจบกลับมาเมืองไทยแทบไม่รู้จักใครในวงการนักออกแบบที่นี่เลย ตอนที่ลาออกจากงานประจำก็คือลุยงานคนเดียวมาตลอด ลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจมาเรื่อยๆ ช่วงแรกเริ่มใครอยากให้ช่วยออกแบบอะไรก็คือรับทำหมด เช่นคนรู้จักจะเปิดร้านเขามาชวนให้ออกแบบก็รับทำ เน้นสร้างผลงาน ไม่เน้นทำกำไร มีทั้งงานออกแบบร้านค้า ร้านอาหาร และคาเฟ่ จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วถึงเริ่มรับผู้ช่วย ก็ถือได้ว่าการตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเพื่อเริ่มสร้างผลงานมันทำให้เราได้เข้าใจเรื่องของการออกแบบและสถาปัตย์ขึ้นมาก ได้ค้นพบความสุขในการทำงานที่เราได้สร้างมันขึ้นมาเป็นของจับต้องได้จริง เกิดความภาคภูมิใจและหลงใหลในเส้นทางนี้”

วิธีหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงเป็นการเดินทางเช่นไปต่างประเทศ ไปเปิดมุมมองใหม่ หาแรงบันดาลใจ แต่ละคนก็จะมีความชื่นชอบและมุมมองที่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเก็บเกี่ยวภาพหรือสัมผัสต่าง ๆ ที่ได้จากธรรมชาติในรูปแบบไหน แต่พอยุคโควิดที่การเดินทางค่อนข้างจำกัด ไปต่างประเทศไม่ได้ ก็เปลี่ยนมาเดินทางภายในประเทศ สัมผัสธรรมชาติศิลปะ งานฝีมือ และสถาปัตย์เก่า ๆ ของเมืองไทยให้มากขึ้น เจออะไรประทับใจก็ถ่ายรูป และวาดเก็บไว้ในสเก็ตช์บุคเก็บไว้ต่อยอดเป็นไอเดียครับ”

เล่าถึงอุปสรรค/ความยากในการทำงาน

“นอกจากการที่ต้องเริ่มต้นเองทั้งหมดเพียงคนเดียว อีกอุปสรรคในการทำงานก็จะเป็นเรื่องของเงื่อนไขต่าง ๆ ในการทำงานที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ได้เรียนรู้ที่จะรับมือและจัดการกับปัญหาต่าง ๆ หากเจอปัญหาเดิมก็สามารถรับมือได้ไม่ยาก เราแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด มองหาว่าจุดผิดพลาดอยู่ที่ตรงไหนครั้งต่อไปจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก สั่งสมเป็นประสบการณ์พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งเวลาที่เกิดข้อผิดพลาดแทนที่จะโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น ต้องลองหันมามองที่ตัวเองว่าเราเองหรือเปล่าที่พลาดตรงไหนไป เมื่อคิดแบบนี้เราจะได้ปรับปรุงและพัฒนาตนเองไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดอยู่กับที่”

ผลงานไหนที่คิดว่า ‘นี่แหละ masterpiece’

“เราให้ความสำคัญกับทุกงานเท่ากันหมดนะ งานทุกชิ้นให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ กับเราเสมอ อย่างงาน Glowfish Installation ก็ให้ได้เรียนรู้งาน handcraft (งานฝีมือ) เพราะปลาแต่ละตัวคืองานทำมือทีละชิ้น ๆ ประกอบขึ้นมาเป็นชิ้นใหญ่ ฉะนั้นจึงคิดว่าทุกชิ้นงานล้วนสำคัญหมด ไม่อยากระบุลงไปว่าชิ้นไหนเป็นมาสเตอร์พีซ เพราะเราทำเต็มที่ทุกครั้ง และโดยส่วนตัวมองว่างานศิลปะมันสร้างสรรค์ได้ไม่มีวันจบยังสร้างสรรค์งานได้อีกเรื่อยๆ งานชิ้นใหม่ก็ได้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากผลงานที่ผ่านมา”

คติประจำใจในการทำงาน

“ทุกครั้งที่เกิดปัญหา จงอย่าโทษคนอื่นโทษที่ตัวเอง และหาสาเหตุว่าเราผิดพลาดตรงไหน และไม่เตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง ปัญหาจึงเกิดขึ้น”

“ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” เพราะผลงานจะแสดงถึงความตั้งใจที่มี และที่สำคัญต้องใจเย็นเข้าไว้ บางคนใจร้อนอยากประสบความสำเร็จไวๆ ทำไมไม่ได้ดั่งใจสักที อยากให้คิดว่าแต่ละคนมีเส้นทางที่แตกต่างกัน อุปสรรคที่เข้ามาคือสิ่งที่จะสอนว่าควรรับมือแก้ปัญหานั้นอย่างไร อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เราต้องทำตัวเราให้ดีที่สุด เมื่อเวลามาถึงโอกาสก็จะเข้ามาเอง และต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อพร้อมในวันที่โอกาสมาถึง”

มีทำอย่างอื่นอีกไหมนอกจากงานออกแบบ ?

“มีงานสอนตามมหาวิทยาลัย พูดถึงงานนี้รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับโอกาสได้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประโยชน์แด่นักศึกษา เป็นlสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขนะ สุขใจที่ได้ถ่ายทอดทักษะที่มีให้เกิดประโยชน์ ได้ให้คำปรึกษาและได้ช่วยตรวจงานธีสิสของนักศึกษา ให้เขาพร้อมที่จะก้าวไปสู่การทำงานจริงๆ ในโลกของความจริงที่ไม่ได้สวยหรูอย่างที่น้อง ๆ วาดภาพไว้ในหัว”

ขยันทำงานขนาดนี้ มีใครเป็นไอดอล ?

“ไอดอลในการทำงานยกให้คุณปู่ครับ อยากเก่งให้ได้เหมือนคุณปู่ ท่านเป็นนักเรียนทุนได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอก กลับมาทำงานรับราชการรับใช้ประเทศชาติด้วยการก่อตั้งกรมพัฒนาที่ดิน ทุกวันนี้ยังมีรูปปั้นของคุณปู่อยู่ที่กรมพัฒนาที่ดินเลยครับ คุณปู่เป็นฮีโร่เลย อยากเก่งให้ได้อย่างคุณปู่”

อนาคตในการทำงาน มีการวางแผนอย่างไรต่อจากตรงนี้ ?

“อยากทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน และเมื่อสำเร็จแล้วก็ไม่หยุดที่จะไปต่อ ผลักดันตัวเองด้วยเป้าหมายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่าเราเคยได้รางวัลระดับประเทศแล้ว ก้าวต่อไปก็ควรไประดับสากล ระดับโลกบ้าง พยายามผลักดันตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้”

สำหรับใครที่สนใจงานออกแบบฝีมือของสถาปนิกหนุ่มคนนี้ สามารถติดตามผลงานการออกแบบของเขาได้ที่…

เว็ปไซต์: www.context-interior.com / เฟซบุ๊ก: Context studio และ Ton Balankura / อินสตาแกรม: contextbkk และ balankura

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0