โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สิงโตเงียบ - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

อัพเดต 02 ส.ค. 2561 เวลา 11.18 น. • เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2561 เวลา 04.00 น. • วินทร์ เลียววาริณ

งานของพวกเขาคือขุดเจาะหินเป็นช่องเขาให้ทางรถไฟผ่าน อาหารของพวกเขาคือข้าวกับปลาแห้ง ที่อยู่ของพวกเขาคือกระท่อมหลังคามุงจาก ค่าตอบแทนของพวกเขาคือความตาย

พวกเขาเป็นทหารและนักโทษสงคราม บัดนี้เป็นกรรมกรสร้างทางรถไฟ ทหารส่วนใหญ่เป็นชาติอังกฤษ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ที่เหลือเป็นคนงาน

ความตายเกิดขึ้นทุกวัน วันละหลายคน

คนเหล่านี้จากบ้านมาไกลเพื่อรบในสงครามเพื่อผดุงความถูกต้องในโลก และเสียชีวิตอย่างคนอนาถา

พวกที่ยังทำงานได้ก็ทำงานหนัก ทหารญี่ปุ่นลงโทษโดยโบยตีพวกเขาด้วยแส้ อาหารขาดแคลน ทำงานหนัก และโรคร้ายทำให้เชลยศึกส่วนใหญ่อยู่ในสภาพโครงกระดูกเดินได้

ชายคนหนึ่งมองดูภาพนั้นห่างๆ ใจเศร้าสลด

ชื่อของเขาคือบุญผ่อง

เขาคิดจะทำอะไรสักอย่าง

………..

บุญผ่องชาวอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี พ่อเป็นหมอ เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี เข้ากรุงเทพฯไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ปีนั้นคือ พ.ศ. 2469 เขาเข้ารับราชการที่กรมรถไฟนานแปดปี แล้วลาออกกลับบ้านเกิด ทำการค้าขายกับครอบครัวริมแม่น้ำแม่กลอง ตั้งชื่อร้านว่า บุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ (Boonpong and Brothers) นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของร้านสิริโอสถ กิจการดำเนินไปด้วยดี เขาลงสมัครและได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองกาญจนบุรี

แล้วสงครามก็คืบคลานมาถึงกาญจนบุรี 

สงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นที่ยุโรปในปี พ.ศ. 2482 สองปีถัดมาแผ่นดินตะวันออกก็ลุกเป็นไฟ เร่ิมที่ทัพอากาศและทัพเรือญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามกับสหรัฐอเมริกา โจมตี เพิร์ล ฮาร์เบอร์ ดึงอเมริกาเข้าสู่วังวนของสงคราม วันถัดมากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยาตรากองทัพเรือเข้าไทย ยกพลขึ้นแผ่นดินไทยที่บางปู ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี หลังจากการปะทะกันของสองทัพ การรบก็ยุติเมื่อรัฐบาลไทยตกลงยอมให้ทัพญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นเส้นทางผ่านไปพม่า

กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์แรงงานชาวเอเชียกว่าสองแสนคนเข้าทำงาน แต่คนงานไม่พอ จึงส่งทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรหกหมื่นคนจากมลายา ชวา จุดมุ่งหมายคือสร้างทางรถไฟไทย-พม่า ระยะทางสี่ร้อยกว่ากิโลเมตรให้แล้วเสร็จในหนึ่งปี เพื่อใช้ขนส่งกองทหารและอาวุธ ตามแผนยุทธศาสตร์ กองทัพญี่ปุ่นต้องการรุกอินเดียโดยเร็วที่สุด

พวกเขาเริ่มสร้างค่ายเชลยที่กาญจนบุรี บริเวณเขาช่องไก่ แม่น้ำแควน้อย

ทางไปพม่ามีภูผาขวางกั้น วิศวกรญี่ปุ่นออกแบบให้ระเบิดเขาในเขตอำเภอไทรโยค เป็นช่องทางให้ทางรถไฟข้ามไปได้

ช่องเขาขาด แต่ชะตาชีวิตเชลยศึกจำนวนมหาศาลก็ขาดไปด้วย

นักโทษสงครามล้มตายกว่า 12,000 คน และกรรมกรชาวเอเชียตายไปราวเจ็ดหมื่นคน

พวกเชลยศึกขนานนามช่องเขานี้ว่า ช่องไฟนรก มันคือทางรถไฟสายมรณะอย่างแท้จริง

ทุกๆ ไม้หมอนหนึ่งอันที่วางรองรางรถไฟ คือชีวิตเชลยหนึ่งคน

………..

การสร้างทางรถไฟโดยคนจำนวนเป็นแสนต้องการอาหารและข้าวของจำนวนมหาศาล กองทัพญี่ปุ่นกวาดซื้อข้าวของอาหารจากร้านในจังหวัด รวมทั้งร้านบุญผ่องแอนด์บราเดอร์ เขายังประมูลผลิตไม้หมอนรถไฟให้กองทัพทหารญี่ปุ่นด้วย

บุญผ่องไปส่งสินค้าต่างๆ ถึงที่ค่ายเชลยศึก เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นภาพจริงของสงคราม

นักโทษสงครามหลายหมื่นคนแออัดเบียดเสียดกัน พวกเขาป่วยด้วยโรคต่างๆ คนตายแทบทุกวัน ไข้ป่า ผิวหนังอักเสบ แผลติดเชื้อ อหิวาตกโรค หลายโรคไม่ถึงตาย แต่เมื่อไร้ยารักษา ความตายก็เลี่ยงไม่พ้น

ทุกวันเชลยศึกเข้าแถวไปทำงาน เดินอย่างคนไร้แรง ราวขบวนแห่ศพ

เขารู้ว่าอีกไม่นานคนเหล่านี้ก็จะเป็นศพ

เมื่อเห็นสภาพร่างกายและสภาพความเป็นอยู่ของเชลยศึกแล้ว เขาสะท้อนใจ น้ำตาซึม มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดร้ายเช่นนี้ได้อย่างไร

บุญผ่องตัดสินใจทำเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง 

………..

วันหนึ่งเมื่อเข้าไปในค่ายเชลย บุญผ่องติดต่อกับหมอประจำค่าย นายแพทย์เอ็ดเวิร์ด ดันล็อป หรือที่ทหารเรียก เวียรี เป็นแพทย์ทหารชาวออสเตรเลีย ถูกจับมาเป็นเชลยและทำหน้าที่รักษาคนไข้ตามมีตามเกิด

เขาบอกหมอว่าจะส่งยาเข้ามา หมอเวียรีแปลกใจระคนยินดี รู้ว่าเป็นเรื่องอันตราย และนับถือน้ำใจของชายไทยเงียบๆ ผู้นี้

ช่วงสงครามโลก หมอเวียรีทำงานที่ตะวันออกกลาง ก่อตั้งหน่วยศัลยแพทย์เคลื่อนที่ เขายังทำงานในกรีซช่วยคนเจ็บในสงคราม ต่อมาก็ไปประจำการที่ชวา หมอเวียรีกลายเป็นเชลยศึกในปี 2485 ถูกจับที่บันดุง ถูกส่งไปประจำค่ายนักโทษสงครามที่ชวา และต่อมาไปที่ชางงี สิงคโปร์ และต้นปี 2486 ถูกส่งไปประจำค่ายนักโทษสงครามที่กาญจนบุรี

ที่นี่หมอเวียรีทำงานอย่างหนัก ไม่เพียงรักษาคน ยังต้องรักษากำลังใจของทหารให้รอดชีวิตให้ได้ กลายเป็นแสงสว่างในความมืดมิดของนรกสงคราม

ด้วยบุคลิกดี แต่งกายสุภาพเรียบร้อยเสมอ อุปนิสัยเข้ากับคนง่ายและรอยยิ้ม ทำให้บุญผ่องสามารถผูกมิตรกับทหารญี่ปุ่น เข้าออกค่ายเชลยสงครามได้ง่าย

บุญผ่องเริ่มลักลอบนำ อาหาร ยารักษาโรคให้เชลยศึก ซุกซ่อนอาหาร ยารักษาโรค อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ถ่านไฟฉาย ในเข่งผัก รวมทั้งรับฝากส่งจดหมายไปสู่โลกภายนอก

บางครั้งก็ลอบไปส่งยาโดยว่ายน้ำเข้าไปเวลากลางคืน

เชลยหลายคนขาดอาหารเพราะไม่มีเงิน บุญผ่องก็ให้กู้ โดยใช้นาฬิกา แหวน เป็นของค้ำประกัน หลังสงครามก็คืนของเหล่านั้นให้หมด

บุญผ่องรู้ดีว่านี่กระทำการเสี่ยงชีวิต แต่ทว่าใครจะสามารถดูดดายไม่กระทำ?

ทหารญี่ปุ่นไว้ใจเขา และไม่คาดว่าเขาจะทำเรื่องนี้ เขาเพียงแต่ต้องระวังสุดชีวิต  

เขารู้ว่าทหารญี่ปุ่นไม่ปรานีคนที่ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น การทรมานและฆ่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเขาถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ อาจถูกทรมานและฆ่าทิ้ง

ทหารเชลยศึกไม่กี่คนรู้เรื่องนี้ เรียกเขาว่า The Quiet Lion (สิงโตเงียบ) ตามที่หมอดันล็อปเรียก เขาเงียบตลอดเวลานั้น

ต่อมาเพื่อลดความสงสัยของทหารญี่ปุ่น เขาให้เด็กหญิงผณี บุตรสาวของเขาส่งของเข้าไปแทน ภาพเด็กหญิงวัยสิบขวบเข้าออกค่ายไม่สะดุดตาและสร้างความสงสัยแก่ใคร แต่เป็นเรื่องอันตรายยิ่งยวด

เมื่อภรรยาของเขารู้ความจริง ก็เกิดปากเสียง เพราะการเสี่ยงของเขาอาจนำอันตรายสู่ทั้งครอบครัว แต่เขาจำเป็นต้องทำ ไม่สามารถทนอยู่กับมโนธรรม หากไม่ช่วยเหลือในเมื่อสามารถช่วยได้

และก็จริงดังที่ภรรยาเขากลัว ช่วงปลายสงคราม ขณะที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่า สิงโตเงียบถูกลอบยิงที่หน้าอก เป็นค่าตอบแทนจากการช่วยเหลือเชลยศึก

เขารอดตายมาได้ แทนที่เขาจะยุติบทบาทช่วยเหลือนักโทษสงคราม ภารกิจของเขายังดำเนินต่อไปจนสงครามยุติ

………..

โลกเราไม่เคยขาดสงคราม และในทุกสงคราม ด้านมืดของคนสำแดงออกมาแจ้งชัด

การช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามยากเป็นเมตตาธรรม

การช่วยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามยากโดยเสี่ยงชีวิตตนเองและครอบครัวเป็นเมตตาธรรมชั้นสูง

ยาเดินทางเข้าไปในค่ายทหารอย่างต่อเนื่องตลอดสงคราม และช่วยชีวิตนักโทษได้หลายพันคน

การกระทำของบุญผ่องและหมอเวียรีทำให้เราเห็นว่า ความมืดสนิทของหัวใจคนสามารถสาดแสงสว่างของเมตตาธรรมเข้าไปได้ เมตตาค้ำจุนโลก และทำให้โลกยังสว่างอยู่

นานสามสิบกว่าปีหลังสงครามจนถึงปีสุดท้ายในชีวิต ทุกช่วงคริสต์มาส บุญผ่องและครอบครัวได้รับบัตรอวยพร จำนวนมากจากอดีตเชลยศึก

สงครามอันเลวร้ายที่สุดก็มีความทรงจำด้านที่ดี

………..

หมายเหตุ

หลังสงคราม บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The George Cross จากอังกฤษ และ Orange-Nassau Cross จากเนเธอร์แลนด์

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตอบแทนน้ำใจบุญผ่อง มอบรถราวสองร้อยคันที่ยึดได้จากกองทัพญี่ปุ่นให้ไปประกอบกิจการ ในนาม บริษัท บุญผ่อง จำกัด ได้สัมปทานวิ่งรับผู้โดยสารในกรุงเทพฯ เรียก รถเมล์สายสีน้ำเงิน ช่วงปี 2490

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ เสียชีวิตในปี 2525 อายุ 76 ปี

หมอเวียรีให้อโหสิกรรมต่อทหารญี่ปุ่นที่กระทำเรื่องโหดร้ายต่อมนุษย์ เขาเริ่มทำโครงการต่างๆ ด้านสาธารณสุขที่สร้างสรรค์ เขาริเริ่มให้เกิดมูลนิธิ Weary Dunlop-Boonpong Exchange Fellowship ให้ทุนทางการแพทย์แก่ศัลยแพทย์ ไทยไปทำงานศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin

มิถุนายน 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 50

  • Peak ✳️
    เป็นบทความที่ส่งเสริมให้คนทำความดี มีน้ำใจแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยเหลือผู้อื่น ดีมากๆครับ ขอบคุณครับ
    13 ส.ค. 2561 เวลา 15.26 น.
  • Mona Monsicha
    ทึ่ง🙂🙂🙂🙂
    28 ก.ค. 2561 เวลา 23.55 น.
  • BiGz♌Yodsaporn[ATPD]
    สุดยอดจริงๆ
    27 ก.ค. 2561 เวลา 00.01 น.
  • ขุนช้าง
    นี่คือน้ำใจคนไทยในยุคก่อนและหลังสงครามของพวกล่าอาณานิคมครั้งที่2 ที่ควรจดจำ ผมยังจำได้รถเมล์สายสีน้ำเงิน บุญผ่อง วิ่งผ่านหน้าถนนหลานหลวง
    24 ก.ค. 2561 เวลา 07.48 น.
  • FANG®
    ชอบบทความของคุณเสมอ โดยเฉพาะบทความสร้างเสริมกำลังใจ ติดตามและชื่นชมเสมอคะ 🙏🏻
    05 ก.ค. 2561 เวลา 17.12 น.
ดูทั้งหมด