“เครียดจัด ฆ่าตัวตาย” เพื่อสอบเข้า “มหาลัย” ปัญหาร้ายที่ไม่ควรละเลย!
เป็นเรื่องที่น่าสลดใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวว่ามีนักเรียน-นักศึกษา “เครียดจัด ฆ่าตัวตาย” ซึ่งข่าวแบบนี้จะมีให้เห็นอย่างหนาหูหนาตาเป็นพิเศษในช่วงของการสอบปลายภาค หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องของการฆ่าตัวตายในช่วงก่อนและภายหลังรู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นั้น เป็นเรื่องที่มีมาให้เห็นกันทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ประเทศเราจะต้องสูญเสียบุคลากรอันเป็นอนาคตของชาติไปเช่นนี้
เรื่องนี้ผิดที่ใคร? ผิดที่เด็กจิตใจอ่อนแอ? ผิดที่ความคาดหวังของครอบครัว? หรือผิดที่ระบบการศึกษามีการแข่งขันสูง?
จิตใจอ่อนแอเองหรือเปล่า?
เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมา หลาย ๆ คนจะตั้งคำถามว่า “จิตใจอ่อนแอเองหรือเปล่า?” “ทำไมมีแค่เด็กบางคนที่ฆ่าตัวตาย?” “แล้วเด็กคนอื่นเขาไม่เครียด ไม่กดดันหรือ ทำไมเขายังผ่านมาได้ รอดมาได้?” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความคิดเช่นนี้อันตรายมาก เพราะเป็นมุมมองที่ละเลยปัญหาและเป็นมุมมองที่โยนความผิดให้แก่ผู้เลือกกระทำการฆ่าตัวตายมากจนเกินไป
เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักหากจะมองว่ามีเพียงแต่ผู้ป่วย "โรคซึมเศร้า"เท่านั้นที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย ที่จริงแล้วมีหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ความเครียดความวิตกกังวลและ ความซึมเศร้าก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง ดังนั้นในกรณีที่มีเด็กฆ่าตัวตายจำนวนมากในช่วงสอบวัดผลการเรียนปลายภาคเห็นได้ว่า ความเครียดในระดับสูงก็สามารถนำไปสู่การตัดสินใจจบชีวิตตนเองได้เช่นกัน ผู้ที่มีความเครียดสูงนั้นอาจตัดสินใจกระทำการอะไรบางอย่างจากความเครียด ซึ่งนำมาสู่ผลลัพธ์ที่น่าวิตกกังวลได้
หลายคนจะชอบว่า “แค่นี้เอง เราก็เคยผ่านมาได้” แต่ก็อย่าลืมว่าเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ เรื่องอะไรของเด็ก ๆ ก็คงจะดูเป็นเรื่องเล็กไปเสียหมด เพราะเรามองดูด้วยมุมมองของคนที่อายุมากกว่า ทั้ง ๆ ที่สำหรับเด็กบางคนแล้วปัญหาเหล่านั้นอาจเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับวัยอายุเท่านั้น…ดังนั้นจึงไม่ควรมองโลกของเด็กและตัดสินปัญหาของพวกเขาด้วยสายตาของคนที่โตแล้ว แต่ควรมองด้วยความเข้าอกเข้าใจต่างหาก ที่สำคัญ ความเครียด ความซึมเศร้า ไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ แต่เป็นสภาวะทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันอื่น ๆ เช่น…
แบกรับความคาดหวังของครอบครัวไม่ไหว
ทุกครอบครัวย่อมอยากเห็นบุตรหลานของตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิต จึงมีการพยายามผลักดันให้พวกเขาเดินไปบนเส้นทางที่พ่อแม่ผู้ปกครอง “คิดว่า” พวกเขาจะประสบความสำเร็จที่สุด เช่นค่านิยม “ต้องเรียนสายวิทย์จบมาเป็นหมอจะได้สบาย” “ต้องเรียนเก่งๆสอบเข้าเป็นข้าราชการจะได้เป็นเจ้าคนนายคน” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วค่านิยมเก่าๆเหล่านี้เป็นค่านิยมที่กำลังฆ่าเด็กอย่างช้า ๆ โดยไม่รู้ตัว เด็กบางคนเติบโตมาในครอบครัวที่มีการแนะแนวและคาดหวังแบบนี้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเห็นทางที่จะประสบความสำเร็จทางอื่นนอกจากเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นครู เป็นข้าราชการ…และเมื่อเขาทำไม่ได้ตาม ความคาดหวังที่หนักอึ้งของครอบครัว เด็กอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นความล้มเหลว…ทำให้พ่อแม่เสียใจ และก็อาจนำไปสู่ความคิดที่ต้องการจะจบชีวิตในที่สุด
นอกจากนี้ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เด็กสอบไม่ติด เช่น เรื่องของการยื่นคะแนนในคณะที่ไม่เหมาะสม หรือจำนวนอัตรารับเต็มแล้วทั้ง ๆ ที่คะแนนของเด็กห่างกันเพียงแค่นิดเดียว ปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ และไม่ได้แปลว่าเด็กเหล่านั้นไม่ได้พยายามมากพอ ดังนั้น ทางที่ดีสำหรับพ่อแม่และครอบครัวในยุคสมัยนี้ก็คือ “อย่าคาดหวังมากเกินไป” การคาดหวังจนสร้างกรอบไปครอบให้เด็กนั้นจะทำให้พวกเขาเกิดความเครียด และรู้สึกไม่มีค่าเมื่อไม่สามารถทำได้ตามที่หวัง การคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี และถ้าหากเขาทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดียิ่งกว่า แต่อย่าลืมบอกกับลูกว่าการที่เขาไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้ทำให้เขาด้อยค่า และไม่ได้ทำให้คุณรักเขาน้อยลง…ซึ่งสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วที่ลูกของคุณอยากได้ยิน
ระบบการศึกษาที่มีแต่การแข่งขัน?
การสอบแข่งขันไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเมื่อ “ที่นั่ง” ในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของประเทศนั้นมีจำกัด นักเรียนจึงต้องพยายามสอบแข่งขันกันเพื่อที่จะช่วงชิงที่นั่งเหล่านั้น สำหรับเด็กวัยมัธยมแล้ว การได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ฝันนั้นไม่ใช่เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่ยังเป็นเรื่องของ "ศักดิ์ศรี"และ "ความภาคภูมิใจในตัวเอง"ของพวกเขาด้วย เด็กบางคนจึงต้องแบกรับทั้งความเจ็บปวดและความผิดหวังเมื่อพวกเขาพลาดหวัง
การศึกษาในแบบที่ไม่แข่งขันกันนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างก็ยังต้องการรักษาระดับและชื่อเสียงทางการศึกษาของพวกเขาในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมา ซึ่งคุณภาพของบุคลากรเหล่านี้จะถูกประเมินตั้งแต่การสอบเข้า…แต่สิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ทัศนคติของคนในวงการการศึกษาอย่างแรกก็คือต้องยอมรับเสียก่อนว่า“คนเก่งไม่ได้มีแบบเดียว” และนักเรียนที่ไม่ได้เรียนเก่งก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาล้มเหลวในชีวิต
เราควรชื่นชมคนเรียนเก่งแต่พอประมาณ พอที่จะเหลือพื้นที่ไว้ให้คนเรียนไม่เก่งได้ยืน และผลักดันให้พวกเขาเติบโตในด้านอื่น ๆ ต่อไป เพื่อที่ว่าจะได้ไม่มีเด็กคนไหนรู้สึกถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวหรือไม่ดีพอ เพียงแค่เพราะว่าเขา…เรียนไม่เก่ง…สอบไม่ติด…หรือทำข้อสอบไม่ได้…
เพราะคุณค่าของคนไม่ควรจะถูกชี้วัดกันแค่เพียงเรื่องเหล่านี้เท่านั้น
ความเห็น 14
ปุ้มปุ้ย
ที่เด็กเครียดเพราะพ่อแม่เอาความคาดหวังเอาความฝันของตัวเองมาลงที่ลูก ชอบชี้เส้นทางให้ลูกต้องเป็นนู่นนี่นั่น พอเครียดมากๆก็ เป็นบ้าบ้าง ซึมเศร้าบ้าง ฆ่าตัวตายบ้าง ให้เด็กเรียนตามที่ตัวเองชอบเถอะ
22 ธ.ค. 2561 เวลา 12.51 น.
Kai-Patra
พ่อแม่น่ะตัวดีกดดันลูก คาดหวังกับลูกมากเกินไป
22 ธ.ค. 2561 เวลา 03.18 น.
หน่อง ท่าพระจันทร์
น้องเข้มแข็งไว้ครับยังมีเส้นทางอื่นให้เราเลือกเดิน
22 ธ.ค. 2561 เวลา 03.01 น.
ณิชชา 3641445459
ฝึกยอมรับความจริง เพราะชีวิตที่มีคุณภาพ มีให้เลือกหลายแบบ ถ้าแบบนี้ไม่ได้ ก็เอาแบบอื่น งานสุจริตอะไร อย่าได้อายที่จะทำ อย่างบางคนเก็บขยะขายน่าอายตรงไหน ถ้าเราเป็นคนดี
22 ธ.ค. 2561 เวลา 02.23 น.
Vitoon
เคยอ่านข่าวนักศึกษาแพทย์ที่เรียนไม่ไหวแล้วฆ่าตัวตาย มีข่าวประเภทนี้หลายต่อหลายข่าวในอินเตอร์เนต สาเหตุหนึ่งเพราะพวกเขาต้องการรักษาหน้าตาทั้งของตัวเองและของพ่อแม่ไว้ เขาจึงยอมตายดีกว่ายอมเสียหน้าว่าพ่อแม่มีลูกโง่ จริงๆ แล้วพวกเขาไม่โง่หรอกนะ แต่พวกเขายึดติดกับค่านิยมทางสังคมมากเกินไป จนกลายเป็นแรงบีบคั้นทางจิตใจทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ถ้าพวกเขาได้ฟังหรืออ่านธรรมะบ่อยๆ เขาก็จะปล่อยวางได้และไม่ทำร้ายตัวเอง อีกทั้งพ่อแม่ก็ควรเข้าใจลูกด้วยว่าการเรียนหมอไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
22 ธ.ค. 2561 เวลา 23.16 น.
ดูทั้งหมด