โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แพงไปแล้วได้อะไร? “ประกันสังคม” สวัสดิการรัฐที่ราคาไม่ได้มาพร้อมกับคุณภาพ!

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2561 เวลา 05.00 น.

แพงไปแล้วได้อะไร!? “ประกันสังคมสวัสดิการรัฐที่ราคาไม่ได้มาพร้อมกับคุณภาพ!

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือน เหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าเป็นต้องร้องแรกแหกกระเชอกันถ้วนหน้า เมื่อมีข่าวออกมาว่าสำนักงานประกันสังคมกำลังจะปรับขึ้นเงินสมทบ จาก 750 บาท เป็นอัตราสูงสุด 1,000 บาท (สำหรับคนที่มีรายได้ 20,000 บาทขึ้นไป)

ส่วนต่าง 250 บาท ดูเหมือนจะไม่ได้มากได้มายอะไรนักหนา จนหลายคนอาจจะบอกว่า ‘เงินเดือนสองหมื่นก็ดูกินหรูอยู่สบาย เก็บเพิ่มแค่นี้จะมาบ่นอะไรนักหนาคะคุณ!’

แต่แหม ต้องส่งเดือนละพัน ปีนึงก็ 12,000 บาท ไม่รวมกับที่นายจ้างต้องสมทบให้อีกเท่านึงตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าในแต่ละปี ประกันสังคมจะได้เงินจากเราไปอย่างน้อยๆ 24,000 บาท - เหลียวดูแบบประกันสุขภาพที่มีอยู่ในท้องตลาด ราคานี้มีแบบเหมาจ่ายได้ค่ารักษาพยาบาลเป็นหลักล้านเลยนะ (ปล. ไม่ได้ค่าโฆษณา)

ที่เรายกไปเปรียบเทียบกับแบบประกันสุขภาพ เพราะในความคิดของมนุษย์เงินเดือนทั่วไปเวลาต้อง (ถูกบังคับ) ส่งเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคม ก็มักจะเห็นว่าเงินที่หักไปเป็นเหมือนเบี้ยประกันที่เอาไว้รักษาตัวยามเจ็บป่วย แต่ในเงินสมทบที่หักไป 750 บาท หรือที่มีแผนจะเพิ่มเป็น 1,000 บาทน่ะ เงินค่ารักษาพยาบาลและกรณีอื่นๆ ถูกหักเข้ากองทุนในส่วนนี้แค่ 1.5% ของเงินเดือนพวกเราเท่านั้นเอง

เท่ากับว่ามีแค่ 225 บาทเท่านั้นที่ไปกองรวมกันไว้เป็นทุนสำรองค่ารักษาพยาบาล (และอื่นๆ)

ดูจากสถิติการเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคมเฉพาะไตรมาสแรกของปี มีผู้ใช้บริการเกือบ 10.5 ล้านครั้ง คิดเป็นรายจ่ายของประกันสังคม 7,175 ล้านบาท จากรายจ่ายทั้งหมด 19,348 ล้านบาท

ในขณะที่รายรับทั้งจากเงินที่พวกเราจ่ายไป และผลตอบแทนที่ประกันสังคมเอาเงินที่ได้มาไปลงทุนต่อ แค่ 3 เดือนแรกของปี ก็ได้มาเหนาะๆ 50,240 ล้านบาท!!

บวกลบคูณหารแบบไวๆ ก็เห็นแล้วว่ายังไง้ยังไง กองทุนประกันสังคมก็ยังคงมีเงินให้ใช้เหลือเฟือ

แล้วจะมาขอเก็บเพิ่มกันไปทำไมกัน?

จริงอยู่ที่ข้ออ้างของประกันสังคมที่บอกว่าขอเพิ่มเพดานเก็บเงินสมทบจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ก็คือ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานในระบบ ได้เงินทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น ได้เงินบำนาญตอนชรามากขึ้น ได้เงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยเกิน 30 วันมากขึ้น

แต่ลองหันมามองความเป็นจริง บริการทางการแพทย์ที่ได้จากการใช้สิทธิ์ประกันสังคมทุกวันนี้ (ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ของแรงงานที่จ่ายเบี้ยประกันสังคม) กลับไม่ได้ให้คุณภาพที่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ในงานวิจัยสิทธิการรักษาพยาบาลของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือ HITAP ก็ยืนยันถึงคุณภาพการให้บริการการรักษาด้วยสิทธิ์ประกันสังคมว่า ‘ด้อยที่สุด’ จากกองทุนสุขภาพอื่นในประเทศ

นอกจากการบริการที่หลายคนอาจจะเคยเจอด้วยตัวเองว่าดูจะมีความ ‘สองมาตรฐาน’ แบบเห็นได้ชัดเจน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่จ่ายเงินสดหรือใช้สิทธิ์เบิกประกันของเอกชน จนเหมือนสิทธิ์ประกันสังคมที่เราโดนบังคับจ่ายเป็นพลเมืองชั้นสองในโรงพยาบาลบางแห่ง 

ในเชิงการจัดการของงบกองทุนเอง ก็ไม่ได้มีการติดตามเงินที่จัดสรรให้แต่ละโรงพยาบาลซึ่งเหมาจ่ายเป็นรายหัว ทำให้การจ่ายยาบางตัวก็ให้ยาที่ราคาถูกที่สุด (ทั้งที่เบิกได้มากกว่านั้น) เพื่อประหยัดต้นทุน หรือบางสิทธิ์ก็ยังน้อยกว่าคนทั่วไปที่ใช้สิทธิ์ 30 บาทอีกต่างหาก

ยิ่งทำให้เราขมวดคิ้วสงสัยไปกันใหญ่ ว่าในเมื่อเงินของกองทุนก็มีเยอะแยะ คุณภาพการจัดการก็ไม่ได้ทำให้เงินที่เอาไปใช้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับแรงงานที่จ่ายเงินให้อย่างเราๆ แถมบริการก็ยังเหมือนไปขอเค้าใช้ซะงั้น แล้วอย่างนี้ ถ้าขึ้นเงินสมทบให้ต้องจ่ายสูงสุด 1,000 บาท จะมีอะไรมาการันตีว่าคุณภาพที่เราจะได้ยามเจ็บป่วย จะคุ้มค่ากับราคาที่เราเสียไปถึง 12,000 บาทต่อปี (หรือ 24,000 บาทถ้านับเงินนายจ้างเข้าไปด้วย)

ถ้าอะไรๆ ก็ยังเหมือนเดิม สู้ขอจ่ายเท่าเดิมตามที่กฎหมายบังคับ แล้วเอาเงิน 250 บาทไปซื้อประกันสุขภาพไว้ใช้เพิ่มเอาเองจากสิทธิ์ที่มีอยู่

คงน่าจะคุ้มค่ากว่าเยอะ!

 

ข้อมูลอ้างอิง:

- https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/02da1f2e77f7257e7490edb3f2641c08.pdf

- https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/081218c39d672db4dd62d803e9cdea8a.pdf

- https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1002330

- http://www.indyconsumers.org/main/information/reports/file/199-2016-06-19-04-38-13.html

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0