โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

“พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ชี้! “โลกโซเชียล” ทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นแค่ “โลกเสมือนจริง”

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 08 ต.ค. 2561 เวลา 13.00 น.

“พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ชี้! “โลกโซเชียล” ทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นแค่ “โลกเสมือนจริง”

หากถามว่า "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ"  คือใคร คำอธิบายที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ คือ เป็นนักบวชที่จบเปรียญ 9 ประโยค ตั้งแต่ตอนเป็นสามเณร และได้เป็นสามเณรนาคหลวง หรือผู้ได้รับบรรพชาอุปสมบทภายในพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศล 

แต่ถ้าหากเสิร์ชคำว่า “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ประโยคต่อท้ายชื่อของท่านมักจะเป็นประเด็นข่าวที่อยู่ในกระแส การวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องการเมือง จนหลายครั้งทำให้ท่านถูกสังคมในอินเทอร์เน็ตตั้งคำถามกลับไปว่า “ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่”

“หน้าที่ของนักบวชคือการให้ปัญญากับคนพระพุทธเจ้าก็ทำงานแบบนี้มาก่อน” 

“อาตมาเป็นคนที่ชอบแสดงทัศนะและให้ประเด็นเกี่ยวกับสังคม อะไรที่เป็นกระแสซึ่งคนกำลังสนใจกันอยู่ และบางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมและศาสนา อาตมาในฐานะของพระก็รู้สึกอยากให้ความเห็นในมุมมองของตัวเอง” 

“อาจไม่ต้องมองในมิติของความเป็นพระสงฆ์ก็ได้ การแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นสาธารณะมันเป็นเรื่องของคนทุกคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงทัศนะส่วนตัวได้ สังคมจะเดินไปข้างหน้าได้เพราะว่ามันมีความผลิบานทางความคิด” 

“และในอีกมิติหนึ่ง หน้าที่ของนักบวชคือการให้ปัญญากับคน พระพุทธเจ้าก็ทำงานแบบนี้มาก่อน ท่านเห็นว่าทัศนะของศาสนาอื่นๆ ในบางเรื่องไม่ถูกต้อง ท่านก็พยายามจะแสดงหรือพูดถึงหลักธรรมในมิติที่ท่านมอง” 

“สังคมใดที่จะมีความงอกงามมันต้องอาศัยความเห็นของคนในหลายๆมุม” 

การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี และสังคมใดก็ตามที่จะมีความงอกงาม มีความสวยงาม มีความหลากหลาย มันต้องอาศัยความเห็นของคนในหลายๆ มุม โดยเฉพาะในมิติทางศาสนา ในมุมมองของนักบวช  อาตมามองว่านักบวชควรจะมีคุณค่าหรือมีความหมายมากกว่าการเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนทางด้านพิธีกรรม ซึ่งทุกวันนี้นักบวชถูกลดทอนบทบาทมากจนเหลือแค่มิติทางพิธีกรรม”
 

“พระสงฆ์ต้องกล้าที่จะออกมาแสดงจุดยืน แสดงความเห็นในเรื่องที่มีผลต่อสังคม ไม่ชี้นำความคิด แต่แค่ให้มันมีเสียงมาจากทางศาสนาว่า แล้วพระมองยังไง ศาสนามองยังไง หรือถ้าเอาวิธีคิดทางศาสนาไปมอง ศาสนามีคำตอบให้กับปัญหาพวกนี้ยังไงบ้าง”
 

“คนไทยมองภาพของพระว่าจะต้องเรียบร้อย พูดน้อย สงบนิ่ง สำรวม คนไทยชอบพระในมิตินี้ แต่ไม่คุ้นชินกับพระที่ถกเถียง หรือมีท่าทีไม่ค่อยสำรวม หรือรับไม่ได้ที่พระแสดงความคิดเห็น อยากให้พูดเรื่องธรรมะอย่างเดียว เมื่อไหร่ที่ไปวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคม คนก็จะรับไม่ค่อยได้ ทำไมเป็นพระไม่อยู่ส่วนพระ ทำไมต้องมายุ่งเรื่องชาวบ้าน”

“เราต้องให้พื้นที่กับคนไม่ว่าเสียงของเขาจะไม่น่าฟังหรือดูไม่ต้องถูก” 

“ส่วนหนึ่งเราอยากบังคับกะเกณฑ์ให้ทุกอย่างเป็นอย่างที่เราคิด เพราะเราไม่ได้ถูกสอนมาให้เคารพความคิดเห็นของคนอื่นอย่างจริงใจ เราไม่ได้ถูกสอนให้มีขันติธรรมมากพอที่จะยอมรับความเห็นต่างในมิติอื่นๆ คือถ้าสังคมส่วนใหญ่มองแบบไหน เราก็คิดว่าความเห็นส่วนใหญ่นั้นถูกต้องแล้ว ดีงามแล้ว แต่พอมีใครสักคนเอาเหตุผลในมิติอื่นๆ มาค้านหรือมาแย้ง ก็จะมองว่าคนพวกนั้นสร้างความแตกแยก ซึ่งอาตมามองว่าทัศนะแบบนี้เป็นทัศนะที่อันตราย

“ที่สุดแล้วเราต้องให้พื้นที่กับคน ไม่ว่าเสียงของเขาจะไม่น่าฟัง หรือพูดในสิ่งที่ดูไม่ถูกต้อง เหมือนที่อาตมาพยายามจะทำและคนชอบถามว่า ‘ทำไมท่านชอบทวนกระแส ทำไมชอบมองไม่เหมือนคนอื่น’ ซึ่งอาตมามองว่า ถ้าคนคิดเหมือนกันหมด มองเหมือนกันหมดมันเป็นจุดที่อันตรายนะ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ต้องคิดเองเป็น ถึงเราจะเห็นด้วยกับคนอื่นก็ตาม แต่มันต้องเป็นความเห็นที่ผ่านความคิดของเราแล้ว ถ้าเรื่องไหนเราไม่เห็นด้วย มันมีบางอย่างขาดตกบกพร่องไป เราต้องกล้าที่จะยืดหยัดว่าฉันไม่เห็นเหมือนพวกคุณ นั่นคือสิ่งที่อาตมาชอบที่จะทำ”  

แต่ในการแสดงความเห็น คุณต้องพร้อมรับกระแสโจมตีเวลาที่คุณแสดงทัศนะที่ไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ แล้วคนไทยเป็นพวกด่าง่าย ไม่ค่อยมีเหตุผล และในโซเชียลฯ มันให้พื้นที่เสรีกับคนที่จะได้พูด ให้แสดงความเห็น คุณไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คุณแค่พิมพ์อะไรก็ได้ที่คุณอยากจะพิมพ์” 

“แต่ในมิติหนึ่งมันก็ดีที่ให้คนมีพื้นที่ ที่จะพูด คิด เขียน แต่มันก็สร้างความรู้สึกไม่ต้องรับผิดชอบหรือการเปิดเผยอะไรที่ดิบๆ อยู่ข้างในของคนให้ทะลักออกมา เราจะเห็นคำพูดหยาบคาย ล้อเลียน เสียดสี ที่มันเกิดขอบเขตของความพอดี”  

 “ปัญหาของคนยุคนี้คือรู้สึกเหมือนขาดแคลนอะไรตลอดเวลา”

 “พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เคยบอกว่า ‘เรื่องทุกเรื่องไม่มีเรื่องไหนที่เราควรจะต้องไปจมกับมัน’ โลกโซเซียลฯก็เหมือนกัน ด้วยความที่ทุกอย่างมันมาเร็ว ไปเร็ว อะไรที่เข้าถึงเรามากๆ บางทีมันก็ดึงเวลาจากเราไป ในยุคที่มีโซเชียลฯ คนส่วนใหญ่มักจะสมาธิสั้น เพราะเราอดไม่ได้ที่จะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูทุกๆ 5 นาที”
 

“ปัญหาของคนยุคนี้คือ เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่ได้อยู่กับตัวเองนานพอ จนรู้สึกเหมือนขาดแคลนอะไรตลอดเวลา อยู่กับความเหงาก็ไม่ได้ อยู่กับตัวเองนานๆ ก็จะรู้สึกว่าเหงา รู้สึกเศร้า ภาวะแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะเราออกห่างจากตัวเองนานจนเกินไป ในทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านสอนหลักธรรมเรื่องของสติ เพื่อให้คนรู้จักอยู่กับตัวเอง จะอยู่กับอะไรก็ได้ กับเฟซบุ๊กก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วคุณต้องควบคุมความรู้สึกนึกคิดของคุณตลอดเวลา”
 

“พระพุทธเจ้าบอกว่า คนเราหมุนไปตามความคิด ถ้าปล่อยความคิดอย่างเดียวเสร็จเลย ถ้ามีความยับยั้งไม่มีปัญหา และความยับยั้งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสติอย่างเดียว อาตมาก็เป็น เวลาเสพโซเชียลต้องใช้สติให้มันมาก ยิ่งอะไรที่เร็วขึ้น สะดวกขึ้น สติมันยิ่งต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

 

“เวลาเราเสพอะไรมากๆ ความรู้สึกนึกคิดเราจะไปตามสิ่งเหล่านั้น เสพแต่ข่าวที่เป็นทัศนคติด้านลบมากๆ ก็ไปรู้สึกว่าโลกมันแย่มาก จริงๆ โลกไม่ได้แย่ โลกมันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เรื่องไม่ดีมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่เราต้องถามตัวเองว่า เป็นเพราะเราเสพแต่เรื่องพวกนี้หรือเปล่า เราเอาอีกส่วนของเราไปเสพข้อมูลที่เป็นด้านบวกบ้างหรือไม่” 

“โซเซียลฯ เป็นตัวฝึกเราอย่างดีถ้าเราใช้ประโยชน์จากมัน มันลดอัตตาเราได้เยอะมาก เพราะว่าเราไปอยู่บนพื้นที่โซเชียลฯ ไม่เหมือนเรานั่งคุยกันแบบนี้ ไม่มีใครนั่งพับเพียบให้ใคร ไม่มีใครนั่งพนมมือเพื่อจะคุยกับใคร บนโลกโซเชียลฯ มีทั้งคนที่เถื่อน ดิบ สุภาพ เราเจอกับคนทุกรูปแบบ และในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนจะยอมรับตัวตนของเราได้ หรือแสดงออกกับเราด้วยความเคารพ นั่นแหละคือสิ่งที่เราได้ไปฝึกกับคนที่เขาไม่ชอบเรา เขาเกลียดเรา 

โซเซียลฯ คือโลกแห่งความจริง เพราะทุกคนได้แสดงออกด้วยตัวตนของตัวเองซึ่งไม่ถูกครอบงำด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ถูกครอบงำด้วยจารีต คุณอยากจะมีตัวตนแบบไหนก็แสดงออกไปเลย คนมีพื้นที่ที่จะเป็นตัวของเขาเองในแบบที่ไม่ถูกครอบงำ โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ต่างหากคือโลกเสมือนจริง เพราะบางอย่างเราอยากจะพูดเราพูดไม่ได้ เราอยากจะทำเราทำไม่ได้”

“แต่จะดำรงตนให้มีความสุขในโลกความจริงและโลกเสมือนจริงได้ ให้คำนึงถึงว่า อย่าทิ้งตัวเอง ข้อเดียวพอ ทำไมท่านติช นัท ฮันห์ ถึงบอกว่า ‘ปัจจุบันเป็นเวลาอันประเสริฐสุด’ เพราะว่าโดยหัวใจของพุทธศาสนาจริงๆ คือการสอนให้เราอยู่กับตัวเอง ฉะนั้นอย่าทิ้งตัวเอง ทำอะไรก็ได้แต่ต้องทำด้วยความรู้สึกนึกคิดตลอดเวลา ต้องมีสติกำกับ รู้ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร”

 

ขอบคุณสถานที่: วัดสร้อยทอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 53

  • Jurarat Weereerat
    เห็นด้วยกับพระคุณเจ้าค่ะ
    08 ต.ค. 2561 เวลา 11.10 น.
  • Anantachai จ้อย
    การที่พระสงฆ์ได้นำเหตุการณ์ต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจเกิดขึ้นในอนาคตมาวิเคราะห์ร่วมกับสังคมจะถือว่าเป็นกิจของสงฆ์อีกแขนงหนึ่งนั้นย่อมได้ครับ
    08 ต.ค. 2561 เวลา 12.35 น.
  • Seiya
    เห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่งครับ
    08 ต.ค. 2561 เวลา 11.55 น.
  • Anantachai จ้อย
    พระภิกษุสงฆ์ไม่มีสิทธิ์ลงสมัครเลือกตั้งเป็นนักการเมือง ฯ ไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งนักการเมือง ฯ แต่สามารถพูด วิเคราะห์ แสดงความคดเห็น ฯลฯ ได้ในกรอบของกฏหมายและวินัยสงฆ์.
    08 ต.ค. 2561 เวลา 12.18 น.
  • คิดดี.ธรรมดี ทำมันดี พูดดี มีแต่สุข เจริญสุขครับ
    08 ต.ค. 2561 เวลา 12.34 น.
ดูทั้งหมด