เรื่องชิงชิง—ไม่ได้พูดถึงบุคคลใด, หากหมายถึงการแย่งชิงและช่วงชิง รวมถึงข่าวคาวของคนดังดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าสื่อจะเปลี่ยนจากกระดาษไปอยู่บนจออิเล็กทรอนิกส์ หรือจากทีวีไปอยู่ในคลิปซุบซิบดารา
ตราบที่เป็นเรื่องของการชิงรักหักสวาท มือที่สาม สี่ ห้า ย่อมตามมาด้วยยอด engagement ล้นหลามอย่างแน่นอน หมดข่าวไปคู่หนึ่ง อีกครู่หนึ่งก็จะมีข่าวของอีกคู่หนึ่งตามมา
เหตุไฉนมนุษย์เราจึงสนใจเรื่องดารามากกว่าการงานที่ตัวเองต้องทำ เหตุไฉนเราจึงให้เวลากับการนินทาเรื่องของคนอื่นมากกว่าใส่ใจปัญหาของตัวเอง เป็นเรื่องที่น่าสละเวลาจากการนินทามาหาคำตอบกันสักหน่อย
หากตอบง่ายๆ คงตอบได้ว่า—เพราะการนั่งถกกันถึงความผิดและความพลาดของคนอื่นนั้นเป็นเรื่องสนุก มันไม่ใช่เรื่องของเรา การได้หัวเราะในความผิดพลาดของคนอื่นย่อมดีกว่าต้องมานั่งกุมกบาลครุ่นคิดถึงความผิดพลาดของตัวเอง
ว่าง่ายๆ—นินทาคนอื่นไม่เจ็บตัว แถมยังรื่นเริงอีกต่างหาก
จึงดูราวกับเป็นธรรมชาติมนุษย์ที่ชอบมองหาความเลวของคนอื่น เพื่อไม่ต้องใส่ใจในความผิดบาปของตัวเอง พูดก็พูดเถอะ มีมนุษย์ขี้เหม็นคนไหนในโลกนี้บ้างที่ไม่เคยทำผิด อย่างน้อยคนดีวันนี้ก็ต้องเคยเรียนรู้จากการทำเลวมาก่อนในวันนู้น
คัมภีร์ไบเบิ้ลจึงมีข้อความเช่นนี้บรรจุอยู่
*“เหตุไฉนท่านมองดูผงที่อยู่ในตาพี่น้องของท่าน แต่ไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน ท่านก็ไม่รู้สึก…ท่านคนหน้าซื่อใจคด จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้” มัธทิว 7: 3-5 *
ส่วนพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
*“โทษของคนอื่นเห็นได้ง่าย แต่โทษของตนเห็นได้ยาก โทษของคนอื่นเอาออกมาเปิดโปงเหมือนโปรยแกลบ โทษของตนปกปิดมิดเม้น เหมือนนักพนันโกงซ่อนลูกสกา” *
ดูเหมือนธรรมชาติข้อนี้ของมนุษย์มิได้เพิ่งผุดขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ หากมีมาเนิ่นนานนับพันปี กระทั่งศาสดาและครูบาอาจารย์ต้องเอ่ยปากเตือนสติกันในหลายวัฒนธรรม
ญี่ปุ่นจึงมีสุภาษิตว่า “ต่อให้เห็นข้อบกพร่องของคนอื่นเจ็ดอย่าง เราก็ไม่มีวันเห็นข้อบกพร่องสิบอย่างในตัวเรา”
ของไนจีเรียสั้นกระชับกว่า “แพะตัวผู้ย่อมไม่รู้ว่าตัวเองเหม็น”
แล้วทำไมเราจึงเพลินใจกับการดมกลิ่นเหม็นของคนอื่นกันจัง
โจนาทาน เฮดต์ นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ ‘วิทยาศาสตร์แห่งความสุข’ หรือ ‘The Happiness Hypothesis’ อธิบายว่า เพราะชีวิตทางสังคมคือเกมการเปรียบเทียบตลอดเวลา เรามักเปรียบเทียบการกระทำของเรากับคนอื่น
เช่นกันกับที่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และแน่นอนว่า เราย่อมอยาก ‘ดีกว่า’ คนอื่น ในใจเราจึงหาเรื่องราวที่เปรียบเทียบแล้วเราดูเป็น ‘คนดี’ เรื่องราวที่เป็นคุณกับตัวเอง
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราสนใจเรื่องชั่วๆ ของคนอื่น (ทั้งที่เราเองก็ชั่วไม่ต่างกัน) แต่ยังมีอีกเหตุผลซึ่งสำคัญกว่าคือ การนินทาร้อยรัดพวกเราเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นสังคม
ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์ที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นคือภาษา ซึ่งถูกวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อทดแทนจากสัมผัสลูบไล้ไซ้ขนกัน ภาษาทำให้คนกลุ่มเล็กๆ ผูกพันกันได้เร็วขึ้น ที่จริงแล้วคนเราใช้ภาษาเพื่อพูดถึงคนอื่นก่อน เพื่อคุยกันว่าใครทำอะไรกับใคร ใครจับคู่กับใคร ใครทะเลาะกับใคร
การพูดคุยจึงเป็นเกมทางสังคม ใครสื่อสารได้ดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะการใช้ภาษาได้ดีจะทำให้คุณรู้จักคนมากขึ้น สนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น ดังเช่นที่พูดกันว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับ know-how เท่า know who
เมื่อมนุษย์เริ่มใช้ภาษาเพื่อคุยกันเรื่องคนอื่น การซุบซิบนินทาจึงตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ พอเราอยู่กันเป็นกลุ่มก้อนในสังคม การแลกเปลี่ยนข้อมูลของคนอื่นสู่กันและกันจึงเป็นวิธีควบคุมสังคมไปด้วยในตัว ยิ่งแพร่ข่าวสารชั่วร้ายของนายประเสริฐศักดิ์ (นามสมมุติ) ออกไปได้มากแค่ไหนก็ยิ่งลดทอนอำนาจของเขาลงไปมากเท่านั้น
การนินทาจึงเป็นการควบคุมพฤติกรรม จัดการกับชื่อเสียง รวมถึงจัดการความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไปในตัว เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า เมื่อไรที่ถูกนินทานั่นแปลว่าตัวเรามีพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ ชื่อเสียงจะกลายเป็นชื่อเสีย และความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เคยมีก็อาจสั่นคลอนหรือขาดสะบั้นลง
ความมหัศจรรย์ของการนินทาอยู่ตรงที่มันมักถูกบอกต่อกันในลักษณะ“ฉันได้ยินมาว่า…” แล้วต่อด้วยประโยคที่ได้รู้มาจากคนอื่น เช่น “นังคนนี้ไปแย่งแฟนของเธอคนนั้น” ทั้งที่ตัวผู้พูดไม่ได้เห็นเรื่องนั้นกับตาตัวเองแม้แต่น้อย ส่วนผู้ฟังก็รับสารไปบอกต่อราวกับได้เห็นมาด้วยตาตัวเอง ธรรมชาติของการซุบซิบก็คือ มันทำให้เรารู้เรื่องราวแย่ๆ ของคนอื่นได้โดยไม่ต้องไปรู้เห็นการกระทำของเขาด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ เรื่องซุบซิบจึงลามเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง
คุณพี่โจนาทาน เฮดต์บอกว่า เรื่องซุบซิบนินทาแทบทั้งหมดเป็นข้อตำหนิติเตียน เรานินทาเพื่อขีดเส้นศีลธรรมให้สังคมและตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาเราส่งต่อเรื่องซุบซิบเหล่านั้น เราจึงรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจมากขึ้น เหมือนเป็นคนถือไม้บรรทัดศีลธรรม ตัดสินถูกผิดดีชั่วได้
ในแง่หนึ่งก็ตลกและประหลาดที่เราสามารถโกรธเกลียดคั่งแค้นคนที่เรานินทาว่าเขาทำผิดได้โดยที่เราไม่เคยรู้จักตัวจริงของเขาเลยด้วยซ้ำ แต่ในอีกแง่การนินทาก็มีประโยชน์ของมันต่อสังคม มันทำหน้าที่เหมือนตำรวจหรือครู ถ้าไม่มีการนินทาเลย สังคมจะไม่ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ อาจเกิดความวุ่นวายอลหม่านขึ้นได้ตลอด
การนินทาคงมีหน้าที่บางอย่างของมัน จึงอยู่เคียงข้างมนุษยชาติมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ในสมัยสังคมชนเผ่าตอนเราเริ่มพูดจาภาษามนุษย์ซึ่งมีผู้คนในวงล้อมอยู่ไม่เกิน 150 คน มาจนถึงวันนี้ที่เรื่องนินทาหนึ่งเรื่องกลายเป็นเรื่องของคนนับล้านผ่านโซเชียลมีเดีย
ไม่น่าเชื่อว่า รูปร่างหน้าตาที่เป็นอยู่ของมนุษย์เรา ส่วนหนึ่งมีผลมาจากการที่บรรพบุรุษบรรพสตรีของเราเป็นคนขี้นินทา เราต้องใช้สมองอย่างมากในการเล่นเกมสังคมที่ว่านี้ จึงเป็นเหตุผลที่มนุษย์ต้องหัวโตอย่างที่เป็น เพราะต้องบรรจุสมองซึ่งมีน้ำหนักเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับใช้พลังงานถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด
ขนาดสมองมนุษย์เพิ่มขึ้นสามเท่าจากวันที่บรรพบุรุษและสตรีของเราแยกสายพันธุ์จากชิมแพนซี ขนาดสมองมีผลต่อขนาดกลุ่มสังคม สัตว์ยิ่งฝูงใหญ่เท่าไรก็ยิ่งมีสมองใหญ่เท่านั้น สัตว์สังคมคือสัตว์ที่ฉลาด และมนุษย์นั้นฉลาดมากเพราะต้องหาวิธีอยู่รอดจากเสียงนินทาที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ไม่อยากคิดว่าในยุคที่การซุบซิบเกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่เร็วเช่นยุคนี้ มนุษย์จะต้องใช้พลังงานสมองไปกับเรื่องนี้อีกมากแค่ไหน
ทั้งหมดนี้อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงสนใจหนักหนากับเรื่องบนเตียง ในอินสตาแกรม ในทวีต และในชีวิตของดาราหรือคนดัง กระทั่งบางครั้งยังอดสงสัยว่า บางคนอาศัยอยู่ใต้เตียงดารากันเลยหรือเปล่าจึงรู้ละเอียดเพียงนั้น ซึ่งจะว่าไปกอซซิบเหล่านี้มิใช่เรื่อง 'ไร้สาระ' อย่างที่ใครชอบบอกกัน มันมี ‘ฟังก์ชั่น’ ของมันอยู่สำหรับสังคม
*ถ้าถามว่าใต้เตียงดารามีอะไร *
คำตอบคือมีศีลธรรม ซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของนักถือไม้บรรทัดเที่ยววัดศีลธรรมชาวบ้านอย่างพวกเราทุกคน เรามีความสุขและเพลินใจเมื่อได้บอกว่าใครเลวใครชั่ว ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้น
เรารู้สึกว่าอย่างน้อยฉันก็ดีกว่าไอ้คนนั้นหรือนางคนนั้น แต่ระหว่างกวัดแกว่งไม้บรรทัดศีลธรรมอย่างสนุกสนานอยู่นั้น ถ้าได้ครุ่นคิดถึงสุภาษิตและคำสอนโบราณของครูบาอาจารย์เสียหน่อยก็น่าจะดี
ระหว่างด่าว่ากลิ่นเหม็นของคนอื่น หันจมูกมาดมกลิ่นเหม็นของตัวเองดูบ้าง
จะได้ไม่ลืมว่า—กูก็เหม็น
*อ้างอิง: ข้อมูลบางส่วนของบทความนี้ได้มาจากการอ่าน ‘วิทยาศาสตร์แห่งความสุข’ โดย โจนาทาน เฮดต์ แปลโดย โตมร ศุขปรีชา สนพ.ซอลท์ *
ความเห็น 5
การมีมารยาทย่อมที่จะทำให้รู้ได้ดีว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือว่าไม่เหมาะสม.
10 ก.ย 2562 เวลา 12.59 น.
Tom
เอาเนื้อหาคนอื่นมาขยายความเป็นของตัวอีกละ
10 ก.ย 2562 เวลา 12.05 น.
ไม่มีตัวตนในสายตา
ก็มีตัวรับน้ำหนักของเตียงไงค่ะ หรือว่ามีนักข่าว
11 ก.ย 2562 เวลา 12.10 น.
PSL
เป็นคนนึงที่ทนอยู่ในกลุ่มคนขี้นินทาไม่ไหว รู้สึกสะอิดสะเอียน
10 ก.ย 2562 เวลา 11.58 น.
ห้องว่าง
มีขี้ฝุ่นมีทุกเตียงนั่นแหละ
10 ก.ย 2562 เวลา 11.51 น.
ดูทั้งหมด