ชาเขียวขวดนั้นคือทรัพย์สมบัติเดียวที่ผมถือติดมือลงจากรถ ในอาณาบริเวณที่ได้รับการเตือนว่า “โปรดระวังทรัพย์สินมีค่า” อ่านคำเตือนจบ ผมไต่สายตามองเรือนร่างตนตั้งแต่เท้าจรดหัวกระทั่งพบคำตอบว่า ในเนื้อตัวแทบไม่มีสมบัติพัสดุใดที่มีราคาค่างวดคู่ควรต่อการเสียเวลาฉกฉวยแต่อย่างใด
วางโทรศัพท์มือถือไว้ และพาชีวิต (ซึ่งอาจมีค่าน้อยกว่ามูลค่าของมือถือในยุคนี้) ลงจากยานพาหนะพร้อมสมบัติเดียวอย่างที่ว่า—ขวดชาเขียว
“หมับ” ไวปานหนุมานแห่งกรุงลงกา ทว่านี่คือพานรน้อยแห่งเขาใหญ่ ขวดชาเขียวของผมหายลับเข้าป่าไปพร้อมสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าลิง และผมไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้สัมผัสแตะต้องมันอีกในชั่วชีวิตนี้
แน่นอนผมเสียดาย เพราะเพิ่งเปิดฝาเมื่อกี้ ยังไม่ทันได้จิบสักหยด กระนั้นผมยังมีมิตรจิตมิตรใจอยากถามไถ่เพื่อนลิงผู้หิวกระหายว่า “ไม่รับหลอดด้วยเหรอครับ” แต่วานรหนุ่มยุค 4.0 อาจมีภารกิจเร่งรีบเกินกว่าจะเสียเวลาเสวนากับมนุษย์ผู้มีน้ำใจ
กระนั้น, ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า ลิงสามารถดื่มชาได้โดยไม่ใช้หลอด
ไวพอกันกับเหล่าวอก วานร กระบี่ กบิล พานรินทร์ทั้งหลายก็คือสองมือที่เสียบหลอดใส่ในภาชนะบรรจุของเหลวตามร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นถ้วย แก้ว กระป๋อง ขัน กะละมังขนาดเล็ก โดยไม่ต้องสนใจว่าข้างในนั้นจะมีสิ่งมีค่าที่เรียกว่า ‘ไข่มุก’ ที่ต้องใช้หลอดสูบดูดขึ้นมาหรือไม่ น้ำใสๆ ก็มีหลอดเสียบมาแล้ว!
นั่นคือความยากลำบากของหญิงชายผู้ต้องการต่ออายุขัยของโลกใบนี้ หากต้องการปฏิเสธหลอดตามร้านรวงต่างๆ เราอาจต้องวิ่งเข้าไปเบรกตั้งแต่พนักงานในครัว “หยุดเดี๋ยวนี้! วางหลอดในมือลงช้าๆ นั่นแหละ อย่างน้าน แล้วค่อยๆ ยกแก้วออกไป
ใช่! แก้วเปล่าๆ นั่นแล” หากไม่ทำเช่นนั้นย่อมไม่ทันการณ์ เพราะเมื่อแก้วปรากฏตรงหน้าเราจะพบว่าหลอดก็ปรากฏอยู่ตรงนั้น เหมือนเมฆคู่ฟ้า ปลาคู่น้ำ กรามคู่เหงือก ทั้งที่แก้วกับหลอดมันไม่ได้คู่กันมาตั้งแต่กำเนิด
พอหลอดเสียบมาให้จะเอาออกก็ไร้ประโยชน์ เพราะหลอดพลาสติกนั้นได้กลายเป็นขยะคู่โลกใบนี้ไปอีก 450 ปีเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าคุณจะใช้หรือไม่ก็ตาม หลอดที่เสียบมาแล้วย่อมลอยเคว้งไปตกลงในถังขยะในที่สุด ความโหดร้ายอีกประการของร้านอาหารซ่อนมาในความปรารถนาดี
เมื่อทางร้าน ‘ฉีก’ หลอดใหม่ๆ มาให้ เพื่อยืนยันให้เห็นว่า นี่เป็นหลอดผุดผ่องไม่เคยผ่านมือชายใด ถ้าไม่ฉีกมายังพอส่งคืนได้ แต่พอหลอดบริสุทธิ์โผล่มาแตะต้องอากาศโลกภายนอกแล้ว ต่อให้ไม่ใช้ ทางร้านก็โยนมันลงถังขยะอยู่ดี เช่นนี้จึงคิดว่า ไปห้ามในครัวอาจจะช้าไป หากอยากช่วยกันไม่ใช้หลอด อาจต้องตามบุกเข้าไปที่หน่วยสั่งซื้อของร้านอาหารทั้งหลาย แล้วบอกให้หยุดตั้งแต่ตอนทำรายการสั่งซื้อหลอดพลาสติก
ผมไม่แน่ใจว่ากองทัพหลอดนั้นพาเหรดมายึดบ้านยึดเมืองกันตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่จำได้ในวัยเด็กก็ยังไม่เห็นมันแพร่หลายขนาดนี้ ผมยังมีโอกาสได้ใช้ริมฝีปากแตะขอบภาชนะอย่างดูดดื่มอยู่บ่อยๆ เป็นไปได้ว่าอาจเริ่มจากเหตุผลเรื่องอนามัยที่ผู้คนใส่ใจกันมากขึ้น
เมื่อต้องใช้ถ้วย จาน ชาม ไห ในที่สาธารณะเราจึงไม่อยาก ‘จูบทางอ้อม’ กับเจ้าของปากที่ไม่รู้จักกัน หลอดจึงเข้ามาคั่นกลางความสัมพันธ์ตรงนั้นและสร้างสุขอนามัยขึ้นมาในร้านสาธารณะทั้งหลาย กระทั่งกลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่อยู่ร่วมโต๊ะอาหารกับเราราวมิตรสหายที่มิอาจหายหน้าหายตาไปจากชีวิต ทุกวันนี้พี่น้องชาวไทยใช้หลอดกันประมาณ 100 ล้านหลอด หรือปีละ 35,000 ล้านหลอด โอ้ว! มายหลอด!
แต่เอาเข้าจริง มนุษย์มิได้เพิ่งมาฮิตหลอดกันในสมัยเราๆ ท่านๆ เท่านั้น อารยธรรมแรกๆ ที่ใช้อุปกรณ์ดูดน้ำนั้นเก่าแก่ราว 5,000 ปี ชาวสุเมเรียนใช้หลอดดูดเบียร์กันอย่างเพลิดเพลิน ต่างแค่หลอดของเขาทำจากวัสดุทนทานอย่างโลหะหรือทองคำ เป็นก้านยาวๆ จุ่มลงไปในไหหมักเบียร์ขนาดยักษ์
ถ้าใครมีฐานะหลอดจะยาวเป็นพิเศษ ฮั่นแน่ มีการประชันหลอดกันด้วย! ชาวอียิปต์ ชาวบาบิโลเนียนโบราณก็ไม่น้อยหน้า หยิบต้นกก ต้นอ้อ ต้นหญ้ามาทำเป็นหลอดดูดเช่นกัน เพราะเครื่องดื่มโบราณจะมีกากเศษซากจากการหมักตกค้างเจือปนกับของเหลวที่อยากนำลงคอ จึงใช้หลอดเข้าช่วย
ส่วนบิดาแห่งหลอดผู้ริเริ่มกระทั่งต่อเนื่องมาถึงสมัยเราๆ คือ มาร์วิน สโตน ซึ่งปิ๊งไอเดียขึ้นมาระหว่างดื่มคอกเทล mint julep ด้วยต้นของหญ้าไรย์ ซึ่งเป็นปล้องที่มีรูตรงกลาง แล้วแว้บขึ้นมาว่าน่าจะประดิษฐ์หลอดที่ดีกว่าต้นหญ้านี้ได้ ด้วยการใช้กระดาษ จึงลองม้วนกระดาษแล้วเคลือบด้วยไขพาราฟิน จัดแจงจดสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1888 ต่อมาอีกสองปีโรงงานหลอดของพี่แกก็ตั้งขึ้นบนโลกใบนี้
คู่ขนานกับที่พี่มาร์วินดูดคอกเทล โลกในปี 1870 ก็เริ่มมีพลาสติกใช้กันด้วยการคิดค้นของจอห์น เวสลีย์ ไฮแอท นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน จุดประสงค์สำคัญคือหาวัสดุมาแทนงาช้าง วัสดุที่ว่าคือไนโตรเซลลูโลส จากนั้นรอเวลาอีกหลายสิบปีพลาสติกจึงได้รับความนิยม แล้วก็แตกดอกออกเครือเป็นข้าวของเครื่องใช้มากมาย
จุดพลิกผันประการหนึ่งที่ทำให้พลาสติกครองโลกอย่างทุกวันนี้คือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งพลาสติกถูกเร่งกระบวนการผลิตจากโรงงานในปริมาณมหาศาลบานตะไทเพราะราคาถูกและคงทน พอสงครามจบลง พลาสติกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ยุคใหม่ไปเสียแล้ว
ในกระแสล้นทะลักแห่งพลาสติกนั้นเอง ที่หลอดพลาสติกก็ถือโอกาสแทรกตัวผอมๆ ของมันเข้ามา เกิดบริษัทผลิตหลอดพลาสติกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเพราะถูกกว่าหลอดกระดาษ ณ ห้วงเวลานั้นไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า มนุษย์กำลังช่วยกันขยายพันธุ์วัตถุที่จะกลายมาเป็นเครื่องทำลายโลกและสิ่งแวดล้อมจนย่อยยับ
มาถึงวันนี้ ‘มายหลอด’ กลายเป็นประเด็นฮิตที่ถูกหยิบมาถกกันอื้ออึง ด้วยเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมหนักหน่วงน่าห่วงขึ้นทุกวัน พลาสติกเองก็โบยบินล่องลอยไปติดคอเพื่อนต่างเผ่าพันธุ์ที่แบ่งปันโลกใบเดียวกับเรา สร้างความวินาศสันตะโรใหญ่โตจากเรือนร่างผอมบางของมัน
แต่เราดันใช้กันวันละหลายร้อยล้านชิ้น การจัดการขยะให้ไม่หลุดลอยไปสร้างปัญหานอกอาณาเขตก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจไม่น้อยไปกว่าการใช้ให้น้อยลง
บางร้านอาหารเริ่มชักชวนผู้คนให้ใช้ริมฝีปากของตนแตะต้องขอบแก้วแบบตรงไปตรงมา เจรจาถามความสมัครใจว่าจะรับหลอดหรือไม่ ทางออกสำหรับผู้ห่วงใยอนามัยตนอาจเป็นการพกหลอดติดตัวซึ่งไม่ลำบากอะไรเพราะขนาดไม่ได้ใหญ่ไปกว่าดินสอปากกา หลอดไม้ไผ่ โลหะ
หรือกระทั่งกระดาษก็ถูกเสนอขึ้นมาเป็นทางเลือก ว่ากันว่าหลอดกระดาษมิได้แพงไปกว่าพลาสติกสักเท่าไร ร้านที่ใช้ย่อมได้ภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแถมไปด้วย
เมื่อลองทบทวนดูเราย่อมเห็นว่า หลอดพลาสติกเป็น ‘ความปกติที่เพิ่งสร้าง’ มาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง สำหรับนักดูดผู้เคยชินยังมีทางเลือกในอดีตอีกมาก ทั้งหลอดกระดาษ และหลอดโลหะ ผู้ที่รู้สึกว่าการพกหลอดส่วนตัวเป็นเรื่องพิสดาร ลองย้อนมองกลับไปถึงยุคโบราณอย่างสุเมเรียนก็อาจอุ่นใจขึ้นว่า ในยุคนั้นถึงขั้นข่มกันด้วยหลอดส่วนตัว ไม่ต่างจากการเอาดาบมาอวดกัน หรือยืมนาฬิกาแพงๆ ของเพื่อนมาใส่กันในยุคนี้
มาถึงตรงนี้บางคนอาจนึกย้อนไปไกลกว่านั้น ในยุคสมัยที่บรรพบุรุษและบรรพสตรีของเรายังวิ่งเล่นในทุ่งกว้าง เขาเหล่านั้นย่อมมิได้ดื่มน้ำผ่านหลอดดูดใดๆ คิดได้ดังนั้น ผมจึงดูดกลืนถ้อยคำแห่งปรารถนาดีที่หยิบยื่นให้กระบี่วานรผู้ฉกเอาน้ำชาจากมือไปให้ไหลลงไปสู่ลำคอ “ไม่รับหลอดด้วยเหรอครับ” จึงไม่ถูกเปล่งออกมา
ซึ่งในอนาคตอันใกล้ โลกน่าจะเปลี่ยนไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง เป็นโลกที่เมื่อเห็นหลอดพลาสติกอยู่ในภาชนะของร้านไหนเราจะรู้สึกแปลกใจและรู้สึกราวกับกำลังนั่งอยู่ในร้านโบราณ
ถึงวันนั้นเราคงมีปัญหาอีกแบบคือ แต่ละคนอาจกลายเป็นนักสะสมหลอดหรูๆ เก๋ๆ เท่ๆ คูลๆ และมีหลอดส่วนตัวกันคนละหลายสิบหลายร้อยหลอด หลอดกลายเป็นสมบัติที่นำมาเบ่งบารมีกันเหมือนสร้อย แหวน นาฬิกา พฤติกรรมการยืมหลอดเพื่อนมาใช้อาจเกิดขึ้นได้จริง
และถ้าไปเที่ยวเขาใหญ่ในอาณาบริเวณแห่งวานรผู้ซุกซน เมื่อเห็นป้ายหรือได้ยินคำเตือน “โปรดระวังทรัพย์สินมีค่า” อาจกลับกลายเป็นว่า
หลอดเป็นสิ่งแรกที่เราจะเก็บไว้บนรถ
อ้างอิง
-ข้อมูลประวัติศาสตร์ของหลอดจากบทความ ‘ประวัติศาสตร์ย่อของหลอดพลาสติก’ โดย ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
ความเห็น 6
อ่านไม่รุเรื่อง😑
08 ส.ค. 2562 เวลา 05.56 น.
Laksamee H.
เราจะค่อยๆ เลิกใช้หลอด จะพกหลอดส่วนตัวไปทุกที่
08 ส.ค. 2562 เวลา 05.14 น.
TOY®🎲
คิดถึงสำนวนมันส์ๆแบบนี้ จังครับ
แฟนตั้งแต่ E=iq^2
07 ส.ค. 2562 เวลา 15.18 น.
เอ๋
การให้ความรู้ คือจำเป็น
พลาสติกตกไปใน ทะเล แม่น้ำ
กลายเป็น นาโน พลาสติก
อยู่ในสัตว์ทะเล เรากิน
นาโนพลาสติก อยู่ในตัวคน
หลอดตามร้านอาหารส่วนหนึ่ง
หลอดร้านสะดวกซื้อ พอปฏิเสธได้
หลอดที่มากับผลิตภัณฑ์
เช่น นมกล่อง พลาสติกช้อน
ชิ้นเล็กโอกาสตกหล่น กำจัดยากขึ้น
ยิ่งคิดปวดกบาล
07 ส.ค. 2562 เวลา 02.51 น.
Pojsible
โอ้..เมื่อก่อนหลอดได้รับการจารึกเป็นนวัตกรรม วันนี้กลายเป็นขยะไปซะแล้ว ถ้าจะเอาถึงขั้นนั้น ใช้กะลามะพร้าวมาเป็นภาชนะเลยครับ ลดแก้วพลาสติก ถุงพลาสติก ถ้าท่านตั้งต้นว่าพลาสติกคือขยะ เอาให้สุดเลยท่าน
06 ส.ค. 2562 เวลา 15.41 น.
ดูทั้งหมด