เคยมั้ยคะ ที่บางครั้งก็ไม่อยากทำงาน ไม่ใช่ขี้เกียจนะ แต่มันคือความไม่อยากทำ !!!
ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ความอยากทำงาน เป็นกุญแจสำคัญไปสู่ความสำเร็จ
เมื่อเราอยากประสบความสำเร็จ เราจะเปิดใจรับคำแนะนำและการพัฒนาเพื่อให้เราทำงานเป็น
เพราะในการทำงาน นอกจากทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงานแล้ว เรื่องความพร้อมทางใจ ก็เป็นเรื่องสำคัญมากๆเลยนะคะ อย่างเช่น การต้องทำงานในสภาวะที่เบื่อหน่าย / การผิดหวังจากการนำเสนองานแล้วต้องแก้ไขหลายๆรอบโดยไม่ได้รับคำแนะนำว่าควรทำอย่างไร / อกหัก ทะเลาะกับแฟน / แมวป่วย หมาตาย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ไม่อยากทำงาน หรือทำไปงั้นๆ
แล้วความตั้งใจในการทำงานของแต่ละคนสามารถจะถูกลดทอนด้วยอะไรบางอย่าง ซึ่งแต่ละคนก็มีความต้านทานต่อแต่ละเรื่องไม่เท่ากันด้วยนะ ก็เลยทำให้หัวหน้าทีม มีบทบาทสำคัญมากๆที่จะรักษาระดับความอยากทำงานของลูกทีมแต่ละคนได้ บางคนทนเรื่องนี้ได้ก็มองว่าปัญหาของคนอื่นเป็นเรื่องเล็กไปซะหมด ในขณะที่เมื่อเป็นเรื่องที่ตัวเองอ่อนแอกลับเรียกร้องความเข้าใจจากทุกคน
หลายครั้งที่เรามักจะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเอามาปนกับงานสิ
แต่ในความเป็นจริง เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอเพื่อนร่วมงานที่มีความท้อแท้ใจ หรือขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน
ในวงการกีฬา นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จทุกคน นอกจากจะมี Coach ที่คอยฝึกความสามารถในการแข่งขัน
จะมีอีก 1 คนที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้น จูงใจให้นักกีฬาสามารถรับมือกับสภาวะต่างๆด้านจิตใจได้ ไม่ว่าจะเป็น ความกดดัน ความท้อแท้ ความผิดหวัง หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นให้เอาชนะในการแข่งขันที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม เราเรียกบทบาทนี้ว่า “Mental Coach”
ใช่ค่ะ … มันคงจะดีถ้าในทีมงานของเรามีใครซักคนที่สามารถกระตุ้นจูงใจทีมงาน ให้กลับมามีสภาพจิตใจที่พร้อมสำหรับการทำงานได้
มีหนังสือชื่อ Practice the five R's to motivate workers. แต่งโดย R. Brayton Bowen. ได้เขียนถึง 5 แนวคิดที่ใช้ในการกระตุ้นจูงใจทีมงาน ให้มีความพร้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานประจำที่ต้องทำในวันที่จิตใจไม่พร้อม หรืองานใหม่ที่มีความท้าทายยากและท้าทายมากขึ้น #กายพร้อมใจพร้อม #เราทำได้ ค่ะ
มาดูกันว่า ประกอบไปด้วย อะไรบ้างนะคะ
Responsibility
สื่อสารหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจนอยู่เสมอ หมายความว่าพนักงานทุกคนต้องรับทราบและเข้าใจก่อนว่าตัวเองมีหน้าที่อะไร และเมื่อหัวหน้างานต้องการจะกระตุ้นหรือจูงใจให้ทำงานในภาวะที่พนักงานจิตใจอ่อนแอ ก็เริ่มต้นด้วยการกระตุ้นให้พนักงานรู้ว่าเราทุกคนมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ และต้องทำให้สำเร็จ แต่ถ้าเป็นกรณีของการจูงใจให้รับผิดชอบงานที่ยากและท้าทายมากขึ้น ต้องเริ่มจากการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิด และวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้พนักงานรู้สึกถึงความภูมิใจที่หัวหน้าไว้ใจให้เขาได้ลองคิดสิ่งใหม่ๆ ท้าทาย หลีกเลี่ยงการออกคำสั่งแบบ one way communication นะคะ
.
Respect
ให้การยอมรับและการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างสุภาพ ในบางครั้งที่สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมของพนักงานได้ส่งผลต่องานไปบ้างแล้ว หัวหน้างานก็ควรจะเรียกพนักงานคนนั้นมาพูดคุยเพื่อสอบถามปัญหาที่เกิดขึ้น และให้เกียรติพนักงานด้วยการไม่ตัดสินว่าเหตุการณืที่เกิดขึ้นกับพนักงานเป็นเรื่องเล็ก และต้องไม่ใช้อารมณ์และคำหยาบคาย หรือการออกคำสั่งโดยไม่รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น
.
Relationships
หัวหน้าควรจะต้องสร้างความเป็นมิตรให้กับลูกน้อง ทำให้ลูกทีมรู้สึกว่าถ้ามีปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อทีม ลูกทีมจะต้องไม่กลัวที่จะมาแจ้งและอธิบายเหตุผลว่าเป็นเช่นไร และจะช่วยกันอย่างไรที่จะช่วยกันแก้ปัญหา นอกจากนั้นแล้ว ถ้าพนักงานในทีมมีปัญหา หัวหน้าก็ควรจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ แสดงความห่วงใยและให้คำแนะนำอย่างเป็นกันเอง การสร้างให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็น Team เดียวกันก็สำคัญนะคะ เพราะจะช่วยกระตุ้นเตือนสมาชิกให้ระลึกว่าเราทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบเป้าหมายของทีมร่วมกัน หัวหน้าทีมต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกันของทีมงานให้ได้ค่ะ
.
Recognition
การชื่นชมและการยอมรับในผลงานของพนักงานไม่ว่าจะเป็นงานที่สำเร็จลุล่วงไปแล้วหรือเป็นงานที่ต้องทำเป็นส่วนๆ เป็นสิ่งที่สร้างแรงกระตุ้น ความภูมิใจ และกำลังใจให้กับลูกน้องเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ทุกคนกลับมาอยู่กับเป้าหมายในการทำงานได้ หรือแม้กระทั่งงานที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หัวหน้าก็ต้องให้ความช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำ ไม่ใช่เอะอะก็ด่าไว้ก่อนเพื่อขู่ให้กลัว >< จะยิ่งเป็นการกดดันให้พนักงานที่อยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม เตลิดเปิดเปิงไปไกล
.
Reward
การยกย่องและการให้รางวัลตอบแทนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจและสร้างแรงกระตุ้นในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เช่น เงินพิเศษ โบนัส หรือ การปรับเงินเดือน หรืออาจจะใช้การให้รางวัลด้วยการไปดูงานต่างประเทศ โอกาสในการได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น เพราะเมื่อได้รับเงินรางวัลไปเรื่อยๆ หลายคนอาจจะไม่คิดว่าเงินเป็นแรงจูงใจในการทำงานเพียงอย่างเดียวที่ต้องการ และหัวหน้าควรสร้างแรงผลักดันให้พนักงานมีโอกาสได้ลองทำงานเพื่อพิสูจน์ความสามารถซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวขององค์กรอีกด้วย
เพราะฉะนั้น องค์กรอย่ามุ่งแต่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ให้พนักงาน โดยไม่สนใจการสร้างบรรยากาศที่ดี และรับฟังความต้องการของพนักงานนะคะ เข้าใจได้ว่าอะไรที่มากไปย่อมไม่ดี แต่จะไม่สนใจความรู้สึกของทีมงานเลยก็ไม่ได้เนอะ
เอาเป็นว่าหลังจากนี้ หากสังเกตเห็นว่าพนักงานคนไหนมีพฤติกรรมในการทำงานที่เปลี่ยนไป
ไม่ควรเริ่มต้นจากการตำหนิ แต่ควรเริ่มจากการให้ความสนใจ ใส่ใจก่อนนะคะว่าเกิดอะไรขึ้น
อาจจะใช้เวลามากกว่าการตำหนิ หรือออกคำสั่งในทันทีแต่ก็จะช่วยให้สามารถดึงทีมงานคนนั้นกลับมาสู่เส้นทางเดียวกันได้
ทำความเข้าใจนะคะว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน
วันนึงอาจจะเกิดกับเราเองก็ได้
ถึงวันนั้นเราก็ต้องการความเข้าใจและกำลังใจจากใครบางคนเช่นกัน
#รักนะคะ
#เจ้าหญิงแห่งวงการHR
ความเห็น 9
Narin
มันเป็นข้ออ้างครับ
หาเหตุผลมาสนับสนุนตนเอง
งานเป็นหน้าที่-ความรับผิดชอบ
ควรผลักดันตนเองให้ทำ
และทำให้ดี
31 ต.ค. 2562 เวลา 03.20 น.
zhiea
เคยเป็นไหม
ขยันแทบตาย
มาเช้ากว่า กลับดึกกว่า
ทำงานเยอะกว่า
แต่ได้เงินเดือน/โบนัส
น้อยกว่าคนทำงานน้อย
มาสาย กลับเร็ว
31 ต.ค. 2562 เวลา 03.34 น.
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
เคยนะ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะงาน แต่เป็นเพราะระยะทางค่ะ คือมันไกล จนมีความรู้สึกเหนื่อยล้าที่ต้องเดินทางแต่เช้า กลับก็กว่าจะถึงบ้านเย็นมากๆเลย มันเป็นตัวบั่นทอนจิตใจ แม้จะรักงานก็ตาม
31 ต.ค. 2562 เวลา 03.58 น.
บางครั้งในการมีเป้าหมายไว้ให้กับชีวิต ก็สามารถทึ่จะช่วยทำให้เป็นแรงบันดานใจให้กับตัวเองได้เหมือนกัน.
31 ต.ค. 2562 เวลา 05.01 น.
ผมเลย 555
31 ต.ค. 2562 เวลา 03.41 น.
ดูทั้งหมด