โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความไม่รู้ และการไม่ตัดสินไปก่อน –สร้างพลังให้อีกฝ่ายได้อย่างไม่น่าเชื่อ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 11.07 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

ในโลกแห่งความรอบรู้ชั้นสูง

ความฉลาดปราดเปรื่อง

เป็นเรื่องเยี่ยมมาก หากทุกคนจะมีข้อมูลของเรื่องต่างๆ มากมายรอบตัว

เก็บเอาไว้ในคลังสมอง

และนำมันออกมาขัดเกลา ประมวลผล ถกเถียง

เพื่อให้บทสนทนาของเรากับอีกฝ่าย

ถ่ายทอดออกมาอย่างมีรสชาต มีความสนุกมากยิ่งขึ้น

 

 

 

แต่บางครั้ง ความรอบรู้ และข้อมูลที่แน่นของเรา

มันอาจไป กด ความรู้สึกของใครเขาโดยไม่รู้ตัว

ยิ่งโดยเฉพาะในห้องของการบำบัดจิตใจกับคนไข้ด้วยแล้ว

ความรู้ทางจิตวิทยาและเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพจิตใจทั้งหลาย รวมไปถึงการสังเกตอาการ หยั่งรู้ความเสี่ยงอันตรายของคนไข้ที่จะทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น ความรู้เรื่องกฎหมายในวงการการบำบัด

ข้อมูลทุกอย่างนี้ นักจิตบำบัดต้องแม่นมากระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและเพื่อเข้าใจสภาวะอารมณ์และร่างกายของคนไข้ได้อย่างชัดเจนขึ้น

แต่!

หลายครั้งที่นักจิตบำบัด มองคนไข้ด้วยความรู้ที่เรียนมาเป็นหมอกปกคลุมบรรยากาศของการสนทนาทั้งหมด และรีบตัดสินว่าคนไข้เป็น ‘โรค’ อะไร

โดยลืมเผื่อระยะห่างของจิตใจ สร้างพื้นที่ให้คนไข้ได้อธิบายในสิ่งที่เขาเป็น

 

 

 

เป็นเพราะคนไข้ที่มาหาตัวเราเอง เป็นกลุ่มคนไข้ที่ ‘ไม่เป็นอันตรายรุนแรงต่อตัวเองหรือสังคม’

นั่นหมายถึง เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอาการทางจิตใจหนักถึงขั้นต้องส่งเข้าโรงพยาบาลหรือให้ยา

แนวทางการเยียวยาคนไข้ของเรา จึงเป็นการให้ ‘คนไข้เป็นใหญ่ และเป็นศูนย์กลาง’

แทนที่เราจะรับฟังคนไข้ด้วยการพยายามเปลี่ยน ‘ความคิดลบ’ ของคนไข้และรีบแทนที่มันด้วย ‘ความคิดบวก’ ตามบรรทัดฐานของสังคม

มันอาจจะฟังดูดาร์ค แต่เราจะค้นหา/ผจญภัยให้ลึกลงไปกับคนไข้เลยว่า

‘ความคิดที่คุณว่าลบน่ะ มันมีความหมายต่อตัวคุณอย่างไร หรือมันกำลังพยายามบอกอะไรคุณอยู่รึเปล่า’

เมื่อไหร่ก็ตามที่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกิดขึ้น

เมื่อนั้น คุณถึงจะเป็นอิสระต่ออารมณ์อะไรก็แล้วแต่ที่มันพันธนาการคุณมาเนิ่นนาน

 

 

 

 

ไม่เรียกคนไข้ด้วยชื่อโรค

คุณไม่ได้เป็น ‘ซึมเศร้า’

คุณแค่มี ‘อาการ’ ซึมเศร้า

มันเป็นสิ่งที่เข้ามาปะทะกับคุณ อาจเข้ามาฝังอยู่ในตัวคุณสักระยะ

แต่มัน ‘ไม่ใช่คุณ’ เมื่อมันเลือกจะมาได้ มันก็เลือกจะออกไปได้เหมือนกัน

การเรียกใครสักคนด้วยชื่อโรคตามที่ตำราบอกมา

มันปิดโอกาสให้คนไข้ได้ลองเลือกทางเดินชีวิตทางอื่นของเขาได้เลย

นอกจาก ‘โรค’ ที่เราโยนไปให้เขาต้องแบกไว้

แนวโน้มต่อไป คือการอยู่ในโลกนี้แบบ ‘เป็นเหยื่อ’ ของเขา

เป็นภาระ

เป็นศัตรูต่อความสดใส

เป็นภัยต่อส่วนรวม

และความเชื่อของสังคมต่อ ‘ป้ายชื่อโรค’ ต่างๆ ที่จะตามมา

แต่หากลองมองอีกมุม

คุณรู้สึก ‘เศร้า’

(เช่น) เพราะคุณโดนเพื่อนที่คุณไว้ใจที่สุดชีวิตหักหลัง

คนๆ นั้นสามารถคิดโทษตัวเองได้ว่า ฉันมันโง่ ปล่อยให้คนมาทรยศความรู้สึกตัวเองได้ยังไง

แต่ในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ‘มันมีเส้นเรื่องมากมายที่อาจมาขนานกันจนเหมือนจะกลายเป็นเส้นเรื่องเดียว’

หากเราค่อยๆ ใช้เวลาเดินทาง ทำความเข้าใจไปในแต่ละเส้นเรื่อง

แล้วให้โอกาสคนไข้ ได้เลือกเส้นเรื่องที่เขารู้สึก ‘ใช่’ ที่สุด

อาจเป็นการบำบัดที่ยาวนาน แต่ความหมายของชีวิตที่ได้ มันจะมีค่าต่อจิตใจมากกว่า เพราะมันมาจากก้นบึ้งที่เป็นเรื่องจริง

‘การที่เราเสียใจจนเหมือนหัวใจแหลกสลาย เพราะเพื่อนที่เราไว้ใจที่สุดนั้นหักหลัง

นั้นแปลว่า หัวใจของเราบริสุทธิ์ และมีอานุภาพสูงในการมอบความรักที่หวังดีออกไปให้ใครสักคน ยิ่งรักมาก = ยิ่งเจ็บมาก หากเราไม่เสียใจเลย นั้นแปลว่า หัวใจของเรานั้นแข็งเป็นหิน ชินชาต่อโลกแห่งความรู้สึกนี้รึเปล่า เราอยากมีชีวิตที่หัวใจด้านชานี้ไหม? เราลองใช้เวลาสักนิดมาเชิดชูหัวใจที่น่ารักของเราหน่อยดีไหม’

เป็นต้น

 

 

 

เมื่อเราปล่อยให้คนไข้มีสิทธิดำเนินเรื่องชีวิตของเขาด้วยตัวเขาเอง

แล้วเราก็ทำหน้าที่ช่วยค้นหาเรื่องราวที่ มีค่าต่อจิตใจ สำหรับคนไข้

เราทำหน้าที่แค่เป็น ‘ผู้ร่วมเขียน’ เรื่องราวชีวิตของเขา

เรามองโลกของเขา ตามแบบที่เขามอง

โดยไม่ยัดเยียดความลำเอียงทางความเห็นใดๆ ไปให้

พลังที่เขาค่อยๆ สร้างขึ้นมาด้วยตัวของเขาเองเป็นหลัก

การรับรู้อย่างกระจ่างด้วยตัวเขาเอง

มันยิ่งใหญ่และหนักแน่น

เป็นช่วงเวลาที่น่าภูมิใจกว่าถ้าเราไปบอกเขา ให้เขามีความคิดตามแบบที่เราเชื่อเยอะเลย

 

---------------------------------------------------------------------------------

 

ในการดำเนินชีวิตปกติของเรา

มองคนให้เห็นเนื้อแท้ของเขาคนนั้น

ไม่ใช่สิ่งที่สังคมตีกรอบให้เขาเป็น

‘เธออยากให้เรามองเธอแบบไหน?’

ให้โอกาสเขาได้ให้ความหมายชีวิตของเขาที่มีต่อโลกด้วยตัวเขาเอง

ให้พื้นที่เขา ได้เป็นตัวตนที่แท้ของเขา

แล้วนั่นจะทำให้เราได้รู้จักใครสักคนอย่างลึกซึ้งและพิเศษขึ้นในทันที

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 5

  • เรื่องนี้พิสูจน์ได้
    29 พ.ค. 2563 เวลา 01.51 น.
  • Ton.
    ขอบคุณมากครับ
    27 พ.ค. 2563 เวลา 11.56 น.
  • ผมคิดว่าคนเรานั้นไม่ว่าคิดที่จะทำอะไรก็ตาม หากว่าได้คำนึงถึงในเรื่องของความรู้สึกของกันบ้างก็คงจะดี เพราะว่าในสิ่งนั้นก็อาจสามารถที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมาได้เหมือนกันนะครับ.
    26 พ.ค. 2563 เวลา 21.58 น.
  • อยากรู้จักก็ลองมาคบกันดูจริงๆจังๆ เสี่ยงกันดูซักตั้ง ไม่ใช่เอาแต่แซะกันไป แซะกันมา มันก็ไม่จบซักทีหรอก ปวดหัวอีกต่างหาก
    26 พ.ค. 2563 เวลา 14.37 น.
  • ทุกคนมีปมในใจ หรือเรื่องราวที่ฝังใจในวัยเด็ก ทั้งเรื่องที่เป็นความทรงจำ ผูกพันธ์ ความสัมพันธ์เก่าก่อน และปมปัญหาชีวิตในวัยเด็ก การเรียกเราว่าเด็กมีปมมีปัญหาจริงๆ คือมันเป็นกันทุกคน ถามว่าคนถูกคนอื่นว่าเด็กมีปม เชื่อว่าไม่มีใครชอบค่ะ คนที่ชอบว่าแต่คนอื่นมีปม ตัวเขาเองก็มีปม เราจะแกะปมนั้นได้ยังงัยค่ะ..ขอบคุณค่ะ
    26 พ.ค. 2563 เวลา 14.22 น.
ดูทั้งหมด