เรารู้สึกว่า นอกจากการ ‘โทษเหยื่อ’ แล้ว
ในบริบทของ sexual harassment หรือการถูกคุกคามทางเพศ
หลายเหตุการณ์ยังถูก ‘ปัดให้มันเป็นเรื่องปกติ’
เหมือนบอกเป็นนัยให้คนที่ถูกคุกคามต้อง ‘ทำใจ’
ว่าโลกก็เป็นของมันอย่างนั้นแหละ จะไปเครียดทำไม ‘เราทำอะไรไม่ได้หรอก’
ซึ่งจริงๆ แล้ว ปัจจัยที่บ่งบอกว่าใครก็ตามกำลังถูกคุกคามทางเพศนั้น มันขึ้นอยู่กับ ‘การยินยอม’ ของอีกฝ่าย นั้นหมายถึง หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ใครก็ตามที่พูดจาหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความต้องการของอีกฝ่าย และมีลักษณะล่อแหลมไปในทางเพศ ก็นับเป็นการคุกคามทางเพศได้ทั้งนั้น
และการคุกคามทางเพศ ก็ไม่ได้มีแค่การข่มขืนอย่างอุกอาจ หรือการใช้ความรุนแรงและมีเพศสัมพันธ์โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้ยินยอม เหมือนที่เห็นในข่าวบ่อยๆ อย่างเดียวเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงอีกหลายเหตุการณ์ที่มักมีเรื่องเพศแฝงอยู่ มีรายละเอียดยิบย่อยดังนี้
(เรายกตัวอย่างเหตุการณ์ให้ฟัง เพื่อให้เห็นพอเป็นแนวทางและเข้าใจว่านี้คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่จริงๆ แล้ว การลวนลามทางเพศยังเกิดขึ้นในอีกหลายรูปแบบมาก และเพื่อให้ทุกคนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเสียใจ/ฟ้องร้อง/เรียกหาความเป็นธรรมได้ทั้งนั้น)
- การคุกคามด้านเพศสภาพ - Gender Harassment
คือการเหยียดเพศสภาพของอีกฝ่าย เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศใดๆ แต่เป็นการใช้ข้อความจู่โจมอีกฝ่าย จากความคิดแคบๆ ของผู้พูดที่มีต่อเพศนั้นๆ
เช่น ‘คุณไปไม่รุ่งในสายงานนี้หรอก เพราะคุณเป็นเกย์’
หรือ อันนี้เป็นประสบการณ์โดยตรงของเพื่อนที่มาบ่นให้เราฟัง ว่าแฟนของเธอขู่เอาไว้ว่า ถ้าเธอเลิกกับเขา เธอก็เหี่ยวแล้ว ผู้หญิงแก่ๆ ‘ไม่มีใครเอาหรอก’
- เมื่อเราไม่ได้เต็มใจจะเป็นจุดสนใจเรื่องเพศ - Unwanted Sexual Attention
สถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดและออกไปในเชิงไม่เหมาะสม
เช่น การนำรูปของผู้หญิงคนหนึ่งไปตัดต่อในทางโป๊เปลือย
หรือ การตะโกนแซวใครบางคน จนคนนั้นรู้สึกกระดากกระเดือกใจ ‘มาเป็นแฟนกับพี่มั้ยน้องงง’ เป็นต้น
หรือ มีคนๆ หนึ่งส่งรูป ‘ของลับ’ ของตัวเองไปให้อีกฝ่าย โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้ต้องการ
หรือ การไปสัมภาษณ์งาน แล้วผู้บริหารพูดว่า ‘คุณใส่ชุดนี้แล้วดูดีมากเลยครับ’ ทั้งๆ ที่ ‘ความสวยงาม’ มันไม่ได้อยู่ในรายละเอียดของการสมัครงานนี้แต่อย่างใด
หรือ การที่ผู้ชายล้อเลียนผู้หญิงสักคนว่า ‘โอ้โห ตู้มมากเป็นลูกแตงโมเลย’
ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจจะมองว่า ‘เขาก็ชมนี่นา ไม่ได้ด่าว่าน่าเกลียดซะหน่อย ทำไมต้องหงุดหงิดด้วย’ ก็จะขอวนมาที่เรื่อง ‘consent’ หรือการยินยอมนี้อีกครั้ง คนบางคนไม่ได้อยากจะเป็นจุดสนใจเรื่องนี้ และมันยิ่งทำให้เขาอับอายจากความสนใจที่เขาไม่ได้ต้องการ ลองคิดดูว่า ถ้าคนๆ หนึ่ง แค่อยากจะไปโรงเรียน หรือไปทำงาน เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แต่ต้องทนฟังข้อความล้อเลียนไปในทางไม่เหมาะสมต่างๆ จนทำให้เขาอึดอัด เขาคนนั้นจะมีความสุขกับสิ่งที่เขาตั้งใจทำให้สำเร็จอยู่ได้อย่างไร
- การฉวยโอกาส บังคับขู่เข็ญเรื่องเพศต่างๆ
เอาข้อผูกมัดอย่างอื่นมาล่อลวงให้อีกฝ่ายกระทำการเรื่องเพศด้วย
เช่น ผู้กำกับละคร บอกผู้หญิงคนหนึ่งว่า ‘มีอะไรกับพี่คืนนี้ เรื่องหน้าพี่จะให้เล่นเป็นพระเอก’ หรือเจ้านายที่บอกลูกน้องว่า ‘ไปบ้านพี่คืนนี้ แล้วพี่จะเลื่อนตำแหน่งให้’
หรือ คุณครูพูดว่า ‘ถ้าไม่ยอม…(กระทำการน่ารังเกียจบางอย่าง)…ให้ครู ครูจะไม่ให้เกรดสี่’
หรือ การล่อลวงให้ใครสักคนไปเป็นโสเภณี
หรือ การที่ศาสดาของลัทธิหนึ่ง บังคับเด็กผู้หญิงให้มีอะไรกับเขา ‘เพราะพระเจ้ากำหนดมาแล้ว’ (เรื่องราวแบบนี้ เกิดขึ้นบ่อยมากกับลัทธิแปลกๆ มากมายในโลกนี้)
- การลวนลามทางเพศ
สถานการณ์บางอย่างเกี่ยวกับเรื่องเพศที่มีคนทำกับเรา หรือบังคับให้เราทำโดยไม่เต็มใจ รู้สึกอึดอัดใจ ไม่ว่าจะเป็น การที่ใครสักคนเอามือมาวางไว้ที่เข่าหรือหน้าตักของเราโดยที่เราไม่ได้เต็มใจ
หรือ ผู้หญิงคนหนึ่ง บังคับให้ผู้ชายจับหน้าอกของเธอ (ต้องอย่าลืมว่า ไม่ว่าเพศไหน ก็สามารถเป็นเหยื่อของการถูกลวนลามทางเพศได้ และเพศไหนก็สามารถเป็นผู้กระทำได้เหมือนกัน)
- การข่มขืน
ถ้าแปลตรงตัวให้เห็นภาพ ก็คือ ‘การสอดใส่อะไรสักอย่าง เข้าไปในอวัยวะเพศของอีกฝ่าย โดยที่อีกฝ่ายไม่ได้เต็มใจหรือสมยอม’
ในที่นี้คือ ไม่ว่าจะเป็น อวัยวะเพศ-อวัยวะเพศ
การใช้ปาก การสอดใส่ด้วยนิ้ว
หรือแม้กระทั่งใช้ด้ามไม้กวาด หรือไม้สนุกเกอร์ (เจอบ่อยมากในโรงเรียนมัธยมของฝรั่ง)
บางครั้ง สิ่งที่เราโดน อาจเป็นเหตุการณ์ที่ดู ‘สีเทา’
ทำให้เราเกิดความสับสนว่ากำลังถูกคุกคามอยู่รึเปล่า
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ
เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกอัดอั้นใจ นั้นหมายถึงมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติแล้ว
การจัดการกับปมแห่งความเจ็บปวดของตัวเองนั้น
ต่างกันไปในแต่ละคน
มันไม่เกี่ยวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ‘จะดูรุนแรงแค่ไหนในสังคม’
หากเราเจ็บปวด –ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นยังไง เรามีสิทธิจะรู้สึกรวดร้าวกับมันได้ทั้งนั้น
และเราก็มีสิทธิจะ เยียวยา ตามช่วงเวลาที่เราพร้อม ด้วยเช่นกัน
หากคุณกำลังประสบปัญหาการถูกลวนลามทางเพศหรือมีคนรู้จักที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ สามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาและรับความช่วยเหลือได้ที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง และ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
ติดตามบทความจากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร
ความเห็น 8
ภีศเดช
เรามักจะนึกถึงเฉพาะการที่ผู้ชายคุกคามทางเพศผู้หญิงด้วยวิธีการรุนแรงและเห็นได้ชัด เช่น ข่มขืน แต๊ะอั๋ง พูดจาลามก แต่ยังมีการคุกคามอย่างอื่นๆ เช่น การจ้องมอง หรือแอบมอง การดักรอตามจุกต่างๆ การแอบมองทางกล้องวงจรปิดของรร. คอนโอ อพาร์ตเมนท์ โดยเจ้าหน้าที่หรือคนที่สนิทกับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น และมียังมีการที่ชายที่มีรสนิยมชอบชาย หรือชอบทั้งสองเพศคุกคามผู้ชายอื่น เช่น การมอง การแอบดูทางกล้อง การดักรอ และการแต๊ะอั๋ง รวมอยู่ด้วย แต่สังคมยังไม่ค่อยให้ความสำคัญนัก และยังไม่ช่วยปกป้อง แถมบางครั้งกลับสนับสนุน
22 พ.ค. 2563 เวลา 03.18 น.
m@gnum
สมัยนี้สงบปากสงบคำไว้ดีที่สุด ผญ.มีความเยอะ ชมว่าสวย ก็อาจซวยโดนตีความว่าคุกคามทางเพศได้
20 พ.ค. 2563 เวลา 11.39 น.
อนุศักดิ์ มิตรภักดี
โฆษณาเข้ามาแน่นเลยนะ
20 พ.ค. 2563 เวลา 11.15 น.
AWSL
การปล่อยซีรี่หนังละครต่างๆ แล้วมีฉากกอดจูบรัดฟัดยั่วโชว์ ก็เป็นการคุกคามทางเพศเหมือนกัน และคุกคามอย่างแรงด้วย ลองนึกดู นั่งอยู่บ้าน3-4แม่พ่อลูกเล็กๆ ต้องมานั่งอึดอัดกับฉากพวกนี้ ไม่กล้าเปลี่ยนช่อง อาย เงียบกริบ ปล่อยผ่านไป คนตั้งกระทู้นี้คงคิดไม่ถึงใช่ไหมครับ ลองกลับไปลองทำที่บ้านดูนะ
20 พ.ค. 2563 เวลา 07.04 น.
Tan
การที่ผู้หญิงแต่งตัวโป๊ๆ ก็เป็นการคุกคามต่อเพศชายครับ เพราะจะทำให้น้องชายตื่นตัว สร้างความอับอายต่อผู้ชายเป็นอย่างยิ่ง
19 พ.ค. 2563 เวลา 14.09 น.
ดูทั้งหมด