โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้ก่อนโดนแบน! เมื่อคนดังโดนสังคม 'คว่ำบาตร'

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 02 ก.ค. 2565 เวลา 17.00 น. • AJ.
ภาพโดย rawpixel.com / freepik.com
ภาพโดย rawpixel.com / freepik.com

บางครั้ง ผลกรรมก็เดินทางมาแบบดิจิทัล

เคยได้ยินว่าก่อนโพสต์ ก่อนแชร์อะไร ให้ใคร่ครวญดี ๆ อย่างรอบคอบ เพราะสิ่งที่เราแสดงออกในอินเทอร์เน็ต จะคงอยู่ตลอดไป โดยเฉพาะโลกยุค 4G ที่ทุกอย่างเดินทางไวกว่าแสงเช่นทุกวันนี้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเห็นดาราเบอร์ใหญ่ในวงการบันเทิงไทยหลายคนถูก "แบน" โดยชาวเน็ตอย่างต่อเนื่อง เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากคอมเมนต์หยาบคาย หรือการกระทำในอดีตที่หลายคนมองว่าไม่เหมาะสม ยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับจุดยืนทางการเมือง หรือเสรีภาพในการพูดด้วยแล้ว สังคมก็จะยิ่งใส่ใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

รู้จัก "วัฒนธรรมการแบนหรือคว่ำบาตร" (Cancel Culture)

วัฒนธรรมการ "แบน" หรือ "คว่ำบาตร" (Cancel Culture) เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2018 นี้เอง โดย Merriam-Webster สำนักพิมพ์ดิกชันเนรีของสหรัฐอเมริกา นิยาม Cancel Culture เอาไว้ว่า การที่โลกออนไลน์เริ่ม "แหก" ดาราหรือผู้มีชื่อเสียง รวมถึงการกระทำที่เป็นการขุดพฤติกรรมแย่ ๆ ของคนดังนั้น ๆ นำมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์เพื่อให้เกิดการคว่ำบาตรเป็นวงกว้าง และเมื่อเกิดการคว่ำบาตร ก็หมายความว่าคน ๆ นั้นอาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับอีกต่อไป

ภาพโดย Markus Winkler / Unsplash.com
ภาพโดย Markus Winkler / Unsplash.com

เมื่อคนดัง โดนแคนเซิล!

หนึ่งในคดีคว่ำบาตรที่ดังมาก ๆ คงต้องยกให้ฮาร์วี่ย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) และอาร์เคลลี่ (R.Kelly) คนแรกเป็นนายทุนและโปรดิวเซอร์มือทองของฮอลลีวู้ด ส่วนคนที่สองเป็นนักร้องอาร์แอนด์บีชื่อดังยุค 90 ทั้งสองถูกคว่ำบาตรเพราะคดีทางเพศ โลกโซเชียลทำให้เราเห็นว่าแม้ระบบยุติธรรมจะทำหน้าที่ของมันแล้ว แต่โลกชาวเน็ตจะไม่ปล่อยให้ความผิดของคุณหลุดรอดไปง่าย ๆ เพราะหลังเกิดเรื่อง ผลงานที่ทั้งสองมีส่วนร่วมก็ถูกแบนจากชาวเน็ต โดยเฉพาะอาร์เคลลี่ ที่โซเชียลถึงกับมีแคมเปญ #MuteRKelly เลิกฟังเพลงของเขาในทุกช่องทาง

ยังไม่รวมเจเคโรลลิ่ง (J.K.Rowling) นักเขียนชื่อดังผู้ให้กำเนิดวรรณกรรมระดับโลกเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เคยออกมาทวีตข้อความเชิงเหยียดคนข้ามเพศ โดจาแคต (Doja Cat) แร็ปเปอร์หญิงที่เคยออกมาพูดว่าอย่าไปกลัวโควิด19 (แต่สุดท้ายก็ติดซะเองด้วยนะ!) หรือกรณี เอลเลน ดีเจนเนอริส (Ellen Degeneres) ที่กำลังถูกแฉหนักมากจากทั้งบรรดาลูกจ้างและผู้เคยร่วมงาน ว่าภาพลักษณ์สุดไนซ์ของเจ้าตัวนั้นแสนปลอมเปลือก

และไม่นาน การคว่ำบาตรก็ลุกลามมาถึงเรื่องการเมืองด้วย และเป้าหมายที่โดนโลกออนไลน์คว่ำบาตร ก็ไม่จำกัดแค่ "บุคคล" อีกต่อไป

แบรนด์ดังที่เคยโดน "แบน"

ลอรีอัล (L'Oreal) แบรนด์เครื่องสำอางยี่ห้อดังก็เคยโดนโจมตีอย่างหนัก เพราะหลังจากคดีจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ที่ทำให้เกิดกระแส#BlackLivesMatter ตามมา ลอรีอัลได้โพสต์ข้อความ "SPEAKING OUT IS WORTH IT" พูดถึงความกล้าในการออกมาแสดงความคิดเห็น แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามคาด เพราะแทนที่ฟอลโลเวอร์จะชื่นชม กลับโดน "แหก" ไปถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2017 ที่ทางแบรนด์ไล่นางแบบคนหนึ่งออก หลังจากเธอออกมาเคลื่อนไหวในโซเชียลเรื่องความรุนแรงของคนผิวขาวต่อคนผิวดำ และส่งผลให้ยอดฟอลโลว์ทางทวิตเตอร์ของลอรีอัลอเมริกา ลดลงกว่า 4,000 ฟอลฯ ในเดือนเดียว

ดูโพสต์นี้บน Instagram

L’Oréal Paris stands in solidarity with the Black community, and against injustice of any kind. We are making a commitment to the @naacp to support progress in the fight for justice. #BlackLivesMatter

โพสต์ที่แชร์โดย L'Oréal Paris Official (@lorealparis) เมื่อ มิ.ย. 1, 2020 เวลา 6:10am PDT

เออร์เบิน เอาต์ฟิตเตอร์ (Urban Outfitters) แบรนด์เสื้อผ้าวัยรุ่นจากสหรัฐอเมริกาก็ประสบเหตุคล้าย ๆ กันจาก #BlackLivesMatter จากโพสต์"Racism, Injustice, Oppression, and complacency have never been welcome in our community." แปลได้ว่า การเหยียดผิว ความอยุติธรรม การกดขี่ ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมเรา แต่แทนที่จะส่งผลในด้านดี กลับถูกอดีตพนักงานหลายคนออกมาแฉว่าร้านค้าเออร์เบินเอาต์ฟิตเตอร์มีการเหยียดลูกค้าผิวสีอย่างรุนแรง ซึ่งย้อนแย้งกับการแสดงจุดยืนครั้งนี้มาก ๆ

ที่แบนกันไป ได้ผลไหม?

รายชื่อที่เรายกมาเล่าให้ฟังถึงวีรกรรมการโดนแบนนั้นเป็นแค่ส่วนน้อยมาก ๆ ในวงการบันเทิง ถ้าเป็นแค่การแสดงความเห็น ไม่ใช่คดีความจริงจังถึงขั้นติดคุกติดตะราง คนมีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก็ยังคงทำงานได้อยู่ เจเคโรลลิ่งยังคงมีผลงานออกมาเรื่อย ๆ เอลเลนก็ยังจัดรายการเหมือนที่เธอเคยทำ ส่วนแบรนด์ที่เคยโดนแบนก็กลับกลายเป็นว่าวิกฤตนั้นส่งผลให้ยอดค้นหาในกูเกิ้ล (Google) เพิ่มขึ้นมาก

อย่างไรก็ตามการถูก"คว่ำบาตร" ไม่ใช่เพียงการเลิกสนใจคน ๆ นั้นไปเฉย ๆ แต่คือการที่สังคมมีทัศนคติด้านลบต่อบุคคลดังกล่าวไปแล้ว การจะกู้คืนชื่อเสียงดีงามที่เคยสั่งสมมาก็คงไม่ง่าย

การลงโทษด้วยการคว่ำบาตรเช่นนี้ แม้บางครั้งอาจดูรุนแรงและยากจะแก้ไข แต่การทำความเข้าใจว่าทำไมผู้คนถึง "ไม่โอเค" และเลือกที่จะ "คว่ำบาตร" สิ่งเหล่านี้ ก็อาจเป็นอีกวิธีที่ทำให้เราเข้าใจบริบทของสังคมในแต่ละยุคสมัยได้ง่ายขึ้น

-

อ้างอิง

insider.com

Merriam-Webster

forbes.com 1 / 2

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0