ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบรรยากาศการเมืองไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยความเร่าร้อน เพียงเรายกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงอยู่ขึ้นมาสักสองสามประเด็น ก็มากพอให้คนสองคนมีปากมีเสียงกันได้แล้ว (ยุบสภาดีไหม? ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ไหม? ใครชอบพรรคพลังประชารัฐบ้าง?)
ไม่แปลกที่หลายคนรู้สึกคับข้องใจ ไม่สบายใจ หรือโกรธเกรี้ยว เมื่อพบว่าครอบครัว เพื่อนฝูง หรือเพื่อนร่วมงานไม่ได้มีทัศนคติทางการเมืองไปในทางเดียวกับเรา โดยเฉพาะ"ครอบครัว" สายใยแรกสุดของมนุษย์ทุกคน
อึดอัด แต่ทำอะไรไม่ได้
อาจเพราะแต่เล็กจนโต ครอบครัวคือแหล่งข้อมูลเดียวที่เรามี ทั้งในเรื่องการเมือง มุมมองศาสนา ไปจนถึงเรื่องครอบจักรวาลอื่น ๆ เด็ก ๆ มักจะพัฒนาความคิดและมุมมองต่อโลก โดยมีอิทธิพลทางความคิดของพ่อแม่คลุมอยู่อีกชั้นหนึ่งเสมอ
แต่เมื่อถึงวัยที่เด็กเหล่านี้เริ่มเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์แยกแยะด้วยตัวเอง มุมมองการเมืองของคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มไม่ลงรอยกับความคิดของคุณลูก
"เมื่อความคิดของตัวเองไม่ตรงกับของครอบครัว เด็กจะรู้สึกไม่มั่นคง และเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อ จนสุดท้ายนำไปสู่การมองบุคคลที่เขาเคยเคารพนับถือในมุมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป" แบรนดี้ ลูอิส (Brandi Lewis) นักบำบัดจาก Reach Counseling Solutions ในนอร์ธแคโรไลนาให้ข้อมูลกับrewire.org
ซึ่งในที่สุดความรู้สึกสงสัยเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาเริ่มตั้งคำถามถึง "ความสัมพันธ์" ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน
อย่าเมินใคร เพียงเพราะต่างวัยกัน
สำหรับฝั่งผู้ใหญ่ อย่ามองลูกหลานของคุณแค่ "อายุ" เพราะอายุไม่ได้ทำให้ความคิดใครผิด และการเคารพเสียงของเยาวชนคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่ดีควรทำ
เด็กสมัยใหม่มีสื่อในมือ พวกเขารับและกลั่นกรองข่าวสารแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นแค่เพียงเขาอายุน้อย ไม่ได้แปลว่าเขาประสบการณ์น้อยด้วย
อดทนเข้าไว้ ให้ใจร่มเย็น
จำไว้ให้ขึ้นใจว่าการที่พ่อแม่เห็นต่างไม่ได้แปลว่าเขารักเราน้อยลง
พ่อแม่เรา ปู่ย่าตายายเรา กำลังอยู่ในช่วงชีวิตที่แตกต่างจากเรา ดังนั้นในขณะที่วัยรุ่นซีเรียสเรื่องการเรียนหรือกฎระเบียบในสังคม พวกเขาอาจกำลังกังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ หรือความสงบของบ้านเมืองมากกว่า การใช้น้ำเย็นเข้าลูบและหมั่นควบคุมอาการหัวร้อนขณะเถียงเรื่องการเมืองเวลาคุยกับที่บ้านจึงเป็นวิธีรับมืออย่างแรกที่เราแนะนำ
เห็นต่าง แต่ต้องเห็นตรงกันบ้างแหละ!
หากเย็นไม่ไหวแล้ว (โว้ย) แต่ยังไม่สามารถหาจุดร่วมระหว่างกันได้ ให้ลอง "ฟัง" ให้มากกว่าพูด และลองคิดดี ๆ ว่าเราทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายตรงกันเรื่องอะไรบ้าง
เช่น คนส่วนมากย่อมอยากมีสวัสดิการรัฐที่ดี มีประกันสุขภาพที่มีคุณภาพ การเงินไม่ฝืดเคือง มีการศึกษาเข้าถึงคนทุกหย่อมหญ้า หรือเรื่องเล็ก ๆ อย่าง อยากให้แถวบ้านไม่มีโจร
เมื่อมีเป้าหมายเดียวกัน ความ "เห็นต่าง" จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั้งสองฝ่ายไปถึงเป้าหมายได้ง่าย ลองช่วยกันคิดว่าจากมุม "การเมือง" ของตัวเอง จะมีวิธีใดบ้างทำให้ไปถึงฝั่งฝัน จากนั้นลองนำมาเปรียบเทียบกันดูว่าวิธีของใครเวิร์ก ไม่เวิร์ก วิธีนี้อาจทำให้การเถียงกันกลายเป็นการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์แทน
พูดง่าย ๆ ว่าแทนที่จะก่นด่าหรือเหยียดหยามอีกขั้วความคิด ให้ลองหา "จุดร่วม" ที่กว้าง และง่ายที่สุดสำหรับทั้งฝั่งลูกหลานและผู้ใหญ่ เพราะเชื่อสิว่าไม่มีใครอยากทำลายสายสัมพันธ์ที่ใกล้ตัวที่สุดของตัวเอง อย่าง "ครอบครัว" ลงหรอก
แล้วคุณล่ะ มีวิธีอย่างไรในการ "รักษาน้ำใจ" คนในครอบครัวเมื่อต้องคุยเรื่องการเมือง มาแชร์กันค่ะ :)
-
อ้างอิง
ความเห็น 40
Thoedkiad
ผู้ใหญ่สมัยก่อนไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อในปัจจุบัน แค่รัฐคุมช่องทีวีวิทยุ ก็จบ... แต่ทุกวันนี้ข้อมูลมันปิดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่า จะเปิดใจรับหรือไม่ ส่วนครอบครัวก็ต้องดูแลกันไป ทะเลาะแต่ก็ไม่ได้ทิ้งกันไปไหน
28 ส.ค. 2563 เวลา 02.23 น.
Auaei_k8g
😊😊
24 ส.ค. 2563 เวลา 14.29 น.
การที่มีคนให้ความเห็นต่างในขณะนี้ ต่างมากไปจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าต่าง หรือจะเรียกอะไรดี บางครอบครัวพื้นเพมาจากหลายที่หลายทาง ความคิดความเป็นตัวของตัวเองสูงเกินไป ก็ออกมาเรียกร้องตามสิทธิ เรียกแบบว่าไม่ได้เป็นคนธรรมดาเรียก ประเทศไทยของเราที่อยู่กันทุกวันนี้น่าอยู่ที่สุดแล้ว แต่ยังคิดว่าไม่ดีพอ เป็นเพราะเราคิดมากเกินพอดี
23 ส.ค. 2563 เวลา 06.43 น.
นู๋กิ๊ฟกับโก๋เจ็ก(^~
เราเองก็ยังมีเห็นต่างแต่ก็ไม่มีทะเลาะกันนะ ไม่คุยเรื่องการเมืองในครอบครัว ถ้าพูดคุยก็ไม่มีใส่อารมณ์
23 ส.ค. 2563 เวลา 05.41 น.
damrongsak
เห็นต่างได้แต่อย่าเอาแต่ใจตัวเองว่าความคิดตัวเองถูก.เวลาผ่านไปถูกหรือผิดจะแสดงให้เห็นเอง.ถึงเวลานั้นจะเสียใจกับอดีตที่ผ่านก็ช่วยไม่ได้
เพราะฉนั้นอย่าไปเครียดเลือกฝ่ายกับปัญหาบ้านเมือง.เดี๋ยวเลือกตั้งใหม่ก็ฅนใหม่มา.ทัศนะคติก็เปลี่ยนไป.เพราะฉนั้นไม่ว่าเพื่อนหรือครอบครัวหากความคิดเห็นต่างต้องเลิกคุยปัญหาก็จะไม่เกิดนะครับท่านทั้งหลาย.
23 ส.ค. 2563 เวลา 02.56 น.
ดูทั้งหมด