โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รวยนักทำไมไม่เอาเงินไปแจกคนจน? ไขปริศนาว่าทำไม "คนรวย" ถึงช่วยโลกให้ดีขึ้นไม่ได้

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 02 ก.ย 2563 เวลา 18.30 น. • AJ.
ภาพโดย jcomp / freepik.com
ภาพโดย jcomp / freepik.com

"คนรวย ๆ ทำไมเขาไม่บริจาคเงินช่วยคนอื่นบ้าง? "

เราเชื่อว่าคำถามนี้ต้องเคยผุดขึ้นในใจใครหลายคนเมื่อพูดถึงมหาเศรษฐีระดับโลก อย่างล่าสุดที่เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแอมะซอน (Amazon) เพิ่งได้รับการจัดอันดับจากBloomberg Billionares Index ให้เป็น "อภิมหาเศรษฐี" อันดับ 1 ของโลก โดยมีทรัพย์สินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6.2 ล้านล้านบาท! (62,000,000,000,000 บาท เราพยายามเขียนศูนย์ให้เท่ากับจำนวนเงิน ซึ่งพอนำมาเทียบกับเงินในบัญชีตัวเองก็ได้แต่ทำตาละห้อย)

อันดับรอง ๆ ลงมาได้แก่ บิลล์ เกตต์(Bill Gates) มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก(Mark Zuckerberg) และอีลอน มัสก์(Elon Musk) ที่เพิ่งสปีดแซงเจ้าของแบรนด์ หลุยส์วิตตอง (Louise Vuitton)* ขึ้นมาได้อันดับ 4 ในปีนี้

รวยขนาดนี้ ทำอะไรให้โลกได้บ้าง?

  • โลกนี้มี"อภิมหาเศรษฐี" (ขอจำกัดความว่าคือบุคคลที่มีสินทรัพย์เป็นจำนวนพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป) กว่า 2,000 คน ซึ่งจำนวนของเศรษฐีเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี
  • ผลการศึกษาจาก Oxfam (องค์กรต้านความเหลื่อมล้ำ) บอกว่าทรัพย์สินรวมของอภิมหาเศรษฐีจำนวนสองพันกว่าคนดังกล่าว อาจเทียบได้กับจำนวนทรัพย์สินของคนธรรมดากว่า 4.6 พันล้านคน
  • มีการเปรียบเทียบอย่างตลก ๆ ว่าต่อให้คนคนหนึ่งเก็บเงินวันละ 10,000 ดอลลาร์ตั้งแต่ยุคอียิปต์ยังสร้างพีระมิดอยู่ ก็ยังรวยไม่เท่ามหาเศรษฐี 5 อันดับของโลกเลย (ท้อแล้ว!)
  • ผลการศึกษาจากที่เดียวกันนี้ยังบอกว่าความมั่งคั่งขนาดนี้ เมื่อนำจำนวนเงินทั้งหมดมารวมกันแล้ว อาจแก้ปัญหาปากท้องทั่วโลกได้กว่า 7 ครั้ง!

"แจกเงิน" ไปเลยไม่ได้เหรอ?

นิตยสารวอลล์สตรีท (Wall Street Journal) เคยแจกแจงทรัพย์สินของเจฟฟ์อย่างคร่าว ๆ ไว้เมื่อปี 2018 ว่าทรัพย์สินของเขากว่า 95 เปอร์เซ็นต์คือหุ้นในบริษัท ที่เหลือคืออสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ หมายความว่าเงินในธนาคารของเจฟฟ์อาจมีแค่หลักหลายล้านเหรียญ ไม่ใช่พัน ๆ ล้านอย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งด้วยตัวเงินเท่านั้น ไม่มากพอให้เปลี่ยนโลกได้เลย

สถิติเมื่อปี 2018 บอกเราว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เงินกว่า 165 พันล้านดอลลาร์เป็นงบในการพัฒนาเศรษฐกิจและเยียวยาปัญหาความยากจน แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน ในปี 2020 ความยากจนก็ยังไม่ได้หายไปไหน

ซึ่งองค์กรวิจัยทางด้านการเกษตรระดับนานาชาติ International Food Policy Institute ก็ได้อธิบายหนทางสู่โลกที่ไร้ "ความจน" ด้วยการบอกค่าใช้จ่าย ซึ่งเราสรุปมาย่อ ๆ ได้ว่าโลกที่ไร้คนหิวโหยหรือคนจน ต้องใช้เงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการจัดการกับปัญหาโลกร้อนซึ่งจะมีผลมากต่อปริมาณอาหารในอนาคต

แล้วต้องทำยังไง?

การแก้ปัญหาความจนไม่ใช่แค่การ "แจกเงิน" แต่คือการแก้ปัญหาโครงสร้างไปทีละอย่าง เพื่อผลลัพธ์สุดท้ายคือให้ความจนหมดโลกไปซะ

ปัญหาความอดอยากที่โลกกำลังเผชิญ (World Hunger) เกิดจากการที่คนกว่า 800 ร้อยล้านคนทั่วโลกต้องอดทนกับความหิวโหยในทุกปี แม้ในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีทรัพยากรมากพอให้คนกว่า 10,000 ล้านคนได้อิ่มท้อง

นั่นเป็นเพราะสาเหตุที่ผู้คนหิวโหยและยากจน เกิดจาก "ความเหลื่อมล้ำ" มากกว่าความขาดแคลน หมายความว่ามนุษย์เป็นล้าน ๆ คนไม่มีอาชีพที่ทำเงินได้เพียงพอที่จะซื้ออาหารเลี้ยงปากท้องและครอบครัว

ทุกคนคงเคยได้ยินปรัชญาจีนของเหลาจื่อ (Lao Tzu) ที่กล่าวว่า "ให้ปลาเขาหนึ่งตัว อิ่มท้องวันหนึ่ง สอนเขาตกปลา อิ่มท้องตลอดไป" ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ก็อาจแปลได้ว่า "ให้อาหารเขาจานหนึ่ง อิ่มวันเดียว แต่หากแก้ปัญหาที่ทำให้เขาต้องอดอยากได้ เท่ากับคุณให้โอกาสเขาในการเลี้ยงตัวเองไปตลอดชีวิต"

แล้วต้องทำยังไง!

ในเมื่อความเหลื่อมล้ำมันเป็นปัญหานัก! Oxfam เคยเสนอให้นักการเมืองทั่วโลกออกนโยบายเก็บภาษีมหาเศรษฐีเพิ่มขึ้น เพื่อนำเงินก้อนนี้มาสร้างอาชีพในหมวดการศึกษาและสุขภาพ ได้ถึง 100 ล้านตำแหน่ง ข้อเสนอนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดในการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน 

เพราะหากทำได้ โลกเราอาจมีมหาเศรษฐีน้อยลง และมี "คนที่พอตั้งตัวได้" เพิ่มขึ้น

-

อ้างอิง

medium.com

bloomberg.com

exponentsmag.org

brandinside.asia

cnbc.com

finance101.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0