-1-
สถานีรถไฟฟ้าที่ไม่มีลิฟท์ (หรือมีแต่ใช้การไม่ได้) ทางเท้าที่ไม่มีทางลาด และการเดินบนทางเท้าที่ต้องเจอกับป้ายโฆษณามากีดขวางจนต้องเบี่ยงหลบ – เหล่านั้นเป็นบางส่วนของการเดินทางในเมืองกรุงเทพ
ถ้าวันนั้นเราขึ้นรถไฟฟ้าแล้วมีข้าวของพะรุงพะรัง หรือเดินบนทางเท้าพร้อมลากกระเป๋าใบใหญ่ การเดินทางคงทุลักทุเล เหน็ดเหนื่อย และยากลำบาก แล้วคงรู้สึกว่าลิฟท์ ทางลาด และทางเท้ากว้าง ๆ คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับชีวิต!
บางคนพิมพ์บ่นลงโซเชียลมีเดียเพื่อรอมิตรสหายเข้ามาแสดงความเห็นด้วย
บางคนเลือกส่งเสียงไปยังเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่การเรียกร้องเรื่องแบบนี้…ในประเทศนี้ ไม่เคยง่ายดายเลย ทั้งติดต่อยากลำบาก รับเรื่องแล้วปฏิเสธความรับผิดชอบ และรับปากอย่างหนักแน่น แต่ไม่แก้ไขอย่างที่พูดไว้ วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า พอไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายเราก็เหนื่อยกันไปเอง
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นทำให้ชีวิตติดขัด แต่ด้วยความที่เกิดขึ้นเพียงบางวัน เลยไม่ได้มีผลกระทบมากถึงขนาดต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไร
แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่คนอีกกลุ่มต้องเผชิญมาเนิ่นนาน
-2-
ย้อนไปในปี 2534 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น และบีทีเอส ทำสัญญาสัมปทานก่อสร้าง ‘รถไฟฟ้าบีทีเอส’ ที่ควรต้องเป็นขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน แต่เมื่อแบบก่อสร้างออกมา กลับไม่มีลิฟท์และสิ่งอำนวยความสะดวก (ขณะลงนามยังไม่มีกฎหมายเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ) ทำให้ผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบ ขณะนั้นมีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องไปยังกรุงเทพมหานคร เลยมีการก่อสร้างลิฟท์ขึ้นในบางสถานี
ด้วยเป้าหมายคือการเดินทางของทุกคน กลุ่มคนพิการเลยเรียกร้องให้ทุกสถานีต้องมีลิฟท์และสิ่งอำนวยความสะดวก เกิดการฟ้องร้องต่อศาล คดีความยืดเยื้อหลายปี แต่ไม่มีวี่แววว่าทุกสถานีจะมีลิฟท์ให้บริการ จนกระทั่ง 21 มกราคม 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานคร และบีทีเอส ต้องดำเนินการติดตั้งลิฟท์ทั้ง 23 สถานีภายใน 1 ปี ซึ่งขณะนั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี ปัจจุบันผ่านมา 4 ปีแล้ว สถานีรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นใหม่ต้องมีลิฟท์ให้ตามกฎหมาย ขณะที่การก่อสร้างลิฟท์ในสถานีเก่านั้น กลับมีความยืดเยื้อพร้อมคำอธิบายเหตุผลต่าง ๆ นานา
ทั้งหมดนั้นเคยเป็นข่าวเล็ก ๆ แทรกตัวในสื่ออย่างเงียบเชียบ บางคนไม่ได้สนใจ บางคนที่ผ่านตาก็อาจลืมไปแล้ว
รถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการในปี 2542 – ถ้าคุณเป็นคนทั่วไป การไม่มีลิฟท์บนรถไฟฟ้าคงทำให้บางวันต้องติดขัดและออกแรงมากเป็นพิเศษ แต่สำหรับคนพิการที่ใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน พวกเขาไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างเป็นปกติเลย ซึ่งข้อจำกัดนั้นยังส่งผลกระทบต่อชีวิตในมิติอื่น ๆ อีก เช่น ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงความหดหู่ที่สะสมจนไม่อยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก
กรณีลิฟท์ของรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ ที่ละเลยคนบางกลุ่ม เช่น ทางเท้าที่ไม่มีคุณภาพ อาคารที่ไม่มีทางลาด ไปจนถึงรถเมล์ชานต่ำที่ (เพิ่งเริ่ม) มีอย่างจำกัด ฯลฯ ซึ่งในทางหลักการแล้ว ทุกคนคงเห็นด้วยว่า ‘เมือง’ ควรได้รับการออกแบบสำหรับทุกคน ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ในแง่การบริหารงานของภาครัฐ สิ่งที่เป็นอยู่เต็มไปด้วยการจัดการที่ขาดความจริงใจ
-3-
ผมรู้จักคนพิการในระดับที่เป็น ‘เพื่อน’ อยู่บ้าง
บางโอกาสเราไปสังสรรค์ที่ร้านอาหารตามเส้นรถไฟฟ้า (ทั้งขึ้นบนฟ้าและลงใต้ดิน) ซึ่งพอได้เจอกับข้อจำกัดต่าง ๆ พร้อมกัน เช่น รอเจ้าหน้าที่มาเปิดลิฟท์อยู่หลายนาที ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่อย่างน้อยสามคนมาประคองวีลแชร์ขึ้นบันไดเลื่อน ทางเท้าที่มีทางลาดขึ้นแต่ไม่มีทางลาดลง ฯลฯ ผมค่อย ๆ รู้สึกร่วมกับปัญหามากขึ้น
ถ้าเรามอง ‘คนพิการ’ เป็น ‘คนอื่น’ ปัญหาเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องไกลตัว เรารับรู้และเข้าใจ แต่มักหยุดอยู่เพียงเท่านั้น ถ้าเรามองพวกเขาเป็น ‘เพื่อน’ ปัญหาเหล่านั้นจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เราเป็นเดือดเป็นร้อนแทนกัน เข้าไปต่อรอง โต้แย้ง รวมไปถึงส่งต่อเรื่องราวปัญหาต่าง ๆ ให้กระจายออกไปมากขึ้น
ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เราสามารถมีน้ำใจให้ ‘เพื่อน’ (แม้เจอกันเป็นครั้งแรกก็ตาม) ได้ทุกเมื่อ เริ่มต้นจากการถามว่า “มีอะไรให้ช่วยไหม” รอฟังคำตอบ แล้วทำให้เท่าที่เขาต้องการ แต่ในระยะยาวแล้ว คนพิการต่างต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง และพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด
น้ำใจถือเป็นเรื่องดีงาม แต่ในเรื่องพื้นฐานแบบนี้ การพึ่งพาตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ปัญหานี้เลยต้องกลับไปตั้งต้นจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ตราบที่การบริหารงานของภาครัฐยังเต็มไปด้วยการจัดการที่ขาดความจริงใจ เราคงต้องใช้แรงอีกไม่น้อยในการส่งเสียงเพื่อยืนยันว่า เมืองเป็นของทุกคน! การออกแบบและก่อสร้างต้องเอื้อต่อเราและเพื่อนของเราด้วย
ที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมไทย เรื่องน่าเศร้าคือ เราอาจต้องมีน้ำใจให้กันไปอีกสักพักเลย
.
.
ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน
ความเห็น 11
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
มันมีหลายอย่าง้ลยนะที่ควรจะมี เช่น ช่องทางสำหรับรถจักรยาน มันมีแค่บางแห่งจากที่สังเกตและน้อยมาก ทางสำหรับคนพิการก็มีแค่บางแห่ง ลิฟท์เช่นกัน ทางสำหรับคนตาบอดก็ไม่เคยเห็นเลยว่ามี แต่ยังดีที่มียามบนสถานีรถไฟฟ้าก็อาจพอช่วยได้บ้าง เคยอ่านมาว่า เราสร้างถนนโดยคำนึงถึงแต่รถยนต์4ล้อ ช่องแล่นรถมอเตอร์ไซค์ก็ไม่มี หลายๆอย่างเลยที่ควรปรับปรุง
14 ต.ค. 2562 เวลา 17.37 น.
ผมคิดว่าถ้าคนเราไม่เห็นแก่ประโยชน์ต่อตนเองให้มากจนเกินไป และก็มีจิตสำนึกที่ดีให้ต่อสาธารณะแล้ว เขื่อว่ายังไงก็ย่อมที่จะทำให้สังคมดูดีมาได้อย่างแน่นอน.
14 ต.ค. 2562 เวลา 20.32 น.
PongPhol
ตราบใดที่ผู้มีอำนาจและหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่มีความรับผิดชอบและไม่กำหนดความผิดอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพียงเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก พูดให้เหนื่อยทำให้ตายก็ไม่สามารถจัดการกลับพวกเห็นแก่ตัวที่เอาที่สาธารณะไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้ สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน พอปรับปรุงแก้ไขเสร็จ ก็จะมีพวกหน้าด้านเห็นแก่ตัวมาทำให้เละเทะเสื่อมโทรมใหม่ วนๆกันไปไม่รู้จักจบสิ้น น่าหดหู่กลับพวกจนท.ภาครัฐ ผู้ใช้อำนาจ มีแต่พวกปากว่าตาขยิบ ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา
15 ต.ค. 2562 เวลา 02.27 น.
ทนายวิชัย ไร่ขาว
เห็นทีจะยาก
15 ต.ค. 2562 เวลา 02.44 น.
sulek
ทางเท้ามีทางลาดเยอะมากจนมอไซค์ขึ้นไปขี่บนฟุตบาทจนมีปัญหาทุกวันนี้
16 ต.ค. 2562 เวลา 00.02 น.
ดูทั้งหมด