เราอาจจะเคยได้ยินเรื่อง “ไข่ปลอม” ในประเทศจีนกันมาบ้าง (ไข่ปลอมในที่นี้หมายถึงไข่ไก่ที่นำมาใช้ทำอาหารอะนะครับ อย่านึกไปไกลถึงไข่ปลอมอย่างอื่น แฮ่) ซึ่งเจ้าที่มาของข่าวเรื่องไข่ปลอมในจีนนี่ บางคนก็ว่าเป็นไข่ปลอมที่คนทำขึ้นเพื่อลดต้นทุนที่มีอยู่จริง ๆ
แต่หลัง ๆ นักวิชาการก็ได้ออกมาชี้แจงว่าเป็นแค่ข่าวปลอมที่คนกุขึ้นในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เพราะการทำไข่ปลอมนั้น ใช้ต้นทุนสูงกว่าไข่จริงๆเสียอีก และในบางกรณีไข่ที่ดูเหมือนไข่ปลอม มันก็ไม่ใช่ไข่ปลอมหรอก แต่เป็นไข่จริงๆที่อาจจะเกิดจากสารเคมี หรือการผ่านความร้อนบางอย่าง ที่ทำให้รู้สึกว่าไข่ผิดปกติไป เป็นอันจบข่าวเรื่องไข่ปลอมที่ระบาดในจีน
ทว่ากลับมีความจริงอีกอย่างที่ถูกมองข้ามไป และกลายเป็นเรื่องโด่งดังในประเทศญี่ปุ่นประเทศที่ไม่ค่อยจะมีของปลอมสักเท่าไร แต่มันกลับมีการเปิดเผยออกมาว่า ไข่ไก่ที่ใส่ลงในอาหารจากร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นนั้น ไม่ใช่ไข่จริง ๆ แต่มันคือไข่ไก่ปลอม !!
ก่อนที่จะพูดถึงเจ้าไข่ไก่ปลอมที่เป็นกระเด็น เราต้องพูดย้อนไปก่อนว่าจริงๆแล้วเรื่องของการใช้ไข่ปลอมในการทำอาหารญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หรือผิดปกติแต่อย่างใด เพราะเขามีการทำมานานแล้วนะครับ เพียงแต่ว่าไข่ปลอมในที่นี้ไม่ใช่ไข่ไก่ แต่จะเป็นไข่เม็ดเล็ก ๆ ที่ใช้ในการทำซูชิต่าง ๆ
อย่างแรกที่รู้จักกันดีก็คือ “ไข่กุ้ง” เจ้าไข่เม็ดเล็กๆสีส้มๆที่นำมาทำซูชิ สลัด หรือโรยหน้าในเมนูอาหารญี่ปุ่นต่างๆ ซึ่งจริงๆแล้วส่วนใหญ่ “ไข่กุ้ง” ในร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วๆไปนั้นก็ไม่ใช่ไข่กุ้งจริงๆ แต่มันคือไข่ปลาบินหรือ “โทบิโกะ” ที่นำมาย้อมสี เพราะว่าไข่กุ้งจริง ๆ นั้น จะมีราคาแพงมากและมีเฉพาะในร้านอาหารระดับสูงที่มีราคาค่อนข้างสูงเท่านั้น ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปเขาจึงนิยมใช้ไข่ปลาย้อมสีให้คล้ายไข่กุ้งเพื่อประหยัดต้นทุน และทำให้ขายราคาไม่แพงจนเกินไป
ไข่อีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยว่ามันเป็นไข่ปลอม ก็คือ “ไข่ปลาแซลมอน” ไข่ปลาเม็ดเล็กๆที่มักจะอยู่ในซูชิหรือนำมาแต่งหน้าอาหารเช่นกัน โดยมีการทำ “ไข่ปลาแซลมอน” ที่ทำจากวุ้นคาราจีแนนแล้วนำมาใส่น้ำมันข้างใน ทำให้รสชาติที่ได้ใกล้เคียงกับไข่ปลาแซลมอนจริง ๆ แต่มีราคาที่ถูกกว่ามาก ซึ่งก็มีการผลิตออกวางขายทั่วไปโดยมีการเขียนชัดเจนว่าเป็นไข่ปลาแซลมอนที่ทำเลียนแบบขึ้น แต่ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่นำไปใช้ก็ไม่ได้แจ้งกับลูกค้าหรอกว่าที่ร้านใช้ไข่ปลาแซลมอนปลอมแบบนี้ ถ้าอยากรู้ลูกค้าก็ต้องสังเกตเอาเองนั่นแหละ
ล่าสุดตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเขาก็ได้ก้าวข้ามเจ้า “ไข่กุ้งปลอม” และ “ไข่ปลาแซลมอนปลอม” ไปแล้ว เพราะตอนนี้สิ่งล่าสุดที่กำลังเป็นกระเด็นในวงการอาหารของญี่ปุ่นก็คือ “ไข่ไก่ปลอม” นี่แหละ !
เพียงแต่เจ้าไข่ไก่ปลอมนี่ถูกผลิดขึ้นโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจาก “ไข่กุ้งปลอม” และ “ไข่ปลาแซลมอนปลอม” ที่ต้องการลดราคาของวัตถุดิบราคาแพง เพราะไข่ไก่ปลอมที่ว่ามานี่นั้น เขาบอกว่ามันถูกผลิตขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
โดยที่เป็นเรื่องเป็นราวในครั้งนี้ก็เพราะมีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ไปเจอว่าไข่แดงอันสวยงามที่อยู่ในข้าวกล่องของร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่ไข่ เพราะเมื่อมันถูกความร้อน ไข่ปกติจะแข็งตัว แต่เจ้าไข่ปลอมที่อยู่ในข้าวกล่องของร้านสะดวกซื้อนี่กลับแตกตัวออกเป็นน้ำ ทำให้ชาวญี่ปุ่นตกตะลึงว่า ที่จริงแล้วสิ่งที่เขากำลังกินอยู่นี่มันคืออะไรกันแน่ ?
เพราะในปัจจุบันมีอาหารกล่องของญี่ปุ่นหลายชนิดที่มีไข่แดงดิบเป็นส่วนประกอบ เช่น พาสต้าคาโบนาร่า ข้าวหน้าเนื้อ+ไข่ดิบ หรือ ข้าวหน้าหมู+ไข่ดิบ เป็นต้น เพราะอาหารญี่ปุ่นหลายชนิด เขานิยมทานกับไข่ดิบ เหมือนที่คนไทยชอบทานกะเพราคู่กับไข่ดาวนั่นแหละ
ทางบริษัทผู้ผลิตก็ออกมาให้คำตอบกับสังคมครับว่า ไข่แดงที่เห็นอยู่ในข้าวกล่องของร้านสะดวกซื้อนั้น มันไม่ใช่ไข่จริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่ไข่ปลอมด้วย !? โอ้ แล้วเจ้าสิ่งนั้นมันคืออะไรกันหว่า
เมื่อไม่ใช่ทั้งไข่จริง และไข่ปลอม แล้วจะเรียกมันว่าอย่างไรดี บริษัทผู้ผลิตเขาบอกว่าถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ก็ควรจะเรียกมันว่า “ซอสไข่แดง” จะถูกกว่า
เพราะเจ้าไข่ปลอม เอ้ย ซอสไข่แดงที่อยู่ในอาหารกล่องของร้านสะดวกซื้อนี้มีการผสมสารหลายๆอย่างเข้าด้วยกันเช่น ไข่ดิบ เด็กซ์ทริน กลูโคสไซรัป น้ำมันพืช เจลาติน เกลือ ผงวุ้น และสารอื่น ๆ ก่อนที่จะนำไปแต่งสีให้คล้ายกับไข่ดิบจริง ๆ มากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้วมันใช้ต้นทุนสูงยิ่งกว่าไข่จริง ๆ ด้วยซ้ำ
แล้วเขาจะทำไข่ปลอมที่แพงกว่าไข่จริงแบบนี้ไปเพื่ออะไร ?
คำตอบก็คือ “เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” ครับ เนื่องจากมีการเรียกร้องมาอย่างมากจากชาวญี่ปุ่นที่ขอว่าอยากให้ใส่ไข่ดิบลงไปในอาหารกล่องในร้านสะดวกซื้อด้วย เพราะเมื่อไม่มีไข่ในอาหาร ก็เหมือนกินข้าวกะเพราไม่มีไข่ดาว มันขาดอะไรไป แต่ทางบริษัทเขาได้วิจัยมาแล้วว่าการจะใส่ไข่ดิบลงไปในอาหารกล่องของร้านสะดวกซื้อนั้นมันเป็นอันตรายมาก
เนื่องจากแม้คนญี่ปุ่นจะนิยมทานไข่ดิบกับข้าวกัน แต่ไข่ดิบนั้นก็จะต้องเป็นไข่จากไก่ในฟาร์มที่ถูกเลี้ยงมาเพื่อให้กินได้สด ๆ แล้วจะต้องตอกปุ๊บกินปั๊บเดี๋ยวนั้น การที่จะตอกไข่ทิ้งเอาไว้ในอาหารกล่อง เป็นการทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในไข่ดิบนั้นเจริญเติบโต และเมื่อลูกค้าทานเข้าไปก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ดังนั้นทางบริษัทผู้ผลิตเขาจึงตั้งใจผลิต “ซอสไข่แดง” ที่มีรสชาติอร่อยกว่าไข่แดงเปล่า ๆ แถมยังไม่มีอันตรายเหมือนกับไข่ดิบออกมา และใส่มันลงไปในอาหารกล่องของร้านสะดวกซื้อนั่นเอง
อีกอย่างหนึ่งก็คืออาหารกล่องในร้านสะดวกซื้อจะต้องทำการนำไปอุ่นด้วยไมโครเวฟก่อนจะรับประทาน ซึ่งถ้าเป็นไข่แดงแบบปกติ ถ้านำไปเข้าเวฟจนร้อน ไข่ก็จะสุกและแข็งไป กลายเป็นไข่ต้ม ไม่ไหลเยิ้มน่ากินเหมือนไข่ดิบ แต่เจ้าซอสไข่แดงนี้ ถ้าโดนความร้อนมันก็จะแตกตัวออกเป็นของเหลว เหมือนกับไข่แดงที่ไหลเยิ้ม ทำให้ได้รสชาติที่อร่อยมากกว่าไข่จริง ๆ มาก
แต่แม้บริษัทผู้ผลิตจะออกมาชี้แจงแบบนี้แล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนก็ยังคงไม่พอใจ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันก็ยังไม่ใช่ไข่ดิบจริงๆอยู่ดี เขาก็เหมือนโดนหลอกว่ากำลังกินไข่ดิบ แต่จริง ๆ แล้วกำลังกินสารเคมีอะไรอยู่ก็ไม่รู้ แบบนี้เขาก็รับไม่ได้
สุดท้ายแล้วก็มีทั้งกลุ่มคนที่พอใจและไม่พอใจในคำชี้แจงของบริษัทผู้ผลิต แต่ถ้าสังเกตจริงๆแล้วก็จะพบว่าผู้ผลิตเขาก็เขียนคำอธิบายเอาไว้ในผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรกแล้วว่าไข่แดงที่อยู่ในอาหารนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ดังนั้น การอ่านฉลากสินค้าก่อนซื้อถือเป็นเรื่องที่จำเป็นแม้จะเป็นของที่คุ้นเคยดีอยู่แล้วก็ตาม เพราะในยุคนี้เทคโลโลยีทางอาหารพัฒนาไปมาก จนเราตามไม่ทันแล้วครับ
อ้างอิงข่าวจาก coco_tsw , jin115
ติดตามบทความใหม่เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้และเรื่องแปลก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นทาง LINE TODAY: TOP PICK TODAY จากผมได้ทุกวันเสาร์นะครับ
ช่องทางการติดตามเพิ่มเติม
Facebook :Eak SummerSnow
Youtube : Eak SummerSnow
ความเห็น 50
ภูวดล
BEST
คนประเทศเขาให้สิ่งดีๆแก่กันแม้ว่าจะเหมือนปิดทองหลังพระ
25 ม.ค. 2563 เวลา 03.39 น.
สาระเปา
BEST
เห็นได้ชัดว่าไข่ปลอมของจีนกับไข่ปลอมของญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันสิ้นเชิง
25 ม.ค. 2563 เวลา 05.54 น.
K.D 🐲
BEST
สรุปชีวิตนี้ข้าพเจ้าเคยกินไข่ปลาแซลมอนของจริงมั้ยเนี่ย T.T
24 ม.ค. 2563 เวลา 22.39 น.
ฉลาดคิดฉลาดทำ.
25 ม.ค. 2563 เวลา 02.12 น.
เป้
เคยสั่งข้าวผัดปู ไม่รู้แม่ค้าโง่หรือหัวใส ใช้ปูอัดใส่ข้าวผัด กลายเป็นข้าวผัดปูแล้ว เจริญจริงๆประเทศไทย
25 ม.ค. 2563 เวลา 04.07 น.
ดูทั้งหมด