โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เก็บเงินได้เท่าไหร่แล้วพี่?.. รวมวิธีเก็บเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ได้ผลชัวร์

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 01 พ.ค. 2564 เวลา 23.07 น. • pp.p
ภาพจาก unsplash.com
ภาพจาก unsplash.com

เข้าสู่เดือนที่ 5 ของปีกันแล้ว ใครที่เคยตั้งใจจะเก็บเงินแล้วยังไปไม่ถึงไหน เปิดบัญชีเอาไว้แล้วปล่อยให้เงินนอนนิ่งไม่มีความเคลื่อนไหว… เรามี ‘วิธีเก็บเงิน’ แบบสนุกๆ ไม่ยากเกินไป มาให้ได้ลองเริ่มทำกันเล่นแต่เก็บเงินได้จริงๆ ถูกใจสไตล์ไหนก็เริ่มได้เลย

เก็บแบงค์ 50 ตลอดทั้งปี

เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ สาเหตุที่ส่วนใหญ่นิยมเลือกเก็บธนบัตรสีฟ้าใบละ 50 บาทนั้นก็เป็นเพราะจากสถิติการใช้เงินสด เรามักได้แบงค์ 50 ได้ยากที่สุด ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ได้มานั่นอาจหมายความว่าต้องรักษาไว้ให้ดีก็เป็นได้.. วิธีนี้จะช่วยให้เพิ่มความช่างสังเกตให้กับตัวเอง วันไหนที่ซื้อของแล้วได้เงินทอนมาเป็นแบงค์ 50 ก็เก็บแยกเอาไว้ หาซองใส่รวมๆ กัน ถึงสิ้นปีกลับมานับอีกทีอาจมีเงินพันเงินหมื่นอยู่ในซองก็เป็นได้

เก็บเศษเหรียญที่ได้ในแต่ละวัน

วิธีนี้น่าจะถูกใจคนที่ไม่ชอบพกเศษเหรียญ ตกเย็นกลับถึงบ้านเคลียร์กระเป๋าเอาเหรียญออกมาเก็บรวมๆ กันไว้ จะหยอดใส่กระปุกหรือใส่กล่องใส่โหลก็ได้ แค่รวบรวมไว้ในที่เดียวกัน วิธีนี้นอกจากจะช่วยลดน้ำหนักกระเป๋าสตางค์/กระเป๋าถือ ยังช่วยปรับพฤติกรรมการเก็บให้มีระเบียบ ไม่วางเหรียญทิ้งไว้มุมนั้นมุมนี้ในบ้าน ลองหากระปุกใหญ่ๆ ตั้งไว้สักมุมหนึ่งในบ้านที่จะเห็นได้ชัด .. ยิ่งใหญ่ยิ่งจุเหรียญได้หลายบาทเลยนะ 

ใช้เท่าไหร่เก็บเท่านั้น

หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว สิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น หรือมีความสำคัญรองลงมาเช่นบรรดา ลูกอม น้ำหวาน ชานม ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่เรามักเสียเงินซื้อมาในราคาเล็กน้อย จึงไม่ได้รู้สึกว่าเป็นของฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ลองตั้งใจเก็บเงินให้เท่ากับเงินที่จ่ายไป เช่นสมมุติว่าวันนี้นึกครึ้มใจอยากกินชานมไข่มุกสักแก้ว (ราคา 50-100บาท) ก็เก็บเงินเท่ากับราคาของชานมที่ซื้อไป รวมสิ้นเดือนหรือสิ้นปีจะได้รู้สักทีว่าเป็นเงินนิดหน่อยจริงหรือเปล่า วิธีนี้ประยุกต์เอาไปใช้กับการซื้อล็อตเตอรี่เสี่ยงโชคก็ไม่เลวนะ

หักเงินเข้าอีกบัญชีทันทีที่เงินเดือนออก 

น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดของมนุษย์เงินเดือนในตอนนี้ คือการเปิดบัญชีแยกเอาไว้อีกบัญชีหนึ่ง (อาจเป็นบัญชีฝากประจำที่ผูกกับบัญชีเงินเดือนก็สะดวกดี) กำหนดยอดเงินที่จะฝากในแต่ละเดือนซึ่งควรเป็นยอดที่เท่ากันเพื่อความมีวินัยในการเก็บออม และเมื่อถึงวันที่มีเงินเข้าบัญชีหลักเมื่อไหร่ให้โอนย้ายเงินจำนวนที่ตั้งใจเอาไว้ไปังบัญชีเสริมเพื่อทำการ ‘เก็บ’ เท่านั้น ยอดเงินที่จะเก็บอาจตั้งเป็นตัวเลขกลมๆ เพื่อให้จำง่าย เช่น 500บาท หรือ 1,000บาท วิธีนี้เหมาะมากสำหรับคนที่ใช้เงินไม่เหลือเก็บ เมื่อไม่มีเหลือให้เก็บก็ลองแยกเก็บไว้แล้วที่เหลือจากเก็บค่อยใช้ตามไลฟ์สไตล์ที่สะดวก 

ตั้งเป้าแล้วหยอดกระปุก

วิธีนี้เหมาะกับสายที่ต้องใช้ไอเท็มเข้าล่อ ต้องตั้งเป้าหมายไว้พุ่งชนเช่น โทรศัพท์ใหม่ ทริปใหม่(ถ้ามี) หากระปุกสักอันแล้วเขียนแปะเอาไว้ว่าเงินในกระปุกนั้นตั้งใจจะเอาไปใช้สำหรับทำอะไร แล้วค่อยๆ เก็บเงินใส่กระปุกนั้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเห็นเงินจำนวนนั้นขึ้นมาอาจจะเปลี่ยนใจอยากเก็บเอาไว้เพราะกว่าจะได้มานั้นมันช่างยากเหลือเกิน หรือถ้าใจมันมุ่งมั่นก็มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อของใหญ่ตามที่ตั้งใจแล้วล่ะ

ตั้งยอดการ 'ใช้'

วิธีนี้คล้ายกับวิธีเก็บเศษเหรียญ แต่เปลี่ยนมาเป็นการเก็บ ‘ทั้งหมด’ ที่เหลือจากการใช้ในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่นกำหนดว่าแต่ละวันจะมีเงินสดติดตัวออกจากบ้าน 500บาท กลับมาบ้านเหลือกี่บาทก็เก็บใส่กล่องไว้ เช้าวันใหม่ก็เริ่มต้นกับแบงค์ 500ใบใหม่ ยอดที่เหลือจากเมื่อวานเก็บไว้นิ่งๆ สิ้นปีค่อยมาเปิดนับว่ามีเท่าไหร่

ตั้งยอดการ 'เก็บ'

จากการเก็บจากที่เหลือใช้ เปลี่ยนมาเป็นตั้งใจว่าสิ้นปีนี้จะมีเงินเก็บเท่าไหร่ คล้ายๆ การทำมิชชั่นในเกมแล้วมุ่งหน้าทำให้สำเร็จโดยไวที่สุด วิธีนี้อาจจะโหดไปสักหน่อย แต่หากทำได้ไวก็สบายไว เริ่มจากอาจจะตั้งยอดที่ไม่ใหญ่เกินกำลัง เช่น2เท่าของเงินเดือน มาดูว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่กันเชียว 

ไม่ว่ายุคนี้หรือยุคไหน ‘เงิน’ ก็มีความสำคัญในการดำเนินชีวิต ในแต่ละวันต้องใช้เงินด้วยกันทั้งนั้น อย่าได้ดูถูกเงินเล็กน้อย สิบบาท-ยี่สิบบาทเชียวนะ เพราะถ้ารวมกันมากๆ ก็เป็นเงินหลักพัน หลักหมื่นได้เหมือนกัน ลองเริ่มเก็บเงินกันตั้งแต่วันนี้ สิ้นปีมีเท่าไหร่มาลองนับให้ชื่นใจกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0